“เรียกร้องความสนใจ น่ารำคาญ”
“ไม่เข้าใจ ดัดเสียงทำไม เป็นอะไรมากปะ”
“พยายามเนอะ ห่วงสวยจนดูปลอม ดูประดิษฐ์ไปหมด”
เมื่อได้อ่านถ้อยคำเหล่านี้ เดาว่าผู้หญิงหลายคนอาจนึกย้อนไปถึงเพื่อนร่วมห้องบุคลิกเรียบร้อยอ่อนหวานสักคนที่เคยรู้จักกันตอนสมัยเรียน หรือแม้กระทั่งนึกถึงตัวเองในอดีตเมื่อช่วงวัยไร้เดียงสา ยุคก่อนที่เราจะได้รับบทเรียนราคาแพงในฐานะผู้หญิง ว่าเราควรจะวางตัวอย่างไรไม่ให้เพื่อน ‘หมั่นไส้’
นอกจากจะสามารถอ้างอิงประสบการณ์ของผู้คนในระดับปัจเจกแล้ว ยังมีบุคคลสาธารณะอีกมากมายที่ต้องเผชิญกับมหากาพย์ความเกลียดชัง เพียงเพราะความ ‘แบ๊ว’
ตั้งแต่คำตอบ ‘อ๊บไสไม้’ ระหว่างเกมใบ้คำในรายการเรียลลิตีโชว์ เพื่อสร้างคาแรกเตอร์น่ารักของ ไข่มุก BNK48 เมื่อหลายปีก่อน มาจนถึงจริตจะก้านการกินสตรอว์เบอร์รีด้วยสองมือของ จาง วอนยอง วง IVE ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะวอนยอง ที่ปัจจุบันยังคงต้องรับแรงกระแทกจากสาธารณชนทั้งในและนอกเกาหลีใต้ เกี่ยวกับบุคลิกนิสัยและวิธีการวางตัวของเธออยู่เป็นระยะ
เมื่อเราลองเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับความเกลียดชังที่ผู้คนมีต่อเธอ จะพบว่าเหล่าเฮตเตอร์ (และบางครั้งก็เป็นแฟนคลับของเธอเอง) มักใช้คำว่า ‘Pick Me’ ในภาษาอังกฤษ และคำหยาบในภาษาไทยอย่างคำว่า ‘ตอแหล’ ในการพูดถึงเธออย่างเปิดเผย
มาตรฐานความ ‘ธรรมชาติ’
เดิมที Pick Me เป็นคำที่ใช้เรียกผู้หญิงที่พยายามนำเสนอว่าตัวเองแตกต่างจากผู้หญิงคนอื่น เพื่อดึงดูดความสนใจ และให้ได้รับการยอมรับจากผู้ชาย แต่หลังจากคำนี้เริ่มเป็นที่นิยมใน TikTok ความหมายส่วนหนึ่งเกี่ยวกับความพยายามนำเสนอว่าตัวเองว่า ‘แตกต่าง’ ก็เริ่มหายไป กลายเป็นว่า Pick Me เหลือความหมายเพียงแค่ว่า ผู้หญิงที่เรียกร้องความสนใจจากผู้ชาย ด้วยคำพูดและการแสดงออกที่ดูฝืนความเป็นจริงจนน่าหัวเราะเยาะ
เมื่อเทียบกับอีกคำที่มักจะถูกมอบให้วอนยองโดยแฟนเพลงเคป็อปชาวไทย นั่นคือ ‘ตอแหล’ จะสังเกตได้ว่าทั้ง 2 คำมีนัยเชิงลบที่ใกล้เคียงกันมาก คือ ความไม่เป็นธรรมชาติ
คนส่วนหนึ่งอาจโต้แย้งว่า คำว่าตอแหลถูกนำมาใช้ในการ ‘อวย’ ความสวยและจริตจะก้านของวอนยองด้วยน้ำเสียง ‘เอ็นดู’ อย่างไรก็ดี ต่อให้คนส่วนหนึ่งจะใช้คำนี้เป็นคำชมแต่คำว่า ‘ตอแหล’ ยังถือเป็นคำที่ถูกมอบให้ผู้อื่นโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานเดิมที่ว่า ภาพลักษณ์ของคนคนหนึ่งเกิดจากความตั้งใจประดิดประดอย ไม่ใช่การแสดงออกตามธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเป็นวอนยอง ไข่มุก BNK48 หรือเด็กสาวเหล่านั้นที่เราเคยรู้จักในวัยเด็ก ล้วนรับมือกับโจทย์เดียวกัน คือการที่วิธีการแสดงตัวตนของพวกเธอ ดันไม่ตรงกับมาตรฐานความ ‘ธรรมชาติ’ ในสายตาของคนทั่วไป
นำไปสู่การเหมารวมในระนาบถัดมาว่า หากในตอนนี้เด็กผู้หญิงพวกนี้กำลังแสดงออกอย่างไม่เป็นธรรมชาติ แสดงว่าตัวตนจริงๆ ของพวกเธอนั้นไม่ดี หรือเป็นภาพที่ไม่น่าดูชม ทำให้พวกเธอเลือกที่จะซ่อนมันเอาไว้และแสดงออกมาแต่ด้านที่ดีใช่หรือไม่?
‘แรดเงียบ’
‘สร้างภาพ’
‘ผู้หญิงด้วยกันดูออก’
The ‘Other Girls’
น่าตลกที่แม้ว่า Pick Me จะถูกนำมาใช้เรียกผู้หญิงสไตล์น่ารักอ่อนหวาน ที่รู้จักบริหารเสน่ห์แบบวอนยองตามเทรนด์ใน TikTok แต่หากอิงตามความหมายที่แท้จริง คำนี้กลับเหมาะสมกับฝ่ายที่ชอบแปะป้ายให้ผู้หญิงคนอื่นเป็นพวก ‘Other Girls’ (ผู้หญิงคนอื่น) เพื่อยกยอให้ตนเอง หรือฝ่ายที่ตนชอบ เป็นคนที่แตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง และ ‘Not Like Other Girls’ (ไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่น) มากกว่าเสียอีก
หากจะให้อธิบายที่มาที่ไปของปรากฏการณ์นี้ ท่านผู้อ่านขาประจำคอลัมน์ Gender ของ The Momentum คงเดาได้ไม่ยาก เพราะแม้ตัวประเด็นปัญหาจะต่างออกไป แต่เราก็ยังคงวนเวียนอยู่กับคำอธิบายเดิม ซึ่งเป็นรากเหง้าของอคติและความไม่เท่าเทียมทางเพศมากมายในโลกใบนี้
ใช่แล้ว! ค่านิยมชายเป็นใหญ่ (อีกแล้ว) นั่นเอง
เพราะเมื่อความเป็นชาย (Masculinity) ถูกใช้เป็นบรรทัดฐานของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ความเป็นหญิงสไตล์ผู้หญิงจ๋า (Hyperfemininity) อย่างความ ‘แบ๊ว’ ภาพลักษณ์ใสซื่ออ่อนหวาน และกิริยามารยาทที่ดูน่าทะนุถนอม จึงถูกวางให้เป็นขั้วตรงข้ามที่มีคุณค่าลดหลั่นลงมา
ริตช์ ซี. ซาวิน-วิลเลียมส์ (Ritch C. Savin-Williams) ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) กล่าวไว้ในงานเขียนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ‘ทอมบอย’ ของเขาว่า แต่ไหนแต่ไร เด็กผู้หญิงได้รับการอะลุ่มอล่วยให้สามารถแสดงพฤติกรรมและความสนใจ ‘แบบเด็กผู้ชาย’ ได้มากกว่าอยู่แล้ว หากเทียบกับการที่เด็กผู้ชายจะแสดงพฤติกรรมหรือความสนใจแบบเด็กผู้หญิงตามขนบ
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะไม่กังวลเท่าไรนักหากลูกสาวจะพูดจาห้าวๆ อยากได้รถของเล่น ชอบสวมกางเกงมากกว่า แต่จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที หากลูกชายหันมาเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ แต่งหน้าทาปาก สวมกระโปรง และเริ่มพูดจาจีบปากจีบคอขึ้นมาสักหน่อย
สิ่งเหล่านี้ถูกสะท้อนให้เห็นผ่านลักษณะร่วมของหลากหลายวัฒนธรรมที่เชิดชูลักษณะความเป็นชาย ไม่ใช่แค่ในหมู่ชายสเตรท แม้กระทั่งในหมู่ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ
(ตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจและควรค่าแก่การเขียนถึงในอนาคต คือการเหยียดลักษณะที่ดู ‘สาว’ และยกยอลักษณะที่ดู ‘แมน’ ในชุมชนเกย์)
ในทำนองเดียวกัน จูเลีย ซีราโน (Julia Serano) นักเขียนและนักกิจกรรมทรานส์เจนเดอร์ ได้เขียนถึงประเด็นเดียวกัน โดยอ้างอิงจากการที่ Transwomen ได้รับการยอมรับน้อยกว่า Transmen อย่างมีนัยสำคัญ เพราะสังคมมักเชื่อมโยงความเข้มแข็ง ‘สมชาย’ ให้เป็นลักษณะที่มีความเป็นธรรมชาติ
ในขณะที่ความอ่อนแอแบบผู้หญิงนั้น เป็นลักษณะที่เกิดจากการแสดงออกอย่างไม่เป็นธรรมชาติ ไม่จริงใจ ฉะนั้น ความรู้สึกต่อต้านความเฟมินีนจ๋าในตัวผู้หญิง จึงมักเกิดจากความรู้สึก ‘ไม่เชื่อ’ ว่าจะมีคนแบบนี้อยู่จริง
เนื่องจากในท้ายที่สุด คงไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ตัวตนที่แท้จริงของผู้อื่นและให้คำตอบถึงคำถามที่ว่า การแสดงออกของเด็กสาวเหล่านี้ ‘ปลอมหรือไม่ปลอม’ กันแน่
ดังนั้น คำถามที่สำคัญกว่า คือหากความแบ๊ว หรือความอ่อนหวานน่ารักของพวกเธอ เกิดจากการตั้งใจประดิษฐ์ท่าทาง หรือการแสดงออกที่ฝืนธรรมชาติ เพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจจริงๆ แต่ในเมื่อมันไม่ใช่พฤติกรรมที่สร้างปัญหา หรือความเดือดร้อนให้ใคร อาจถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เราในฐานะสังคมจะหันมาทบทวนคำด่าหยาบคาย ความหมั่นไส้ และความเกลียดชังที่เรามอบให้พวกเธออย่างไร้เหตุผล?
อ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/sex-sexuality-and-romance/201611/the-new-tomboy
https://www.juliaserano.com/outside.html
https://www.nytimes.com/2018/12/19/opinion/tomboys-girlie-girls-sexism.html
https://medium.com/fearless-she-wrote/the-denigration-of-the-hyper-feminine-woman-62378881943
https://www.vogue.co.th/lifestyle/article/jang-won-young-netizen-bully
Tags: ไข่มุก, Gender, BNK48, IVE, Internalized Misogyny, Hyperfemininity, Pick-Me Girls, แบ๊ว, น่ารัก, วอนยอง