บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีประสาท นิวรอลลิงก์ (Neuralink) ที่อีลอน มัสก์ตั้งขึ้นเพื่อหาทางเชื่อมสมองมนุษย์เข้าไปกับคอมพิวเตอร์ได้ยื่นขออนุญาตต่อหน่วยงานกำกับดูแลด้านการทดลองทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา เพื่อทดสอบติดตั้งอุปกรณ์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นแล้ว

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม อีลอน มัสก์ นักธุรกิจด้านเทคโนโลยี เปิดตัวโครงการแรกของบริษัทนิวรอลลิงก์ (Neuralink) ที่เขาลงทุนไปแล้ว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ซานฟรานซิสโก ด้วยหุ่นยนต์ที่เหมือนกับจักรเย็บผ้าซึ่งสามารถติดตั้ง ‘เส้นด้าย’ บางมากๆ ลึกลงในสมอง

สิ่งที่จะถูกส่งเข้าไปในสมองเป็นชิปขนาดเล็กเชื่อมกับสมองผ่าน ‘เส้นด้าย’ ซึ่งบางกว่าผมของมนุษย์และมองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น ชิปที่เล็กมากนี้บรรจุขั้วไฟฟ้า 3,000 ขั้วซึ่งติดอยู่บนเส้นด้ายที่ยืดหยุ่นได้ ทำให้สามารถติดตามกิจกรรมของเซลล์ประสาทได้ 1,000 เซลล์

บริษัทบอกว่า ศัลยแพทย์จะเจาะรูลงไปในกะโหลกเพื่อใส่ ‘เส้นด้าย’ ลงไป แต่ในอนาคตก็หวังว่าจะใช้เลเซอร์เจาะเข้าไปในกะโหลกได้ สิ่งหนี่งที่ยังเป็นคอขวดอยู่ก็คือ การสั่นสะเทือนของกะโหลกจากการเจาะรู แต่ถ้าใช้เลเซอร์ก็จะไม่รู้สึก ทั้งนี้บริษัทมีแผนที่จะทำงานร่วมกับศัลยแพทย์ทางประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และสถาบันอื่นๆ เพื่อทดลอง

บริษัทบอกว่า ข้อดีของระบบนี้คือทำให้สามารถเจาะจงพื้นที่ของสมองได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดปลอดภัยขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้วิเคราะห์การบันทึกที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งด้วย เพื่อให้สามารถนำไปสร้างแบบจำลองต่างๆ ให้กับคนผู้ป่วยได้ต่อ

อย่างไรก็ตาม นิวรอลลิงก์ไม่ได้อธิบายว่าระบบแปรผลกิจกรรมทางสมองจะเป็นอย่างไร หรืออุปกรณ์นี้สามารถกระตุ้นเซลล์สมองได้อย่างไร

มัสก์บอกว่า ยังต้องใช้เวลาอีกนานมาก แต่สำหรับคนเลือกที่จะใช้อุปกรณ์นี้ ระบบจะอนุญาตให้พึ่งพาปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ระหว่างการนำเสนอ มัสก์เผลอหลุดปากออกมาว่า ระบบนี้ถูกทดสอบกับลิงแล้วว่าสามารถควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยสมองได้

ก่อนหน้านี้มีข้อมูลน้อยมากว่า บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 กำลังทำอะไรอยู่  เป้าหมายหนึ่งคือ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับผู้ป่วยจากความเสียหายของระบบประสาทอย่างรุนแรง มัสก์มักจะพูดบ่อยๆ ว่า มีเป้าหมายเพื่อสร้าง ‘แบนด์วิดธ์ขนาดใหญ่ที่สุด’ สำหรับเชื่อมสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ในท้ายที่สุด

การใช้งานขั้นแรกสุดคือ ช่วยให้ผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตสามารถใช้สมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ได้ รวมทั้งอาจใช้สำหรับผู้ป่วยโรคลมบ้าหมู พาร์กินสัน แมกซ์ โฮดัก ประธานของนิวรอลลิงก์บอกว่า ก่อนอื่น ผู้ป่วยต้องเรียนวิธีใช้เป็นอันดับแรก ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ยาวนาน เหมือนกับการฝึกพิมพ์ดีดและเล่นเปียโน

ที่มา:

https://www.nytimes.com/2019/07/16/technology/neuralink-elon-musk.html

https://www.bbc.com/news/technology-49004004

https://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/news/elon-musk-neuralink-brain-computer-transhumanism-threads-a9007756.html

ภาพ : Frederic J. BROWN / AFP

Tags: