ตอนที่ภาพชุดแรกของ ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) ในบท ‘เคน’ จากภาพยนตร์ Barbie (2023) ถูกปล่อยออกมาประมาณ 1 ปีก่อน มีกระแสตอบรับรุนแรงของแฟนๆ บาร์บี้ทั่วโลกฉีกออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งที่ตื่นเต้นชอบใจ และฝั่งที่รู้สึกตะขิดตะขวงในภาพลักษณ์ของ ไรอัน กอสลิง จนเกิดเป็นกระแส #NotMyKen ขึ้นมาเป็นระยะเวลาสั้นๆ
นอกจากปัจจัยเรื่องอายุของกอสลิงที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้นแล้ว อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดเป็นวงกว้าง คือแฟชั่นในภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยเสื้อกั๊กยีนส์สีซีดเผยกล้ามอก ผมกัดสีบลอนด์ขาว และขอบกางเกงชั้นในที่โผล่พ้นกางเกงยีนส์ ดังที่ปรากฏในภาพโปรโมต
ภาพ: Warner Bros. Pictures
หลายคนตั้งข้อสังเกตถึงความคล้ายคลึงของเคนเวอร์ชันกอสลิงกับตุ๊กตาเคนรุ่น ‘Earring Magic’ ซึ่งเคยเป็นที่นิยมมากเมื่อ 30 ปีก่อน น่าเสียดายที่มันไม่ใช่ความนิยมในหมู่เด็กผู้หญิงดังที่บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างแมทเทล (Mattel) คาดหวังเอาไว้ แต่เป็นความนิยมในชุมชนเกย์ยุค 90s ต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า เคนเวอร์ชันกอสลิงอาจจะถูกเขียนบทให้เป็นเกย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหนังถูกกำกับโดยผู้กำกับเฟมินิสต์อย่าง เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ด้วยแล้ว
แต่กลายเป็นว่า นอกจากจะมีตัวละครเคนรุ่น Earring Magic โผล่มาในหนังช่วงสั้นๆ แล้ว ทีมสร้างยังระบุไว้ชัดเจนว่า ตัวละครของกอสลิงคือเคนรุ่นพิมพ์นิยม (Stereotypical Ken) ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่า เคนเวอร์ชันกอสลิงนั้น ไม่ใช่ตัวละครที่ต่อยอดไอเดียมาจากเคนรุ่น Earring Magic แต่อย่างใด
กระนั้นก็ตาม แม้จะไม่ได้มีบทบาทในภาพยนตร์เท่ารุ่นพิมพ์นิยม แต่ตุ๊กตาเคนรุ่นนี้กลับมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคม รวมถึงยอดขายถล่มทลายมากกว่าตุ๊กตาเคนทุกรุ่นที่เคยผลิตมา นับตั้งแต่แมทเทลก่อตั้งขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ความพยายาม ‘ปรับภาพลักษณ์’ ให้กับตุ๊กตาเคน
จุดเริ่มต้นที่ทำให้เคนรุ่นนี้มีภาพลักษณ์อย่างที่เห็น เนื่องจากแมทเทลทำแบบสำรวจเกี่ยวกับความต้องการของเด็กๆ โดยคำถามสำคัญที่พวกเขาอยากรู้ คือพวกเขาควรจะเก็บเคนเอาไว้หรือไม่ หรือถึงเวลาแล้วที่บาร์บี้ควรจะมูฟออนไปมีแฟนหนุ่มคนใหม่เสียที
แม้ตุ๊กตาเคนที่ผลิตออกมาจะไม่ได้รับความนิยมเลยเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานกว่า 20 ปี แต่น่าแปลก ผลสำรวจที่ออกมาคือเด็กๆ อยากให้แมทเทลเก็บเคนเอาไว้ในฐานะแฟนหนุ่มของบาร์บี้แบบเดิม จะติดก็ตรงที่อยากให้เคนดู ‘เท่’ ขึ้นกว่านี้สักหน่อย
ภาพ: New York Historical Society
และผลลัพธ์ที่ออกมาคือ เคนรุ่น Earring Magic ในเสื้อตาข่ายสีลาเวนเดอร์ตัวใน สวมทับด้วยเสื้อกั๊กหนังแก้วสีม่วงอิเล็กทริก ผมกัดสีบลอนด์ขาว ต่างหูข้างเดียว และสุดท้ายที่จะขาดไปไม่ได้เลย ก็คือสร้อยคอห้อยจี้ห่วงโลหะสีเงินที่ดูจะมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะเป็นแหวน
ทว่าทันทีที่ตุ๊กตารุ่นนี้ปล่อยสู่ตลาด เสียงตอบรับกลับเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือแฟชั่นของเคนในเวอร์ชันนี้จะติด‘เกย์’ เกินไปเสียหน่อย และนอกจากเรื่องสีหรือลักษณะทั่วไปของเสื้อผ้าชุดดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ดึงดูดความสนใจและเสียงฮือฮาของผู้คนได้มากเป็นพิเศษ คงหนีไม่พ้นห่วงโลหะที่ห้อยอยู่กับสร้อยคอของเคน
เนื่องด้วยการนำห่วงรัดโคนอวัยวะเพศ (Cock Rings) ซึ่งดูเผินๆ ด้วยตาเปล่าแล้วไม่ต่างอะไรกับเครื่องประดับโลหะเรียบๆ มาสวมเป็นเครื่องประดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นำมาห้อยเป็นจี้สร้อยคอ เป็นวิธีการสื่อสารกันอย่างแนบเนียนของชุมชนเกย์ในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่กลางยุค 80s หลายคนจึงอดไม่ได้ที่จะเชื่อมโยงสร้อยคอของเคนกับวัฒนธรรมดังกล่าว
ลิซา แม็กเคนดัลล์ (Lisa McKendall) ตัวแทนของแมทเทลในยุคนั้น ให้คำตอบกับหนังสือพิมพ์ชิคาโกรีดเดอร์ (Chicago Reader) ถึงเครื่องประดับชิ้นดังกล่าวของตุ๊กตาเคนรุ่น Earring Magic ว่าเป็นเพียงจี้เครื่องรางธรรมดาๆ เท่านั้น
“มันแค่เป็นสร้อย สร้อยที่ห้อยจี้คู่กับบาร์บี้เท่านั้นเอง ไม่เอาน่า… ตุ๊กตานี่ถูกออกแบบมาเพื่อเด็กหญิงตัวน้อยๆ นะ การนำห่วงรัดอวัยวะเพศมาทำแบบนั้นน่ะมันยิ่งกว่าไม่เหมาะสมเสียอีก!” แม็กเคนดัลล์กล่าว
อิทธิพลของ ‘เควียร์แฟชั่น’ ในยุค 80s-90s
อันที่จริงแล้ว การแต่งกายของเคนที่ออกแบบใหม่ ได้รับแรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากคำแนะนำของ ‘เด็กหญิงตัวน้อยๆ’ ที่แม็กเคนดัลล์กล่าวถึง ซึ่งรวบรวมมาพร้อมกับแบบสอบถามความพึงพอใจของตุ๊กตาเคน
แล้วอะไรล่ะ ที่เด็กๆ ในยุคนั้นมองด้วยสายตาอันไร้เดียงสาที่ปราศจากอคติทางเพศ แล้วพบว่ามันช่างเท่ เจ๋ง และจ๊าบเสียเหลือเกิน?
เพียงแค่เปิดโทรทัศน์ช่อง MTV พวกเขาก็จะได้พบกับแดนเซอร์ในเอ็มวีเพลง Vogue ของมาดอนน่า (Madonna) หรือแดร็กควีนสูงเจ็ดฟุตที่กำลังแต่งองค์ทรงเครื่อง ก่อนจะทำการ ‘แต๊บ’ เพื่อยัดตัวเองลงไปในชุดสวย ไหนจะเหล่านักเคลื่อนไหวสิทธิเกย์และเลสเบี้ยนที่มีโอกาสได้ไปพบปะพูดคุยกับประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton) ณ ห้องทำงานรูปไข่ของเขา
เห็นได้ชัดว่า เมื่อตัดอคติอย่างที่ผู้ใหญ่มีออกไป แฟชั่นที่คนในยุคนั้นเบือนหน้าหนี กลับเป็นสิ่งที่เท่ในการรับรู้ของเด็ก 5 ขวบ เพราะพวกเขายังไม่โตพอที่จะได้รับอิทธิพลจากระบอบชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำสังคม หรือเข้าใจวัฒนธรรมความเชื่อที่แบ่งแยกและกำหนดบทบาททางเพศในโลกของผู้ใหญ่
ไม่แปลกที่หลังจากแมทเทลตัดสินใจออกแบบเคนตามใจเด็กๆ เสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับ ‘ตุ๊กตาเคนรุ่นเกย์’ ก็ลามไปทั่วในเวลาอันรวดเร็ว จนสุดท้าย ด้วยพลังการซื้อของชุมชนเกย์ เคนรุ่น Earring Magic หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘เคนรุ่น Cock Rings’ หรือ ‘เคนรุ่นเกย์’ ได้กลายเป็นตุ๊กตาเคนรุ่นที่ขายดีที่สุดตลอดกาล ทั้งที่วางขายในปี 1992 เป็นเวลาแค่ 6 เดือนเท่านั้น
“ปกติแล้วเคนไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ขายดีเลย เพราะเขาเป็นตุ๊กตาผู้ชายที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กผู้หญิง” แม็กเคนดัลล์อธิบายเกี่ยวกับความแปลกใจของแมทเทลต่อยอดขายของเคน
น่าเสียดายที่ท้ายที่สุด แมทเทลตัดสินใจเลิกผลิตตุ๊กตารุ่น Earring Magic ทั้งหมด แถมยังสั่งเก็บตุ๊กตาทุกตัวที่เหลืออยู่จากร้านค้าทั่วสหรัฐฯ แม้พวกเขาจะพยายามให้สัมภาษณ์ว่าเป็นการเลิกผลิตสินค้าจากการวิเคราะห์ตลาดตามขั้นตอนปกติ แต่เมื่อพิจารณาระยะเวลาอันแสนสั้นที่เคนรุ่นนี้วางขาย ไหนจะยอดขายที่ดีเป็นประวัติการณ์ แทบไม่มีสาเหตุอะไรที่พวกเขาควรจะรีบเลิกขายมันเร็วขนาดนี้
คนส่วนใหญ่จึงเชื่อกันว่า สาเหตุหลักที่ทำให้แมทเทลตัดสินใจเช่นนี้ คือเสียงตอบรับจากผู้ปกครอง และกลัวว่าการที่ผู้คนเชื่อมโยงเคนกับอัตลักษณ์เกย์จะทำให้แบรนด์เสียภาพลักษณ์
แต่แน่นอนว่ายิ่งเด็ด ดอกไม้จะยิ่งบาน ความพยายามของแมทเทลในการลบความทรงจำของผู้คนเกี่ยวกับการมีอยู่ของเคนเวอร์ชันนี้ กลับทำให้ตุ๊กตาเคนรวมถึงตัวละครอื่นๆ ในคอลเลกชัน Earring Magic กลายเป็นตุ๊กตาหายากที่ผู้คนเสาะหาและอยากมีไว้ในครอบครองมากที่สุดคอลเลกชันหนึ่ง
ปัจจุบัน นอกจากเราจะยังสามารถพบตุ๊กตาเคนรุ่น Earring Magic ได้ตามเว็บไซต์ขายของมือสองอย่างอีเบย์ (eBay) เรายังพบเห็นคนแต่งตัวตามเขาได้ตามปาร์ตี้คืนฮัลโลวีนในสหรัฐฯ
อ้างอิง
https://chicagoreader.com/news-politics/ken-comes-out/
https://gcn.ie/earring-magic-ken-gay-legacy/
https://www.queerty.com/time-mattel-gay-ken-doll-freaked-everyone-else-freaked-20180408
Tags: เควียร์, บาร์บี้, Earring Magic Ken, Gay Ken, Gender, Ken, Queer, Barbie, Gay, Barbie 2023, เกรตา เกอร์วิก, เคน, เกย์, LGBTQ