หากพูดถึงบาร์บี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราจะนึกถึงภาพของตุ๊กตาหญิงสาวที่มีใบหน้าสะสวย ผมสีบลอนด์ยาว ผิวขาว รูปร่างสูงเพรียว มีสัดส่วนเว้าโค้ง พร้อมด้วยเสื้อผ้าเครื่องประดับให้เลือกแต่งได้ตามจินตนาการ

ด้วยความที่บาร์บี้สามารถตอบโจทย์ผู้เล่นจากเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันน่าจดจำ จึงไม่แปลกใจนักว่าทำไมตุ๊กตาบาร์บี้จึงได้กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แม้จะวางจำหน่ายมาแล้วกว่า 60 ปี

“บาร์บี้เป็นมากกว่าตุ๊กตา เธอคือสัญลักษณ์แห่งป็อปคัลเจอร์”

บริษัทแมตเทล (Mattel) ผู้ผลิตบาร์บี้กล่าวไว้เช่นนั้น ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแบรนด์นี้ยังคงอยู่ในความสนใจของผู้คนมาโดยตลอด ไม่ใช่เพียงในแง่ของยอดขาย แต่ยังรวมถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากการเป็นตัวแทนที่สะท้อนค่านิยมของแต่ละยุค การเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กสาว รวมถึงเป็นผู้สร้างมาตรฐานความงามตามแบบฉบับของบาร์บี้

บาร์บี้กับการเป็นตัวแทนของเด็กสาว

บาร์บี้ถือกำเนิดในปี 1959 จากการที่ รูธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแมตเทล เห็นว่าลูกสาวของเธอชอบเล่นแต่งตัวตุ๊กตากระดาษ จึงมีความคิดอยากสร้างตุ๊กตาหญิงสาวในรูปแบบสามมิติขึ้นมา บาร์บี้ตัวแรกเลยผลิตออกมาในปีนั้น ด้วยรูปลักษณ์ของนางแบบสาวผมสีบลอนด์มัดหางม้า ผิวขาว สวมชุดว่ายน้ำรัดรูปสีขาวดำ ถูกใจผู้คนจำนวนมาก การันตีความสำเร็จด้วยยอดขายมากกว่า 3 แสนตัว กลายเป็นต้นฉบับของบาร์บี้หลายรุ่นในเวลาต่อมา

บาร์บี้ผลิตออกมาในหลายรูปแบบ มีอาชีพหลากหลาย เริ่มจากบาร์บี้ดีไซเนอร์ พยาบาล แอร์โฮสเตส พี่เลี้ยงเด็ก ไปจนถึงนักบินอวกาศ ซึ่งบาร์บี้รุ่นนี้ผลิตโดยอิงจากเหตุการณ์จริงในปี 1963 ที่ วาเลนตีนา เตเรชโควา (Valentina Tereshkova) เดินทางออกไปยังอวกาศกับยานวอสตอค และกลายเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเพียง 5-6 ปีแรกของการวางจำหน่าย แสดงให้เห็นถึงการตลาดแบบอิงสถานการณ์ที่บริษัทนำมาใช้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี

หลังจากนั้น เราจะได้เห็นบาร์บี้เปลี่ยนสีผมได้ บาร์บี้ที่มีทรงผมให้เลือกมากขึ้น ตุ๊กตาบาร์บี้ที่สร้างจากคนดัง ฯลฯ ก็ถูกผลิตออกมาตามๆ กัน

ดูเหมือนว่าบาร์บี้จะเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับมิติของความหลากหลายเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่บริษัทอาจมองข้ามไป คือเรื่องรูปร่างของตุ๊กตา ที่ผ่านไปกี่ปีก็ยังคงอิงกับรูปแบบดั้งเดิม ต้องเป็นหญิงสาวหุ่นสูงเพรียว เอวคอด สะโพกผาย แขนขาเรียวยาว อีกทั้งภายหลังยังเพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่ขึ้นอีกด้วย

หากเทียบกับสัดส่วนมนุษย์ บาร์บี้จะมีหน้าอกอยู่ที่ 36 นิ้ว เอว 18 นิ้ว เป็นหุ่นในอุดมคติที่แน่นอนว่าหากเกิดขึ้นจริงคงไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ และไม่อาจสร้างความเป็นตัวแทนให้กับเด็กผู้หญิงโดยทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นการสร้างค่านิยมความงามแบบผิดๆ ที่ทำให้เด็กเชื่อว่ารูปร่างที่สวยงามของหญิงสาวจะต้องเป็นไปตามหุ่นของตุ๊กตา รูปร่างที่ไม่สมจริงของบาร์บี้จึงถูกโจมตีมากขึ้น และในปี 1972 ปีเดียวกับที่มีการเพิ่มขนาดหน้าอก ยอดขายของบาร์บี้ลดลงเป็นครั้งแรก

มีผลการศึกษาจากวารสารด้านจิตวิทยาในปี 2006 เผยว่า เด็กที่เล่นตุ๊กตาบาร์บี้จะมีความกังวลเรื่องรูปร่างมากกว่าเด็กทั่วไป เพราะคิดว่าต้องสวยหุ่นดีเหมือนบาร์บี้ นอกจากเรื่องรูปร่างแล้ว ผิวหน้าที่ไร้ที่ติ เส้นผมหนาสลวย หรือแม้แต่มือและเท้าของบาร์บี้ก็มีผลต่อการผลิตความเชื่อและค่านิยมความงามที่เป็นรูปแบบเดียวเช่นกัน

คอริน กริลโล (Corin Grillo) คุณแม่ลูกสองที่อาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนียแสดงความคิดเห็นว่า “ตั้งแต่เด็ก ฉันรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับโลกของบาร์บี้เพราะฉันมีผิวสีน้ำตาล ฉันไม่ต้องการให้ตุ๊กตาบาร์บี้มากำหนดว่าความงามและความสมบูรณ์แบบคืออะไร”

การปรับตัวของแบรนด์

หลังยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ในปี 2016 บริษัทแมตเทล ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบาร์บี้ เริ่มผลิตบาร์บี้ที่มีรูปลักษณ์หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างที่ท้วมขึ้น มีหน้าท้อง ไม่ได้มีรูปร่างสูงเพรียว และสีผิวที่หลากหลายออกมาให้เลือกทั้งหมด 7 สีผิว เพื่อแสดงออกถึงการโอบรับรูปร่างและสีผิวอันแตกต่างที่พบเห็นได้จริงโดยทั่วไป

ช่วงปลายปี 2017 ตุ๊กตาบาร์บี้ผมสีแดงสวมเสื้อยืดที่เขียนว่า ‘Girl Power’ หรือพลังของผู้หญิง กลายเป็นสินค้าขายดีที่ช่วยให้ยอดขายของบาร์บี้เพิ่มขึ้น เมื่อถึงวันครบรอบ 60 ปีบาร์บี้ บริษัทได้ผลิตบาร์บี้รุ่นบุคคลต้นแบบ (Role Model) จากผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในแต่ละวงการ เช่น ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo) จิตรกรหญิงชาวเม็กซิโก, เฉิน ม่าน (Chen Man) ช่างภาพชาวจีน, แคเธอรีน จอห์นสัน (Katherine Johnson) นักคณิตศาสตร์ ฯลฯ เพื่อสนับสนุนเด็กสาวให้ทำตามความฝันที่แตกต่างกันของตัวเอง และในปี 2019 ยังนำเสนอภาพแทนของกลุ่มผู้พิการเป็นบาร์บี้รุ่นนั่งวีลแชร์กับบาร์บี้ใส่ขาเทียมอีกด้วย

แม้ภาพจำของตุ๊กตาบาร์บี้ในมุมมองหลายคนจะยังเป็นหญิงสาวผมสีบลอนด์ สูงเพรียว ผิวขาวตามแบบเดิม หรือบางคนอาจมองว่าการที่บาร์บี้ดูแตกต่างกันเป็นเรื่องที่ไม่ชินตา ด้วยความคิดที่ว่าตุ๊กตาควรจะต้องดูสมบูรณ์แบบ มีมาตรฐานเป็นรูปแบบเดียวกัน แต่หากเราลองนึกถึงผู้คนที่เราเจอจริงๆ ในสังคม จะพบว่าทุกคนแตกต่างกัน เกิดมาพร้อมร่างกายที่ไม่เหมือนกัน และควรที่จะได้เป็นตัวเอง

การปรับเปลี่ยนแนวทางของสินค้ายอดนิยมอย่างบาร์บี้ แสดงให้เห็นถึงทิศทางของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน แน่นอนว่าการสนับสนุนความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงความงามที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ จะต้องไปไกลกว่าแค่การเป็นเรื่องทางการตลาด

ที่มา

https://stacker.com/retrospective/looking-back-six-decades-barbie

https://time.com/barbie-new-body-cover-story/

https://www.shethepeople.tv/blog/barbie-six-decades-managed-remain-relevant/

https://www.mercurynews.com/2019/03/08/after-six-decades-barbie-still-dominates-pop-culture-debate/

Tags: , , ,