เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ยูซุรุ ฮานิว (Yuzuru Hanyu) นักสเกตน้ำแข็งชาวญี่ปุ่น ผู้ได้ชื่อว่าเป็น G.O.A.T ของวงการ และเจ้าของฉายา ‘เจ้าชายน้ำแข็ง’ วัย 27 ปี หมดโอกาสในการเป็นแชมป์โอลิมปิก 3 สมัยติดต่อกันเป็นคนแรกในรอบ 94 ปี หลังจากเขาเกิดข้อผิดพลาดด้วยอุบัติเหตุในระหว่างการแข่งขัน Short Program จนได้คะแนนรวมอยู่ในอันดับที่ 8 ขณะที่คู่แข่งคนสำคัญอย่าง นาธาน เฉิน (Nathan Chen) นักสเกตน้ำแข็งสหรัฐอเมริกา ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนคว้าคะแนนสูงสุดทำลายสถิติโลก และอยู่ในอันดับที่หนึ่ง
ในช่วงแรกของการแข่งขัน แม้การเป็นแชมป์โอลิมปิก 3 สมัยติดต่อกันจะเลือนราง ฮานิว ยังมีอีกเป้าหมายสำคัญ และเป็นไพ่ตายของเขาในการทิ้งทวนโอลิมปิกครั้งนี้ ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะเป็นโอลิมปิกสุดท้ายสำหรับเขา นั่นคือการกระโดดท่า Quadruple Axel ซึ่งเป็นการกระโดดที่ยากที่สุด และยังไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนในการแข่งขันจริง ในการแข่งขัน Free Program
ท่าดังกล่าวเป็นการกระโดดหมุนตัวกลางอากาศ 4 รอบครึ่ง ซึ่งปัจจุบันนักกีฬาสเกตน้ำแข็งชายทำได้เพียง 3 รอบครึ่งเท่านั้น นี่จึงเป็นท่ากระโดดที่เรียกได้ว่า ต้องทำอย่างสมบูรณ์แบบและไร้ข้อผิดพลาดเท่านั้น
ดังนั้น การกระโดดท่า Quadruple Axel จึงเป็นเดิมพันที่สำคัญสำหรับฮานิว ประการแรก หากใช้ไพ่ลับท่าไม้ตายได้ ก็อาจเป็นโอกาสที่เขาจะพลิกตัวเองกลับเข้าสู่เส้นทางการแข่งขันชิงเหรียญทองโอลิมปิกอีกครั้ง และประการที่สอง คือการเป็นนักกีฬาสเกตน้ำแข็งคนแรกที่ทำท่า Quadruple Axel ได้สำเร็จ
แต่ทว่าในการแข่งขัน Free Program ฮานิวทำคะแนนรวมได้ 188.06 อยู่ในอันดับที่สี่ ซึ่งมีคะแนนน้อยกว่าอันดับสาม ที่จะได้ยืนบนแท่นเพียง 10 คะแนนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้จะไม่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้ แต่นักสเกตน้ำแข็งหนุ่มจากเซ็นได ผู้ได้ชื่อว่ากล้าหาญและจิตใจเข้มแข็งอย่างฮานิว ก็สามารถก้าวออกจากการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งครั้งนี้ได้อย่างภาคภูมิใจ
“ผมทุ่มสุดตัวจนไม่เหลืออะไรที่จะต้องเสียดายอีกแล้ว” ฮานิว กล่าวหลังจบการแข่งขัน “ผมใส่เกียร์สุดตั้งแต่เริ่มต้น และคิดว่ากระโดดท่า Axel ได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นต่างหากคือสิ่งที่ผมจะยึดมั่นในหัวใจตลอดไป การแข่งขันมันก็เป็นอย่างนี้ โอลิมปิกครั้งนี้ถือว่าท้าทายมาก และผมทุ่มเททุกอย่างที่มีลงไปแล้ว”
หนุ่มน้อยจากเซ็นไดผู้เริ่มเล่นสเกตเพราะพี่สาว
ยูซุรุ ฮานิว ถือเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก เขาเกิดและเติบโตที่เมืองเซ็นได ประเทศญี่ปุ่น โดยชื่อของเขามีความหมายว่า ‘สายธนูที่ขึงตึง’ อันเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นใจ ความแข็งแรง ความซื่อตรงและยุติธรรม และเริ่มเล่นสเกตน้ำแข็งตาม ซายะ พี่สาวของเขา เมื่ออายุได้เพียง 4 ขวบ โดยได้แรงบันดาลใจจากอดีตราชานักสเกตชาวรัสเซียผู้เป็นตำนานอย่าง อีฟกานี พลูเซนโก รวมถึงนักสเกตชาวอเมริกันอย่าง จอห์นนี เวียร์
ฮานิวเข้าศึกษาในระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนมัธยมปลายโทโฮะกุ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่นักสเกตชื่อดังนิยมเคยเรียนอยู่ เช่น ทาเคชิ ฮอนดะ และชิซึกะ อาราคาว่า แชมป์เหรียญทองโอลิมปิกหญิงคนแรกของญี่ปุ่น ก่อนที่จะเข้ารับการศึกษาทางไกลในมหาวิทยาลัยวาเซดะ สาขามนุษยสนเทศและประชานศาสตร์
มีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ ฮานิวมีโรคประจำตัวคือหอบหืด ซึ่งเป็นมาตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้จากหลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน เขามักจะหอบและมีอาการหายใจไม่ทัน
จุดเริ่มต้นระดับเยาวชน และแชมป์โลกเยาวชนชาย
ฮานิวเข้าแข่งขันระดับผู้เริ่มเล่นในปี 2004 และได้รับเหรียญทอง ก่อนจะได้ นานามิ อาเบะ เข้ามาเป็นโค้ช ช่วงปี 2006-2007 เขาลงแข่งขันหลายรายการ และคว้าได้ทั้งเหรียญทองและเหรียญทองแดง กระทั่งได้ขึ้นมาอยู่ในระดับเยาวชน และลงแข่งขันในรายการ Junior Grand Prix เป็นรายการแรก ที่ประเทศอิตาลี โดยมีคะแนนรวมอยู่ในอันดับที่ 5
หลังจากนั้นฮานิวเข้าแข่งรายการ Japan Junior Championship 2008-09 ทำคะแนนในโปรแกรมสั้นได้ 57.25 คะแนนเป็นอันดับที่ 4 และฟรีสเกตเป็นอันดับที่ 1 ด้วยคะแนน 124.92 ผลคะแนนรวมเป็นที่ 1 ด้วยคะแนน 182.17 จึงได้รับเหรียญทองในรายการนี้ และถือว่าเป็นนักกีฬาชายที่อายุน้อยที่สุดในวัยเพียง 13 ปีเท่านั้น
ในปี 2009-2010 ฮานิวชนะการแข่ง Japan Junior Championship และได้รับการคัดเลือกเข้าแข่งขันในรายการ Japan Championship ระดับผู้ใหญ่ ก่อนจะชนะเหรียญทองในการแข่งขันที่ประเทศโครเอเชียและโปแลนด์ และถูกเลือกให้เข้าแข่งรายการ World Junior Championship อีกครั้งและได้รับเหรียญทองด้วยการทำคะแนนส่วนตัวดีที่สุด จึงกลายเป็นนักสเกตชาวญี่ปุ่นที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเหรียญทองในรายการแข่งขันใหญ่ระดับโลกนี้
สู่การมีชื่อเสียง และสองเหรียญทองประวัติศาสตร์โอลิมปิก
หลังจากคว้ารางวัลมาหลายรายการ เมษายนปี 2012 ฮานิวตัดสินใจย้ายไปอยู่กับโค้ช ไบรอัน ออร์เซอร์ ที่โทรอนโต ประเทศแคนาดา และได้เพิ่มเวลาฝึกซ้อมจาก 1-2 ชั่วโมงต่อวันเป็น 3-4 ชั่วโมงต่อวัน ก่อนที่ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ฮานิวจะชนะเหรียญทองในการแข่งขันระดับชาติได้เป็นครั้งแรก ถัดมาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2013 ก็คว้าเหรียญเงินในการแข่งชิงแชมป์สี่ทวีป และจบที่อันดับ 4 ในการแข่งชิงแชมป์โลกปี 2013
ในงานโอลิมปิกฤดูหนาวปีแรกของฮานิวที่รัสเซีย (Winter Olympic Sochi 2014) เขาเข้าร่วมแข่งโปรแกรมสั้นประเภททีมของทีมญี่ปุ่น โดยทำคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 97.98 ทำให้ทีมญี่ปุ่นได้ 10 คะแนน ซึ่งผลการแข่งขันประเภททีมโดยรวมญี่ปุ่นจบที่อันดับที่ 5 นอกจากนั้น ในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวฮานีวสามารถทำลายสถิติโลกได้อีกครั้งและเป็นนักสเกตคนแรกของโลกที่ทำลายกำแพงคะแนนเกิน 100 คะแนนด้วยคะแนน 101.45 และฟรีสเกต 178.64 รวมสองโปรแกรมได้คะแนนรวม 280.09 คะแนน คว้าเหรียญทองไปในที่สุด โดยเป็นนักกีฬาชายคนแรกของเอเชียและญี่ปุ่น ที่สามารถคว้าแชมป์โอลิมปิกฤดูหนาวในประเภทนี้มาได้
ที่สำคัญ เขาเป็นแชมป์โอลิมปิกฤดูหนาวที่อายุน้อยที่สุด ด้วยวัยเพียง 19 ปี เท่านั้น
หลังจากกลับสู่เซ็นไดบ้านเกิด ผู้คนถึงกับมารวมตัวขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองให้กับเขากว่า 92,000 คน เลยทีเดียว
สี่ปีถัดมา โอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่เมืองพย็องชาง ประเทศเกาหลีใต้ ฮานิวให้เวลากับการฝึกซ้อมสำหรับประเภทชายเดี่ยวเป็นหลัก และสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมใน Short Program และ Free Program จึงคว้าเหรียญทองได้เป็นเหรียญที่สองติดต่อกันเป็นคนแรก นับตั้งแต่ที่ ดิก บัตตอน (Dick Button) นักสเกตน้ำแข็งชาวอเมริกัน เคยทำไว้ในปี 1948 และ 1952
ไอคอนป็อปคัลเจอร์นอกสนามแข่ง
นอกจาก ยูซุรุ ฮานิว จะเป็นนักกีฬาที่ได้รับการยอมรับจากฝีมือแล้ว บุคลิก หน้าตา ของเขา ก็ถือได้ว่าดูดี สง่างาม ทำให้เขาได้รับความนิยมและกลายเป็นขวัญใจนอกสนามไม่แพ้กัน ยิ่งรวมกับนิสัยตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่นที่มีความจริงจัง ตั้งใจ สุภาพ เอาใจใส่ และไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ทำให้เขากลายเป็นดาวเด่น และเป็นไอคอนของใครหลายคน
คุณสมบัติดังกล่าว ทำให้ตัวตนของฮานิวกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ถูกนำมาผนวกรวมกับวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ จนกลายเป็นต้นแบบตัวละครเอกในมังงะเรื่อง Yuri!!! on Ice อนิเมะกีฬาสเกตลีลาอันโด่งดัง ของอาจารย์นักวาด มิตสึโระ คุโบะ (Mitsurou Kubo ที่เริ่มฉายครั้งแรกในเดือนตุลาคมปี 2016 และยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมถึงสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้กีฬาสเกตลีลาบูมขึ้นมาในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
ถึงแม้โอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งในปีนี้ของ ยูซุรุ ฮานิว จะจบลงไปแล้ว แต่เชื่อว่าเส้นทางส่งต่อแรงบันดาลใจของเขากับกีฬาสเกตน้ำแข็งจะยังไม่จบเพียงแค่บนลานแข่งขันเท่านั้น
ไม่แปลกที่แทบทุกการแข่งขันจะเห็นแฟนๆ ส่งเสียงเชียร์เขาหลังจบการแข่งขัน พร้อมกับโยน ‘ตุ๊กตาหมีพูห์’ อันเป็นคาแรกเตอร์ที่ฮานิวชื่นชอบเป็นพิเศษ ลงมาบนลานสเกตน้ำแข็งนับสิบนับร้อยตัว จนมีชื่อเรียกว่า ‘ฝนหมีพูห์’ นั่นแสดงถึงความนิยมในตัวเขา ผู้ซึ่งเป็นดาวเด่นได้เป็นอย่างดี
เพราะชัยชนะไม่ใช่สิ่งที่จะตัดสินชีวิตของนักกีฬาคนหนึ่ง เช่นเดียวกันชีวิตของคนคนหนึ่ง เพราะขึ้นชื่อว่าชีวิต เส้นทางนั้นยาวไกลเกินกว่าจะจบลงเพียงการล้มแค่ครั้งหรือสองครั้ง
หลังจบการแข่งขัน ฮานิวให้สัมภาษณ์พร้อมรอยยิ้มของผู้แพ้ที่ชนะใจแฟนกีฬา โดยกล่าวว่า
“มันไม่ง่ายเลย มีหลายสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวของผม เมื่อคิดถึงสิ่งที่ผมพยายามทุ่มเทมา หากมองในแง่ของการแพ้หรือชนะ ผมอาจทำไม่สำเร็จ ผมล้มเหลวกับการกระโดดท่า Axel หรือท่า Salchow แต่ก็ทำได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งที่สอง นี่ไงล่ะ มันเป็นเรื่องการล้มแล้วลุกขึ้นใหม่
“ผมอยากกระโดดท่า Quad Axel มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กแล้ว โค้ชในสมัยนั้นเคยบอกกับผมว่า สักวันหนึ่งผมจะได้ทำมัน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สิ่งที่ผมทำคือ ซ้อม ซ้อม และซ้อม
“ผมอยากจะขอบคุณทุกคนสำหรับทุกการสนับสนุน ผมไม่รู้ว่าผมเล่นสเกตได้ตามความคาดหวังของพวกเขาหรือเปล่า ผมต้องขอโทษด้วยถ้าทำไม่ได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผมขอบคุณพวกเขาสำหรับทุกอย่างจากใจ”
ที่มา
https://olympics.com/en/news/hanyu-yuzuru-beijing-2022-free
https://olympics.com/en/news/hanyu-yuzuru-beijing-free-practice
https://www.bbc.com/news/world-asia-60328977
https://en.wikipedia.org/wiki/Yuzuru_Hanyu
Tags: Quadruple Axel, ยูซุรุ ฮานิว, นักสเกตน้ำแข็ง, โอลิมปิกฤดูหนาว, สเกตน้ำแข็ง