หลายคนอาจเคยรู้สึกแบบนี้…
ไม่ชอบร่างกายของตัวเอง เพราะไม่ตรงตามมาตรฐานความงามของสังคม
‘พราว-รัมภาสิริ เทวกุล ณ อยุธยา’ TikTok บัญชี prouddevakula เคยผ่านความรู้สึกนั้นมาเช่นกัน เธอจึงเผยแพร่คลิปวิดีโอที่ช่วยมอบพลังให้ผู้คนหันมามองเห็นความสวยงามของร่างกาย ซึ่งไม่ได้สมบูรณ์แบบตาม Beauty Standard
เพราะทุกองค์ประกอบในตัวเรามีคุณค่ามากกว่านั้น ทั้งแขนที่โอบกอดคนที่เรารัก ขาที่พาไปพบเจอเรื่องราวมากมาย และรอยยิ้มที่เป็นร่องรอยแห่งความสุข แม้ไม่ได้ดูดีที่สุด แต่เบื้องหลังของรูปลักษณ์ที่ไม่เพอร์เฟกต์เหล่านี้ก็งดงามไม่แพ้ใคร
@prouddevakula ❤️
♬ What Was I Made For? [From The Motion Picture “Barbie”] – Billie Eilish
เพดาน Beauty Standard ที่สูงขึ้นในไทย
ที่ผ่านมาสังคมไทยมีการขับเคลื่อนประเด็นนี้มาโดยตลอด โดยรณรงค์ให้ทุกคนกล้าที่จะแตกต่าง ก้าวข้ามกรอบ Beauty Standard และมั่นใจในความสวยของตัวเอง แต่ในปัจจุบันมาตรฐานความงามกลับสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมิได้จำกัดแค่เรื่องหน้าตา รูปร่าง หรือสีผิว แต่รวมไปถึงจุดต่างๆ ในร่างกาย เช่น ความเรียบเนียนของผิวหน้า ความอวบอิ่มของริมฝีปาก รอยพับบริเวณวงแขน รอยย่นที่คอ ชั้นหน้าท้องตอนนั่ง ไรขนตามแขนขา สะโพกบุ๋ม หรือแม้แต่รูปร่างสะดือ
ทั้งที่ลักษณะเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกาย มิใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด แต่เพดาน Beauty Standard ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้คนต้องการความสวยงามไร้ที่ติเปรียบดั่ง AI จนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม เทรนด์การทำ ‘หัตถการความงาม’ จึงเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น
หัตถการความงามคือ การรักษาที่มุ่งปรับปรุงหรือแก้ไขรูปลักษณ์ภายนอกให้ดูดีขึ้น เช่น การเลเซอร์กำจัดขนและลบเลือนจุดด่างดำ การร้อยไหมกรอบหน้า การฉีดโบท็อกซ์ลดริ้วรอย การฉีดฟิลเลอร์บริเวณหน้า ร่องแก้ม ปาก คาง ลำคอหรือใต้วงแขน การทำโปรแกรมไฮฟู (HIFU) เทอร์มาจ (Thermage) และอัลเทอร่า (Ulthera) ไปจนถึงการดูดไขมันส่วนเกิน และการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
ซึ่งหลายคนอายุยังน้อย ร่างกายยังไม่โตเต็มวัย โครงหน้ายังไม่เข้าที่ หรือมิได้มีความจำเป็นต้องทำหัตถการที่ตัดอวัยวะภายในออกถาวร แต่พวกเขากลับมองว่า ความไม่สมบูรณ์แบบของรูปร่างหน้าตาคือ ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะติดกับดัก Beauty Standard ของสังคม ซึ่งลดทอนความมั่นใจให้น้อยลงไปทุกที
การตำหนิติเตียนจากคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์
ก่อนหน้านี้ ‘การวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกในเชิงลบ’ มักมาจากคนรอบตัวในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครอบครัว ญาติ คุณครู หรือเพื่อน ทั้งในรูปแบบคำทักทาย เช่น ‘ช่วงนี้อ้วนขึ้นนะ’ ‘ไปทำอะไรมา ทำไมเป็นสิว’ และรูปแบบคำล้อเลียนเชิงเหยียดหยาม เช่น ‘ฟันเหยินขนาดนี้ ขอยืมไปขุดดินหน่อยนะ’ ‘ถ้าปิดไฟคงมองไม่เห็นแน่ๆ’ ‘ขาคนหรือขาช้าง’ คำพูดเช่นนี้กลายเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรทำในยุคนี้ เพราะอาจส่อถึงการบุลลี่ (Bully) การกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งทำให้อีกฝ่ายเสียหาย เจ็บปวด และอับอาย
ทว่า ‘แต่งหน้าหยือมาก ลองใช้ไพรเมอร์ดูนะคะ’ กลายเป็นคอมเมนต์ยอดฮิตที่พบได้ทั่วไปในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกในเชิงลบยังคงไม่หายไปจากสังคม และคนไทยยังไม่มีความตระหนักรู้ในประเด็นนี้มากพอ จนเกิดปรากฏการณ์ Cyberbullying หรือการระรานทางออนไลน์
เพราะในปัจจุบัน ผู้คนมักได้รับ ‘คำพูดตำหนิติเตียนเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา’ จากความคิดเห็นของคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งนำเสนอคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอ ส่งผลให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถมองเห็น และคอมเมนต์เรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย เช่น ‘แนะนำให้ลองใช้ครีมลดสิวของ xxx หรือลองไปคลินิกรักษาสิวนะ’ ‘ถ้าฉีดฟิลเลอร์คาง จะสวยขึ้นมาก’ ‘มีแพลนกระชับหรือลดหุ่นไหม’ ‘สีผิว Cool Tone แต่งหน้าแบบนี้เลยดูหมอง’
แม้ผู้แสดงความคิดเห็นบางส่วนจะมีเจตนาดี เพียงแค่ต้องการเตือนหรือแนะนำสิ่งที่ดีให้แก่บุคคลอื่น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คำวิจารณ์เคลือบความหวังดีนั้นลดทอนความมั่นใจของผู้ฟัง อีกทั้งยังล่วงล้ำขอบเขตของคำว่า ‘มารยาท’ อีกด้วย
ทุกคนต่างรู้ดีว่า คำพูดเช่นนี้จะทำร้ายจิตใจของผู้ฟัง แต่หลายคนกลับกล้าพิมพ์แสดงความคิดเห็นโดยไม่รักษาน้ำใจของผู้อื่น เพราะซ่อนตัวอยู่หลังแอ็กเคานต์ลับที่ไม่ระบุตัวตน ต่างจากอีกฝ่ายซึ่งต้องเผชิญหน้ากับความคิดเห็นเชิงลบผ่านตัวตนที่แท้จริง
มองเห็นคุณค่าของตัวเอง ชื่นชมความสวยงามของคนอื่น
แน่นอนว่า การพยายามปรับปรุงตัวเองให้ตรงตาม Beauty Standard หรือการทำหัตถกรรมเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะคนที่มีรูปร่างหน้าตาตรงกับมาตรฐานความงามของสังคมนั้นมักได้รับสิทธิพิเศษหรือโอกาสที่ดีหรือเหนือกว่าเสมอ (Beauty Privilege)
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าเพดานของ Beauty Standard จะจบลงที่จุดไหน อีกทั้งมาตรฐานความงามของสังคมยังเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในอดีตผู้คนอาจให้คุณค่ากับความงามรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความงามรูปแบบอื่นก็ได้รับการยอมรับ และมีพื้นที่เฉิดฉายมากขึ้น
ดังนั้นเราจึงควรก้าวข้ามกรอบ Beauty Standard ของสังคม และสนใจคำพูดของคนอื่นให้น้อยลง เพราะเราไม่อาจหยุดยั้งความคิดเห็นเชิงลบของคนอื่น แต่เราสามารถมองเห็นและรับรู้ความสวยงามของตัวเอง รวมถึงส่งต่อพลังบวกด้วยการให้เกียรติและชื่นชมผู้อื่นอย่างมีมารยาท
เพราะแท้จริงแล้ว ความไม่สมบูรณ์แบบคือเรื่องปกติของร่างกายมนุษย์ แต่ละคนล้วนมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากคนอื่น ซึ่งทำให้สังคมเต็มไปด้วยความหลากหลายที่งดงาม
อย่าปล่อยให้มาตรฐานความงามของสังคมมากดทับ จนเราหลงลืมว่า การรักตัวเองและการใจดีต่อผู้อื่นเป็นเช่นไร
อ้างอิง
https://vt.tiktok.com/ZS24xsaeQ/
Tags: ความงาม, ร่างกาย, Beauty Standard, บิวตี้สแตนดาร์ด, ความสวยงาม, Gender