มันกลายเป็นประโยคประจำตัวไปแล้วสำหรับไกด์นำทางชื่อ “สุนัม” สุนัมนอกจากจะเป็นไกด์แล้วยังเป็นคนแบกกระเป๋าให้ผมด้วย ทุกครั้งที่เราเดินทางเปลี่ยนโลเกชั่น ผมมักถามเค้าว่า ต้องใช้เวลาเท่าไร? ตอนเจอกันวันแรกๆ มันก็จะแบบ ห้าชั่วโมง หกชั่วโมง เดินอีกเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมงก็ว่ากันไป หลังๆ พอเปลี่ยนที่บ่อยเข้า เวลาที่มันบอกก็มักจะ “เวอร์” คือน้อยเวอร์ เพราะผมลองจับเวลาดูมันไม่ค่อยได้อย่างที่มันพูด

เช้านี้เราออกเดินทางจากโรงแรมที่พวก UN ชอบมาใช้บริการ มีหมู่บ้านสองแห่งเป็นเป้าหมาย “สุนัม กี่ชั่วโมงถึง” ผมถาม มันส่ายหัว ทำท่านับนิ้ว “หกชั่วโมงรวมกินอาหารกลางวัน” ผมบอก เอาจริงๆ กี่ชั่วโมง มันทำท่านับอีกครั้ง หันมามองผมที่มีสีหน้าซีเรียสแล้ว Somewhere around 5-10 hrs มันตอบ … โอเค

Syabru Besi คือที่ๆ เราจะไป ถนนค่อนข้างดีเลยทีเดียว ผมภาวนาไปตลอดทางให้มันใช้ได้ เพราะโลจิสติกส์เหมาะมาก แถมเคลเมนซ์ยังบอกว่า จะมีโรงแรมที่เหมือนกับฟาร์ม ดูดีชิบเป๋ง ผมนั่งหลับๆ ตื่นๆ พอเคลิ้มๆ เพราะถนนไม่ขรุขระเท่าไร ประกอบกับอากาศดี เปิดกระจกแล้วลมตีหน้า รู้สึกอีกทีรถก็มาจอดตรงหน้าเกสต์เฮ้าส์แห่งหนึ่ง ผมเห็นป้ายบอกว่าที่นี่คือ Syabru Basi ก็ดีใจ เพราะมันใช้เวลาไม่นานอย่างที่คิด แค่สองสามชั่วโมง ตลอดข้างทางเราเห็นชาวบ้านฆ่าวัวแบบเห็นจะจะตา พี่ทอมลงไปถ่ายรูปด้วย นอกจากวัวแล้วยังมีแพะด้วย เพื่อใช้ในงานเฉลิมฉลองเทศกาล “ดาฉิน” หรือ “สงกรานต์เนปาล”

ดูข้างทางเพลินๆ รถจอด เราลงจากรถกินอาหารเที่ยงกันที่เกสต์เฮ้าส์ อาหารรอนานมาก เมื่อเช้าผมไม่ได้ดื่มนมรองท้องมา หิวมาก ผมถือวิสาสะเดินเข้าไปในครัว แม่ครัวกับลูกมือยังหั่นผักกับฉับๆ ผมเห็นขนมปังกับชีส เลยขอไข่เขามาฟองนึง ตอกไข่ใส่จานตีลวกๆ พอแหลก หยิบเกลือมาโรยพริกไทยดำ เอาชีสมากำมือนึงโยนลงไปแล้วตีให้เข้าๆ กัน วางขนมปังสองแผ่นชุบบนจาน แล้วนาบบนกะทะที่ตั้งเตาร้อน ผลลัพท์ที่ได้คือ เฟรนช์โทส หอมๆ … รอดตายไปอีกมื้อครับ

ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่า Syabru Basi เป็นชื่อของจังหวัด ไม่ใช่ชื่อของหมู่บ้าน ผมเลยถามว่าหมู่บ้านสองแห่งที่จะไปดูอีกนานไหม คำตอบเหมือนเดิมคือ ซัมแวร์อราวด์ 5-10 ชั่วโมง รถขึ้นเขาแล้วก็เข้าโหมดเดิม คือถนนขรุขระ ลดเลี้ยว บลา บลา ที่ตามมาคืออาการปวดหลัง ยิ่งตอนงีบนานๆ แล้วตื่น พอยืดตัวมันปวดตรงก้นกบเหมือนหลังจะขาด ช่วงหลังๆ ผมกินยานอร์จีซิกที่คลายกล้ามเนื้อลดอาการปวด ก็พอช่วยได้บ้าง

สามสี่ชั่วโมงผ่านไป ไม่มีเค้าแววของหมู่บ้านที่ว่าเลย มีแต่ภูเขาที่วกไปวนมา แปลกมากที่ผมไม่รู้สึกตกใจเลย ผมกล้าสาบานว่าผมไม่ตกใจ ในขณะที่ไกด์สุนัมกับเคลเมนซ์เริ่มใจเสีย ดูโทรศัพท์เพื่อเช็คแผนที่ตลอดเวลา

ทำไมผมไม่ตกใจ? เรียกมันว่าสัญชาติญาณ อะไรบางอย่างทำให้ผมมั่นใจว่า มีอะไรบางอย่างรอคอยพวกเราให้ไปค้นพบ อันดับแรกที่ผมใจชื้นคือ ภูเขาของ Syabru Basi ยิ่งสูงยิ่งสวย มันเป็นภูเขาที่มีสันเป็น shape สลับแนวหิน บางลูกมีแนวน้ำตกแถมด้วย

ผมมองข้างทางเพลินๆ อยู่ดีๆ รถเสือกตกหล่มโคลน นานทีเดียวกว่าจะขึ้นมาจากปลักโคลนนั้นได้ พอขึ้นรถ อากาศเริ่มเย็น ผมมองขึ้นไปด้านบนของภูเขา เห็นเป็นสายหมอกขาวๆ บางๆ ที่ล้อมสันของแนวภูเขา มันสวยจับจิต เป็นภาพที่ผมเคยเห็นแต่ในโปสต์การ์ด พอมาเห็นของจริงเลยทำให้มั่นใจว่า เรามาถูกทาง

“สายหมอก” ที่ผมเห็น เมื่อรถไต่ระดับความสูงแล่นผ่าน มันจะเป็นเหมือนม่านบางๆ มีไอน้ำละเอียดๆ กระจายอยู่เต็มละอองอากาศ ผมมารู้ทีหลังว่า มันไม่ใช่สายหมอกอย่างที่ผมเข้าใจ หากแต่เป็น “เมฆ” ต่างหาก

รถมาหยุดอีกทีตอนติดหล่มอีกรอบ คราวนี้พวกเราลุกออกมาจากรถเพราะเมื่อยหลังกับนึกอยากจะยิงกระต่าย ออกมามองไปด้านล่างยังผาลึก เห็นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ กระจายตัวเป็นหย่อมๆ สุนัมบอกว่านั่นแหละที่เราจะไปเป็นหมู่บ้านแรก ถ้าเคลเมนซ์พูดภาษาไทยได้ มันคงสบถเป็นคำว่า “เชี่ย ฉิบหาย” เพราะจากสายตาที่เราเห็น หมู่บ้านแห่งนั้นส่วนมากบ้านสร้างเกือบเสร็จแล้ว ดูจากหลังคาสังกะสีทาสีฟ้า มันไม่ค่อยจะมีบ้านหินให้เราเห็นเลย

เคลเมนซ์เรียกสุนัมไปคุย คุยภาษาเนปาลแป๊บนึง เคลเมนซ์คงโมโหเลยด่าสุนัมให้พวกผมฟังเป็นภาษาอังกฤษ “เชี่ยมึง ไหนมึงบอกว่าหมู่บ้านเก่าแก่ กำลัง recover ยังมีบ้านเก่า โบราณๆ เชี่ย กูถามมึงตรงๆ เลย มึงมาที่นี่กี่ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่” ผมจะได้ว่าเคลเมนซ์ฉะสุนัมเป็นชุดๆ “กูก็มาห้าหกครั้ง แม่งก็สวยดี หลังแผ่นดินไหวกูไม่ได้มา แต่จำได้ว่าแม่งสวย” สุนัมตอบ “ห่า สัส ทำไมหลังแผ่นดินไหวมึงไม่มาสำรวจให้กูวะ” สุนัม หันมาตอบสั้นๆ ว่า “กูมาไม่ได้ กูต้องซ่อมบ้าน บ้านกูก็โดนแผ่นดินไหวเหมือนกัน” แล้วเราทั้งหมดก็หัวเราะพร้อมกัน

“ไปตายเอาดาบหน้า” คือปฏิญญาทางสังคมเล็กๆ ของพวกเราหกคน สิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเราประสาทแดกตลอดเวลาแต่ไม่มีใครกล้ายกขึ้นมาคุยแบบเป็นเรื่องเป็นราว คือเรื่อง “โดรน” การถ่ายโดรนของที่นี่ มันต้องการใบอนุญาต ซึ่งพอลลีนทำเรื่องขอก่อนมาและไม่สำเร็จ พวกเราเลยตกลงกันว่าจะไปขอแบบซึ่งๆ หน้าที่จุด check point

รถไต่ขึ้นสูงไปเรื่อยๆ จนมาถึง Checkpoint เห็นทหารถือปืนเดินขวักไขว่ เดินส่ายอาดๆ มายังรถเรา สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา ผมเรียกมันว่า “เคลเมนซ์แอนด์สุนัมโชว์” ทหารบอกให้เรายกกระเป๋าบนหลังคารถมาตรวจ พวกเขาเปิดกระเป๋าเช็คอย่างละเอียด ของผมเปิดมาเจอมาม่าคัพ ถามเป็นภาษาเนปาล (สุนัมแปลให้ฟัง) ว่า “อาหารที่นี่ไม่ถูกปากเหรอ” ผมตอบไปว่า “ถูกปากแต่มันเสพติดอาหารไทย” ตอนหลังมานั่งคิดกับตัวเองว่า กูตอบไปได้ไงวะ

สุนัมกับเคลเมนซ์ประกบทหารที่มาตรวจรถเรา พูดภาษาเนปาลเป็นชุดๆ ประกอบท่าทางทำมือโบ๋เบ๊กับส่ายหัวไปมา โดยมีพอลลีนเป็นลูกคู่ ผมบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ด้วยการไม่พูดอะไรเลยดีที่สุด เรา “ซุก” โดรนไว้ที่ด้านล่างของที่นั่งแถวท้ายสุด เอาผ้าปิดไว้ ภาวนาว่าอย่าให้ทหารถามเรื่องโดรน วิธีการของเคลเมนซ์กับสุนัมคือ ชวนทหารคุยเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ อย่าให้เขาถามเรื่องโดรน เพราะถ้าถามว่าเอาโดรนมาหรือเปล่า เราคงต้องสารภาพว่าเอามา แล้วให้มันยึดไป แล้วค่อยกลับมาเอาคืนขากลับ

สาเหตุที่ทหารซีเรียสเรื่องโดรนมาก เพราะที่ที่เรามาอยู่ห่างจากพรมแดนประเทศจีนไม่ถึง 20 กิโลเมตร อีกทั้งยังเป็นพรมแดนที่มีปัญหามาตลอด ได้ผล! ทหารปล่อยเราไปโดยไม่มีเรื่องโดรนในหัวข้อการสนทนา เคลเมนซ์มาบอกผมตอนหลังว่า ชวนแม่งคุยทุกเรื่องเท่าที่จะนึกออก ไม่เว้นแม้แต่เรื่องห้องน้ำที่จุด Check point เคลเมนซ์บอกว่า ชมว่าห้องน้ำสะอาด บริการประชาชนดี “เอก กูเพิ่งรู้ว่ะ ว่าเรื่องห้องน้ำแม่งเผาเวลาได้เกือบๆ 15 นาที”

สองชั่วโมงจากจุด check point รถพาเราข้ามภูเขาสองลูก มาจบลงที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง มันมีชื่อว่า กัตลัง (Gatlang)

สามวันเต็มๆ กับการค้นหาสิ่งที่เราคาดหวัง สิ่งที่ค้นพบงดงามเกินความคาดหมาย กัตลังประจันหน้ากับเทือกเขาอย่างทรนง หมู่บ้านยังคงสภาพเดิมไว้เกือบทั้งหมดถึงแม้จะมีการซ่อมแซมต่อเติม ยังไงมันก็ยังเป็นบ้านหินในแบบเนปาลแท้ๆ ผู้คนชาวบ้านสวมเสื้อผ้าในแบบเชอร์ปา หมวกผ้าสาน ตุ้มหูพวงระย้า ชุดสอดทับคลุมถึงหัวเข่า บางคนใส่เสื้อผ้าสามชิ้นสีดำแบบทิเบต ผู้หญิงสวมผ้าซิ่นสีสด พวกเขาต่อสู้กับความแร้นแค้นและโหดร้ายกับธรรมชาติชนิดฟันต่อฟันขณะเดียวกันก็พึ่งพากันแบบสมดุล

บ้านหินปลูกหลั่นกันไปตามแนวสันเขา มีทางเดินเชื่อมถึงกันทั้งหมู่บ้าน ภูเขารูปหัวใจผ่าซีกโอบกอดหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านไว้ในอ้อมแขน สันเขาตั้งอยู่ทิศเหนือยามเช้า แสงแดดส่องเป็นประกาย เทือกเขาหิมาลัยตระหง่านด้านขวา ขณะที่ด้านซ้ายเป็นแนวเขาพาดยาวสุดสายตา ในวันที่อากาศเป็นใจ เราจะเห็นยอดหิมาลัยสีขาวโพลนสะท้อนเป็นสีส้มยามกระทบกับแสงแดดอุ่นๆ ยามเช้า

พวกเราเดินสำรวจหมู่บ้านช้าๆ พอลลีนกับเคลเมนซ์ทักทายชาวบ้านเหมือน ส.ส. ลงพื้นที่ รอการเลือกตั้งสมัยหน้าที่ไม่รู้จะมาเมื่อไร ภาษาเนปาลของทั้งสองคนอยู่ในระดับเอพลัส แน่นอน กับเวลาที่ผ่านมาเกือบสองปี ภาษาคือสิ่งที่สำคัญที่สุดรองไปจากลมหายใจและเครื่องนุ่งห่มหนาๆ วันนี้ผู้คนอยู่ติดบ้านกันเป็นส่วนใหญ่ สมาชิกของครอบครัวกลับมายัง “รัง” ของพวกเขาอีกครั้งในเทศกาล “ดาฉิน” มีคนแก่ คนหนุ่มสาว เด็กๆ และทารก เนื้อสัตว์ถูกแล่เป็นชิ้นและตากบนราวหน้าบ้านเหมือนคนกรุงเทพฯ ตากผ้า

จากบ้านนึงสู่อีกบ้านนึง จนเดินรอบหมู่บ้าน ซากแห่งความไร้ปรานีจากแผ่นดินไหวยังคงเห็นเป็นระยะๆ ความยากจนทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากซ่อมแซมบ้านด้วยหิน บ้านบางหลังยังหาประตูไม่ได้ มีเพียงไม้แผ่นกั้นทางเข้า รัฐบาลช่วยเหลือโดยโยนเงินให้หลังละ 500 เหรียญ ซึ่งกว่าจะมาถึงมือชาวบ้านมันก็คงโดนหักโน่นนี่ไปตามทางจนแทบไม่เหลืออะไรถึงมือ ทางรอดเดียวคือการต่อสู้ด้วยจิตวิญญานอันเด็ดเดี่ยวของเชอร์ปา และเลือดบ้าของชนเผ่ากอร์ก้า มันคือส่วนผสมที่ทำให้พวกเขาอยู่รอด ขณะที่คำว่า “ยอมแพ้” ยังเป็นคำพูดที่สะกดได้อย่างยากเย็น

พวกเขามีความสุข? ผมไม่แน่ใจ มีชีวิตที่ดีไหม? ผมยังไม่ทราบแน่ชัด ผมเจอเด็กผู้หญิงคนนึง หน้าตา cinematic มากๆ เธอเรียนหนังสือที่กาฐมาณฑุ และเดินทางมาเยี่ยมบ้านในช่วงเทศกาล เธอตั้งใจจะเรียนหนังสือให้จบและจะกลับมาพัฒนาหมู่บ้าน แต่ที่แห่งนี้ ผมแน่ใจที่สุดว่า มันจะเป็นเรื่องราวของ The Ridge ด้วยบรรยากาศของเทศกาลแห่งความรื่นเริงเฉลิมฉลอง ไม่มีอะไรดีไปกว่าการมีครอบครัว หรืออย่างน้อย แค่รู้สึกว่ามึครอบครัว

ถ้าวันนึง งานของเราจะทำให้ที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พวกเราคงทำร้ายพวกเขาไปในแบบที่ไม่ทันตั้งใจ

Fact Box

อ่าน ‘กัตลัง คำบรรยายใต้ภาพขนาดยาว’ เมมมัวร์สี่ฉบับที่ภาสกร ประมูลวงศ์ ส่งถึงเป็นเอก รัตนเรือง ความเป็นมาอันแท้จริงของภาพยนตร์สารคดี กัตลัง : ชะตาชีวิตต้องลิขิตเอง

Tags: , , , ,