เสื้อกล้ามรัดรูปสีชมพู ซอยผมทรงรากไทร เครื่องสำอางสีสันจัดจ้าน กรีดอายไลเนอร์เส้นหนาตึ้บ สีหน้าทะเล้น ภาษากายยั่วเย้า พร้อมสะบัดฟองน้ำเปียกชุ่มถูลงบนกระโปรงรถซิ่ง
นาทีนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จัก ‘อีกี้’ สก๊อยสาวแสนก๋ากั่นคนนี้อีกแล้ว
‘กี้’ (รับบทโดย หลิน-มชณต สุวรรณมาศ) คือตัวละครในเอ็มวีเพลง ธาตุทองซาวด์ ผลงานซิงเกิ้ลล่าสุดของ YOUNGOHM แรปเปอร์หนุ่ม อดีตเด็กวัดผู้เติบโตมาเป็นศิลปินฮิปฮอปแถวหน้าของเมืองไทย
นอกเหนือไปจากท่วงทำนองสุดโจ๊ะ ที่โดนใจจนต้องยกสถานะให้เป็นเพลงชาติของสายปาร์ตี้ตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ด้านความร้อนแรงของอีกี้ก็ลุกไหม้เป็นไฟลามทุ่งไปทั่วโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว
‘อีกี้’ กับแฟชั่นยุค hi5: รถไฟขบวน ’Nostalgia’ ที่เราไม่อยากตก
อีกี้นี่มันเป็นสก๊อย ไปกับผู้บ่อย ผู้พาไป skrt
อีกี้ชอบไป skrt แต่เปลี่ยนผู้บ่อย สงสัยไม่เวิร์ก
บางครั้งเราอาจเห็นเธอโผล่มาในรูปแบบการแชร์เพลง ภาพข่าว คลิปลิปซิงค์ในแอปพลิเคชัน Tiktok หรือที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือการส่งต่อ Prompt สนุกๆ ผ่านลูกเล่น ‘Add Yours’ ใน Instagram ให้ผู้ติดตามของตัวเองมาร่วมแชร์รูปถ่ายของตัวเองในสมัยที่ยังเป็นอีกี้
ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่อยู่เหนือความคาดหมาย และชวนให้พินิจพิเคราะห์อย่างมาก อาจเพราะทัศนคติที่ผู้คนมีต่อกลุ่มแว้น-สก๊อยตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เราได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้ ได้แปรเปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
โดยเฉพาะคำว่า ‘สก๊อย’ ซึ่งเป็นคำแสลงหู ที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากได้ยิน หรือเอามาใช้เรียกตน เพราะเป็นคำที่ไม่เพียงสื่อถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมการประลองความเร็วบนถนนเหมือนคำว่า ‘แว้น’ แต่ยังครอบคลุมไปถึงมิติอื่นๆ เช่น บุคลิกภาพ พฤติกรรม หรือรสนิยมส่วนตัวที่ถูกนิยามว่า ‘ตลาดล่าง’
เมื่ออยู่ๆ สิ่งที่หญิงสาวทุกรายผลักไสไล่ห่างมาโดยตลอด เกิดถูกยอมรับโดยคนในสังคมขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย หลายคนจึงอดไม่ได้ที่จะตั้งความหวังว่า นี่อาจเป็นผลพวงมาจากบรรทัดฐานทางเพศและมายาคติผู้หญิงที่ดี ที่ถูกรื้อสร้างขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ หากมองตัวละครอีกี้ให้ถี่ถ้วนหัวจรดเท้าจะพบว่าจริงๆ แล้วเธอไม่ได้มีภาพลักษณ์คล้ายสก๊อยที่เราคุ้นชิน แม้ลักษณะกิริยาท่าทางที่แสดงออก และเนื้อหนังที่โผล่พ้นร่มผ้าอาจฉุดให้เธอหลุดจากกรอบการเป็น ‘หญิงที่ดี’ ของคนยุค 2005-2010 มาไกลโข มิหนำซ้ำถ้าในตอนนั้นอีกี้มีตัวตนอยู่จริง เธอก็คงเป็นหญิงขบถที่น้อยคนจะนึกชื่นชม
ขณะเดียวกัน นอกจากจะมีหน้าตาสะสวยตามมาตรฐานความงาม เธอยังสวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องประดับที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ก็รู้ทันทีว่าเป็นของราคาแพง นั่นแสดงให้เห็นถึงกำลังทรัพย์ที่มีมากพอจะตามเทรนด์แฟชั่นได้ในระดับเดียวกับวัยรุ่นเดินสยามทั่วไป
ดังนั้น สิ่งที่ทำให้ผู้คนมองเห็นภาพซ้อนทับของตนเองในภาพของอีกี้ จึงไม่ใช่ความเป็นสก๊อย แต่เป็นแฟชั่นย้อนยุคที่ชวนให้รู้สึกโหยหาอดีต ซึ่งบังเอิญถูกสวมทับด้วยคอนเซปต์สก๊อยเท่านั้น และนั่นก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นในรูปถ่ายที่ถูกแชร์เพื่อมีส่วนร่วมในเทรนด์ #อีกี้มันเป็นสก๊อย ด้วยเช่นกัน
ภาพ: Instagram ของโฟร์-สกลรัตน์, ชมพู่ อารยา และปุ้มปุ้ย พรรณทิพา
เราอาจมองเห็นเศษเสี้ยวอดีตของผู้คนที่ดูร่วมสมัยกับยุคเฟื่องฟูของสก๊อย เราได้เห็นผมทรงรากไทร คอนแทคเลนส์บิ๊กอาย และเห็นท่าโพสที่ดูล้าสมัย จนรู้สึกจั๊กจี๋อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับ ‘ไร้รสนิยม’
แต่องค์ประกอบซึ่งเป็นแก่นแท้ของความเป็นสก๊อย อย่างรองพื้นสีสว่างกว่าคอ ที่เป็นร่องรอยการต่อสู้เพื่อปีนบันไดมาตรฐานความงาม ความตรงไปตรงมาเรื่องเพศซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อยู่นอกขนบหญิงดี หรือแฟชั่นสไตล์บ้านๆ ที่ดูเข้าเทรนด์บ้าง ไม่เข้าบ้างตามอัตภาพและกำลังซื้อ กลับเป็นองค์ประกอบที่หากไม่ถูกหลีกเลี่ยงไปเลย ก็ถูกนำมาใช้แต่งตัวตามเพื่อล้อเลียนเรียกเสียงหัวเราะ
การกล่าวว่าปรากฏการณ์นี้ เกิดจากการยอมรับความขบถของวัฒนธรรมแว้น-สก๊อย จึงดูจะเป็นการประเมินสำนึกทางชนชั้นของคนไทยที่สูงเกินจริงไปเสียหน่อย
แล้วสิ่งใดกันที่ประกอบสร้างความเป็น ‘สก๊อย’
ทันทีที่มีการหยิบยกปัญหาความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งในสถาบันครอบครัวขึ้นมาพูดถึงว่า เป็นต้นเหตุที่ต้อนให้วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งพาตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมแว้น-สก๊อย หรือมีการนำเสนอมุมมองสตรีนิยมต่อสก๊อยในฐานะวิถีการต่อสู้กับความเป็นหญิงตามขนบ ก็เริ่มมีเสียงคัดค้านตามมาทันที
สก๊อยคือพฤติกรรม ไม่ใช่ชนชั้น
ฝั่งหนึ่งยืนยันหนักแน่นเช่นนั้น พร้อมแสดงความกังวลถึงการหยิบยกประเด็นเหล่านี้มานำเสนอ ว่าเป็นการ Romanticize พฤติกรรมของคนประเภทดังกล่าว ที่มักสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในสังคม เช่น ความประมาทที่เป็นภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน การสร้างมลพิษทางเสียง การยกพวกวิวาทตบตี หรือปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยเรียน
จริงอยู่ที่ปัญหาสังคมข้างต้น มักเกิดขึ้นโดยมีใจกลางเป็นกลุ่มเด็กสาวที่มีภาพลักษณ์เช่นนั้น แต่หากเรามองย้อนกลับกัน โดยไม่หลงไปตามภาพข่าว และน้ำเสียงที่ถูกใช้ในการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ ก็จะเห็นว่าสก๊อยไม่ใช่เพียงชื่อเรียกของพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ แต่เป็นคำดูถูกที่แฝงไปด้วยการแบ่งแยกชนชั้น
ยกตัวอย่างกรณีที่เด็กมัธยมผมสั้นเท่าติ่งหู มีเรื่องทะเลาะวิวาทกันในคลิปไวรัลบนอินเทอร์เน็ตถูกผู้คนเรียกว่าสก๊อย เทียบกับกรณีดาราที่มีข่าวเกาเหลา รวมหัวกันนินทาเพื่อนร่วมวงการออกสื่อ ให้สัมภาษณ์จิกกัดกันไปมา ที่คงไม่มีวันถูกเรียกว่าสก๊อย
ในขณะที่เด็กผู้หญิงปากแดงนุ่งสั้น ที่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของแฟนหนุ่ม เพื่อออกไปโลดแล่นบนท้องถนนยามวิกาลถูกเรียกว่า ‘สก๊อย’ ฟากลูกสาวเศรษฐีอย่าง ‘แพรวา 9 ศพ’ ผู้ขับขี่รถยนต์โดยประมาท จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตไม่ต่างกันนั้น อาจถูกด่าทอและสาปแช่งอยู่บ้าง แต่คงเป็นเพราะรถที่ขับ เสื้อผ้าราคาแพงที่สวมใส่ และมือถือรุ่นใหม่ที่ใช้ จึงไม่มีใครเคยหยิบยื่นคำว่าสก๊อยให้เธอ
และในขณะที่เรากล่าวโทษแว้นโทษสก๊อยทันทีที่ได้ยินเสียงเพลงดังกระหึ่มจากปาร์ตี้สงกรานต์บนถนนย่านโชคชัย 4 เราอาจแอบก่นด่าเสียงเพลงจากร้านเหล้าย่าน RCA บ้าง แต่ทันทีที่รู้ว่าค่าเปิดโต๊ะร้านเหล้าในย่านนั้นเริ่มต้นที่เลขห้าหลัก เราก็จะไม่มีวันเรียกคนเหล่านี้ว่าแว้นหรือสก๊อยเช่นกัน
สุดท้ายแล้ว แม้ปรากฏการณ์อีกี้ฟีเวอร์อาจสามารถช่วงชิงคำว่าสก๊อย จากคนรากหญ้าไปให้ชนชั้นกลางได้ทดลองโรลเพลย์อย่างสนุกสนาน แต่ก็ได้ไปเพียงแค่ชื่อเรียกและภาพลักษณ์แฟชั่นย้อนยุคเท่านั้น
ส่วนไลฟ์สไตล์อื่นใดที่หลุดจากกรอบ ‘เทสต์ดี’ ตามกระแสนิยม เช่น การฟังลูกทุ่งหมอลำ การเต้นเด้าพื้นตามหน่าฮ่านและงานบวช ความงามสไตล์บ้านๆ อภินันทนาการโดยเครื่องสำอางราคาย่อมเยาและเสื้อผ้าตลาดนัด หรือเส้นทางอาชีพที่ถูกจำกัดด้วยโอกาสทางการศึกษา ก็จะยังคงเป็นสิ่งที่วัยรุ่นเทสต์ดีไม่อยากจะเฉียดใกล้ และสรรสร้างคำดูถูกคำใหม่ มานิยามผู้ที่มีรสนิยมต่างไปไม่รู้จักจบสิ้น
Tags: เด็กแว้น, Gender, YOUNGOHM, ธาตุทองซาวด์, อีกี้, สก๊อย