หากจะกล่าวว่า ช่วงหลายปีให้หลังมานี้เป็นยุครุ่งเรืองของสื่อชายรักชายคงไม่ผิดนัก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่พื้นที่อื่นๆ อย่างญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน ฯลฯ ก็ผลิตนิยาย การ์ตูน และซีรีส์ชายรักชายออกมามากมาย แม้กระทั่งเว็บไซต์อ่านแฟนฟิกชันที่ดังที่สุดในโลกอย่าง Archive of Our Own (AO3) ยังมีสถิติออกมาว่า จาก 100 อันดับคู่ชิปที่มีแฟนฟิกชันมากที่สุด เป็นคู่ชิปชาย-ชายไปแล้วถึง 64 คู่
อย่างที่เรารู้กันดี กลุ่มลูกค้าหลักของสื่อชายรักชายเป็นผู้หญิงมาตลอด ข้อมูลปี 2001 ระบุว่า ผู้อ่านการ์ตูนชายรักชายในไทยเป็นผู้หญิงมากถึง 80% ในปี 2005 ผู้เข้าร่วมงาน Yaoi-Con ในแคลิฟอร์เนียเป็นผู้หญิงกว่า 85% และในปี 2020 ผู้ชมซีรีส์ Boys’ Love (BL) ของไทยเป็นผู้หญิง 78%
ด้วยสถิติที่ล้นหลามขนาดนี้ทำให้เกิดคำถามว่า เพราะอะไรสื่อชายรักชายถึงดึงดูดผู้หญิงเหลือเกิน?
สื่อชายรักชาย โดยผู้หญิง เพื่อผู้หญิง
หากจะทำความเข้าใจเชิงลึก เราคงต้องย้อนประวัติของสื่อชายรักชายในญี่ปุ่นกันสักหน่อย ปัจจุบันเรามักอธิบายสื่อชายรักชายด้วยคำว่า BL หรือ Yaoi ราวกับทั้ง 2 คำนี้เป็นคำเดียวกัน สามารถใช้แทนกันได้ แต่ในยุคแรกเริ่มนั้น ‘BL’ ‘Yaoi’ และ ‘Shōnen ai’ ล้วนแล้วแต่มีความหมายแตกต่างกัน
การ์ตูนประเภท Shōnen ai (แปลว่า ความรักระหว่างเด็กผู้ชาย) เริ่มตีพิมพ์ช่วงปี 1970-1980 ต้นๆ ภายใต้นิตยสารรวมการ์ตูน Shōjo (การ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิง) ส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนออริจินัล เน้นถ่ายทอดความรักของเด็กชาย 2 คนโดยไม่มีเรื่องทางเพศ
กลับกัน Yaoi ซึ่งย่อมาจาก Yama nashi, Ochi nashi, Imi nashi (ไม่มีไคลแม็กซ์ ไม่มีประเด็น ไม่มีความหมาย) เป็นผลผลิตของวัฒนธรรมแฟนด้อมในช่วงปี 1980 สื่อ Yaoi มักจะหยิบยืมตัวละครชาย 2 ตัวมาจากการ์ตูน Shōnen (การ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย) และสร้างเรื่องราวอย่างไรก็ได้ให้พวกเขามีความสัมพันธ์กัน ไม่จำเป็นต้องมีต้น กลาง จบ หรือพล็อตละเอียดซับซ้อนใดๆ เนื้อหาเน้นไปที่เรื่องทางเพศ ส่วนใหญ่ซื้อขายกันเฉพาะกลุ่ม
สุดท้าย BL เป็นคำเรียกสื่อชายรักชายแบบออริจินัลที่พิมพ์ขายบนดินตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา
จะเห็นได้ว่า สื่อชายรักชายในญี่ปุ่นเล็งเป้าหมายไปที่ผู้อ่านเพศหญิงมาตั้งแต่แรก ถึงได้ตีพิมพ์ในนิตยสารรวมการ์ตูน Shōjo ประกอบกับบริบทสังคมญี่ปุ่นในสมัยนั้นที่มีปิตาธิปไตยเข้มข้น นักวิชาการหลายคนจึงวิเคราะห์ว่า ผู้หญิงใช้สื่อชายรักชายเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากข้อจำกัดทางเพศ
“ความรักระหว่างผู้ชายมอบปีกให้ผู้หญิงได้โบยบิน” นักสังคมวิทยา ชิซึโกะ อุเอโนะ กล่าว
เพราะอยากเป็นอิสระ จึงไม่ขอมีส่วนร่วม
ภายใต้สังคมปิตาธิปไตย ผู้หญิงถูกกดทับและเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในแทบทุกมิติ เช่น ต้องซ่อนความต้องการทางเพศของตัวเอง เพราะจะดูไม่งาม หรือแม้กระทั่งในความสัมพันธ์ชาย-หญิง ผู้หญิงก็มักตกเป็นเพศที่เสียเปรียบ เพราะมี Power Dynamics (ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ) ที่ไม่เท่ากัน
ยูคาริ ฟูจิโมโตะ (Yukari Fujimoto) นักทฤษฎีเฟมินิสต์ อธิบายว่า ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ สื่อแนว Shōnen ai กลายเป็นที่ลี้ภัย ช่วยปลดปล่อยผู้หญิงจากการกดทับของปิตาธิปไตยในชีวิตจริงชั่วคราว ส่วนสื่อแนว Yaoi ก็ทำให้ผู้หญิงสามารถ ‘เล่น’ กับความต้องการทางเพศของตัวเองได้โดยไม่ต้องอับอาย เนื่องจากพวกเธอไม่มีส่วนร่วมกับฉากนั้นๆ โดยตรง
นักวิชาการ เตียนฟาง โชว (Dienfang Chou) จากไต้หวันได้ทำการสัมภาษณ์ ‘สาววาย’ ไต้หวันวัย 18-28 ปี ถึงเหตุผลที่พวกเธอชื่นชอบสื่อแนวนี้ คำตอบที่ได้รับคล้ายคลึงกับบทวิเคราะห์ของฟูจิโมโตะมากทีเดียว
“ในการ์ตูน Yaoi ผู้ชายทั้ง 2 คนเขาปกป้องกันและกัน ฉันชอบแบบนั้นมากกว่า ทำไมฉันต้องให้ผู้ชายมาปกป้องด้วยล่ะ ทำไมฝ่ายที่อ่อนแอกว่าต้องเป็นผู้หญิงตลอด ฉันไม่เห็นด้วย”
“ในฉากเพศสัมพันธ์ชาย-หญิง ฉันมองเห็นตัวเองผ่านตัวละครผู้หญิง แต่ฉันตื่นเต้นกับฉากชาย-ชายมากกว่า เพราะฉันไม่ใช่ผู้ชาย ฉันจึงสามารถปล่อยให้จินตนาการเตลิดไปได้ไกลกว่า”
ด้านมืดของสื่อชายรักชาย
เมื่อเรามองสื่อชายรักชายเป็นกระจกสะท้อนความเก็บกดของผู้หญิงภายใต้ระบอบปิตาธิปไตย เราอาจพอเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมพล็อตที่ตัวละครฝ่ายรับถูกข่มขืน ท้องแล้วอุ้มลูกหนีฝ่ายรุก หรือมีความรุนแรงต่างๆ เกิดขึ้นในฉากเพศสัมพันธ์ จึงเป็นพล็อตยอดฮิต
ในชีวิตจริงความรุนแรงเหล่านี้ล้วนเกิดกับผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ แต่เมื่อความรุนแรงถูกย้ายไปเกิดกับตัวละครชายแทน ผู้หญิงก็ไม่ต้องรับบทเป็น ‘ผู้ถูกกระทำ’ อีกต่อไป แต่สามารถจินตนาการตัวเองเป็น ‘ผู้กระทำ’ ก็ได้ หรือจะเป็นแค่ ‘ผู้เฝ้ามอง’ ก็ยังได้ ฟูจิโมโตะกล่าว เรียกได้ว่าเป็นแฟนตาซีแก้แค้น (Revenge Fantasy) แบบหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น Painter of the Night และ Jinx การ์ตูนชายรักชายเกาหลีที่ได้รับความนิยมล้นหลาม ก็ล้วนมีพล็อตเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศทั้งสิ้น เมื่อกลับมาดูชีวิตจริง สถิติจากปี 2017 บอกเราว่าผู้ชายเกาหลี 1,593 คนจาก 2,000 คน (นับเป็น 79.7%) เคยทำร้ายแฟนสาวมาก่อน ในปี 2019 เหยื่อคดีฆาตกรรมทั้งหมดของเกาหลีเป็นผู้หญิงมากถึง 98%
แน่นอนว่าการเป็นสาววายไม่ใช่เรื่องผิด คนเราสามารถเลือกเสพอะไรก็ได้ที่เราพอใจ อย่างไรก็ตาม ควรตระหนักรู้ไว้ด้วยว่า สื่อทุกสื่อมีอิทธิพลต่อสังคมเสมอ
การ์ตูนบางเรื่อง นิยายบางเล่ม อาจเป็นเพียงแฟนตาซีให้สาววายอ่านคั่นเวลา เป็นความบันเทิงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ผู้ชายที่เป็นเกย์มีตัวตนอยู่จริงๆ ถูกกีดกันและลิดรอนสิทธิจริงๆ อาจจะเป็นในคนละแง่กับผู้หญิง แต่ก็ถือว่าทั้ง 2 กลุ่มเป็นผู้เสียเปรียบทางสังคม และเกย์ส่วนใหญ่ก็เคยโดนปิตาธิปไตยทำร้ายมาเช่นกัน
สุดท้ายแล้วจะดีกว่าไหมหากเราสร้างวัฒนธรรมเสพสื่อที่เป็นมิตรต่อทั้งผู้หญิงและเกย์เหมือนๆ กัน ไม่ต้องผลักให้ใครเป็นเหยื่อของปิตาธิปไตยเลยสักราย
อ้างอิง
https://archiveofourown.org/works/57864097/chapters/147284449
https://www.dbd.go.th/data-storage/attachment/9a51049b2528fe1daaba8bcf0.pdf
http://www.jstor.org/stable/j.ctt13x1spg
https://api.semanticscholar.org/CorpusID:146189423
https://igg-geo.org/en/2023/10/30/the-concept-of-rape-in-south-korea/#f+15978+3+4
Tags: Gender, ชายรักชาย, บอยส์เลิฟ, Boys’ Love, วาย, การ์ตูนชายรักชาย