อีกไม่กี่อึดใจ จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง นักมวยหญิงไทยจะได้ปะทะกับ อิมาน เคลิฟ (Imane Khelif) จากแอลจีเรียในรอบรองชนะเลิศ วันที่ 7 สิงหาคมนี้ เวลา 03.34 น. ตามเวลาประเทศไทย
เคลิฟประสบกับดรามาทางโซเชียลมีเดียมากมายในอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังจาก แอนเจลา คารินิ (Angela Carini) นักมวยชาวอิตาเลียน ขอถอนตัวจากการแข่งขันเพียง 46 วินาทีแรก เพราะทนแรงหมัดของเคลิฟไม่ไหว เคลิฟเคยถูกแบนจากการแข่งขันมาก่อนด้วยเหตุผลว่า เธอมีระดับฮอร์โมนเพศชายสูง และมีคุณสมบัติทางเพศของทั้งเพศชายและหญิง (Intersex) ในโซเชียลฯ เคลิฟถูกกล่าวหาจากคนทั่วโลกว่า เป็นคนข้ามเพศที่แท้จริง เป็นผู้ชายมาชกกับผู้หญิงและถือว่าไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง
แต่ตามที่ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) ได้กล่าวว่า เคลิฟเกิดมาเป็นเพศหญิง โตมาเป็นผู้หญิง และแข่งชกมวยในฐานะผู้หญิงมาตลอด มีเพียงโครโมโซมของเธอที่เป็น XY ระดับเทสโตสเตอโรน (Testosterone) ที่สูง และรูปร่างที่หลายคนคิดว่า ‘เหมือนผู้ชาย’ จนเกินไป
เราควรเริ่มสังเกตได้แล้วว่า การตรวจตรา (Policing) ของเพศสภาพและร่างกายของนักกีฬาไม่ได้เป็นเรื่องตรงไปตรงมาที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์วัดได้อย่างง่ายดาย แท้จริงแล้วมาตรฐานการวัดเพศเกี่ยวข้องกับพลัง ค่านิยมจากยุคล่าอาณานิคม และการตีตราว่าคนกลุ่มหนึ่ง ‘ปกติ’ หรือ ‘ผิดปกติ’ ต่างหาก
ตั้งแต่นักวิ่งจนถึงนักมวย นักกีฬาหญิงหลายคนเคยเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกบังคับให้ตรวจคุณสมบัติทางเพศ บ่อยครั้งผู้ต้องสงสัยเหล่านี้มักเป็นผู้หญิงผิวสี โดยเฉพาะในการแข่งขันที่พวกเธอเอาชนะคู่แข่งผิวขาว เคลิฟเป็นเพียงคนหนึ่งจากหลายสิบนักกีฬาหญิงผิวสีที่ถูกกล่าวหาว่า ‘ไม่ได้เป็นผู้หญิงแท้จริง’
ในโอลิมปิก 2020 นักวิ่งหญิงแอฟริกันถึง 7 คนถูกแบนจากการแข่งขันวิ่ง 400 เมตรและ 800 เมตร เพราะระดับเทสโตสเตอโรนสูงกว่าเกณฑ์ และอาจทำให้พวกเธอได้เปรียบในการแข่งขัน
หนึ่งในนั้นก็คือ แคสเตอร์ เซเมนยา (Caster Semenya) นักวิ่งชื่อดังจากประเทศแอฟริกาใต้ ที่ถูกกล่าวหาว่า เธอเป็นผู้ชาย เพราะเสียงต่ำ ไหล่กว้าง และร่างกายล่ำ จนต้องถูกตรวจคุณสมบัติทางเพศและพบว่า มีระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนสูงผิดปกติ ทำให้เธอจำเป็นต้องใช้ยาลดระดับฮอร์โมนเพื่อที่จะแข่งต่อได้
เซเมนยาเคยกล่าวว่า “ฉันเป็นคนแอฟริกันและฉันเป็นผู้หญิง แปลว่าฉันเป็นผู้หญิงอีกประเภทหนึ่ง”
โดยเฉลี่ยผู้หญิงแอฟริกันมีระดับเทสโตสเตอโรนสูงกว่าผู้หญิงทวีปอื่น และมักถูกกล่าวหาว่า มีรูปร่างคล้ายผู้ชายจน ‘ผิดปกติ’ ในทางเดียวกับที่คนสแกนดิเนเวียมักสูงกว่าคนอื่น หรือการที่นักว่ายน้ำ ไมเคิล เฟลปส์ (Michael Phelps) สามารถบรรจุออกซิเจนในปอดได้ 2 เท่าของคนธรรมดา ความแตกต่างทางร่างกายเหล่านี้ล้วนช่วยให้นักกีฬาได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ทำไมผู้หญิงผิวสีเป็นกลุ่มเดียวที่ถูกตรวจตราและควบคุมร่างกายอย่างเคร่งครัด
แท้จริงแล้วมาตรฐานความ ‘ปกติ’ และ ‘ผิดปกติ’ ทางเพศ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่ยุโรปเป็นใหญ่มากกว่าที่เราคิด
แพทริเซีย ฮิลล์ คอลลินส์ (Patricia Hill Collins) นักวิชาการ กล่าวว่า มาตรฐานที่ใช้กำหนดความปกติทางเพศมาจากสมัยล่าอาณานิคมของยุโรป ด้วยการตีตราว่าผู้หญิงสีผิวเป็น ‘ตัวประหลาด’ ‘ผิดปกติ’ และ ‘ไม่ใช่ผู้หญิงแท้จริงเหมือนผู้หญิงยุโรป’ เพราะฉะนั้นมาตรฐานของความเป็นผู้หญิงคือ การเปรียบเทียบรูปร่างและลักษณะของผู้หญิงสีผิวกับผู้หญิงยุโรป ที่โดยเฉลี่ยมักตัวเล็กและเสียงสูงกว่า
หรือว่านักกีฬาที่ถูกตรวจสอบ แบน และบังคับให้ปรับร่างกาย มีเพียงแค่เป็นผู้หญิงผิวสีในวงการที่ถูกสร้างมาเพื่อคนผิวขาว ด้วยมาตรฐานของคนผิวขาวเท่านั้น และขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่า เรื่องเพศจะมีความผูกพันอย่างยิ่งกับระบบอำนาจและการแบ่งแยกมนุษย์ ระหว่างคน ‘ปกติ’ ที่มีคุณค่ามากกว่า กับคน ‘ผิดปกติ’ ที่มีคุณค่าน้อยกว่า
แล้วกฎเกณฑ์ที่เราใช้ในการวัดเพศ รวมไปถึงเพศที่มีอยู่ มาจากอะไร ทำไมเราถึงใช้ระดับเทสโทสเตอโรนและโครโมโซมเป็นตัวกำหนดเพศ และทำไมเพศถึงมีแค่ ‘หญิง’ ไม่ก็ ‘ชาย’
ในสมัยจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) นอกจากเพศหญิงแล้ว ยังมีเพศ ‘ชายผู้ใหญ่’ และ ‘เด็กชาย’ ที่กำหนดจากหน้าตาและการมีหนวด ในบางยุคหรือในบางมุมโลก มีปัจจัยกำหนดเพศคืออวัยวะเพศ ส่วนบางยุคดูที่โครโมโซม
จากภาพอินโฟกราฟิกของนิตยสาร Scientific American การกำหนดเพศมีหลายปัจจัย รวมถึงยีน โครโมโซม ฮอร์โมน อวัยวะเพศภายในและภายนอก ขน หนวด หน้าอก ประจำเดือน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดการเติบโตของคนคนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สามารถกำหนดเพศได้อย่างแน่นอนและ นอกจากนี้เพศไม่ได้มีเพียงแค่ ‘หญิง’ หรือ ‘ชาย’ แต่เป็นสเปกตรัมมากกว่า คนหลายคนอาจไม่ได้มีคุณสมบัติตรงกับเพศใดเพศหนึ่ง แต่อาจอยู่ระหว่าง ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ ต่างหาก
ตกลงคำว่า ‘ผู้หญิงแท้จริง’ แปลว่าอะไรกันแน่ และถ้าคำนิยามว่า ผู้หญิงนั้นเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดทุกยุคทุกสมัย เราจะแน่นอนได้อย่างไรว่า ‘ผู้หญิงแท้จริง’ สำหรับเราในวันนี้จะยังคงเป็น ‘ผู้หญิงแท้จริง’ ในวันข้างหน้า
หรือว่า คำนิยามเพศหญิงและชายล้าสมัย (Obsolete) ไปแล้ว ในเมื่อเพศเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เราอาจต้องคิดกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะรับมือกับหลากหลายมิติของคำว่าเพศให้ได้
อ้างอิง
– Hill Collins, P. (1986) ‘Learning from the outsider within: The sociological significance of Black Feminist thought’, Social Problems, 33(6), pp. S14–S32. doi:10.2307/800672.
– Nyong’o, T. (2010) ‘The Unforgivable Transgression of Being Caster Semenya’, Women & Performance: a Journal of Feminist Theory, 20(1), pp. 95–100. doi:10.1080/07407701003589501.
– https://www.bbc.com/news/world-africa-57748135
– https://www.biography.com/athletes/michael-phelp-perfect-body-swimming
– https://www.scientificamerican.com/blog/sa-visual/visualizing-sex-as-a-spectrum/
– https://aeon.co/ideas/what-ottoman-erotica-teaches-us-about-sexual-pluralism
– https://viking.style/why-are-scandinavians-so-tall/
– https://themomentum.co/gameon-olympics-2024-boxing-controversial/
Tags: Gender, intersex, โอลิมปิกเกมส์, โอลิมปิก 2024, อิมาน เคลิฟ