*เนื้อหาภายในบทความมีการพูดถึงการฆ่าตัวตาย และความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเหตุแห่งเพศ

ฟังดูอาจเป็นเรื่องบังเอิญหรือเป็นการเหมารวมจนเกินไป แต่ต้องยอมรับว่าบ่อยครั้งเมื่อมีข่าวความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เกิดขึ้น ผู้ลงมือก่อเหตุส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย ขณะเดียวกันผู้ถูกกระทำก็มักจะเป็นผู้หญิงเช่นกัน

ยกตัวอย่างจากข่าวดังในประเทศไทยเมื่อปี 2023 ที่อดีตแฟนหนุ่มทำร้ายร่างกายและปลิดชีพเน็ตไอดอลสาว พร้อมทั้งจบชีวิตตนเองลงพร้อมกัน หลังจากที่เธอขอยุติความสัมพันธ์แบบคนรัก หรืออย่างเหตุการณ์ล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ข่าวอดีตสามีแพทย์หญิงบุกเข้ามาที่โรงพยาบาลหลังเลิกรากันไป จากนั้นผู้ชายก็ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองจนถึงแก่ชีวิต ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ที่สังคมยังไม่รับรู้

เหตุใด ‘ผู้ชาย’ จึงมักเป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศ

‘บรรทัดฐานและบทบาททางเพศ’ คือปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้ แนวคิดความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) ที่สร้างมายาคติทางเพศไว้ว่า เกิดเป็นลูกผู้ชายต้องเข้มแข็ง มีหน้าที่ปกป้องผู้หญิง ทำให้ผู้ชายจำนวนมากไม่พูดถึงปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญ และทำให้การแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกที่ถูกมองว่าอ่อนแอ จึงมักจะเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเรื่องนี้สอดคล้องกับการศึกษาในสหราชอาณาจักรที่พบว่า อัตราการเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลจิตใจเบื้องต้นของผู้ชายนั้นต่ำกว่าผู้หญิงถึง 32%

ทำให้สาเหตุข้างต้นที่ไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำไปสู่ ‘การก่อความรุนแรงโดยผู้ชายด้วยการทำร้ายอีกฝ่ายที่เป็นผู้หญิง’ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผู้หญิงทั่วโลกราว 1 ใน 3 คน ล้วนเคยประสบกับความรุนแรงทางกายและใจ หรือความรุนแรงทางเพศอย่างน้อยที่สุด 1 ครั้งในชีวิต ทั้งจากคนรักและคนที่ไม่ใช่คนรัก ไปจนถึงการทำให้อีกฝ่ายถึงแก่ความตาย

องค์การอนามัยโลกบัญญัติคำว่า ‘Femicide’ หรือในภาษาไทยว่า ‘อิตถีฆาต’ ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศไว้ว่า คือการฆ่าผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงที่มักกระทำโดยผู้ชายด้วยแรงจูงใจที่ว่า เพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง ซึ่ง Femicide เป็นไปได้ทั้งการก่อเหตุฆาตกรรมโดยคู่ครองหรืออดีตคู่ครอง ในรูปแบบการข่มขู่ การละเมิดทางเพศ และความรุนแรงทางเพศแฝง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าผู้หญิงมีอำนาจน้อยกว่า

ในปี 2022 ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงราว 8.9 หมื่นคนทั่วโลกถูกฆ่าโดยเจตนา ซึ่งแม้อัตราการฆาตกรรมทั่วโลกในปีเดียวกันมีแนวโน้มลดลง แต่จำนวนผู้ถูกกระทำเพศหญิงกลับไม่ได้ลดตามไปด้วย โดยกว่า 66% ผู้ลงมือก่อเหตุมักจะเป็นผู้ชายซึ่งเป็นคนรัก

ดังนั้น การฆ่าผู้หญิงจึงไม่อาจมองเป็นเพียงการฆาตกรรมเพราะปัญหาส่วนตัว หรือความหึงหวงเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเพศใด ปัญหาในความสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งที่ทั้งคู่มีร่วมกันและเพศหญิงก็หึงหวงได้ หากแต่เมื่อผู้ชายหึงหวง วิธีการแสดงออกกลับกลายเป็นความรุนแรงถึงแก่ชีวิต

อีกกรณีที่เกิดขึ้นจากปัญหาความรุนแรงทางเพศเช่นกัน ‘คือการฆ่าตัวตายของเพศชายเมื่อถูกปฏิเสธ’ ทั้งจากอดีตคนรักหรือจากผู้หญิงที่ตนมีใจให้เพียงฝ่ายเดียว ที่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับผู้ชายที่เลือกที่จะทำร้ายหรือจบชีวิตตัวเองเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงนั้น

ข้อมูลจากวารสาร American Journal of Preventive Medicine เผยว่า นอกจากปัญหาสุขภาพจิตหรือความเครียดด้านอื่นในชีวิตแล้ว กว่า 20% ของการฆ่าตัวตายล้วนสัมพันธ์กับปัญหาเรื่องคู่ครอง เช่น การเลิกรา หย่าร้าง หรือการทะเลาะวิวาทมีปากเสียงกับคนรัก

โดยทั่วไป ผู้หญิงเป็นเพศที่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีความพยายามที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย แต่อัตราการฆ่าตัวตายของผู้ชายก็ยังคงสูงกว่าผู้หญิงอยู่หลายเท่า ในปี 2023 ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทั่วโลกราว 7 แสนราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

‘มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ เพราะจะเพศไหนก็ไม่ควรทำร้ายกัน’

เมื่อเกิดเหตุการณ์ Femicide ขึ้น มักจะมีหลายคนออกมาแสดงความคิดเช่นนี้ ซึ่งผู้เขียนมองว่า ‘ถูกครึ่งหนึ่ง’ เพราะจริงอยู่ที่เพศไหนก็ไม่ควรทำร้ายกัน แต่การกล่าวเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากการบอกว่า Femicide หรือความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศที่ส่วนใหญ่แล้วผู้กระทำมักเป็นผู้ชายนั้นไม่มีอยู่จริง และเป็นการมองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าไป

นอกจากนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ Femicide หรือความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้น ผู้คนก็ยังคงตั้งคำถามกับเหยื่อว่าทำไมไม่ออกมาจากความสัมพันธ์ตั้งแต่แรก ทั้งที่มีหลายกรณีที่ชี้ให้เห็นว่าการก้าวออกจากความสัมพันธ์ก็ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุและแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ก่อเหตุลงมือ

สุดท้ายแล้ว การฆ่าเพราะผู้ชายหึงโหด ฆ่าเพราะโดนบอกเลิก ฆ่าเพราะผู้หญิงไม่ยอมทำตามใจ หรือการฆ่าตัวตายเพื่อหวังให้กระทบกับผู้หญิงที่ยังต้องใช้ชีวิตต่อไปนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยเหตุแห่งเพศทั้งสิ้น ดังนั้น สังคมจึงควรต้องหันกลับมามองถึงบรรทัดฐานและบทบาททางเพศในปัจจุบันอีกครั้ง ว่าปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด เพื่อป้องกันความรุนแรงทางเพศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Tags: , , ,