อีกไม่กี่อึดใจ จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง นักมวยหญิงไทยจะได้ปะทะกับ อิมาน เคลิฟ (Imane Khelif) จากแอลจีเรียในรอบรองชนะเลิศ วันที่ 7 สิงหาคมนี้ เวลา 03.34 น. ตามเวลาประเทศไทย 

เคลิฟประสบกับดรามาทางโซเชียลมีเดียมากมายในอาทิตย์​ที่ผ่านมา หลังจาก แอนเจลา คารินิ (Angela Carini) นักมวยชาวอิตาเลียน ขอถอนตัวจากการแข่งขันเพียง 46 วินาทีแรก เพราะทนแรงหมัดของเคลิฟไม่ไหว เคลิฟเคยถูกแบนจากการแข่งขันมาก่อนด้วยเหตุผลว่า เธอมีระดับฮอร์โมนเพศชายสูง และมีคุณสมบัติทางเพศของทั้งเพศชายและหญิง (Intersex) ในโซเชียลฯ เคลิฟถูกกล่าวหาจากคนทั่วโลกว่า เป็นคนข้ามเพศ​ที่แท้จริง เป็นผู้ชายมาชกกับผู้หญิงและถือว่าไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง 

แต่ตามที่ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) ได้กล่าวว่า เคลิฟเกิดมาเป็นเพศหญิง โตมาเป็นผู้หญิง และแข่งชกมวยในฐานะผู้หญิงมาตลอด มีเพียงโครโมโซมของเธอที่เป็​น XY ระดับเทสโตสเตอโรน (Testosterone) ที่สูง และรูปร่างที่หลายคนคิดว่า ‘เหมือนผู้ชาย’ จนเกินไป 

เราควรเริ่มสังเกตได้แล้วว่า การตรวจตรา (Policing) ของเพศสภาพและร่างกายของนักกีฬาไม่ได้เป็นเรื่องตรงไปตรงมาที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์​วัดได้อย่างง่ายดาย แท้จริงแล้วมาตรฐานการวัดเพศเกี่ยวข้องกับพลัง ค่านิยมจากยุคล่าอาณานิคม และการตีตราว่าคนกลุ่มหนึ่ง ‘ปกติ’ หรือ ‘ผิดปกติ’ ต่างหาก

ตั้งแต่นักวิ่งจนถึงนักมวย นักกีฬาหญิงหลายคนเคยเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกบังคับให้ตรวจคุณสมบัติทางเพศ​ บ่อยครั้งผู้ต้องสงสัยเหล่านี้มักเป็นผู้หญิงผิวสี​​ โดยเฉพาะในการแข่งขันที่พวกเธอเอาชนะคู่แข่งผิวขาว เคลิฟเป็นเพียงคนหนึ่งจากหลายสิบนักกีฬาหญิงผิวสีที่ถูกกล่าวหาว่า ‘ไม่ได้เป็นผู้หญิงแท้จริง’ 

ในโอลิมปิก 2020 นักวิ่งหญิงแอฟริกันถึง 7 คนถูกแบนจากการแข่งขันวิ่ง 400 เมตรและ 800 เมตร เพราะระดับเทสโตสเตอโรนสูงกว่าเกณฑ์​ และอาจทำให้พวกเธอได้เปรียบในการแข่งขัน

หนึ่งในนั้นก็คือ แคสเตอร์ เซเมนยา (Caster Semenya) นักวิ่งชื่อดังจากประเทศแอฟริกาใต้​ ที่ถูกกล่าวหาว่า เธอเป็นผู้ชาย เพราะเสียงต่ำ ไหล่กว้าง และร่างกายล่ำ จนต้องถูกตรวจคุณสมบัติทางเพศและพบว่า มีระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนสูงผิดปกติ ทำให้เธอจำเป็นต้องใช้ยาลดระดับฮอร์​โมนเพื่อที่จะแข่งต่อได้ 

เซเมนยาเคยกล่าวว่า “ฉันเป็นคนแอฟริกันและฉันเป็​นผู้หญิง แปลว่าฉันเป็​นผู้หญิงอีกประเภทหนึ่ง” 

โดยเฉลี่ยผู้หญิงแอฟริกันมีระดับเทสโตสเตอโรนสูงกว่าผู้หญิงทวีปอื่น และมักถูกกล่าวหาว่า มีรูปร่างคล้ายผู้ชายจน ‘ผิดปกติ’ ในทางเดียวกับที่คนสแกนดิเนเวียมักสูงกว่าคนอื่น หรือการที่นักว่ายน้ำ ไมเคิล เฟลปส์ (Michael Phelps) สามารถบรรจุออกซิเจนในปอดได้ 2 เท่าของคนธรรมดา ความแตกต่างทางร่างกายเหล่านี้ล้วนช่วยให้นักกีฬาได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ทำไมผู้หญิงผิวสีเป็นกลุ่มเดียวที่ถูกตรวจตราและควบคุมร่างกายอย่างเคร่งครัด 

แท้จริงแล้วมาตรฐานความ ‘ปกติ’ และ ‘ผิดปกติ’ ทางเพศ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่ยุโรปเป็นใหญ่มากกว่าที่เราคิด 

แพทริเซีย ฮิลล์ คอลลินส์​ (Patricia Hill Collins) นักวิชาการ กล่าวว่า มาตรฐานที่ใช้กำหนดความปกติทางเพศมาจากสมัยล่าอาณานิคมของยุโรป ด้วยการตีตราว่าผู้หญิงสีผิวเป็น ‘ตัวประหลาด’ ‘ผิดปกติ’ และ ‘ไม่ใช่ผู้หญิงแท้จริงเหมือนผู้หญิงยุโรป’ เพราะฉะนั้นมาตรฐานของความเป็นผู้หญิงคือ การเปรียบเทียบรูปร่างและลักษณะของผู้หญิงสีผิวกับผู้หญิงยุโรป ที่โดยเฉลี่ยมักตัวเล็กและเสียงสูงกว่า 

หรือว่านักกีฬาที่ถูกตรวจสอบ แบน และบังคับให้ปรับร่างกาย มีเพียงแค่เป็นผู้หญิงผิวสีในวงการที่ถูกสร้างมาเพื่อคนผิวขาว ด้วยมาตรฐานของคนผิวขาวเท่านั้น และขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่า เรื่องเพศจะมีความผูกพันอย่างยิ่งกับระบบอำนาจและการแบ่งแยกมนุษย์ ​ระหว่างคน ‘ปกติ’ ที่มีคุณค่ามากกว่า กับคน ‘ผิดปกติ’ ที่มีคุณค่าน้อยกว่า

แล้วกฎเกณฑ์ที่เราใช้ในการวัดเพศ รวมไปถึงเพศที่มีอยู่ มาจากอะไร ทำไมเราถึงใช้ระดับเทสโทสเตอโรนและโครโมโซมเป็นตัวกำหนดเพศ​ และทำไมเพศถึงมีแค่ ‘หญิง’ ไม่ก็ ‘ชาย’ 

ภาพ: Scientific American

ในสมัยจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) นอกจากเพศหญิงแล้ว ยังมีเพศ​ ‘ชายผู้ใหญ่’ และ ‘เด็กชาย’ ที่กำหนดจากหน้าตาและการมีหนวด ในบางยุคหรือในบางมุมโลก มีปัจจัยกำหนดเพศ​คืออวัยวะเพศ ส่วนบางยุค​ดูที่โครโมโซม

จากภาพอินโฟกราฟิกของนิตยสาร Scientific American การกำหนดเพศมีหลายปัจจัย รวมถึงยีน โครโมโซม ฮอร์โมน อวัยวะเพศภายในและภายนอก ขน หนวด หน้าอก ประจำเดือน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดการเติบโตของคนคนหนึ่ง แสดงให้เห็​นว่า ไม่ได้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สามารถกำหนดเพศได้อย่างแน่นอนและ นอกจากนี้เพศไม่ได้มีเพียงแค่ ‘หญิง’ หรือ ‘ชาย’ แต่เป็นสเปกตรัมมากกว่า คนหลายคนอาจไม่ได้มีคุณสมบัติตรงกับเพศใดเพศหนึ่ง แต่อาจอยู่ระหว่าง ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ ต่างหาก

ตกลงคำว่า ‘ผู้หญิงแท้จริง’ แปลว่าอะไรกันแน่ และถ้าคำนิยามว่า ผู้หญิงนั้นเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดทุกยุคทุกสมัย เราจะแน่นอนได้อย่างไรว่า ‘ผู้หญิงแท้จริง’ สำหรับเราในวันนี้จะยังคงเป็น ‘ผู้หญิงแท้จริง’ ในวันข้างหน้า 

หรือว่า คำนิยามเพศหญิงและชายล้าสมัย (Obsolete) ไปแล้ว ในเมื่อเพศเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เราอาจต้องคิดกฎเกณฑ์​ใหม่ที่จะรับมือกับหลากหลายมิติของคำว่าเพศให้ได้ 

อ้างอิง

– Hill Collins, P. (1986) ‘Learning from the outsider within: The sociological significance of Black Feminist thought’, Social Problems, 33(6), pp. S14–S32. doi:10.2307/800672.

– Nyong’o, T. (2010) ‘The Unforgivable Transgression of Being Caster Semenya’, Women & Performance: a Journal of Feminist Theory, 20(1), pp. 95–100. doi:10.1080/07407701003589501. 

https://www.bbc.com/news/world-africa-57748135 

https://thehill.com/changing-america/respect/equality/561610-five-women-banned-from-tokyo-olympics-events/ 

https://www.independent.co.uk/sport/olympics/rio-2016-joanna-jozwik-caster-semenya-800m-hyperandrogenism-a7203731.html 

https://www.theguardian.com/sport/2023/oct/28/athlete-caster-semenya-interview-im-a-woman-im-a-different-woman

https://www.biography.com/athletes/michael-phelp-perfect-body-swimming 

– ​​https://www.theguardian.com/sport/2023/oct/28/athlete-caster-semenya-memoir-race-to-be-myself-extract 

https://www.scientificamerican.com/blog/sa-visual/visualizing-sex-as-a-spectrum/

https://www.scientificamerican.com/article/beyond-xx-and-xy-the-extraordinary-complexity-of-sex-determination/ 

https://aeon.co/ideas/what-ottoman-erotica-teaches-us-about-sexual-pluralism 

https://viking.style/why-are-scandinavians-so-tall/ 

https://themomentum.co/gameon-olympics-2024-boxing-controversial/ 

Tags: , , , ,