หนึ่งสัปดาห์ก่อน อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน-แอฟริกาใต้ ประธานและหัวหน้าวิศวกรบริษัทธุรกิจการขนส่งทางอวกาศสเปซเอ็กซ์ (Space X) และเจ้าของคนปัจจุบันของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ ทวีตข้อความประกาศให้คำว่า ‘ซิส’ (Cis) และ ‘ซิสเจนเดอร์’ (Cisgender) ถือเป็น ‘คำเรียกเชิงเหยียดหยาม’ บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ ใครก็ตามที่ใช้คำเหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างน้อยที่สุด คือโดนระงับบัญชีชั่วคราว

ทวีตของอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นข้อความตอบกลับไปยังบัญชีผู้ใช้ @JamesEsses

โดยข้อความในเธรดเดียวกัน เขาแสดงตัวสนับสนุนทวีตของนักกิจกรรมต่อต้านทรานส์รายหนึ่ง ที่อ้างว่า ‘ซิส’ เป็นคำที่คิดค้นและเริ่มใช้โดยนายแพทย์ที่มีรสนิยมใคร่เด็กเมื่อปี 1991 ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง

แม้ว่าตอนนี้ ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากทวิตเตอร์ว่า จะเริ่มใช้กฎดังกล่าวตามที่มัสก์ทวีตขู่เมื่อไร และยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ถูกระงับบัญชีจากการใช้คำว่าซิส หรือซิสเจนเดอร์ แต่แน่นอนว่า ข้อความที่เผยแพร่โดยบัญชีที่มีผู้ติดตามมากถึง 145 ล้านคน ย่อมมีผลกระทบที่ไม่ธรรมดา นอกจากจะมียอดการมองเห็นมากถึง 29 ล้านวิวแล้ว เขายังได้รับการสนับสนุนจาก เจ.เค. โรวลิง (J.K. Rowling) นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ เจ้าของนวนิยายชุดแฮร์รี พอตเตอร์ (Harry Potter) ผู้ต้องข้อครหาว่าเป็นเฟมินิสต์ที่มีแนวคิดกีดกันทรานส์

ทวีตสนับสนุนของเจ.เค. โรวลิง

คำว่า ‘ซิส’ เป็นคำศัพท์ทางมโนคติ อันแสดงถึงความเชื่อในแนวคิดเกี่ยวกับเพศอัตลักษณ์ซึ่งยังพิสูจน์ความจริงเท็จไม่ได้ คุณมีสิทธิ์ทุกประการที่จะเชื่อในแก่นแท้ของความเป็นเพศที่อาจตรงหรือไม่ตรงกับเพศของร่างกาย แต่พวกเราที่เหลือก็มีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วย และปฏิเสธคำศัพท์ที่คุณอุปโลกน์ขึ้น

สรุปโดยง่ายคือ ผู้ที่ไม่เชื่อว่าเพศสภาพ ‘ทรานส์’ มีจริง ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับว่าตัวเองมีเพศสภาพเป็น ‘ซิส’ นั่นเอง

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ทั้งคู่ โดยเฉพาะอีลอน มัสก์ จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อผนวกข้อความในทวิตนี้ รวมกับพฤติกรรมเหยียดเพศในอดีตของเขา ไม่ว่าจะเป็นการเชิญพนักงานหญิง 57% ออกจากงานหลังการเข้าซื้อทวิตเตอร์

หรือการแสดงความเห็นเหยียดเพศเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา เอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) หนึ่งในผู้ลงแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2020 พรรคเดโมแครต

ยังไม่รวมความเปลี่ยนแปลงของทวิตเตอร์ในระยะหลัง ซึ่งล้วนเป็นความเปลี่ยนแปลงที่คุกคามเสรีภาพในการแสดงออก และเอื้อต่อการส่งต่อข้อมูลเท็จ ส่งผลให้ทวิตเตอร์ในยุคอีลอน มัสก์ กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะฝ่ายขวาสุดโต่งขนาดย่อมๆ แห่งหนึ่ง

(ผู้ที่สนใจประเด็นการเปลี่ยนแปลงอันน่ากังวลของทวิตเตอร์ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ มองกระแส ‘ขวาหัน’ ในทวิตเตอร์ และ Digital Colonialism หลังการเข้ามาของ อีลอน มัสก์)

คำว่า ‘ซิส’ มาจากไหน หมายความว่าอย่างไร

หากคุณเป็นคนไทย อาจรู้สึกว่า ‘ซิส’ นั้นฟังดูไม่คุ้นหูสักเท่าไร แต่ในภาษาอังกฤษนั้น เริ่มมีการใช้คำนี้ค่อนข้างแพร่หลายในโลกออนไลน์มาสักระยะหนึ่งแล้ว

ซิส ย่อมาจากคำเต็มคือ ‘ซิสเจนเดอร์’ ใช้กล่าวถึงบุคคลที่มีเพศสภาพและเพศกำหนด (Sex Assigned at Birth) ตรงกัน กล่าวคือเป็นคำที่มีความหมายตรงข้ามกับ ‘ทรานส์เจนเดอร์’ นั่นเอง

หากจะยกตัวอย่างง่ายที่สุด คือตัวอีลอน มัสก์ เองซึ่งเกิดมาเป็นทารกเพศชายเมื่อ 52 ปีก่อน และในวันนี้ เขายังคงระบุเพศสภาพของตนเองว่าเป็นเพศชายอยู่ ไม่ได้มีการข้ามเพศ จึงกล่าวได้ว่า เพศสภาพของมัสก์คือชายซิสเจนเดอร์ ไม่ได้มีความหมายเชิงลบในตัวของมันเองแต่อย่างใด

แม้จะเป็นคำที่เพิ่งถูกหยิบจากกองเอกสารฝุ่นเกาะและวงสนทนาวิชาการ ออกมาใช้ในหมู่คนทั่วไปได้ไม่ถึง 30 ปี แต่ก่อนหน้านั้นคำว่าซิสมีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์มายาวนานหลายศตวรรษทีเดียว เดิมทีแล้ว Cis- เป็นคำภาษาละตินที่แปลว่า ‘ซึ่งอยู่ฝั่งนี้’ (on this side of-) ตรงข้ามกับ Trans- ที่แปลว่า ‘ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง’ (on the other side of-)

โดยทั้ง Cis- และ Trans- เริ่มถูกยืมมาใช้ในภาษาอังกฤษเมื่อช่วงศตวรรษที่ 17 และในปัจจุบันก็ยังคงหลงเหลือคำศัพท์ภาษาอังกฤษมากมาย ที่เกิดจากการใช้ 2 คำนี้เป็นพรีฟิกซ์ (Prefix) เอามาสมาสกับคำอื่นๆ ให้ได้ความหมายที่ต้องการ

ไม่ว่าจะเป็น Cislunar ซึ่งหมายถึงพื้นที่ระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ซึ่งถือเป็น ‘ฝั่งนี้’ ของดวงจันทร์ ในขณะที่ Translunar หมายความรวมถึงพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลกด้วย ซึ่งถือเป็นการข้ามไป ‘อีกฝั่ง’ ของดวงจันทร์

นอกจากนี้ยังมี Transatlantic-Cisatlantic ที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น ไฟลต์บินนิวยอร์ก-ลอนดอนถือเป็น Transatlantic Flight ส่วนไฟลต์บินที่ไม่ได้มีการข้ามมหาสุมทรแอตแลนติกอย่างนิวยอร์ก-แวนคูเวอร์ หรือลอนดอน-ปารีส จึงถือเป็น Cisatlantic Flight เป็นต้น

ฟิน เบลค (Finn Blake) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ผู้หญิงและ LGBTQIA+ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) กล่าวถึงคำว่าซิสที่มีความหมายในเชิงเพศสภาวะ และการนำคำมาสมาสกันเป็น ‘ซิสเจนเดอร์’ ว่า เริ่มขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยกลุ่มผู้ที่กำลังศึกษาเพศสภาวะและอัตลักษณ์ทางเพศ

ในขณะนั้นพวกเขากำลังมองหาคำศัพท์ที่ใช้ในการอธิบายอัตลักษณ์ทางเพศต่างๆ ได้อย่าง ‘มีความเป็นกลาง’ ซึ่งนั่นรวมไปถึงกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนปกติ’ ด้วย

คนตรงเพศ คือ ‘คนปกติ’ คำเรียกอย่าง ‘ซิส’ จึงไม่จำเป็น?

ปัจจบันคนที่ไม่รู้จักคุ้นเคยกับคำว่าซิส ยังคงเลือกใช้คำว่า ‘คนปกติ’ ‘คนทั่วไป’ ‘คนที่ไม่ใช่ทรานส์’ ซึ่งโดยธรรมชาติของภาษา การเรียกกลุ่มคนว่าพวกเขาเป็น ‘คนที่ไม่ใช่ XXX’ คือการสื่อว่า ‘XXX’ คือลักษณะที่ผิดจากธรรมดา

เช่น หากต้องการชื่อเรียกเพื่อแยกกลุ่มผู้ชายรักผู้ชายด้วยกัน กับผู้ชายที่รักชอบเพศอื่นๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม หากไม่อยากให้ชื่อเรียกดูพุ่งเป้าไปที่กลุ่มรักร่วมเพศจนเกินไป คนทั่วไปคงเลือกใช้คำว่า ‘เกย์’ กับ ‘สเตรท’ มากกว่าที่จะใช้คำว่าพวกที่เป็น ‘เกย์’ กับพวกที่ ‘ไม่เกย์’

เพราะฉะนั้น การให้ชื่อเรียกกับกลุ่มคนที่ไม่ใช่ทรานส์ ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราเรียกชาวรักต่างเพศว่า ‘สเตรท’ หรือเรียกคนผิวขาวเชื้อสายยุโรปว่า ‘คนขาว’ เพราะชื่อเหล่านี้คือสิ่งที่เปิดทางให้เราสามารถพูดถึงประสบการณ์ของเราที่ต่างจากคนอีกกลุ่มได้ โดยไม่เผลอไปกำหนดให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็น ‘มาตรฐาน’ หรือ ‘ค่าเริ่มต้น’ ซึ่งหมายความว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งจะต้องรับบทกลุ่ม ‘เบี่ยงเบน’ หรือ ‘ผิดปกติ’ โดยอัตโนมัติ

นัยหนึ่ง ‘ซิสเจนเดอร์’ จึงเป็นดั่งเครื่องมือสร้างความเท่าเทียมทางภาษาที่ทรงพลัง เป็นคู่ตรงข้ามของ ‘ทรานสเจนเดอร์’ ที่มีตัวตนอยู่และเป็นส่วนหนึ่งของภาษา ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ไม่ว่าตอนลืมตาขึ้นมาดูโลก คุณจะถูกกำหนดให้เป็นเป็นเพศอะไรก็ตาม และตอนนี้เพศสภาพของคุณจะตรงกับเพศกำหนดนั้นหรือไม่ ภาษาก็มีชื่อเรียกให้คุณทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยไม่เอาเพศใดเพศหนึ่งมาเป็นเกณฑ์วัดความปกติของเพศอื่น

นี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้คนที่เผยแพร่แนวคิดแอนตี้ทรานส์ อย่างมัสก์หรือโรวลิง เกลียดกลัวคำว่าซิส เพราะคำคำนี้เป็นวิธีการที่ชุมชนทรานสเจนเดอร์สามารถใช้เรียกพวกเขาได้ โดยไม่ต้องกดตัวเองให้ต่ำ แล้วยกยอให้พวกเขาให้เป็นคนปกติ

เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ทุกคนสื่อสารได้อย่างกระชับฉับไวว่า ‘ผู้ชายที่กำลังพูดจาเหยียดทรานส์คนนี้ เป็นชายซิสเจนเดอร์’ เช่นเดียวกับที่ชาวอเมริกันสามารถเล่าประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจนว่า ‘กลุ่มคนที่กดขี่ข่มเหงและจับคนดำมาเป็นทาสในอเมริกา อีกทั้งยังฆ่าคนพื้นเมือง คือคนขาว’

เพราะถ้าหากว่าเราไม่เคยดูถูกหรือกดขี่ขมเหงใคร และไม่เคยใช้คำว่า ‘ทรานส์’ ‘เกย์’ และ ‘คนดำ’ เป็นคำเหยียดหยาม คำว่า ‘ซิส’ ‘สเตรท’ และ ‘คนขาว’ ที่คนอื่นใช้กับเรา ก็คงไม่ได้มีความหมายอะไร นอกจากเป็นคำที่ใช้ในการอธิบายว่า ตัวเรามีลักษณะเป็นอย่างไรก็เท่านั้น

 

อ้างอิง

https://www.forbes.com/sites/kimelsesser/2023/07/02/elon-musk-deems-cis-a-twitter-slurheres-why-its-is-so-polarizing/

https://www.forbes.com/sites/carlieporterfield/2022/12/08/new-lawsuit-claims-elon-musks-twitter-layoffs-targeted-women/

https://www.msnbc.com/opinion/msnbc-opinion/jk-rowling-elon-musk-cisgender-trans-slur-rcna90632

https://www.msnbc.com/opinion/msnbc-opinion/elon-musks-pronoun-tweet-marks-dangerous-turn-rcna61324

https://www.washingtonpost.com/lifestyle/2023/06/30/cisgender-twitter-musk-suspension/

https://www.independent.co.uk/voices/elon-musk-cisgender-slur-b2362171.html

https://www.vanityfair.com/news/2022/04/elon-musk-twitter-terrible-things-hes-said-and-done

https://www.outlookindia.com/international/twitter-layoff-two-women-sue-elon-musk-s-twitter-alleging-discriminatory-layoffs-news-243505

Tags: , , , , , , , ,