เวลาเราพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศหรือ Gender Equality เรามักจะนึกถึงประเทศตะวันตก ซึ่งมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมมายาวนาน (และที่จริงก็ยังต้องต่อสู้กันต่อไป) แต่คำถามก็คือ – แล้วถ้าเป็นประเทศในเอเชียล่ะ สถานการณ์เรื่องนี้เป็นอย่างไร

เลยอยากชวนคุณไปสำรวจผู้หญิงในเมืองแห่งโลกตะวันออกที่ได้ชื่อว่าก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสักแห่งสองแห่ง

แห่งแรกเลยก็คือโตเกียว

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวดังข่าวหนึ่งที่น่าสนใจมาก นั่นคือมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ออกมายอมรับว่า มีการปฏิบัติการบางอย่างกับข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของตัวเอง เพื่อ ‘จำกัด’ ที่ทางของผู้หญิงในการเข้าเรียน

วิธีการที่ว่านั้นง่ายมาก เพราะทำแค่ ‘ลดคะแนน’ ของผู้หญิงลง แต่ไม่ได้ลดแค่คะแนนของผู้หญิงนะครับ ถ้าเป็นผู้ชายที่เคยมาสอบเข้าแล้วยังไม่ผ่าน (คือเข้าไม่ได้) เป็นครั้งที่ 4 ก็จะถูกลดคะแนนลงแบบเดียวกับผู้หญิงด้วย

เรื่องนี้ คุณเคสุเกะ มิยาซาวะ (Keisuke Miyazawa) ซึ่งเป็นรักษาการอธิการบดี ออกมายอมรับในการแถลงข่าวว่า เขาอยากจะหารือกับทางรัฐบาล ว่าจะทำอย่างไรดีที่จะแก้ไขเรื่องนี้ เพราะการปฏิบัติแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นนะครับ แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว นั่นแปลว่ามีการทำกันมาเป็นสิบๆ ปี เท่ากับเป็นการ ‘ตัดอนาคต’ ผู้หญิงจำนวนมากออกไป โดย ‘เหยียด’ ผู้หญิงด้วยว่ามีความสามารถต่ำกว่าผู้ชาย คือถ้าเป็นผู้ชาย จะถูกตัดคะแนนแบบเดียวกันเมื่อสอบไม่ผ่านเป็นครั้งที่ 4

เรื่องนี้ฉาวโฉ่ขึ้นมาก็เพราะมีการสืบสวนเรื่องการรับเงิน คล้ายๆ รับเงินสินบน คือถ้าพ่อแม่ของเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นศิษย์เก่า และยอม ‘บริจาค’ เงินให้มหาวิทยาลัย ก็สามารถเพิ่มคะแนนให้เด็กได้ คล้ายๆ จ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะนี่แหละครับ แต่พอสืบเรื่องนี้มากเข้า ในที่สุดก็ค้นพบว่านอกจากมีการ ‘เพิ่มคะแนน’ ให้บางคนแล้ว ยังมีการ ‘หักคะแนน’ ออกจากบางคนด้วย โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด

คำถามก็คือ – ทำไมถึงทำแบบนี้ เพราะถึงทำไปก็ไม่ได้ประโยชน์โพดผลอะไร คือไม่ใช่การทุจริตเพื่อหาผลประโยชน์เหมือนกรณีได้รับเงินเพื่อเพิ่มคะแนน

คำตอบเรื่องนี้น่าตกใจ และสะท้อนให้เห็นวิธีคิดที่ยังฝังรากลึกอยู่ในสังคมญี่ปุ่น เพราะอดีตอธิการบดี คือคุณมาโมรุ ซูซูกิ (Mamoru Suzuki) และอดีตประธานของมหาวิทยาลัย คือคุณมาซาฮิโกะ อูซูอิ (Masahiko Usui) ไม่ค่อยอยากให้ผู้หญิงเข้าเรียนโรงเรียนแพทย์ เพราะสังคมญี่ปุ่นขาดแคลนแพทย์ และมีความเชื่อกันอยู่ลึกๆ ว่า หมอผู้หญิงมักจะลาออก หรือลาหยุดยาวๆ เนื่องจากการแต่งงานหรือมีลูก ดังนั้น ถ้าผู้หญิงจะเข้ามาเป็นแพทย์ ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองหนักๆ หน่อย อะไรทำนองนั้น

ส่วนการที่ไปหักคะแนนผู้ชายที่สอบเข้าหลายครั้งแล้วยังไม่ได้ เหตุผลก็คือคนเหล่านี้มักจะไม่ได้เก่งจริง และพอเรียนๆ ไป ก็อาจจะสอบตก ทำให้อัตราผู้เรียนจบของมหาวิทยาลัยตกต่ำลง เป็นการเสียชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ดังนั้นพอเอาสองเรื่องนี้มาเทียบกัน ทางมหาวิทยาลัยจึงอาจรู้สึก ‘ชอบธรรม’ แล้ว ที่ทำแบบนี้ (ดูรายละเอียดได้ในข่าวนี้)

แต่นี่เอง ที่สะท้อนให้เราเห็นชัดทีเดียว ว่าโลกตะวันออก (อย่างน้อยก็ในสังคมเล็กๆ สังคมหนึ่งของญี่ปุ่น) มองผู้หญิงอย่างไร

แต่กระนั้นก็ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น ผู้หญิงฮ่องกงก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์คล้ายๆ กัน

ที่จริงแล้ว ต้องบอกว่าในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกนั้นมีผู้หญิงเข้าเรียนมากกว่าผู้ชายนะครับ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ ผู้หญิงเป็นผู้นำระดับสูงในบริษัทต่างๆ น้อยกว่าผู้ชายมาก อย่างเช่นในการจัดอันดับบริษัทของ Fortune 500 มีผู้หญิงติดอยู่แค่ 23 คน เท่านั้นเอง แม้การต่อสู้ทางเพศจะดำเนินมาเนิ่นนานเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แต่ ‘เพดานแก้ว’ ที่ว่านี้ก็ยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหนเลย

อย่างในฮ่องกงซึ่งเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจดี คนรายได้สูง ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในโลกตะวันตกแล้ว พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงฮ่องกงจะมีอัตราการเข้าทำงาน (Labour-force Participation Rate) แค่ราว 50% เท่านั้น ในโลกตะวันตกตัวเลขอยู่ที่ 70-80% นั่นแปลว่าผู้หญิงฮ่องกงที่มีงานทำในระบบ มีอยู่แค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งอาจเป็นแม่บ้าน หรือหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งหากอยากเพิ่มอัตราการทำงานของผู้หญิงให้มากขึ้น ก็ต้องใช้ความพยายามจากทั้งสังคม เช่น มีนโยบายที่เป็นมิตรกับผู้หญิงมากขึ้น อย่างเช่นการเลี้ยงดูลูก หรือวิธีทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่แน่นอน – เรื่องทำนองนี้ย่อมขัดกับวัฒนธรรมจีนไม่น้อย

ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่ ที่ตัวเลขจากการสำรวจของ Hays Asia Salary Guide (ดูได้ที่นี่ 2018 hays asia salary guide pdf) ออกมาว่า ในตำแหน่งระดับบริหารจัดการ (Management Position) ของฮ่องกงนั้น มีอยู่เพียง 29% เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง ซึ่งถือว่าต่ำเป็นอันดับสองในเอเชีย แล้วรู้ไหมครับว่าที่ไหนครองอันดับหนึ่ง แน่นอน – ประเทศนั้นก็คือญี่ปุ่นของเรานี่เอง โดยตำแหน่งผู้ในระดับบริหารจัดการของญี่ปุ่นนั้น มีผู้หญิงอยู่แค่ 22% เท่านั้นเอง โดยค่าเฉลี่ยของทั้งทวีปเอเชียอยู่ที่ 31% โดยมีมาเลเซียมาอันดับหนึ่งอยู่ที่ 38% ตามมาที่จีนแผ่นดินใหญ่และสิงคโปร์ที่ 31 และ 30% ตามลำดับ

จะเห็นว่า ค่าเฉลี่ย 31% นั้นไม่ได้สูงอะไรเลย เรื่องนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า ชาวตะวันออกอย่างเอเชียทั้งหลาย มีมุมมองต่อความเสมอภาคทางเพศ (เมื่อมองแค่ 2 เพศด้วยนะครับ ยังไม่ได้ไปไกลถึงเพศอื่นๆ) อย่างไร

คุณพอล ยิป (Paul Yip) จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่สนใจเรื่องนี้ บอกไว้ในบทความนี้ ว่าการสร้างความเท่าเทียมทางเพศหรือ Gender Equality นั้น ต้องมีแผนการที่เป็นรูปธรรม (Action Plan) ซึ่งต้องตั้งต้นตั้งแต่ระบบการศึกษาเลย โดยต้องสร้างหลักสูตรที่ ‘ละเอียดอ่อนเรื่องเพศ’ (Gender-Sensitive Curriculum) มาตั้งแต่ต้น ในระดับของสังคม ก็ต้องพยายามให้กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันนโยบายต่างๆ ด้วย ทว่าระดับที่คุณพอลเห็นว่ายากที่สุด ก็คือระดับวัฒนธรรม

อคติทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลายาวนานมากกว่าจะเปลี่ยนได้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วข้ามคืน เพราะต้องสร้างมโนทัศน์ใหม่ สร้างบรรทัดฐานใหม่ เพื่อให้กระจายไปในสังคม และค่อยๆ เป็นที่ยอมรับเป็นฐานคิด จึงจะเกิดระบบกฎหมาย ระบบการศึกษา และการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ออกมาได้เอง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องที่ต้องการบริบทอย่างมาก (เขาใช้คำว่า Context-Dependent) คือหากสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่เปลี่ยนแปลงไป ก็ยากที่จะเกิดการยอมรับในความเท่าเทียมขึ้นมาได้ เพราะวัฒนธรรมเดิมนั้นได้ ‘โอบอุ้ม’ การเลือกปฏิบัติเอาไว้ (คือมี Culturally embedded Discrimination) ในระดับโครงสร้างของวิธีคิดเลย

การสร้างความเสมอภาคทางเพศจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ ทว่าหลายคนก็หวังและฝันเสมอมาเช่นกัน – ว่ามันไม่ควรเป็นเรื่องที่ยากขนาดนั้น