คำว่า ‘ปลาหมึก’ ในชุมชน LGBTQIA+ ถูกนำมาใช้แทนประชากรแต่ละคนในคอมมูฯ โดย ‘ปลาหมึกแถวบน’ หมายถึงประชากรที่เป็นที่ต้องการของตลาด ในขณะที่ ‘ปลาหมึกแถวล่าง’ หมายถึงประชากรที่เป็นที่ต้องการน้อยกว่าด้วยเหตุผลหลากหลายประการ

หนึ่งในคุณสมบัติที่ชัดเจนที่สุดที่ทำให้ใครสักคนอาจถูกเรียกว่าเป็นปลาหมึกแถวล่าง คือรูปลักษณ์ที่หลุดกรอบ Beauty Standard และค่านิยมต่างๆ ในแบบฉบับเกย์ เช่น หุ่นดี และไม่ออกสาว หากเป็นกะเทยออกสาว หรือเป็น ‘สาวสอง’ ก็ต้องเนียนนี

‘เนียนนี’ หรือ ‘ละมุนนี’ ทั้งสองคำนี้มีความหมายคล้ายกัน เมื่อใช้ในคอมมูฯ เกย์ไทยมีความหมายว่า แนบเนียน ละมุนละไมเหมือนกับชะนี กล่าวคือจะต้องมีคุณลักษณะที่มีความเป็นหญิงตามค่านิยมเดิม เช่น ผอมบาง ใบหน้าเล็ก ผิวเรียบเนียน และท่าทีชดช้อย

นอกเหนือจากเรื่องของรูปลักษณ์แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ยังมีการพูดคุยแบ่งปันความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ระหว่างคนในคอมมูฯ เกย์ไทยสมัยใหม่ ถึงความหมายของคำว่าปลาหมึกแถวล่างและประสบการณ์ที่ยึดโยงกับคำนี้ ที่น่าสนใจคือสถานะทางการเงินและไลฟ์สไตล์ ล้วนมีส่วนประกอบสร้างความเป็นปลาหมึกแถวล่าง

ผู้ใช้แอปพลิเคชัน X รายหนึ่งเล่าว่า เขา “เป็นเกย์ฐานะยากจน รายได้ไม่ถึงหมื่นห้า อยู่ห้องเช่าถูกๆ ติดพัดลมเพดาน วันๆ ทำแต่งาน ไม่ออกงาน ไม่สังสรรค์ ไม่มีเงินซื้อสกินแคร์หรือเข้ายิม ไม่กินข้าวห้าง กินข้าวริมทาง ใช้ชีวิตแบบในเพลงตั๊กแตน ชลดา”

นอกจากนี้ ยังมีหลายคนที่พูดถึงบ้านเกิด พื้นเพเดิม หรือครอบครัวด้วย เช่น “เป็นเกย์บ้านนอก มาชุบตัวในเมืองกรุง โชคดีได้เรียนมหาวิทยาลัยมีชื่อ แต่ก็ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น ได้เงินมาแล้วต้องส่งให้ครอบครัวตามค่านิยม” 

จะเห็นได้ว่านอกจากจะมีการแบ่งช่วงชั้นกันอย่างชัดเจน โดยใช้มาตรฐานความงามและสถานะทางการเงินเป็นเกณฑ์แล้ว แม้ว่านี่จะเป็นคอมมูฯ LGBTQIA+ ที่ถูกคาดหวังว่าจะต้อง ‘โอบรับความหลากหลาย’ แต่ประชากรส่วนใหญ่ก็ยังแบ่งแยกจัดหมวดหมู่กันและกันออกเป็นกล่องหญิงชายตามบรรทัดฐานรักต่างเพศ (Heteronormativity) อยู่ดี

การรับรู้ตัวตน ‘เกย์’ ในสังคมไทย

เช่นเดียวกับชุมชนเกย์ส่วนใหญ่ในโลก ชุมชนเกย์ไทยเริ่มปรากฏและก่อร่างขึ้นโดยเกย์ชนชั้นกลางในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านั้นไม่มีเกย์อยู่ในพื้นที่อื่น แต่หมายความว่านี่คือพื้นที่แรกๆ บนหน้าประวัติศาสตร์ที่อนุญาต (หรืออะลุ่มอล่วย) ให้เกย์ไทยมีพื้นที่ (ลับๆ) ในการแสดงตัวตนและปฏิสัมพันธ์กันในชุมชนในฐานะเกย์

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อธิบายในบทความ การแผ่ขยายตัวของ “การเสพและสร้างความเป็นชาย” ในชุมชนเกย์ไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2500-2550 ตีพิมพ์ในวารสารมานุษยวิทยาว่า ปัจจัยสำคัญของปรากฏการณ์ดังกล่าว คือสถานประกอบการประเภทบาร์ ซาวน่า ดิสโก้เธค และสถานเริงรมย์ต่างๆ ในย่านสีลม ประดิพัทธิ์ และสะพานควาย ที่งอกเงยขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา รวมถึงการเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเกย์ในโลกตะวันตก ที่เผยแพร่ในนิตยสารสำหรับเกย์ เช่น มิถุนา มรกต นีออน และมิดเวย์

แนวคิดเรื่องเพศในวัฒนธรรมไทยที่แบ่งชายแบ่งหญิงชัดเจนส่งอิทธิพลต่อวัฒธรรมต่างๆ ของเกย์ไทยอย่างมาก เรียกได้ว่าเริ่มต้นตั้งแต่คำเรียกอัตลักษณ์นั่นคือคำว่า ‘เกย์’ เลยทีเดียว

คำว่า Gay ในภาษาอังกฤษที่เริ่มใช้แพร่หลายโดยสังคมอเมริกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง มีความหมายคล้ายกับ Homosexual หรือ ‘รักร่วมเพศ’ โดยไม่แบ่งแยกเกย์ที่สาวและเกย์ที่ไม่สาวออกจากกัน แน่นอนว่าผู้ใช้ภาษาอังกฤษรับรู้ว่าโลกนี้มีทั้งเกย์ที่ Femme (ออกสาว) และเกย์ที่ Butch (‘แมนๆ’ หรือความเป็นชายสูง) แต่พวกเขาทั้งหมดสามารถมัดรวมอยู่ภายใต้ร่ม Gay ได้

ในขณะที่ในภาษาไทย เมื่อพูดถึง ‘เกย์’ เราจะนึกถึงผู้ชายที่แม้จะรักชอบผู้ชายด้วยกัน แต่ก็ยังแสดงบทบาทในชีวิตแง่มุมอื่นๆ ไม่ต่างจากผู้ชายที่เป็นสเตรท

ในขณะที่หากพูดถึงเกย์กลุ่มที่ออกสาว แต่งหญิง ตุ้งติ้ง คำที่ผู้คนนึกถึงจะไม่ใช่ ‘เกย์’ อีกต่อไป แต่เป็นคำว่า ‘กะเทย’ จนอาจกล่าวได้ว่า หากเทียบกัน เกย์ออกสาวกับหญิงข้ามเพศ (Trans Women) มีความปรองดองและเป็นกลุ่มก้อนมากกว่าเกย์ออกสาวกับเกย์แมนๆ เสียอีก เพราะอยู่ภายใต้อัตลักษณ์กะเทยเหมือนกัน  

เรือนร่างอันสมบูรณ์แบบของเกย์ที่ผูกอยู่กับระบบ ‘ทุนนิยม’

เมื่อถึงปลายทศวรรษ 2520-2530 ซึ่งถือเป็นยุครุ่งเรืองของบาร์เกย์ คอมมูฯ เกย์ไทยเดินทางมาถึงจุดที่สามารถเข้ามาใช้บริการสถานเริงรมย์เฉพาะกลุ่มของตนได้ โดยมีความกลัวสังคมไม่ยอมรับหรือกลัวถูกพบเห็นน้อยกว่ายุคก่อน

เมื่อคนที่เรียกตนเองว่าเกย์ในยุคนั้นมักพยายามสร้างตัวตนในแง่มุมอื่นๆ ให้ผิดแผกจากชายแท้น้อยที่สุด แง่มุมของเพศสภาพเกย์ที่ถูกจดจำโดยทั้งคนภายในและภายนอกคอมมูฯ มากที่สุด จึงเป็นเรื่องของกิจกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการ ตลอดจนเรือนร่างที่เซ็กซี่ของผู้ให้บริการ

นอกเหนือจากสถานเริงรมย์ อีกหนึ่งกลุ่มทุนที่มีบทบาทไม่แพ้กันในการสร้างภาพเรือนร่างที่สมบูรณ์แบบของเกย์คือนิตยสารเกย์ โดยในระยะแรก นิตยสารเหล่านี้มีเนื้อหาที่เน้นไปทางสาระความรู้ คำศัพท์เฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ นำเข้าจากตะวันตก ผสมกับการแบ่งปันประสบการณ์ทางเพศและภาพนายแบบในสัดส่วนที่ถัวเฉลี่ยกัน

แต่ภายหลังเริ่มมีการตัดทอนเนื้อหาส่วนอื่นๆ ลงเรื่อยๆ แล้วไปเน้นที่ภาพเรือนร่างของนายแบบแทน นิตยสารบางรายอาจมีวีซีดีโป๊แถมมาด้วย อาจชี้ให้สังคมเริ่มมีภาพจำว่า นอกจากเกย์ไทยจะมีความต้องการที่จะเสพคอนเทนต์เกี่ยวกับเพศสูงแล้ว พวกเขายังมีมาตรฐานความงามในด้านของเรือนร่างที่เคร่งครัด

วัฒนธรรมของเกย์ไทยกระแสหลัก จึงอุดมไปด้วยการแข่งขันสร้าง เสพ และยกย่องเชิดชูความเป็นชายแบบใหม่อันประกอบไปด้วยหน้าตาที่ดี เรือนร่างที่สวยงามจากการเข้ายิม บุคลิกไม่สาว ‘แมนๆ คุยกัน’ และสถานะทางการเงินที่มั่นคง

นอกจากความเป็นชายในรูปแบบที่ว่านี้จะไม่ได้ท้าทายความเป็นชายแบบเดิมหรือบรรทัดฐานรักต่างเพศแต่อย่างใดแล้ว ยังผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมในการเลือกแสดงบทบาททางเพศ ลดทอนคุณค่าของเกย์ออกสาวหรือกะเทยที่รู้สึกเชื่อมโยงกับบุคลิกที่สังคมบัญญัติว่ามีความเป็นหญิง อีกทั้งยังตอกย้ำความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ในสังคม จนเกิดเป็นมายาคติ ‘ปลาหมึกแถวบน ปลาหมึกแถวล่าง’ ที่ตีตรา แบ่งแยกชนชั้น และสร้างความไม่ลงรอยกันเองขึ้นภายในคอมมูฯ

แต่แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่ไม่มีใครเคยตั้งคำถาม

หนึ่งในคนดังที่เคยแสดงทัศนคติที่ตระหนักรู้เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมภายในคอมมูฯ LGBTQIA+ และความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงค่านิยมนี้ คือ ภูเขา-พิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ เจ้าของช่อง Poocao Channel โดยเขาให้สัมภาษณ์กับ Mirror Thailand ว่า

“ภูเขา Stands for ‘ปลาหมึกแถวล่าง’ คำว่าปลาหมึกถูกเอามาใช้พูดเชิงขำๆ ในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ ว่า ถ้าเป็นแถวบนจะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่แถวล่างจะอยู่นอก Beauty Standard ซึ่งเรารู้สึกว่ามีคนเจ็บปวดกับสิ่งนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าไม่ว่าจะแถวบน แถวล่าง ทุกคนควรได้เป็นตัวเองอย่างมีความสุข และไม่ควรมากดทับกันเพียงเพราะความสาว ความแมน อ้วน หุ่นไม่ดี ไม่เนียนนี ถ้าเราตั้งใจจะส่งเสียงเพื่อความเท่าเทียมแล้ว คนใน LGBTQ+ เองก็ควรโอบรับความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ก่อน” 

อ้างอิง

https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jasac/article/view/227231

https://so03.tci-thaijo.org/index.php/liberalarts/article/view/86295 

https://hkupress.hku.hk/image/catalog/pdf-preview/9789888083268.pdf 

Tags: , , , , , , , , , , ,