กัตลัง คำบรรยายใต้ภาพขนาดยาว: บทนำ

บทเรียนชีวิตที่เนปาลหนนั้น ทำให้ผมตื่นนอนตอนเช้า แล้วคิดถึงคนอื่นก่อนเป็นอันดับแรก…

กาแฟแก้วที่วางตรงหน้า เหลือของเหลวสีดำอยู่แค่ครึ่ง มันถูกยกขึ้นจิบช้าๆ ด้วยเสียงซิบแผ่วเบา แม้ไอกรุ่นจะมอดลงแต่ความร้อนยังคงอยู่ เจ้าของมือคู่นั้นคือผู้ชายที่ครั้งหนึ่งเคยเวียนว่ายอยู่ในสายธารแห่งหนังสือและนิตยสาร จนวันหนึ่ง ผมผลักตัวเองไปสู่งานภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หนังโฆษณา และหนังสารคดีขนาดยาวที่ฉายในโรงภาพยนตร์ จะว่ากันตามตรง ผมเองหาใช่คนแปลกหน้าสำหรับคุณใช่ไหมครับ

หลายปีดีดักที่ผมใช้ชีวิตอยู่ “ที่อื่น” SOAS London, Humboldt Berlin, Madison Wisconsin และ Universitat Wein Vienna แห่งหนที่ผมแวะเวียนด้วยเหตุผลต่างกรรมต่างวาระ เอาหนังไปฉาย เป็นอาจารย์พิเศษ เป็นที่ปรึกษา ค้นคว้าและเขียนโปรเจ็กต์ ร้อยแปดจิปาถะ จนวันนึง ผมจำได้ว่านั่งทำงานอยู่ที่ห้องสมุด Memorial Library ที่ Madison Wisconsin จู่ๆ มีอีเมลจากเพื่อนเยอรมันคนนึงชื่อเคลเมนซ์ เขากับผมค่อนข้างสนิทกัน เคลเมนซ์อยู่ที่เบอร์ลิน มีงานการมั่นคง แต่งตัวเฟี้ยวฟ้าวตามสไตล์ชาวเมือง ส่งอีเมลมาบอกว่า ลาออกจากงานแล้ว ตอนนี้ทำงานอยู่เนปาล มือผมลั่นตอบกลับไป “อย่างมึงเนี่ยนะ” เขาตอบกลับมาแทบจะทันทีว่า “แล้วแกจะรู้ว่าชีวิตจริงๆ นั้นเป็นเช่นไร คนจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร”

กลายเป็นว่าคำคำนั้นฝังอยู่ในหัวผมร่วมๆ สองปี และมันชอบแวะเวียนมาให้ขบคิด ไม่ถึงกับหมกมุ่น เพียงแค่ว่างเมื่อไหร่ มันก็จะมาเมื่อนั้น จนวันนึง ผมเจอเคลเมนซ์ หลังจากคุยเรื่องบ้าบอคอแตกเป็นชั่วโมงๆ แล้ว เราก็เริ่มคุยเรื่องชีวิตใหม่ที่เนปาล เขาเล่าด้วยแววตาเป็นประกายเหมือนคนเจอทางสว่าง หน้าที่ของเขาคือทำงานกับองค์กร ICIMOD (International Centre for Integrated Mountain Development) ดูแลสันเขาที่สมบูรณ์ที่สุดแหล่งสุดท้ายแห่งหนึ่งของโลก แน่นอน เคลเมนซ์ต้องพบปะชาวบ้าน ผมมาค้นพบทีหลังว่า เคลเมนซ์พูดภาษาเนปาลีได้แบบคล่องปาก นั่นทำให้เขาเชื่อมโยงกับชีวิตของคนบนภูเขาได้ดี

อะไรบางอย่างในบทสนทนาครั้งนั้น ยิ่งตอกลิ่มลึกลงไปในหัวอย่างที่ผมตั้งใจครึ่งไม่ตั้งใจครึ่ง แต่มันก็มากพอที่จะทำให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว “การปะติดปะต่อ” น่าจะเรียกได้แบบนั้น ภาพในหัวเริ่มทยอยเข้ามาทีละเฟรม จนปริ่มๆ จะเห็นเป็นเส้นเรื่อง หลังจากนั้นผมกลับมาเมืองไทย เล่าเรื่องนี้ให้พี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง ฟัง ผมบอกพี่ต้อมว่า “บางที สิ่งนี้อาจจะเป็นงานใหม่ของเรานะครับ”

กาแฟถ้วยนั้นถูกยกขึ้นจิบอีกครั้ง ผมหันรีหันขวางลังเลที่จะเอ่ยปากขออีกแก้ว แต่พลันมีเสียงไฟแช็กดังขึ้น ตามมาด้วยควันสีเทาที่ล่องลอยไล่ๆ กับประโยคต่อมา พี่ต้อมสนใจ ผมจำได้เหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดเมื่อวาน พี่ต้อมบอกว่า โลกภาพยนตร์ทุกวันนี้มันเต็มไปด้วยด้านมืด ขายด้านมืดเป็นหลัก เราอาจต้องการงานที่มันโพสิทิฟสักเรื่อง เพื่อบอกคนดูว่า สิ่งที่แตกต่างมันก็ยังมีให้เลือกดู

ไม่นานหลังจากนั้น ผมไปเนปาล สิ่งที่ได้สัมผัสพบเจอ ผมได้เขียนเป็นเมมมัวร์ส่งให้พี่ต้อมอ่านสี่ฉบับ

เรื่องราวในนั้นเป็นอย่างไร ? ไม่รู้สิ บางทีพรุ่งนี้อาจรู้

‘กัตลัง คำบรรยายใต้ภาพขนาดยาว’ ตอนที่ 1

ผมมาถึงกาฐมาณฑุตั้งแต่วันอาทิตย์ แต่ในช่วงวันสองวันแรก ไม่มีอะไรมาก นอกจากปรับสภาพร่างกายที่บ้านของเคลเมนซ์ บ้านของเขาอยู่ชานเมือง บรรยากาศดีมาก เคลเมนซ์ยังไงก็ยังไม่ทิ้งรสนิยมที่ดี ถึงแม้จะถอยมาตั้งหลักชีวิตใหม่ที่นี่ บ้านของเขาเป็นตึกสามชั้น เขาเช่าชั้นที่สองกับสามไว้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงได้ roof top ด้วยเป็นของแถม วิวดีมากๆ เมื่อมองลงไปยังเมืองเบื้องล่าง เหมือนเห็นเมืองทั้งเมืองหงายอยู่บนหลุมถาดก้อนมหาศาล ยิ่งตอนกลางคืน แสงจากดวงดาวจะแข่งกับสีไฟในเมือง พี่ทอมพูดติดตลกว่า เหมือนแอลเอ ที่เต็มไปด้วยฝุ่นแดงจากดินลูกรัง

แถวบ้านเคลเมนซ์เป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีร้านกาแฟตึกแถวคูหาเดียว เราไปเคาะประตูให้เขาเปิดร้านตอน 7 โมง เจ้าของร้านงัวเงียตื่นมาชงกาแฟให้เราดื่มอย่างอารมณ์ดี เป็นเมืองไทยมีหวังไม่ได้กินและโดนด่าแถม เราเดินไปๆ มาๆ ละแวกหมู่บ้าน เห็นคนมาล้อมวงตัดผม ผมนึกสนุกเลยเอากับเขาด้วย ก็เลยได้ผมทรง Nepali Army ถามคนตัดว่า คิดเท่าไร เขาโยกหัวโบกมือ ผมเลยให้บุหรี่ไปซองหนึ่งกับเงินเนปาลรูปีประมาณ 35 บาท เขาดีใจเหมือนถูกเลขท้ายสองตัว

วันที่สอง เราเดินออกสำรวจเมืองกาฐมาณฑุ ถ้าจะมีคำจำกัดความ ผมคงพูดสั้นๆ ว่า “วุ่นวายและไร้ทิศทาง” ถนนไม่มีป้ายจราจร ผู้คนหลากเชื้อชาติเดินขวักไขว่ ขยายความคำว่าหลากเชื้อชาตินะครับ ที่กาฐมาณฑุ เราจะเห็นคนหน้าเหมือนคนอินเดีย เหมือนคนจีน เหมือนคนทิเบต (หน้าประมาณแม้วเชียงใหม่) และอีกมากมายที่หน้าของพวกเขาปะปนไปด้วยอารมณ์ของอินเดีย จีน ทิเบต ปากี แขกดำ แขกขาว แขกเหลือง สลับประมาณเมดเลย์รวมเพลงฮิต

เราเดินวนเวียนในเมือง เที่ยวดูวัด ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น ซากปรักหักพังหลังจากแผ่นดินไหวยังเห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตึกที่ปลูกกันเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม เหมือนเอาเลโกมาวางต่อกัน บางตึกหายไปเลยส่วนนึง นั่นก็หมายถึงหวยไปออกที่บ้านนั้น

จากวัดนั้นสู่วันโน้นกลางใจเมือง เราไปสะดุดที่วัดหนึ่ง ที่นั่นมีร่างทรงของ “เทพธิดา” ที่คอยดูแลความศรัทธาของผู้คน เรียกชื่อตามสมณศักดิ์ว่า “Kumaree” หะแรก ผมมาสะดุดกับคำว่า “กุมารี” ของไทย ซึ่งก็เป็นคำๆ เดียวกัน

“Kumaree” จะถูกคัดเลือกจากเด็กหญิงหลายๆ คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ ผมถามไกด์ไปว่า ไอ้คุณสมบัติที่ว่านั้นคืออะไร เขาตอบว่าไม่มีใครรู้นอกจากคณะสงฆ์ที่ทำหน้าที่เหมือนคอมมิตตี คอยคัดเลือกเด็กหญิงมาเป็นกุมารี

หน้าที่ของกุมารี จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก กิจวัตรประจำวันคือ เธอจะมานั่งในห้องสี่เหลี่ยม ห้ามยิ้ม ห้ามคุย ห้ามหัวเราะ ห้ามแสดงสีหน้า ผู้คนจะมาหาเธอ หย่อนเงินวางที่ถาดด้านหน้า คุกเข่า แล้วเธอก็จะวางนิ้วปาดบนวัสดุเหมือนแว็กซ์เทียนไขสีแดง แล้วก็จะจิ้มๆ บนหน้าผากให้กับผู้ที่มีศรัทธาปสาทะ

“กุมารี” จะมีวาระด้วยครับ ซึ่งก็ไม่มีใครรู้อีกเช่นกันว่า วาระนั้นมากหรือน้อย เร็วหรือช้านานเท่าไร เมื่อกุมารีคนเดิมเริ่มมีอายุ กุมารีคนใหม่ก็จะเข้ามาทำหน้าที่แทน ผม พี่ทอม และเคลเมนซ์ไปที่วัดนั้น เจอกับกุมารีตัวเป็นๆ เห็นสภาพแล้วรู้สึกสงสารจับใจมากกว่าเชื่อมั่นศรัทธา เธอดูเหมือนเด็กผู้หญิงทั่วไปที่แต้มหน้า ใส่เสื้อผ้าตามยูนิฟอร์มที่มีผู้กำหนดให้แล้ว ตีหน้าตายให้กับคนแปลกหน้า ห้องที่เธออยู่คับแคบ มืดสลัว กลิ่นกำยานระคนไปทั่วบรรยากาศ เราอยู่ที่นั่นไม่นาน พี่ทอมถ่ายรูปมาประมาณหนึ่งตามเท่าที่เขาอนุญาตให้ถ่าย เราเดินออกมาจากวัดถอนหายใจกันพร้อมๆ กัน .. ในบางความเชื่อ มันก็ทำใจยากที่จะเห็นเพื่อนมนุษย์ถูกกระทำเหมือนหมีแพนด้าในสวนสัตว์ ชีวิตวัยเด็กของเด็กผู้หญิงหลายๆ คนที่ได้รับเลือกให้เป็น กุมารี หรือ associate kumaree หายวับไปกับตา เด็กต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างรัดกุมของคณะสงฆ์ตั้งแต่วันที่เธอได้รับการคัดเลือกจนถึงวันสุดท้ายที่ถูกปล่อยสู่ธรรมชาติ ประเด็นคือ มีสักกี่คนที่จะปรับตัวได้กับสังคมเบื้องนอก ผมไม่ได้ถามไกด์เรื่องนี้ เพราะไม่อยากได้ยินคำตอบประดิษฐ์ๆ ตอแหลๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา และสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งคือแรงงานมนุษย์

ออกมาจากวัด พี่ทอมเจอร้านขายมีด เลยได้มีดเนปาลสมใจ แกบอกมันเป็นมีดที่พวกกองทัพกอร์ก้า เอาไว้ใช้ฟันหัวคน แกจะเอามาฟันมะพร้าวที่สวนแก ผมได้ผ้าพันคอแคชเมียร์อารมณ์ประมาณบาลองเซก้า ผืนนึงราคา 80 เหรียญ ในขณะที่บาลองฯ ของจริง ผ้าเดียวกัน เนื้อเดียวกันราคา 800 เหรียญ ออกมาก่อนกลับบ้าน เจอตึกสูงห้าชั้นใจกลางเมือง เห็นป้ายคำว่า “บาร์” แล้วเปรี้ยวปาก เลยเดินขึ้นไปสั่งเบียร์มากิน คุยไปคุยมา กลับมาคุยกันเรื่องกุมารีอีกรอบ คราวหน้าเห็นเป็นภาพยนตร์ชื่อเรื่องคือ Runaway Kumaree พล็อตคือ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าวันหนึ่งกุมารีหนีไปจากวัดแห่งนั้นเพราะตกหลุมรักชายหนุ่ม ผมบอกไปว่า ชายหนุ่มคนนั้นต้องมีแมวด้วย มันถึงจะเข้าคอนเซ็ปต์ cat–man–do ฟังดูประมาณ “กาฐมาณฑุ”

ก่อนกลับบ้านแวะซื้อพิซซ่าสองถาด กินบนระเบียงชั้นบน …พรุ่งนี้ไปบาพัค

เส้นทางสู่บาร์พัค

ออกจากบ้านเคลเมนซ์หกโมงครึ่ง รถเคลื่อนตัวได้สิบห้านาที ไปติดบนราวสะพานอีกชั่วโมงครึ่ง เพราะสะพานกำลังต่อเติม และไม่มีตำรวจจราจร ทุกครั้งที่เห็นสะพานไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม มันจะตามมาด้วยการรอคอยอีกครึ่งชั่วโมงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสะพานไหนๆ ก็ตามด้วยเหตุผลเดียวกัน

รถมีแอร์แต่เปิดไม่ได้เพราะเสีย ที่เนปาล รถบนท้องถนนจะแอร์เสียร้อยละ 99 ระหว่างที่ขลุกอยู่ในรถ สิ่งที่จะทำได้คือ นอน ปิดตา หัวจะโขยกไปมาตามถนนอันสุดแสนจะเฮงซวย เต็มไปด้วยก้อนหินและฝุ่นแดง เมื่อผ่านเขตเมืองออกไป ถนนยิ่งเลวร้ายหนักกว่าเก่า ฝุ่นแดงโบกโบยในอากาศตามจังหวะของล้อรถที่บดขยี้มัน ร้านรวงข้างทางพอเห็นอยู่บ้าง ส่วนมากขายขนมที่แขวนบนราว เกลี่ยๆ ไปกับแชมพูและผงซักฟอก

รถไปถึงกลางทาง เราแวะกินอาหารเช้าที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ดูดีไม่เลว คิดกันไว้ว่า ตอนมา scouting คราวหน้าน่าจะจับรถจากสนามบินมานี่เลย เพราะจะประหยัดเวลาไปได้ประมาณ 3-4 ชั่วโมงจาก สภาพการจราจรที่เลวร้ายและนิสัยการขับขี่ที่ห่วยแตก รถแล่นมาได้อีกประมาณสองชั่วโมงยางแตก แวะปะยางอีกชั่วโมงหนึ่ง เคลเมนซ์บอกว่า เรามาค่อนทางแล้ว อีกแค่ 17 กิโลฯ ก็จะถึง Barpak ใครจะรู้ว่า นั่นคือ 17 กิโลฯ ที่สุดแสนจะยาวนาน หฤโหด และกินเวลาถึง 6 ชั่วโมง

ออกจากร้านปะยาง ถนนสูงขึ้นเพราะเริ่มไต่ระดับสู่เทือกเขา รถแล่นผ่านลำธาร ตะกุยไปยังด้านหน้าที่เห็นเป็นภูเขาสูง ฝุ่นแดงเริ่มจางหายไปเหลือไว้แต่หินลูกรัง ถนนขรุขระกรุยทางแค่เห็นเป็นเส้นถนนด้วยหินลูกเล็กลูกใหญ่ระคนกันไปตามอัตภาพ พี่ทอมสะกิดผมว่า ท่าจะไม่สู้ดี เพราะจีพีเอสที่เขาใช้จับระยะไม่ปรากฏภาพในแผนที่ มันเหลือแต่เพียงภาพภูเขาบนหน้าจอ รถแล่นอย่างเชื่องช้าเพราะต้องประคองตัวไม่ให้ล้ม ยิ่งเวลาผ่านไป นอกจากความทุรกันดารแล้ว ถนนยังเอียงไปตามสภาพของพื้นดิน สี่ชั่วโมงผ่านไปอย่างเชื่องช้า เราผ่านป้ายที่บอกว่ามาถึง barpak recover แล้ว

เวลาผ่านไป รถแล่นโค้งไปโค้งมาตามจังหวะเลี้ยวของภูเขา เราเริ่มไต่ระดับอย่างเชื่องช้า เม็ดฝนโปรยปรายลงมา จากดินแห้งกรังที่โอบตัวเข้ากับหิน มันกลายเป็นปลักโคลนลูกแล้วลูกเล่า รถเคลื่อนที่อย่างเชื่องช้า และลำบากลำบน 300 เมตรสุดท้ายบนโค้งท้ายสุดก่อนเข้าอาณาเขตหมู่บ้าน งานงอกอย่างจัง รถมาติดในบ่อโคลน ข้างๆ คือหน้าผาชัน เมื่อใดก็ตามที่รถสไลด์พยายามจะชันตัวออกจากโคลน เสียงหัวใจแทบจะระเบิดออกมาด้านนอก

ครึ่งชั่วโมงผ่านไป ไม่มีทีท่าว่ารถจะพ้นจากอุปสรรค เราทั้งหมดเดินออกมาจากรถ ฝนยังคงโปรยปรายไม่ขาดเม็ด เมื่อเห็นหลุมโคลน ไกด์รีบปีนขึ้นไปยังหลังคารถ เอากระเป๋าทุกคนออกมา แล้วพูดสั้นๆ ว่า “คงต้องเดิน”

300 เมตรสุดท้ายก่อนถึง Barpak village เป็นสิ่งที่ยากจะบรรยาย สวยไหม? แน่นอน แต่มันก็มีราคาที่จะต้องจ่าย ไกด์พาเราเดินอ้อมประมาณ 100 เมตรจะเป็นทางลัดขึ้นไปยังหมู่บ้าน ที่นั่นมีบันไดหินทอดตัวอยู่ ผมสะพายเป้ส่วนตัว ส่วนกระเป๋าเดินทางอยู่บนไหล่ของไกด์เรียบร้อยแล้ว พี่ทอมบอกผมว่า ให้หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกลึกๆ “One at a time, Ake” ผมจำได้ว่าแกพูดแบบนั้นเสมอ เราเดินไต่บันไดหินทีละก้าวๆ เมื่อมองขึ้นไป เห็นแต่ภาพท้องฟ้าสีฟ้าใสปะปนกับเม็ดฝนและไม่มีทีท่าจะเห็นจุดสิ้นสุด

“เดินไป” คือสิ่งที่ผมท่องในใจ เดินขึ้นจนหมดแรง ก็หยุดพัก พักจบก็เดินต่อ เป็นอย่างนั้นประมาณหกเจ็ดหน ลูกหาบทิ้งเราไปแล้ว เพราะพวกเขาเดินเร็วมากๆ เหลือผมกับพี่ทอมสองคนที่รั้งท้าย พี่ทอมยินดีที่จะอยู่ท้ายเพื่อ make sure ว่าผมยังไหว แปลกนะครับ เมื่ออยู่ในจุดที่อ่อนแรงแต่ยังต้องกัดฟันไปต่อ มันเหมือนกับการทำสมาธิ พูดง่ายๆ ทำสมาธิด้วยการเดิน หายใจเข้า หายใจออก มองด้านล่าง ก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวา เหนื่อยไม่ไหว พัก แล้วก็ไปต่อ เป็นอย่างนี้อยู่ชั่วโมงหนึ่ง จนเห็นแลนด์สเคปของหมู่บ้าน เมื่อนั้นถึงมีกำลังใจฮึดจนพ้นบันไดหินแห่งนั้นมาได้

ผมกัดฟันถามไกด์ด้วยความภาคภูมิใจว่า ไอ้เจ้าบันไดหินนั่นความสูงและระยะทางเท่าไร เขาตอบกลับมาเป็นภาษาเนปาล พอลลีนแปลให้ฟังว่า ประมาณเดินขึ้นตึก 15 ชั้น ในบรรยากาศ altitude 6,200 ฟิต แอบพูดตลกๆ ว่า เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี (Edmund Hillary) ก็เริ่มต้นปีนเอเวอร์เรสแบบนี้ ผมหมดปัญญาเถียงเพราะเหนื่อยแทบหายใจไม่ออก ในใจตอบไปว่า เซอร์เอ็ดมันด์แม่งทำตอนอายุ 20 ปลายๆ ส่วนผมอายุ 50 วันนี้พอดี สิริรวมเวลาเดินทาง 10 ชั่วโมงโดยประมาณ

เราเช็คอินที่โรงแรมบ้านๆ เป็นโรงแรมที่ดีที่สุดของที่นี่ ลักษณะห้องเหมือนกระต๊อบ ยังดีที่มีห้องน้ำในตัว แม้จะเป็นส้วมหลุมก็เถอะครับ อากาศกำลังดีถึงดีมากๆ เราล้อมวงสั่งอาหารมากิน แต่มันนานเหมือนชั่วโคตร ผมเลยงัด Secret weapon ออกมา มันคือมาม่าคัพ

ระหว่างกินอาหาร เราคุยกันเรื่องหมู่บ้านหลายเรื่อง เรื่องชาวบ้านที่กลับมาสร้างบ้าน เพราะพวกเขาคิดว่าที่นี่คือที่ที่เขาเกิด เขาไม่มีทางทิ้งที่แห่งนี้ไปได้ พูดถึงชีวิตที่ไม่ต้องการเงิน พวกเขามีพื้นที่เป็นฟาร์มเล็กๆ ที่ปลูกข้าวในหน้าร้อน ปลูกมันฝรั่งในหน้าหนาว และปลูกข้าวโพดในหน้าที่เหลือ ไกด์พูดอย่างน่าสนใจว่า ชีวิตของคนบาร์พัคคือการเดิน เดินไปตามจิตวิญญาณของตนเอง ในขณะที่คนที่อื่นเดินไปด้วยหน้าที่และการบังคับของคนอื่น

ก่อนเข้านอนไกด์คนเดิมบอกว่า คนบาร์พัคไม่เคยคิดว่า แผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่และสาหัสที่สุดครั้งนั้นมาจากน้ำมือของพระเจ้า เขาบอกหน้าตายว่า พระเจ้าก็พระเจ้า แผ่นดินไหวก็แผ่นดินไหว … มันคนละเรื่องกัน

Fact Box

อ่าน ‘กัตลัง คำบรรยายใต้ภาพขนาดยาว’ เมมมัวร์สี่ฉบับที่ภาสกร ประมูลวงศ์ ส่งถึงเป็นเอก รัตนเรือง ความเป็นมาอันแท้จริงของภาพยนตร์สารคดี กัตลัง : ชะตาชีวิตต้องลิขิตเอง

Tags: , , , , ,