พ่อทุบตีลูกเพราะแต่งหญิง, เป็นคนเอเชียแล้วถูกทำร้าย, หญิงสาวโดนน้ำกรดสาดหน้าเพราะเป็นมุสลิม ฯลฯ

ทุกวันนี้ เราพบเห็นอาชญากรรมที่เกิดจากอคติที่ผู้กระทำมีต่ออัตลักษณ์ของเหยื่อได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าด้วยเหตุของเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ความพิการ หรือเพศ อาชญากรรมประเภทนี้เรียกว่า ‘อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง’ (Hate Crime) ซึ่งเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการไม่ยอมรับความแตกต่างทางอัตลักษณ์บางประการ

Hate Crime ไม่ได้ทำให้เห็นความรุนแรงในระดับบุคคลเท่านั้น การที่พ่อลงมือทุบตีเพราะลูกแต่งตัวเป็นผู้หญิงไม่ใช่แค่เรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัว การเป็นชาวเอเชียแล้วถูกทำร้ายก็ไม่ได้จบลงที่การเป็นเหตุทะเลาะวิวาทเช่นกัน กรณีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นภาพในสังคมว่าความเกลียดชังต่ออัตลักษณ์หนึ่งๆ เป็นความรู้สึกที่เข้มข้นจนสามารถกลายเป็นอาชญากรรมได้

ในช่วงที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เรื่องอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังในสหราชอาณาจักร นอกเหนือจากการรณรงค์แล้ว กระทรวงมหาดไทยสหราชอาณาจักรยังเปิดเผยสถิติการเกิด Hate Crime ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 ถึงเดือนมีนาคม 2022 ที่น่าตกใจคือในระยะเวลา 1 ปี อัตราการเกิดอาชญากรรมจากความเกลียดชังคนข้ามเพศมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 56%

ตัวเลขดังกล่าวเป็นแนวโน้มที่น่ากลัว ภายใต้จำนวนของรายงานอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังทางเพศที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นว่าคนเป็นเหยื่อมีความกล้าที่จะออกมาพูดมากขึ้น ซึ่งไม่ได้แปลว่าสังคมก่อนหน้านี้ปลอดภัย เพราะแม้ว่าจะมีตัวเลขที่ต่ำกว่า แต่ยังคงมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ถูกนับรวมอยู่ในสถิติเพราะเหยื่อไม่ได้ออกมาพูด การสร้างสังคมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเหยื่อจึงยังคงเป็นสิ่งสำคัญ

ลิซ่า พาวเวอร์ (Lisa Power) หนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Stonewall เพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้สัมภาษณ์กับ BBC Radio ถึงกรณี Hate Crime ที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBTQ+ ว่า

“ตั้งแต่โตมา ฉันพบว่าในทุกสิบปี จะมีคนที่ถูกฆ่าหรือโดนทำร้ายจนสาหัสเพียงเพราะเขาเป็น LGBTQ+ อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังทางเพศเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ต่างจาก Hate Crime ประเภทอื่นๆ”

อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังต่อกลุ่ม LGBTQ+ เป็นไปได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ความรุนแรงทางกาย เช่น ต่อย กระทืบ คุกคามทางเพศ ขโมยหรือทำลายข้าวของส่วนตัว แบล็กเมล์ ไปจนถึงการใช้วาจาข่มขู่

อาชญากรรมรูปแบบนี้มีความรุนแรงคล้ายอาชญากรรมอื่นๆ ทว่าจุดสำคัญที่ทำให้ต่างออกไป คือการที่ผู้กระทำเริ่มกระทำความรุนแรงจากอคติต่ออัตลักษณ์ทางเพศ แฝงแนวคิดแบบเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ไม่ยอมรับความแตกต่าง ไปจนถึงต่อต้านความเท่าเทียม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตจากอคติที่ฝังรากลึก

ปกติแล้วความเกลียดชังไม่ว่าจะหนักหนาเท่าใด ก็ไม่อาจเป็นข้อแก้ตัวของการสร้างความรุนแรงได้ และสำหรับอาชญากรรมที่เกิดจากอคติทางเพศ ความผิดของเหยื่อในสายตาของผู้กระทำ คือการที่เขาคนนั้นเป็นเกย์ เธอคนนั้นเป็นทรานส์เจนเดอร์ เพียงแค่มนุษย์คนหนึ่งเลือกที่จะเป็นตัวของตัวเองเท่านั้นเอ

นอกจากรูปแบบของความรุนแรงทางกายที่นำไปสู่การเกิดอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังแล้ว ยังรวมถึงการใช้คำพูดที่แสดงถึงความเกลียดชัง (Hate Speech) รวมถึงการกระทำแบบหวังดีประสงค์ร้ายอื่นๆ เช่น การหยอกล้อด้วยเรื่องรสนิยมทางเพศเพียงเพราะคิดว่าตลก หรือการบอกว่ากะเทยเป็นเพศที่สร้างสีสันและเฮฮา สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะดูเล็กน้อยเพียงใดก็เป็นการสะท้อนถึงอคติทางเพศซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงได้อยู่ดี

การเกิดอาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทย

หากดูเผินๆ อัตราการเกิดอาชญากรรมลักษณะดังกล่าวในประเทศไทยอาจมีไม่มากหากเทียบกับอาชญากรรมประเภทอื่น อาจเพราะกฎหมายไทยยังไม่ได้มีการบัญญัติอย่างชัดเจนว่า Hate Crime เป็นหนึ่งในประเภทของการก่ออาชญากรรม มีเพียงการใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงมาพิจารณาคดีเท่านั้น ซึ่งการที่ไม่มีกฎหมายระบุ ไม่ได้แปลว่าความรุนแรงประเภทนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศเรา

ช่วงปี 2560 มีงานเสวนาสาธารณะที่ใช้หัวข้อว่า ‘อุ้ม ซ้อมทรมาน ฆาตกรรม: อาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อ ‘ทอม’ และความหลากหลายทางเพศ’ จัดขึ้นเพื่อเสวนาในกรณีการอุ้มฆ่า สุภัคสรณ์ พลไธสง ที่สื่อมักเรียกกันว่า ‘คดีอุ้มฆ่าทอม’ จนติดปาก อย่างไรก็ตาม ชื่อเรียกดังกล่าวเป็นการหยิบอัตลักษณ์มาเรียกโดยไม่ได้มีการรณรงค์ว่าคดีนี้เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังทางเพศแต่อย่างใด

ในงานเสวนามีการเผยถึงตัวเลขของอาชญากรรมรูปแบบเดียวกัน ที่เกิดขึ้นกับผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นทอมว่าเกิดขึ้นอย่างน้อยถึง 14 คดี และการถกเถียงในประเด็นอื่นๆ เช่น จรรยาบรรณสื่อ ว่าควรใช้คำว่า ‘ทอม’ มาเป็นพาดหัวข่าวไหม ทำให้เห็นถึงความรุนแรงและผลกระทบในอีกแง่มุมที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ นอกเหนือไปจากความรุนแรงทางตรง

ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังทางเพศ หรือความเกลียดชังอื่นๆ การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุของอัตลักษณ์ ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีคิดที่นำไปสู่การเกิดอาชญากรรมจากความเกลียดชัง และสิ่งสำคัญของการหยุดความรุนแรงเหล่านี้ อยู่ที่การสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นจริงในสังคม

ที่มา

https://www.pinknews.co.uk/2022/10/06/hate-crimes-reach-all-time-high-government-report/

https://www.bbc.com/news/uk-wales-60257602

https://ilaw.or.th/node/4398

Tags: , , , , , , ,