*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่อง 3 ตอนแรก ของ House of the Dragon

 

เมื่อศตวรรษแรกของราชวงศ์ทาร์แกเรียนมาถึงจุดสิ้นสุด สุขภาพของราชาเฒ่าก็ทรุดโทรมลง โศกนาฏกรรมพรากชีวิตโอรสทั้งสองของพระองค์ไป ก่อความกังขาเรื่องผู้สืบทอดบัลลังก์ ในปีที่ 101 ราชาเฒ่าจึงเรียกมหาสภาประชุมเลือกรัชทายาท มีผู้อ้างสิทธิ์สืบทอดบัลลังก์มากถึง 14 ราย แต่มีเพียงสองเท่านั้นที่ได้รับพิจารณา 

“เจ้าหญิงเรนิส ทาร์แกเรียน ทายาทองค์โตสุดของกษัตริย์ และลูกผู้น้องของนาง เจ้าชายวิเซริส ทาร์แกเรียน ทายาทชายองค์โตสุดของกษัตริย์ ก่อนจะเป็นที่รับรองโดยเหล่าลอร์ดผู้ครองแคว้น และเหล่าขุนนางแห่ง 7 อาณาจักร ให้แต่งตั้งเจ้าชายเวเซริส ทาร์แกเรียน จะขึ้นเป็นเจ้าชายแห่งดราก้อนสโตน

“เรนิสผู้เป็นสตรีจะไม่ได้รับสิทธิสืบทอดบัลลังก์เหล็ก คณะลอร์ดต่างเลือกวิเซริส”

ประโยคเปิดเรื่องสั้นๆ ของ House of the Dragon สามารถทำให้ผู้ชมได้เห็นอะไรหลายอย่าง เช่นคำถามที่ว่าทำไมเจ้าหญิงเรนิสถึงไม่ได้บัลลังก์ทั้งที่เป็นหลานสายตรงจากลูกชายคนโตของกษัตริย์ ทำไมลอร์ดและข้าราชบริพารนับร้อยนับพันถึงเลือกเจ้าชายวิเซริส เป็นเพราะเจ้าหญิงเรนิสมีข้อบกพร่อง เป็นเพราะเจ้าชายวิเซริสเก่งกาจกว่า หรืออาจไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่า ‘เพศ’ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกรัชทายาท

คุณค่าของสตรีในละครหรือซีรีส์จักรๆ วงศ์ๆ ไม่ว่าจะไทยหรือเทศมักนำเสนอการเป็นภรรยาของบุรุษสักคน เป็นแม่ของลูกชายใครสักคน เป็นราชินีที่ต้องผลิตทายาทชายเพื่อสืบทอดบัลลังก์ และจำต้องสูญเสียสิทธิอีกมากมายเพียงแค่เพราะเป็นเพศหญิง ตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิมที่เคยปรากฏอยู่จริงในประวัติศาสตร์โลก 

ส่วนสตรีที่ไม่ได้มาจากฐานะหรือตระกูลที่สูงส่ง ภาพจำของหนังและซีรีส์พีเรียดก็จะมักฉายภาพการล่วงละเมิดทางเพศที่ทำกันจนเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเรื่องไหนผู้หญิงมักถูกลวนลาม ถูกข่มขืน ถูกกระทำชำเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามักจะเห็นฉากตัวละครหญิงถูกกระทำทางเพศมากกว่าตัวละครเพศชาย

จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน ผู้เขียนหนังสือซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างซีรีส์ HBO ทั้ง Game of Thrones และ House of the Dragon ได้ย้ำถึงประเด็นเรื่องเพศว่าเขาอ้างอิงบางส่วนจากความเป็นจริงในประวัติศาสตร์เอาไว้เมื่อปี 2015 “หนังสือพวกนี้สะท้อนถึงสังคมปิตาธิปไตยในยุคกลาง และยุคกลางก็ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ” 

ทว่าโลกยุคหลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามที่ทีมงานเคยกล่าวไว้ว่า การทำซีรีส์ในช่วงสิบปีที่แล้วแตกต่างจากตอนนี้อย่างสิ้นเชิง ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ เริ่มตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ หรือความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งมากขึ้นกว่าเก่า คนทำงานอาจจะต้องสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ผ่านผลงานด้วยเช่นกัน หลายคนอาจยอมเปิดรับความแตกต่างหลากหลาย แหกขนมเดิมบ้างเล็กน้อยแต่ก็ยังคงเส้นคงวาต่อเส้นเรื่องหลัก สร้างความเป็นมิตรกับทุกคน เพราะนักแสดงที่มีความหลากหลายจะมีส่วนดึงดูดผู้ชมใหม่ๆ จากเดิมที่แทบไม่มีส่วนร่วมหรือไม่ได้เป็นศูนย์กลางของเรื่องราวหรือความยิ่งใหญ่ แต่ความหลากหลายจะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองก็สามารถเข้าถึงหรือเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ได้ด้วยเหมือนกัน

บทความนี้จะวิเคราะห์ประเด็นทางเพศที่เกิดขึ้นในซีรีส์ 3 ตอนแรกของ House of the Dragon ผ่านมุมมองของผู้เขียนที่สวมแว่นสตรีนิยม ทั้งการเสียดสีระบบปิตาธิปไตยในแดนไกลจากมุมมองของผู้สร้างและผู้ชมในยุคปัจจุบัน การตีความตัวละครหญิงที่แตกต่างกันในแต่ละมุมมอง บ้างก็มองว่า ‘เรนีร่า ทาร์แกเรียน’ เป็นเด็กสาวที่ว่างเปล่าไม่มีคุณสมบัติผู้นำ บ้างก็ว่า ‘อลิเซนต์ ไฮทาวเวอร์’ เป็นหญิงร้ายกาจหวังลุแก่อำนาจ หรือโสเภณีจากซ่องก็ย่อมเป็นเครื่องระบายทางเพศที่ต้องทำตามใจชายเสมอไปจริงหรือ โดยยึดหลักที่ว่าหากไม่ลองเลือกว่าจะทีมดำหรือทีมเขียว 

แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเลือกอยู่ทีมผู้หญิงทุกคนที่ต่างมีมิติ มีความคิด ล้วนถูกระบบบางอย่างล้อมกรอบเอาไว้ และมีเรื่องราวเป็นของตัวเองไม่ต่างจากตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง 

 

ความตายของเหล่าบุรุษและสตรี

หลังเห็นธรรมเนียมแปลกประหลาดที่ทำสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น ปฐมบทของ House of the Dragon ยังเผยให้เห็นประเด็นสนใจหลายแง่มุม ไล่ไปตั้งแต่บทสนทนาระหว่าง เจ้าหญิงเรนีร่า ทาร์แกเรียน บุตรีของกษัตริย์วิเซริส หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง กำลังพูดคุยกับราชินีเอ็มม่าที่กำลังท้องแก่ใกล้คลอด เจ้าหญิงเรนีร่าบ่นเรื่องข้ารับใช้รอบกายมารดาที่เอาแต่สนใจจะให้การดูแลเด็กในท้องแต่ละเลยการดูแลราชินี และเธอยังได้บ่นกับมารดาว่าไม่ต้องการมีชีวิตแบบนี้ เธอไม่อยากเป็นแม่ ไม่อยากแต่งงาน เธออยากเป็นอัศวินออกศึกอย่างเกรียงไกร ผู้เป็นแม่ที่พอจะคาดเดาชีวิตในอนาคตที่เลือกไม่ได้ของลูกสาวทำได้เพียงสอนถึงสัจธรรมของผู้หญิงที่เกิดในตระกูลสูงส่ง

“อีกไม่นานเจ้าก็จะได้นอนบนเตียงนี้เช่นกัน ความยากลำบากนี้คือการรับใช้อาณาจักรของเรา เจ้ากับแม่ครองครรภ์แห่งราชวงศ์ การคลอดลูกคือสนามรบของเรา เราต้องเผชิญหน้ากับมันอย่างทระนง”

แม้กษัตริย์วิเซริสจะมีทายาทหนึ่งคนคือเจ้าหญิงเรนีร่า แต่ราชากับเหล่าขุนนางต่างยังไม่พอใจ ไม่มีใครมองว่าเจ้าหญิงน้อยจะเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ได้เลย บุตรีของกษัตริย์แม้มีหน้าที่เป็นคนรินไวน์ในการประชุมสภา ได้เข้าร่วมฟังการบริหารบ้านเมืองมาตลอด เธอก็ยังถูกมองข้ามทั้งที่เป็นทายาทโดยชอบธรรม ซึ่งตัวเธอก็เข้าใจบริบทของสังคมที่ตัวเองอยู่อย่างดี เธอไม่เคยอยากเป็นผู้ปกครอง และพอใจกับชีวิตที่มีอยู่

ขณะที่น้องชายของกษัตริย์อย่าง เจ้าชายเดม่อน ทาร์แกเรียน กลับเป็นบุคคลที่เข้าใกล้ตำแหน่งรัชทายาทมากกว่าเจ้าหญิงเรนีร่า เขาถูกมองว่าเป็นตัวตายตัวแทนที่รอให้ราชินีคลอดรัชทายาทตัวจริงออกมา พูดง่ายๆ ก็คือรอจนกว่ากษัตริย์จะได้ลูกชาย ซึ่งความหวังเพราะคิดว่าตัวเองก็เป็นคนที่มีโอกาสในการอ้างสิทธินั่งบัลลังก์ก็มีส่วนสร้างความวุ่นวายในภายหลัง 

ในตอนแรกประเด็นหลักของการพูดคุยในสภาก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องทายาท เพราะกษัตริย์มีความต้องการจัดงานประลองฉลองที่ตัวเขาจะได้ลูกชาย ซึ่งลูกชายที่ว่าก็ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าคลอดแล้วจะเป็นเด็กผู้ชายจริงๆ ตามที่หวังไว้

“การประลองจะจัดขึ้นทั้งสัปดาห์ กว่าที่ศึกจะยุติลูกชายข้าก็คลอดแล้ว และทั้งดินแดนก็จะได้ฉลอง”

การประลองที่ว่าคือการทุ่มงบมหาศาลจัดงานสุดยิ่งใหญ่ เหล่าอัศวินจากทั้ง 7 อาณาจักร จะเดินทางมายังเมืองคิงส์แลนด์ดิงเพื่อต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตาย แทงกันจนพิการ ทุบหน้ากันจนเละ ฟันกันจนคอขาด ประเพณีบ้าดีเดือดที่จะต้องยอมสูญเสียชีวิตชายชาตรีที่ไม่ได้แม้แต่จะออกไปสู่ในสนามจริง พวกเขาก้าวเท้าสู่ความตายเพื่อความบันเทิง เฉลิมฉลองให้กับเด็กที่กำลังจะลืมตาดูโลก ช่างเป็นประเพณีที่แปลกเสียจนบางคนอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้

“ข้าสงสัยนักว่านี่น่ะหรือการฉลองการถือกำเนิดของว่าที่กษัตริย์ มีแต่ความโหดร้ายทารุณ”

หนึ่งในซีนที่ตราตรึงผู้ชมจากการสร้างบรรยากาศอึดอัด คลื่นเหียน ชวนให้รู้สึกแย่ตามการชักจูงของตัวซีรีส์ได้อย่างอยู่หมัดคงเป็นช่วงหลายนาทีของการต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายในสนามประลอง ตัดสลับกับฉากที่ราชินีเอ็มม่ากำลังพยายามคลอดลูก นาทีชี้เป็นชี้ตายเกิดขึ้นเมื่อเด็กไม่ยอมกลับหัว หมอต้องเลือกว่าจะช่วยหนึ่งชีวิตหรือปล่อยให้ทั้งสองชีวิตต้องตายจากไป นางสนมและเหล่าพยาบาลช่วยกันตรึงแขนขาราชินี หมอใช้มีดกรีดท้องแบบสดๆ เพื่อนำเด็กออกมา เสียงกรีดร้องดังไปทั่วห้องบรรทม แล้วผู้ชมก็ถูกดึงกลับไปยังลานประลองอีกครั้ง อัศวินก็ยังคงสู้กันจนตัวตายเหมือนเดิม 2 เหตุการณ์ที่แสนเจ็บปวดเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แล้วเหลือทิ้งไว้เพียงแค่ซากไร้วิญญาณ 

ความน่าเศร้าของการตัดสลับฉากไปมาระหว่างการตายเพื่อความบันเทิง กับการตายบนเตียงที่ราชินีเอ็มม่าเคยเปรียบเทียบว่าเป็นสนามรบของสตรี บรรยากาศหนักอึ้งยังคงถูกทิ้งไว้จนจบ แต่สิ่งที่ชวนให้สลดหดหู่ที่สุดคงหนีไม่พ้นสิ่งที่ราชินีผู้ลาลับเคยเอ่ยคำขอกับกษัตริย์ไว้ว่าอยากให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เธอเจ็บช้ำและมีแผลใจมากพอแล้วกับการเห็นลูกตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนหนึ่งตายตอนยังแบเบาะ อีก 2 คนตายตอนทำคลอด แท้งก่อนกำหนดอีก 2 หน เธอเจอเรื่องราวหนักหนามั้งทางกายทางใจกับการสูญเสียลูก 5 คนในเวลาสิบปี 

และแล้วการคลอดลูกครั้งนี้ก็กลายเป็นสนามรบครั้งสุดท้ายจริงๆ อย่างที่เธอเคยขอ ทั้งแม่และทารกผู้เป็นว่าที่กษัตริย์จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ครอบครัวผู้นำเหลือเพียงกษัตริย์กับเจ้าหญิงน้อยเพียง 2 คน

 

ลูกสาวของบ้านมักเป็นตัวเลือกสุดท้ายเสมอ

“ข้าหวังให้ท่านพ่อได้ลูกชาย ตั้งแต่จำความได้ท่านพ่อก็ต้องการเพียงแค่นั้น”

โศกนาฏกรรมของครอบครัวกษัตริย์สร้างคำถามใหญ่ตามมา ‘ถ้ากษัตริย์ไม่ได้ลูกชายดังที่เคยหวังไว้ แล้วแบบนี้ใครจะขึ้นเป็นราชา?’ ตัวเลือกแรกก็ยังคงเป็นเจ้าชายเดม่อนผู้เป็นน้องของกษัตริย์ ขุนนางบางรายพยายามเสนอให้กษัตริย์หาราชินีคนใหม่แล้ววนลูปเดิมคือเร่งมีลูกชาย ในเวลานั้น เหล่าลอร์ดและข้าราชบริพารไม่ได้มองว่าเจ้าหญิงเรนีร่าคือตัวเลือกหลัก แม้กระทั่งตัวของเจ้าหญิงเองก็ไม่เคยวาดฝันว่าตัวเองจะมีสิทธิในบัลลังก์เหล็ก 

“แล้วใครจะมีสิทธิอีก บุตรคนแรกของกษัตริย์ เรนีร่าน่ะหรือ ไม่เคยมีราชินีครองบัลลังก์เหล็กมาก่อน ถ้าสภานี้ห่วงเรื่องความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยนัก เราก็ไม่ควรทำลายขนบที่ทำมาเป็นร้อยปีด้วยการตั้งสตรีเป็นรัชทายาท”

สุดท้ายไม่รู้ว่าอะไรดลใจกษัตริย์ อยู่ๆ เขาก็มองเห็นลูกสาวคนเดียวของตัวเอง เจ้าหญิงเรนีร่าจึงกลายเป็นรัชทายาทลำดับแรกแทนเจ้าชายเดม่อนที่เหล่าขุนนางรังเกียจ ที่สภายอมส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหล่าขุนนางไม่อยากให้อำนาจถูกส่งต่อไปยังเจ้าชายเดม่อน หรือด้วยเหตุผลที่ว่าตัวเลือกอื่นๆ อันตรายเกินไป และไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีพอแล้ว 

เหตุการณ์ในยุคของเรนีร่าแตกต่างกับกรณีของเจ้าหญิงเรนิสกับเจ้าชายวิเซริส เพราะตอนนั้นตัวเลือกทั้งสองคู่คี่สูสี แล้วเจ้าชายได้บัลลังก์เพราะเสียงโหวตจากขุนนางเพศชาย แต่ตอนนี้ตัวเลือกเพศชายกลับกลายเป็นที่เกลียดชัง ไม่มีตัวเลือกอื่นใดนอกจากเจ้าหญิงน้อย เพราะเจ้าหญิงเรนิสพี่สาวกษัตริย์ก็ดูจะห่างไกลจากบัลลังก์ไปนานแล้ว เธอจึงได้ครองบัลลังก์เหล็กโดยไม่ได้ตั้งใจ และคงไม่มีใครจะให้ความสนใจกษัตริย์เพศหญิงที่ไม่มีทั้งฐานกำลัง ไม่มียุทธศาสตร์ ยังเป็นเพียงแค่เด็กสาวคนหนึ่งที่เกิดในตระกูลของราชวงศ์เท่านั้น 

ดังนั้นแผนสองที่ใหญ่กว่าก็คือการพยายามหาคู่ครองใหม่ให้กษัตริย์ เพื่อเร่งสร้างทายาทเพศชายมานั่งเป็นรัชทายาทแทนเจ้าหญิงเรนีร่าหลายคนยังมองว่าเธอไม่คู่ควรแม้จะเป็นลูกคนเดียวของราชาก็ตามที 

“จะเป็นลูกสาวข้าหรือเป็นลูกสาวใคร พ่อเจ้าก็ต้องแต่งงานใหม่ไม่ช้าก็เร็ว ชายาใหม่จะมอบทายาทคนใหม่และมีโอกาสมากที่หนึ่งในนั้นจะเป็นผู้ชาย เมื่อเด็กชายคนนั้นเจริญวัยและพ่อของเจ้าจากไป บุรุษแห่งดินแดนก็จะหวังให้เขาเป็นผู้สืบทอด ไม่ใช่เจ้า เพราะนั่นคือระเบียบของสรรพสิ่ง”

ราชินีผู้ไม่เคยเป็นกล่าวกับเจ้าหญิงเรนีร่าที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งรัชทายาทบัลลังก์เหล็ก 

“เมื่อเป็นราชินี ข้าจะสร้างระเบียบใหม่ขึ้นมา” เรนีร่าตอบกลับไปอย่างมั่นใจ 

“ข้าก็อยากให้เป็นเช่นนั้น เรนีร่า แต่บุรุษแห่งดินแดนในมหาสภาเคยได้โอกาสตั้งราชินีปกครองมาแล้วครั้งหนึ่ง แล้วพวกเขาก็ปฏิเสธ นี่คือความจริงที่รับได้ยากซึ่งไม่มีใครกล้าบอกเจ้า บุรุษจะยอมเผาดินแดนให้สิ้นซาก ดีกว่าเห็นสตรีขึ้นครองบัลลังก์เหล็ก แล้วพ่อของเจ้าก็ไม่ได้โง่”  

 

ชายผู้ชักใยคือหนึ่งในภัยของมังกร 

“พ่อของข้าก็ไม่รู้วิธีคุยกับลูกสาวเหมือนกัน เวลาข้าอยากคุยกับพ่อ ข้ารู้ว่าข้าจะต้องพยายามมาก”

อีกหนึ่งครอบครัวของเรื่องที่จะมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ‘ตระกูลไฮทาวเวอร์’ ซึ่งมี ออตโต ไฮทาวเวอร์ นั่งอยู่ในตำแหน่งหัตถ์ราชา เป็นขุนนางที่ปรึกษาและเป็นคนสนิทของกษัตริย์ ส่วนลูกสาวอย่าง อลิเซนต์ ไฮทาวเวอร์ ก็เป็นเพื่อนสนิทที่สุดของเจ้าหญิงเรนีร่าที่ตอนนี้อยู่ในตำแหน่งรัชทายาท พวกเขาใกล้ชิดกับผู้ครองบัลลังก์ และสุดท้ายก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวกษัตริย์ตามแผนที่วางไว้

3 ตอนแรกของ House of the Dragon คล้ายกับอยากทำให้ผู้ชมเห็นว่าออตโต้คือนักวางแผนใจนิ่ง เขาคิดหลายเรื่องอยู่ตลอดเวลา เขาทั้งเกลียดชังเจ้าชายเดม่อน ควบคู่กับความพยายามแสดงความซื่อสัตย์ต่อกษัตริย์ ขณะเดียวกันก็ชักจูงลูกสาวให้ทำตามความต้องการของตัวเอง โดยเฉพาะช่วงแรกที่ราชินีสิ้นพระชนม์ ออตโตสั่งให้ลูกสาวเข้าไปปลอบใจเป็นเพื่อนคุยเลยกับราชาในยามค่ำคืน แล้วชี้นำว่าหากจะไปก็ควรใส่ชุดของแม่ที่ตายไปแล้วด้วย 

การขอให้ลูกสาวใส่ชุดของแม่ที่ตายไปแล้วเพื่อไปหาชายรุ่นพ่อในตอนกลางคืน อาจแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์บางอย่าง เวลาที่อลิเซนต์อยู่กับเพื่อนจะพูดเป็นต่อยหอย แต่เวลาอยู่กับพ่อเธอจะเงียบและเป็นผู้ฟังที่ดี เวลาถูกขอให้ทำบางอย่างที่ตัวเองไม่อยากทำ เธอจะระบายออกมาด้วยการจิกมือแกะเล็บจนนิ้วเป็นแผล เมื่อพ่อถามว่าคืนนี้จะไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ไหม อลิเซียก็ตอบเพียงแค่ว่า “หากท่านต้องการ” จนบางครั้งเราแทบไม่รู้ว่าเธอต้องการอะไร ในช่วงวัยเยาว์เธอมีฝันหรือไม่ แล้วชีวิตตอนนี้คือชีวิตที่เธอต้องการหรือเปล่า 

ในช่วงแรกผู้ชมจะยังคงเห็นว่าอลิเซนต์เข้าข้างเพื่อนของเธอตามที่เคยยืนยันไว้ว่าเรนีร่าเหมาะสมที่จะครองบัลลังก์ เธอคู่ควรกับมัน เมื่อใดก็ตามที่มีผู้คลางแคลงใจ เธอจะเลือกยืนอยู่ฝั่งเดียวกับเพื่อน

“เรนีร่าจะเป็นราชินีที่ดีได้” อลิเซนต์ยังคงยืนยันคำเดิมกับผู้เป็นพ่อ

“ต่อให้นางเป็นเจเฮริสกลับชาติมาเกิดก็ไม่สำคัญ เรนีร่าเป็นสตรี” ออตโตตอบกลับอย่างไม่แยแส

“แล้วลูกข้าล่ะ จะให้ข้าเลี้ยงลูกชายไปฉวยสิทธิโดยกำเนิดของพี่สาวตัวเองหรือ” อลิเซนต์ตั้งคำถาม

เอกอนต่างหากที่ถูกปล้นสิทธิ เขาเป็นโอรสองค์โตของกษัตริย์ การไม่ยอมรับว่าเขาเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์เท่ากับฝ่าฝืนกฏทวยเทพและมนุษย์ เอกอนจะเป็นกษัตริย์ เจ้าจะต้องชี้นำกษัตริย์ให้เห็นถึงเหตุผลนี้”

บทสนทนาสั้นๆ ระหว่างพ่อลูกก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ทำให้เห็นว่าพวกเขามีความขัดแย้งบางอย่างต่อกันอยู่เสมอ

 แต่อีกไม่นานบริบทแวดล้อมรอบตัว ค่านิยมกับระบบระเบียบบางอย่างที่ฝังหัวอยู่ทุกวัน จะทำให้เธอมีแนวคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งนี้อาจสะท้อนถึงคำพูดของราชินีผู้ไม่เคยเป็น ที่บอกว่าทุกอย่างจะดำเนินไปตามระเบียบของสรรพสิ่ง โดยที่ไม่มีใครเอะใจเลยว่าระบบระเบียบเหล่านี้มันอาจผิดเพี้ยนไปไกลมากแล้วก็ตาม 

ยังไม่มีใครรู้ว่าหลังจากนี้ House of the Dragon จะเล่าเรื่องไปในทิศทางใด แต่ในช่วงแรกเริ่ม ผู้เขียนมองว่าพวกเขาเดินเรื่องได้ยอดเยี่ยม ชวนให้ติดตามต่อว่าจะมีเหตุการณ์พลิกผันอะไรอีกบ้าง เลห์กล การหักเหลี่ยมเฉือนคมเพื่อสิทธิในการนั่งบัลลังก์เหล็กจะเป็นอย่างไรต่อ แล้วจะมีใครบ้างที่ต้องพบกับจุดจบอันรุ่งโรจน์หรือจุดจบอันน่าเศร้า

 

อ้างอิง

https://www.slashfilm.com/970943/house-of-the-dragon-review-a-bold-and-brutal-tale-of-the-women-of-westeros/ 

https://inews.co.uk/culture/television/house-of-the-dragon-treats-women-better-game-of-thrones-1804749 

https://www.nytimes.com/2022/09/03/opinion/house-of-the-dragon-diversity-sexism.html

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,