ฟ้ายังมองเราอยู่ ภูเขายังไม่หลับ สายน้ำยังไหลกลับ ลมหวนมาชวนใจ

กลับมาเยือนแดนของเรา เพื่อนเก่าเราทุกรายมือโบกใจทักทาย ชวนเจ้ามาร้องเพลง…

ผมตื่นขึ้นมาตอนตีสี่ครึ่งแบบไม่ทราบสาเหตุ นอนนิ่งๆ นึกถึงสิ่งที่เกิดมาสามวันแล้วก็นึกอุทานกับตัวเองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานมันน่ามหัศจรรย์มาก สักประมาณตีห้าครึ่งเห็นจะได้ แสงแดดเรื่อๆ เริ่มทอขอบฟ้า ผมตื่นขึ้น ออกจากห้องเดินไปตามทางเดินในหมู่บ้าน “บ้าน” ของพวกเขา ประมาณเศษหนึ่งส่วนสามจะเป็นหลังคาสังกะสี นั่นหมายถึงการซ่อมแซมหลังจากความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว ต้นไม้หลากชนิดชูใบรับแสงอาทิตย์เห็นน้ำค้างกระจายอยู่ตามขอบใบ ทางเดินของหมู่บ้านเป็นดินสลับหินวางเรียง

ความแตกต่างของบ้านที่กัตลังกับที่อื่นๆ คือ ถึงแม้จะถูกถล่มยับ การสร้างขึ้นใหม่หรือซ่อมแซม พวกเขายังยึดโครงสร้างเดิมคือเป็นบ้านที่ขึ้นโครงด้วยหินที่ได้มาจากภูเขา พวกเขาสกัดหินจากภูเขาด้วยมือ จากนั้นก็นำมาวางเรียงกันจนเกิดเป็นที่พักอาศัย บ้านหินดูจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านยึดเป็นเรือนตาย มันอาจจะดูแข็งแรง สวยงามแปลกตา แต่ใครจะรู้บ้างว่า “บ้านหิน” ด้านในจะเย็นกว่าด้านนอก เพราะตัวหินจะดูดซับอากาศและแผ่เข้ามายังตัวบ้าน ในหน้าร้อนมันอาจทำให้เย็นสบาย แต่ในหน้าหนาวที่แสนจะโหดร้ายและกินเวลาส่วนใหญ่ของปี ด้านในของบ้านจะหนาวเหน็บกว่าด้านนอก พวกเขาแก้ปัญหาด้วยการก่อกองไฟในบ้าน ผมเห็นหลายๆ บ้านมีกาน้ำร้อนวางอยู่บนกองไฟด้วย

เมื่อวานเราเดินไปมาในหมู่บ้านแล้วเจอกลุ่มเด็กวัยรุ่นผู้หญิง พอลลีนเข้าไปทัก เลยได้ความว่า เด็กเหล่านี้ไม่มีโรงเรียน เพราะโรงเรียนในหมู่บ้านมันเล็กและสอนถึงแค่ประถมเท่านั้น ถ้าคนมีเงินหน่อยก็ส่งลูกไปเรียนที่กัตมันทุ รองลงมาก็ส่งไปตามโรงเรียนใกล้ๆ ซึ่งไม่มีทางที่จะเช้าไปเย็นกลับ ก็ต้องอยู่ยาว สองสามเดือนได้กลับบ้านที ที่เหลือคือไม่มีเงินส่งลูกไปเรียนก็อยู่บ้านเลี้ยงน้อง ช่วยพ่อแม่ทำนากันไป สาวๆ กลุ่มนั้นบอกว่า กลับมาบ้านในช่วงเทศกาลดาฉินที่หยุดยาว พอลลีนตีซี้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเด็กสาวกลุ่มนั้น พวกเธอบอกว่า พวกพี่มาช้าไปวันนึง เธอเพิ่งเต้นโชว์เป็นกลุ่มให้ชาวบ้านดูไป ผมบอกพอลลีนว่า ช่วยบอกให้เต้นให้ดูอีกรอบได้ไหม เดี๋ยวน้าให้ตังค์ ก็ตกลงกันว่าแปดโมงจะมาแดนซ์ให้ชมเป็นขวัญตาอีกรอบ ผมสะดุดตาเด็กสาวคนนึงในกลุ่ม เธอดูพิเศษกว่าคนอื่นๆ ไม่รู้ว่าอะไรเหมือนกัน … แปลก

แปดโมงแล้ว สาวๆ จูงมือกันมาตามที่นัดไว้ โชคดีที่บ้านพักของเราด้านหลังเป็นแนวสันเขาพอดี เลยได้แบคกราวน์แบบไม่ต้องดิ้นรนมาก พวกเธอเต้นรำเป็นกลุ่มในแบบเนปาล เพลินๆ ดีครับ พี่ทอมถ่ายวิดีโอไว้ด้วย “น้องคนนั้น” มาด้วยแต่ไม่เต้น พอลลีนถามเธอว่า ทำไมไม่เต้นกับเพื่อน เธอตอบว่า ไม่ได้ซ้อมมา ผมบอกเอาฮาว่า งั้นเต้นเดี่ยวเลย เธอบอกว่า ไม่เอา อาย … ขอเป็นร้องเพลงดีกว่า เหมือนมีอะไรบางอย่างทำให้ผมรู้สึกว่า เรากำลังจะได้วัตถุดิบที่วิเศษสำหรับหนังของเรา แล้วน้องคนนั้นก็ร้องเพลงให้เราฟัง

“ซันจู” คือชื่อของเธอ พี่สาวคนโตในบรรดาน้องชายอีกสามคน พ่อแม่ของเธอทำนาและเลี้ยงวัวยัค ส่งเธอกับน้องด้วยเงินหยิบมือไปโรงเรียนที่อยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้าน ที่นั่นเธอต้องตื่นแต่เช้ามาทำอาหารให้น้อง อาบน้ำ แต่งตัวส่งน้องไปโรงเรียน เลิกเรียนกลับมาซื้อของไปทำอาหาร สอนน้องทำการบ้าน ดูแลจนเข้านอนเหมือนแม่คนที่สอง

เธอนั่งประจันหน้ากับสันเขาร้องเพลงเป็นภาษาเนปาล เพลงเพลงนั้นท่วงทำนองเศร้าสร้อยแต่แฝงไว้ด้วยความรัก เนื้อเพลงกล่าวถึงพี่ที่เล่นไวโอลิน เมื่อใดที่เสียงไวโอลินดังขึ้น มันทำให้เธออยากร้องเพลง และเพลงนี้คือเพลงที่ว่า

การได้ฟังเสียงของเธอสลับกับมองชาวบ้านที่มานั่งมุงดู สลับกับการดูแนวสันเขา บ้านหิน รั้วไม้ตามมีตามเกิด แนวเดินคันดิน แมลงปอที่บินมาเกาะกิ่งไม้ ในบางท่วงทำนองของเสียงแผ่วจนแทบได้ยินเสียงหัวใจตัวเอง บางทีน้ำตามันก็ปริ่มโดยไม่ทราบสาเหตุ ซันจูมีใบหน้าตามโครงของชาวเชอร์ปา ตาของเธอเศร้าสร้อยเหมือนต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมา เธออาจจะดูธรรมดาเหมือนเด็กสาวทั่วไป แต่เมื่อใดก็ตามที่เธออยู่ในเฟรมกล้อง เมื่อนั้น เราก็ไม่อาจจะหยุดมองเธอได้ … แปลก

ช่วงบ่ายเราเดินสำรวจหมู่บ้านอีกรอบ พยายามมองหาคนแก่ที่พอจะพามา frame test ได้ ได้ยินมาว่ามีคนแก่คนนึงในหมู่บ้านที่อายุร้อยปีและยังพอเดินได้ เราดิ่งไปยังบ้านของเขา สิ่งที่พบน่าสลดใจ ชายแก่คนนั้นตัวขาวโพลนทั้งร่างด้วยโรคร้ายอะไรบางอย่าง “บ้าน” ของแกเป็นเหมือนกับปลักควายที่มีหลังคา มองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ขยับร่างกายไม่ได้ ผมเบือนหน้าหนีและเดินออกไปจากที่แห่งนั้นให้ไกลแสนไกล

โชคดี เราไปเจอกับชายแก่อีกคนอายุ 74 (หรืออาจจะ 78 แกจำอายุตัวเองไม่ได้) คุณตาคนนี้ยังพอจะแข็งแรง พูดจารู้เรื่อง แกมีลูก 7 คน 6 คนตายไปกับโรคระบาดครั้งใหญ่ในหมู่บ้าน แกเล่าให้ฟังว่า แกฝังลูกทั้งหกคนด้วยมือของแกเอง แกพูดเหมือนเรื่องปกติของชีวิต ไม่มีเสียงสะอึกสะอื้น ไม่มีเว้นจังหวะเพื่อรอประโยคดราม่า ประโยคเหล่านั้นเรียงร้อยราบรื่นปกติเหมือนเรากำลังฟังเรื่องแกเดินไปแปรงฟัน เหลือแกคนเดียวในบ้านหิน แกมีเสื้อผ้าชุดเดียว กินอาหารวันละมื้อโดยชาวบ้านเอามาเผื่อแผ่ให้กิน แกยิ้มให้กับชีวิตด้วยเวลาที่เหลืออยู่ แกเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า แกเกิดที่นี่ และนี่คือบ้านของแก ไม่ว่าจะโรคระบาด แผ่นดินไหว ใครจะเป็นจะตายก็แล้วแต่ชะตาที่ลิขิตจากฟ้าเบื้องต้น ชีวิตถึงแม้จะย่ำแย่ … แต่ตราบใดที่มีเพื่อนเป็นภูเขา ตราบนั้นก็ไม่มีสิ่งใดต้องหวาดเกรง

ตกบ่ายเราส่งโดรนไปถ่ายพื้นที่ เริ่มจากวัดที่พังไปครึ่งหลัง หัวหน้าหมู่บ้านพยายามจะกู้วัดนั้นขึ้นมาใหม่ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สำเร็จเพราะขาดแรงงานและเงิน คืนก่อนผมคุยกับเจ้าของเกสต์เฮาส์ที่เราพัก คุยกันนานมากจนเกือบๆ เที่ยงคืน พี่เขาบอกว่าอยากบูรณะวัดขึ้นมาใหม่และจะสร้างโรงเรียนด้วย ผมเห็นด้วยทันที เพราะหมู่บ้านกัตลังไม่มีการคุมกำเนิด เท่าที่ผมเห็นจะเต็มไปด้วยเด็กๆ อายุไล่ตั้งแต่ขวบนึงไปจน 11-12 เดินเกลื่อนไปทั้งหมู่บ้าน ครอบครัวหนึ่งๆ จะมีลูก 3-5 คน เด็กๆ มอมแมม หลายคนตาบวมแดงอักเสบ ผมบอกพี่ไปว่า เด็กๆ เหล่านี้มองได้สองแบบ ถ้ามอบโรงเรียนให้กับพวกเค้า ในที่สุดเด็กๆ เหล่านี้จะสร้างอนาคตให้กับหมู่บ้าน แต่ถ้าไม่มีการศึกษา เด็กพวกนี้จะแปลงร่างเป็นปัญหาสังคมในช่วงอึดใจ เราถ่ายโดรนที่วัด และก็ไปถ่ายแนวสันเขา The Ridge ผมดูภาพในมอร์นิเตอร์ สวยเลยครับ ภาพกว้างสวยมากๆ เห็นภูเขาที่เหมือนคนอกแตก คือมันผ่าซีกล้อมหมู่บ้านไว้อย่างเต็มอ้อมกอด ห้วงขณะจิตนั้นผมมั่นใจแบบไม่ต้องถามตัวเองอีกเลย .. “This is The Ridge.”

ตกเย็น ผมพยายามจะอาบน้ำ เพราะไม่ได้อาบมาสองวันแล้ว พอลลีนถามว่าทำไมไม่อาบน้ำ ผมถามกลับว่า เหม็นเหรอ ? เธอบอกว่า เปล่า แต่เห็นพี่เอกให้พี่ทอมยืมผ้าเช็ดตัว ผมเลยบอกว่า ไม่ได้อาบมาสองวันแล้ว ลืมไปเลยว่าการอาบน้ำต้องทำยังไง เดี๋ยวนึกได้แล้วจะอาบ (ฮา) จริงๆ คือ มันหนาวครับ น้ำเย็นชนิดน้องๆ น้ำแข็ง ผมคิดว่าตอนมาครั้งหน้าในเดือนกุมภาฯ จะติดเครื่องทำน้ำร้อนมาด้วย ที่พักมีโซลาร์น่าจะพอถูไถได้ กินข้าว และก็นั่งดื่มเบอร์เบิร์นแก้หนาวที่พี่ทอมหนีบมา คุยโน่นนี่ แล้วก็แยกย้ายกันไปนอน

เช้าวันสุดท้าย ตอนแรกกะจะถ่ายโดรนอีกรอบด้วยแสงเช้า แต่อากาศไม่เป็นใจ หมอกลงเยอะมาก เลยมานั่งกินกาแฟ นั่งไปนั่งมา คิดอะไรบางอย่างได้ เลยชวนทีมออกไปถ่าย frame shot ผมวานพอลลีนไปเรียก “ซันจู” กับ คุณตาที่เจอกันเมื่อวาน

ช็อตแรก ซันจูเดินลงมาจากทางเดินหิน ผ่านบ้านหิน เด็กสาวอีกสองคนเดินสวนมา แวะทักทายกัน แล้วเดินต่อจนสุดเฟรม ภาพที่ได้น่าอัศจรรย์มาก ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่มันเหมือนอะไรบางอย่างที่เราค้นพบ และมันมีค่ามากเพียงพอต่อการแบ่งปันให้กับคนอื่นด้วยสื่อที่เรียกกันว่า “ภาพยนตร์”

ช็อตสอง เราเดินไปบ้านคุณตา พาคุณตาไปนั่งที่บันไดหิน จากนั้นก็ให้ซันจูกับคุณตาคุยกันเป็น long take พี่ทอมถือกล้องเคลื่อนไปตลอดการสนทนา เพื่อดูเฟรมในหลายๆ มุม ภาพนั้นอธิบายได้ด้วยคำว่า “มหัศจรรย์” การพบกันของคนสองวัย คนหนึ่งคืออนาคต ที่ไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่ และจะมีเมื่อไร อีกคนเล่าถึงเรื่องราวที่ผ่านมา จิตวิญญาณแห่งการเป็นนักสู้ที่สู้กับชีวิตอย่างยิบตา พี่ทอมเปลี่ยนเลนส์สองสามตัว การสนทนายังมีขึ้นต่อไป สลับกับการหยุดนิ่งคิด … สวยมากครับ เฟรมนี้ โคตรสวย

หมอกลงจัด เราต้องรีบออกจากที่พักก่อนที่หมอกจะกลั่นตัวเป็นน้ำ และเมื่อนั้นถนนจะเป็นปลักโคลน ก่อนกลับเรานัดผู้ใหญ่บ้านผ่านพี่เจ้าของที่พักเพื่อคุยเรื่องความเป็นไปได้ในการขออนุญาตมาถ่ายหนัง พี่บอกว่า ผู้ใหญ่บ้านไปเลี้ยงวัวยัคสองวันที่ฟาร์มบนภูเขาสูง ยังไม่กลับมา แต่เดี๋ยวนัดพี่ที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้ (ประมาณเลขาธิการสมาคม) ประมาณครึ่งชั่วโมง พี่คนนั้นขับมอเตอร์ไซค์มา ตัวไม่สูงนัก ร่างกายคนเข้มแบบพวกเชอร์ปา แกยิ้มเห็นฟันขาวบอกไมตรีจิตแบบภาษาสากล ผมอธิบายถึงโครงการหนังของเราและบอกว่าชอบที่นี่ จะมาอีกทีในเดือนกุมภาฯ พร้อมพี่ผู้กำกับ แกบอกยินดีเลย แกเข้าใจถึงสิ่งที่เรากำลังต้องการจะถ่ายทอด คุยไปหัวเราะไป ปิดท้ายด้วยการจับมือถ่ายรูป พี่ทอมสะกิดผมบอกว่า “Ake, we pass the test.” แกบอกว่า ตลอดระยะเวลาสามวันที่อยู่ที่นี่ แกถือกล้องไปถ่ายรูปรอบๆ หมู่บ้าน แกเห็นชาวบ้านสังเกตพวกเราตลอดเวลา เหมือนชาวบ้านจะสงสัยว่าเรามาทำอะไรกัน เพราะมันไม่เหมือนกับพวกเทร็กกิ้งที่นานๆ จะผ่านมาสักที พอพวกเขารู้ว่าเราตั้งใจจะถ่ายหนัง และพูดกับเขาตรงๆ มันคือความจริงใจที่อีกฝ่ายมีต่อกัน

ลงจากเขา ด้วยระยะทาง 8 ชั่วโมงครึ่ง ตลอดทางผมคิดถึงสิ่งที่อยากจะเขียนเป็นทรีตเมนต์ และผมตั้งใจรอคอยที่จะอ่านมันอย่างจิตใจจดจ่อ

Fact Box

อ่าน ‘กัตลัง คำบรรยายใต้ภาพขนาดยาว’ เมมมัวร์สี่ฉบับที่ภาสกร ประมูลวงศ์ ส่งถึงเป็นเอก รัตนเรือง ความเป็นมาอันแท้จริงของภาพยนตร์สารคดี กัตลัง : ชะตาชีวิตต้องลิขิตเอง

Tags: , , , ,