หากพูดถึงการขับเคลื่อนในประเด็นว่าด้วยเพศภาวะทั้งหลาย อาจกล่าวได้ว่า ‘เฟมินิสต์’ (Feminist) และ ‘เควียร์’ (Queer) เป็นสองคำที่จะได้ยินกันอย่างคุ้นหูและเรียกกันอย่างติดปาก

แต่เราอาจคุ้นหูกับคำแรกมากกว่า อาจพบเจอในหลายครั้งหรือหลากหลายบริบท

ส่วนคำว่า ‘เควียร์’ เมื่อก่อนเป็นคำที่ใช่เรียกกันเฉพาะกลุ่ม แต่ในปัจจุบันมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นผ่านบทสนทนาที่เรามักจะคุ้นชินกัน โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความหลากหลายทางเพศ

แม้ว่าทั้งสองคำจะมีส่วนเกี่ยวข้องกันในเรื่องของความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ แต่ทั้งสองคำกลับมีทั้ง ‘จุดเหมือน’ และ ‘จุดต่าง’ กันมากพอสมควร แม้ในบริบทของประเทศไทยมักเข้าใจว่าสองสิ่งนี้ผูกพันกันอย่างแยกไม่ขาดและมีความสำคัญต่อกันและกันก็ตาม

The Momentum ชวนผู้อ่านสำรวจความเป็นมาระหว่าง ‘เฟมินิสต์’ และ ‘เควียร์’ ว่าทั้งสองสิ่งคืออะไรกันแน่? ทั้งจุดยืน สิ่งที่สอดรับ และหักล้างกันอย่างสุดขั้ว ไปจนถึงจุดหมายปลายทางว่าด้วยสังคมที่เท่าเทียม ว่าทั้งสองสิ่งนี้พอจะไปด้วยกันได้หรือไม่

หาก ‘เฟมินิสม์’ (Feminism) = สตรีนิยม แปลว่าเรานิยมให้หญิงเป็นใหญ่ ?

เมื่อแปลตรงตัว ‘เฟมินิสม์’ (Feminism) หมายถึงแนวคิดที่นิยมผู้หญิง และแปล ‘เฟมินิสต์’ (Feminist) ว่านักสตรีนิยมนั้น หากดูเผินๆ อาจชวนให้เข้าใจผิดว่าเรากำลังต่อต้านระบอบชายเป็นใหญ่ โดยการผลักดันให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นใหญ่แทนที่ผู้ชาย แต่ที่จริงแล้วเฟมินิสม์ไม่ได้หมายความแบบนั้น

หากถามว่า ‘เฟมินิสม์’ (Feminism) กับ ‘เฟมินิสต์’ (Feminist) ต่างกันอย่างไร พูดให้เข้าใจเบื้องต้นโดยง่ายว่าเฟมินิสม์ คืออุดมการณ์สตรีนิยมที่มีจุดยืนว่าด้วยการเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ และเฟมินิสต์ คือบุคคลผู้สมาทานแนวคิดนี้ และยึดถืออุดมการณ์ดังกล่าวในการขับเคลื่อนภาคปฏิบัติ (สำหรับในบทความนี้ผู้เขียนอาจใช้ ‘เฟมินิสม์’ และ ‘เฟมินิสต์’ สลับกันไปมาเพื่อให้เห็นภาพของสตรีนิยมในบริบทต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ทั้งในแง่แนวคิดและขบวนการเคลื่อนไหว)

‘เฟมินิสต์’ เป็นกลุ่มที่สนับสนุนการยกระดับความเท่าเทียมและเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) ทั้งในมิติทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด เฟมินิสต์มองว่าเราทุกคนควรจะเสมอภาคเท่าเทียมกัน  ไม่ว่าจะมีเพศสรีระแบบไหน แสดงออกทางเพศอย่างไร หรือมากไปถึงเพศวิถีของคุณจะมีรสนิยมแบบไหนก็ตาม เฟมินิสต์มีเป้าหมายคือทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่หลากหลายอยู่ร่วมกันด้วยความเท่าเทียมมากที่สุด

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าเป้าหมายหลักของเฟมินิสต์คือ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ไม่ว่าจะมีเพศสรีระแบบไหน แสดงออกทางเพศอย่างไร หรือมากไปถึงเพศวิถีของคุณจะมีรสนิยมแบบไหนก็ตาม เฟมินิสต์มีเป้าหมายคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่หลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความเท่าเทียมมากที่สุด แม้ว่าจะไม่มีสูตรตายตัวว่าต้องทำอย่างไร เพราะบริบทแต่ละสังคมและวัฒนธรรมมีความแตกต่างกัน แต่หมุดหมายสำคัญของเฟมินิสต์คือ ความเท่าเทียมระหว่างเพศดังที่กล่าวไปเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อันเป็นหัวใจของขบวนการสตรีนิยม

การกล่าวว่า “แค่เป็นผู้หญิงก็เป็นเฟมินิสต์แล้ว” หรือกระทั่ง “เป็นผู้ชาย เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นเฟมินิสต์ไม่ได้” ประโยคเหล่านี้ถือเป็นมายาคติที่ผิดมหันต์ เพราะการจะเป็นหรือไม่เป็นเฟมินิสต์อยู่ที่แนวความคิดและการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงการต่อสู้กับปิตาธิปไตยดังที่กล่าวไป ไม่ใช่แค่ว่าเกิดมามีอวัยวะเพศหญิง หรือเรียกตัวเองว่าเป็นผู้หญิงก็เป็นเฟมินิสต์ได้เลย

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เฟมินิสต์เป็นทั้งแนวคิดที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ เป็นทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มากไปถึงการผนวกรวมมาเป็นทฤษฎีในการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่อีกด้วย

‘เควียร์’ (Queer) ความหลากหลาย ลื่นไหล และไร้ซึ่งสารัตถะ

‘เควียร์’ (Queer) เดิมทีในภาษาอังกฤษแปลว่า ‘ความประหลาด’ ซึ่งมักถูกนำมาเรียกเป็นคำเหยียดหยามและด่าทอกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (Homosexual) เป็นการมองเหยียดอย่างรังเกียจว่าพวกเขาเป็นผู้ที่แปลกแยกไปจากบรรทัดฐานความรักความสัมพันธ์แบบปกติ ซึ่งความปกติคือบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศ (Heteronormativity) 

จากการถูกเย้ยหยันและเหยียดหยามในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980s เป็นต้นมา กลุ่มผู้ที่ถูกเรียกว่า ‘เควียร์’ พยายามจะทวงคืนคำนี้ จากการถูกใช้ในความหมายแง่ลบ กลับกลายเป็นการนำสิ่งนี้มาเรียกขานอัตลักษณ์ว่า “เราเป็นเควียร์” อย่างภาคภูมิใจ การแย่งชิงช่องว่างของความหมายจึงเรียกว่าเป็นการเสริมพลังในกลุ่มพวกเขาอย่างยิ่ง จนกลายมาเป็น ‘เควียร์’ เฉกเช่นทุกวันนี้

สำหรับโลกตะวันตกเองพยายามใช้คำว่า ‘เควียร์’ ในการเป็นร่มใหญ่ (umbrella term) สำหรับการเรียกเพศวิถีที่หลากหลาย ดังจะเห็นได้จาก ‘LGBTQIAN+’ ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ตัว ‘Q’ ในอัตลักษณ์แห่งความหลากหลายทางเพศแปลได้ถึงสองความหมาย ความหมายแรกหมายถึง ‘Queer’ ดังที่กล่าวไปข้างต้น และความหมายที่สองคือ ‘Questioning’ อันหมายถึงตัวตน อัตลักษณ์ และเพศวิถีที่หลากหลาย สามารถลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่กับที่เสมอไป

สิ่งที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนและต่อสู้ของเควียร์คือ ‘บรรทัดฐานรักต่างเพศ’ (Heteronormativity) ที่ถูกสร้างขึ้นและทำงานภายใต้ ‘อุดมการณ์รักต่างเพศ’ (Heterosexism) ที่มักถูกใช้เป็นบรรทัดฐานราวกับไม้บรรทัดวัดสังคมว่าต้องเป็นความรักในรูปแบบของคู่รักต่างเพศ และต้องเป็นความสัมพันธ์แบบมีคู่ครองแค่คนเดียว (Monogamy) เพียงเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นความรัก ความสัมพันธ์ในรูปแบบของสิ่งที่ควรเป็น (และต้องเป็น) เช่นนี้เพียงเท่านั้น จึงจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้และให้ความสำคัญ

อาจกล่าวได้ว่าการสร้างความชอบธรรมในการธำรงความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศในรูปแบบนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการธำรงไว้ซึ่งปิตาธิปไตยเช่นเดียวกัน ซึ่งเควียร์พยายามต่อต้านและตั้งคำถามกับความปกติเหล่านี้มาเสมอ

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ‘เควียร์’ นอกจากเป็นอัตลักษณ์ทางเพศแล้ว ยังเป็นขบวนการเคลื่อนไหวรูปแบบหนึ่งในสังคม ไปจนถึงเป็นพื้นฐานแนวคิดว่าด้วย ‘การตั้งคำถามกับความปกติ’ (Queering) ต่างๆ ในสังคม ไม่เพียงแต่เรื่องเพศเท่านั้น การศึกษาด้วยการมีแนวคิดแบบเควียร์เป็นพื้นฐาน ยังคงนำพาให้เราคอยตั้งคำถามกับความปกติต่างๆ ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นความปกติ เป็นสิ่งปกติจริงๆ หรือเป็นเพียงวาทกรรมชุดหนึ่งที่มีอยู่ และต้องการการธำรงรักษาไว้ซึ่งการครอบอำนาจในรูปแบบหนึ่งแต่เพียงเท่านั้น

จุดต่างของ ‘เควียร์’ และ ‘เฟมินิสต์’ 

กล่าวได้ว่าจุดต่างของ ‘เฟมินิสต์’ และ ‘เควียร์’ มีอยู่มากพอสมควรทั้งในแง่ของบริบทการเกิด ประวัติศาสตร์การต่อสู้ และจุดยืน

จุดเริ่มต้นของเฟมินิสต์ คือการให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้หญิง อาจเรียกได้ว่าสิ่งที่เป็นหัวใจหลักของการพูดถึงเฟมินิสต์คือ ‘อัตวิสัยแบบผู้หญิง’ (Women Subjectivity) ว่าด้วยประสบการณ์ ความคิด ค่านิยม ศัตรู ไปจนถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้หญิงที่มีร่วมกัน เฟมินิสต์ค่อนข้างให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เป็นอย่างมาก ประการถัดมาคือ เฟมินิสต์หลายกลุ่มค่อนข้างยึดโยงกับสารัตถะทางเพศจนอาจเรียกได้ว่าเป็นพวกสารัตถนิยม เช่น Liberal Feminist, Marxist Feminist, Radical Feminist, Socialist Feminist, Psychoanalytic Feminist ฯลฯ

แต่ส่วนของเควียร์จะไม่ให้เน้นไปที่อัตวิสัยของผู้หญิงดังที่กล่าวไปข้างต้นเลย เควียร์ค่อนข้างตั้งคำถามกับการมีอยู่ของเพศภาวะ (Gender) โดยไม่ยึดโยงกับเพศสรีระ (Biological Sex) ให้ความสำคัญที่การแสดงออก (Gender Expression) มากกว่า และยังมากไปถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับความลื่นไหลของร่างกาย อัตลักษณ์ และรสนิยมทางเพศ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเป็นเควียร์ที่แตกต่างกับเฟมินิสต์มากๆ เรื่องหนึ่งคือการตั้งคำถามกับสารัตถะทางเพศ และเควียร์ค่อนข้างโจมตีกลุ่มเฟมินิสต์อย่างหนักหน่วงในหลายครั้ง

เมื่อ ‘เควียร์’ และ ‘เฟมินิสต์’ จับมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อพิชิต ‘ปิตาธิปไตย’

แม้ว่าจุดยืนของทั้งสองสิ่งจะมีความต่างกันค่อนข้างมาก แต่ความน่าสนใจประการหนึ่งของความเข้ากันได้ ในการขับเคลื่อนของสองสิ่งนี้คือ ทั้ง ‘เควียร์’ และ ‘เฟมินิสต์’ มีจุดร่วมกัน 3 ประการสำคัญคือ

1. ในแง่ของการต่อสู้กับโครงสร้างสังคมที่เป็นปิตาธิปไตย (Patriarchy)
บรรทัดฐานแบบรักต่างเพศ (Heteronormativity) ที่พยายามบอกว่าบทบาททางเพศ (Gender Roles) ที่ผูกติดมากับเพศสรีระ (Biological Sex) เป็นสิ่งตายตัว เช่น ผู้ชายเท่ากับเหตุผลและผู้หญิงเท่ากับอารมณ์ หรือผู้ชายเป็นเพศที่เหนือกว่าผู้หญิง

2. การกระตุ้นให้คนในสังคมมองเห็นและตระหนักเรื่อง ‘เพศ’ ว่าไม่ใช่
เรื่องไกลตัว และควรมองทุกประเด็นโดยมีความเป็นเพศเข้าไปด้วย

3. ทั้งเฟมินิสต์และเควียร์เชื่อว่าสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ นี่คือจุดประสงค์หลักที่พวกเขาต้องการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม

ดังจะเห็นได้ว่า ไม่ว่า ‘เควียร์’ และ ‘เฟมินิสต์’ จะห้ำหั่นกันดุเดือดเพียงใด แต่เมื่อต้องต่อสู้กับ ‘ปิตาธิปไตย’ ทั้งสองก็มีจุดยืนที่ต้องการต่อสู้เพื่อยืนหยัดกับสิ่งนี้เช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดสังคมที่ตระหนักเรื่องเพศและความเท่าเทียมขึ้นในสักวัน

Tags: , , , , , , , ,