ช่วงสัปดาห์แรกของปี 2024 เรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดแน่นอนว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับ ‘เบียร์ เดอะวอยซ์’ ซึ่งตอนเริ่มเขียนบทความชิ้นนี้ เรามีความตั้งใจที่จะพูดถึงเรื่องราวของเธอเช่นกัน โดยที่ประเด็นทั้งหมดสัมพันธ์กับเรื่องการเกลียดกลัวความเป็นหญิง (Misogyny) ที่สังคมมีต่อเบียร์ หรือแม้แต่ที่เธอมีต่อผู้หญิงอีกฝ่าย

“ต่อให้ไม่มีฉัน ผู้ชายก็ไม่กลับไปรักเธอ” ในสังคมที่ทุกคนเกลียดผู้หญิง ผู้หญิงก็เกลียดและเหยียดผู้หญิงด้วยกันเอง ความผิดเรื่องความสัมพันธ์มักจะวนอยู่กับการตำหนิความเป็นหญิง เมียหลวง เมียน้อย ใครสวยกว่า ดูดีกว่า มีคุณค่ามากกว่า หรือผู้ชายรักใครมากกว่า กลับกันความผิดของผู้ชายต้นเรื่องกลับไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร ทั้งที่นอกใจคนรักของตนแท้ๆ แต่ก็ไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องใหญ่อะไรนัก

เราอาจเคยได้ยินเรื่องของ ‘Cancel Culture’ หรือวัฒนธรรมการคว่ำบาตร พูดง่ายๆ ก็คือการแบน เลิกสนับสนุนคนดังหรือบริษัทที่กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรม หรือการกระทำนั้นๆ โดยการกระทำที่ว่าอาจเป็นไปได้ตั้งแต่เรื่องที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน แนวคิดทางการเมือง หรือแม้แต่เรื่องที่ถูกต้อง โดยทั่วไปแต่ไม่ถูกใจแฟนคลับ ซึ่งแน่นอนว่าจากเหตุการณ์ล่าสุดเบียร์ก็เป็นอีกคนที่กำลังเผชิญกับ Cancel Culture ที่แฝงด้วยแนวคิดเกลียดกลัวความเป็นหญิงอยู่ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่เธอโดนถล่มจากทุกสารทิศ ทั้งเรื่องการเป็นมือที่สามในความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียว การกล่าวโทษอีกฝ่าย การพาดพิงบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่คำพูดที่ดูมั่นใจจนเกินไปสำหรับบางคน

ไม่ได้จะบอกว่าการกระทำทั้งหมดไม่ผิด เพียงแต่เราคิดว่าเบียร์กำลังได้รับกระแสโต้กลับที่รุนแรงเกินกว่าสิ่งที่เธอทำไปไกล ในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ เบียร์ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเรื่องความผิดของเธอ ลามไปถึงคำพูดที่แสดงถึงความเกลียดชังถึงตัวตน การล้อเลียนจากผู้คน คำพูดด้อยค่าอาชีพ ชื่อเสียง และความสามารถ คำวิจารณ์เสียดสีที่พร้อมใจกันมาราวกับว่าทุกคนตั้งตารอพร้อมที่จะสาปส่งจนกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ไม่ว่าเปิดไปแพลตฟอร์มไหนก็เจอ แม้แต่บทความจากสื่อชื่อดังก็ยังเขียนวิเคราะห์ไปถึงขั้นว่าเธอมีทัศนคติย่ำแย่ที่ทำให้ชีวิตพังทลายในชั่วพริบตา และอาจมีภาวะหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) ซึ่งดูเหมือนอาการโรคที่ผู้เขียนว่ามาเป็นฉากๆ จะถูกวินิจฉัยจากสิ่งที่ได้เห็นผ่านไลฟ์และโพสต์เพียงไม่กี่โพสต์เท่านั้นเอง

ขณะที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจกับเรื่องของเบียร์ มีอีกกรณีซึ่งเป็นเรื่องของคนดังในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ด้วยเหตุผลอะไรสักอย่างกลับไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร ทั้งที่หากเทียบกันแล้ว (ซึ่งจริงๆ คงนำมาเปรียบกันไม่ได้ เพราะเรื่องของเบียร์เป็นเพียงความผิดในความสัมพันธ์) เรื่องนี้ดูจะหนักหนากว่ามาก เพราะเข้าข่ายว่าเป็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ อีกทั้งผู้โดนกล่าวหาว่ากระทำยังเป็นคนที่ออกตัวว่าสนับสนุนประชาธิปไตยและความเท่าเทียมอีกด้วย

แอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘แอมมี่ The Bottom Blues’ นักร้องนักดนตรีเจ้าของบทเพลงดัง และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ดูเหมือนว่าบทบาทของเขาในฐานะผู้แสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตยจะถูกจดจำเป็นอย่างดี ทว่าชื่อเสียงด้านชีวิตและความสัมพันธ์กลับเป็นไปในอีกทิศทาง เขาผ่านข้อครหาทั้งกรณีนอกใจคนรัก ปิดบังความสัมพันธ์ ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ และล่าสุดก็กำลังถูกพาดพิงว่าเป็นนักร้องหนุ่มปริศนาที่ทำแฟนสาวท้องแล้วไม่รับผิดชอบ พร้อมด้วยการโต้ตอบกันไปมามากมาย แต่ที่หนักสุดคงเป็นคำกล่าวหาเรื่องการทำร้ายร่างกาย ถึงอย่างนั้นเรื่องนี้ก็ไม่ได้ตกเป็นที่สนใจเท่ากับข่าวของเบียร์ (อย่างน้อยก็ ณ ขณะที่เรากำลังเขียนข้อความนี้อยู่)

“ทำไมผู้หญิงเดี๋ยวนี้ชอบขู่ชอบแฉกันจัง”

“พอกันทั้งคู่ ไม่เข้าข้างใคร แล้วผู้หญิงจะไปคบทำไม รู้อยู่ว่าเขาเป็นยังไงทำไมไม่ป้องกันให้ดี” 

“เบียร์โสดอยู่นะ ทักไปเลย เหมาะสมกันมากคู่นี้”

ตัวอย่างความคิดเห็นต่อกรณีล่าสุดของนักร้องชาย ที่แม้จะมีความคิดเห็นโจมตีแต่ก็ไม่วายกลับกลายเป็นเรื่องของผู้หญิง บ้างมองเป็นเรื่องของการดิสเครดิตจากฝ่ายหญิง บ้างกล่าวโทษว่าเหยื่อไม่ควรไปคบหาตั้งแต่แรก โดนซ้อมแล้วทำไมไม่เลิก รวมถึงตั้งคำถามกับเหยื่อว่าทำไมไม่ป้องกันตอนมีเพศสัมพันธ์ หนักกว่านั้นคือพาดพิงผู้หญิงจากอีกข่าวหนึ่งซึ่งเธอไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย 

แม้เรื่องนี้จะยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่ครั้งแรก เช่นเดียวกับคนดังและดาราชายหลายๆ คนที่ต่อให้ล้มแล้วล้มอีกเรื่องเพศตั้งแต่นอกใจไปยันทำร้ายร่างกาย ก็ยังคงมีผลงานโดดเด่นในวงการบันเทิง ไปจนถึงสามารถนำความผิดของตัวเองมาเล่าอย่างภาคภูมิใจ หรือแม้แต่ทำเป็นมุขตลกหากินในรายการได้ ตั้งแต่เรื่องมีภรรยาแล้วแอบเที่ยวอาบอบนวด ซื้อบริการทางเพศ ไปจนถึงแซวเรื่องกิ๊กเก่า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือมุขสุดคลาสสิกของนักแสดงชายจากรายการชื่อดังที่เราเคยดูจนจำได้ตั้งแต่เด็ก

เมื่อพูดถึงความผิดในความสัมพันธ์ที่ผู้ชายพูดกันเป็นปกติอย่างการนอกใจ มีข้อมูลในปี 2017 ที่บอกว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะนอกใจคนรักของตนมากขึ้นเกือบ 40% เมื่อเทียบกับปี 1990 โดยที่ผู้ชายยังคงนอกใจมากกว่าผู้หญิงราว 30% ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงก็สามารถกระทำผิดในการนอกใจหรือ ‘ล้ม’ ได้ไม่ต่างจากผู้ชาย แต่แม้ว่าจะล้มเรื่องเดียวกัน ผู้หญิงก็ยังถูกเหยียบซ้ำมากกว่า และไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่โดนนอกใจหรือเป็นมือที่สาม ทั้งสองก็มักจะเกลียดผู้หญิงอีกฝ่ายมากกว่าที่จะเกลียดผู้ชายซึ่งเป็นผู้กระทำโดยตรงอยู่ดี

ส่วนเรื่องการกระทำความรุนแรงทางเพศ ที่แน่นอนว่าเป็นความผิดที่หนักหนาสาหัสกว่าเรื่องนอกใจอย่างเทียบไม่ติด ผู้ชายก็ยังคงครองแชมป์ ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ การทำร้ายร่างกาย หรือกระทำความรุนแรงต่อจิตใจ ข้อมูลปี 2022 เผยว่า ในประเทศไทยมีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศมากกว่า 7 คนต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เป็นแค่ตัวเลข และเหยื่อของความรุนแรงทางเพศก็ยังต้องเผชิญกับวัฒนธรรมการกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) เช่นเคย

Cancel Culture มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบกับผู้หญิงมากกว่า ยกตัวอย่างกรณีของ จัสติน ทิมเบอร์เลก (Justin Timberlake) ที่ได้กระชากเสื้อของ เจเน็ต แจ็กสัน (Jenet Jackson) จนทำให้เห็นหน้าอกข้างหนึ่งของเธอในการแสดง Super Bowl ปี 2004 ซึ่งตอนนั้นคนจำนวนมากล้วนโจมตีไปที่เจเน็ต จนส่งผลต่อหน้าที่การงานในวงการบันเทิงของเธอ ขณะเดียวกัน จัสตินก็ยังคงมีชื่อเสียงโด่งดังจนปัจจุบัน แม้ว่าจะทำความผิดหลายอย่าง ล้มไม่รู้กี่ครั้ง แถมยังได้รับโอกาสกลับมาแสดง Super Bowl ในปี 2018 อีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นความผิดในความสัมพันธ์หรือเรื่องที่รุนแรงกว่า จะเห็นว่าความสนใจของผู้คนมักจะมุ่งไปที่ผู้หญิง ทั้งผู้กระทำและเหยื่อ สุดท้ายแล้วเหตุการณ์ในทำนองว่า ‘ผู้หญิงล้มต้องโดนเหยียบซ้ำ ผู้ชายทำเป็นเรื่องธรรมดา’ เช่นนี้ ก็ยังคงดำเนินต่อไปด้วยเหตุผลเดิมๆ จากสังคมชายเป็นใหญ่ 

 

ที่มา:

https://www.refinery29.com/en-gb/cheating-men-blaming-other-woman-sexism  

https://www.tcijthai.com/news/2022/3/current/12248  

https://www.buzzfeed.com/stephenlaconte/famous-women-celebrities-canceled-sexism  

Tags: , , , ,