และแล้วก็วนกลับมาและสิ้นสุดลงอีกครั้งหนึ่ง กับวาระแห่งชาติที่มีชื่อว่า ‘เทศกาลเชียร์นางงาม’ ช่วงเวลาที่สร้างทั้งความสุขและความเศร้า ความหวังและความผิดหวัง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและความแตกแยก ให้กับคนในชาติเป็นประจำทุกปี

หากถามว่าเวทีประกวดนางงามในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร คงไม่มีใครสามารถให้กับคำตอบที่เหมือนกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

สำหรับบางคน นางงามคือความบันเทิง ความสนุกสนานจรรโลงโลก บ้างก็ว่านางงามเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจ ฝั่งหนึ่งว่าเป็นเรื่องล้าสมัย เรื่องเหยียดเพศ เรื่องไร้สาระ ในขณะที่อีกฟากหนึ่งก็บอกว่าเป็นเวทีปลุกพลังเฟมินิสต์ ส่วนคนที่ไม่สนใจก็อาจไม่รู้สึกอะไรกับเวทีประกวดเหล่านี้เลย

แน่นอนว่าหากเป็นเวทีประกวดในยุคแรกเริ่ม ซึ่งไม่ได้แก่นสารอะไรมากมายนอกเหนือไปจากการเปรียบเทียบและตัดสินรูปร่างหน้าตาของผู้เข้าประกวด คำตอบที่ได้คงเป็นเอกฉันท์กว่านี้มาก

แต่เนื่องจากเวทีประกวดนางงามในยุคนี้ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ ‘การขับเคลื่อนสังคม’ มากขึ้น จึงก่อเกิดเป็นคำถามว่าปัจจุบัน เวทีนางงามหลุดพ้นจากข้อหาเสริมสร้างค่านิยม ‘เหยียดเพศ’ ‘ชายเป็นใหญ่’ รวมถึง ‘มาตรฐานความงามที่คับแคบ’ แล้วหรือยัง?

ความพยายามที่จะ ‘Modernize’ การประกวดนางงาม

อ้างอิงจากเวทีประกวดนางงามจักรวาล (Miss Universe) เป็นหลัก นอกจากรูปแบบและคุณค่าหลักที่หล่อหลอมคำถามต่างๆ บนเวทีประกวดที่ค่อยๆ วิวัฒนาการไปตามยุคสมัย รวมถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและสีผิวที่เพิ่มมากขึ้นแทบทุกปีแล้ว กฎต่างๆ ยังค่อยๆ ถูกปรับเปลี่ยนให้ครอบคลุม ‘ความหลากหลาย’ มากขึ้น เช่น

– ปี 2012 เป็นปีแรกที่อนุญาตให้หญิงข้ามเพศสามารถเข้าร่วมประกวดได้ แต่ต้องใช้เวลานานถึง 6 ปี จึงจะมีนางงามหญิงข้ามเพศสามารถชนะผ่านรอบประเทศเข้ามาได้ในปี 2018 นั่นคือ แองเจลา ปอนเซ (Angela Ponce) ตัวแทนจากสเปน

– ปี 2019 เป็นปีแรกที่มีนางงามที่ประกาศตนว่าเป็นเลสเบี้ยนอย่างเปิดเผยได้ตั้งแต่ระหว่างการประกวด นั่นคือ ชะเว ชิน เทด (Swe Zin Htet) ตัวแทนจากเมียนมา

– ปี 2021 แคมเปญ ‘Real Size Beauty’ ของ แอนชิลี สก็อต-เคมมิส (Anchilee Scott-Kemmis) ตัวแทนประเทศไทยในปีนั้น ตามมาติดๆ ด้วยนางงาม ‘พลัสไซซ์’ คนแรก เจน ดิปิกา การ์เร็ตต์ (Jane Dipika Garrett) ตัวแทนเนปาลปีล่าสุด

Swe Zin Htet (ซ้าย) Jane Dipika Garrett (กลาง) Angela Ponce (ขวา) / ภาพ: AFP

– ปี 2023 เปลี่ยนกฎจากเดิมที่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงที่เคย ‘ผ่านการแต่งงาน หย่าร้าง คลอดบุตร หรือมีสถานะทางกฎหมายเป็นแม่ของเด็ก’ เข้าประกวด ได้ และหากได้รับตำแหน่ง ‘จะต้องไม่แต่งงานเป็นเวลา 1 ปีจนกว่าจะก้าวลงจากตำแหน่ง’ เป็นให้ผู้หญิงที่ผ่านการแต่งงาน หย่าร้าง มีลูก หรือกำลังตั้งครรภ์ สามารถเข้าร่วมการประกวดได้

– และล่าสุด ปี 2024 เป็นต้นไป ปลดล็อกเพดานอายุเดิม ‘จาก 18 ถึงไม่เกิน 28 ปี’ เปลี่ยนเป็นให้ผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ทุกคนสามารถเข้าร่วมประกวดได้โดยไม่จำกัดอายุอีกต่อไป

ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่ใช่แค่กองประกวดเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่แฟนๆ นางงามทั่วโลกเองก็มีพัฒนาการไปในทิศทางเดียวกัน จากทศวรรษก่อนหน้าที่เรามักได้ยินเพียงถกเถียงเรื่องรูปร่างหน้าตา ความสวยงามของชุด จริตจะก้านในการพรีเซนต์ตัวเอง ทุกวันนี้ ทักษะและไหวพริบในการตอบคำถามได้กลายมาเป็นหัวข้อที่ใหญ่พอๆ กับความงามในวงดีเบตบนโซเชียลฯ ว่า นางงามของใครคู่ควรที่จะ ‘มงลง’ มากที่สุด

แต่ไม่ว่าอย่างไร ความรู้ก็ต้องมาคู่กับ ‘ความงาม’ อยู่ดี

แต่ใครกันล่ะที่เป็นคนกำหนดว่า แบบไหนคือความงามที่คู่ควร?

แม้เปลือกนอกของหลักการในการคัดเลือก คือเป้าหมายแสนจะชาตินิยมอย่างการเฟ้นหาผู้หญิงที่จะสามารถเป็น ‘ตัวแทน’ ของหญิงไทยไปแข่งกับนานาชาติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการเฟ้นหาเหล่านั้น คือการที่กองประกวดจากนานาชาติต่างอ่อนโอนต่ออำนาจการกำหนดเกณฑ์ความงามที่หมุนรอบมาตรฐานของตะวันตก (Eurocentric) 

(หรือที่ในภาษาไทย เราเรียกกันอย่างบ้านๆ ว่างามแบบ ‘สายฝอ’ นั่นแหละ)

มีกฎล่องหนมากมายหลายข้อที่ไม่ระบุอยู่ในเกณฑ์การรับ แต่เป็นที่รู้กันว่าหากนางงามคนใดแหกกฎเหล่านี้ จะมีโอกาสในการเข้ารอบลึกน้อยกว่าชาวบ้าน เช่น

– วิธีการยิ้มและแสดงสีหน้าที่สมบูรณ์แบบตามฉบับของ ‘นางงาม’

– สัดส่วนที่ต้องดูเพรียว ไม่ ‘ตัน’ เพื่อให้พรีเซนต์ชุดที่ใส่ได้เต็มที่ 

– สไตล์การแต่งหน้า (จะเห็นได้ว่าการแต่งหน้าสายเกาหลีหรือญี่ปุ่นไม่เป็นที่นิยมบนเวทีนางงามเท่าสไตล์ตะวันตก?)

– ส่วนสูงที่ไม่ควรต่ำกว่า 170 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ดู ‘จม’ เมื่อยืนขนาบข้างกับนางงามชาวตะวันตก

ฯลฯ

หากพิจารณาตัวแทนมิสยูนิเวิร์สประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าไม่มีนางงามจักรวาลคนใดสูงน้อยกว่า 170 เซนติเมตรเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งที่ส่วนสูงเฉลี่ยของหญิงไทยทั้งประเทศอยู่ที่ 158-161 เซนติเมตรเท่านั้น

นอกจากนี้ เกือบทั้งหมด (8 ใน 10 คน) ยังเป็นนางงามลูกครึ่งตะวันตกอีกด้วย

 

ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าผู้หญิงทุกคนที่มีชื่ออยู่ในตารางข้างต้น ต่างอาศัยความสามารถ มันสมอง ความตระหนักรู้ในประเด็นต่างๆ และพัฒนาการของตนเองอย่างมากมาย ในการเดินทางมาสู่จุดที่พวกเธออยู่ในปัจจุบัน

ทั้งแอนชิลีที่โปรโมตแคมเปญ Real Size Beauty อย่างหนักแน่นตลอดการประกวด ฟ้าใส ปวีณสุดาที่รับศึกหนักตอบคำถามวัดใจ ‘Privacy VS Security’ ในตำนาน มารีญาที่ยังคงเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมถึงแอนโทเนีย โพซิ้ว ผู้เข้าแข่งขันประจำปีนี้ที่ทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จนได้รับตำแหน่งรองอันดับหนึ่งมาครอง

กระนั้นก็ตาม นั่นไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงรสขมที่ว่า เวทีประกวดนางงามที่มีอยู่ทั้งหมด ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเปรียบเทียบรูปลักษณ์ของผู้หญิงคนหนึ่งกับผู้หญิงอีกคน ผ่านดุลพินิจของคนจำนวนเพียงหยิบมือ

สวยแค่ภายนอกอย่างเดียว ชนะเวทีประกวดนางงามไม่ได้หรอก ต้องสวยจากภายในด้วย

อาจจริงดังว่า แต่อย่าลืมว่านั่นย่อมหมายความว่า หากภายนอกคุณมีความงามที่ไม่ต้องตามมาตรฐาน ต่อให้ภายใน (จิตใจ? หรือมันสมอง?) ของคุณจะงามสักเพียงใด ก็จะไม่มีกรรมการคนใดในกองอยากรับคุณเข้ามาเป็นผู้ประกวดด้วยซ้ำ

แถมตลอดการถ่ายทอดสดเวทีประกวดหลายชั่วโมง ยังมีนางงามเพียงแค่หยิบมือเดียวที่มีโอกาสได้แสดงวิสัยทัศน์ คือนางงามที่ ‘งามคู่ควร’ กับโอกาส โดยตัดสินจากการเดินโชว์ตัวในชุดว่ายน้ำ ชุดประจำชาติ และชุดราตรี 

เวทีประกวดนางงามได้เปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงมากมายในการแสดงความสามารถและเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคม

ประโยคนี้เป็นความจริงทุกประการ แต่คำถามสำคัญคือ เช่นนั้นแล้ว ตอนนี้เรากำลังจำกัดพื้นที่ในการแสดงความสามารถและขับเคลื่อนสังคมเอาไว้ให้ใคร? 

ผู้หญิงที่ผอมพอเท่านั้น?

ผู้หญิงที่ตัวสูงพอเท่านั้น? 

ผู้หญิงชนชั้นกลางขึ้นไปที่เข้าใจภาษาอังกฤษเท่านั้น?

ผู้หญิงที่หน้าตาฝรั่ง หรือสไตล์ถูกจริตฝรั่งมากพอเท่านั้น? 

อ้างอิง

https://www.aljazeera.com/opinions/2022/9/23/beauty-pageants-say-theyre-changing-dont-believe

https://www.nytimes.com/2023/01/23/learning/are-beauty-pageants-still-relevant.html 

https://www.news24.com/life/arts-and-entertainment/celebrities/news/does-height-matter-at-miss-universe-20210114

https://the-peak.ca/2021/10/beauty-pageants-are-a-harmful-entertainment-tradition/

Tags: , , , ,