ย้อนกลับไปยังค่ำคืนของวันที่ 21 สิงหาคม 2021 ดูเหมือนว่าทิศทางของโลกมวยปล้ำอาชีพกำลังจะเปลี่ยนไป
เมื่อเสียงเชียร์ของแฟนมวยปล้ำเดนตายภายในยูไนเต็ดเซ็นเตอร์ฮอลล์ เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ จู่ๆ ก็พลันเงียบลงดื้อๆ จนได้ยินเสียงหายใจของผู้ชมรอบข้าง เป็นสัญญาณว่ากำลังจะเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น ไม่กี่วินาทีถัดมาไฟสนามก็ดับลง ก่อนชั่วอึดใจเดียวบนหน้าจอทีวีโปรเจกเตอร์จะปรากฏสัญลักษณ์ ‘หมัดสายฟ้าไขว้’ พร้อมเสียงอินโทรเพลง Cult of Personality
ใช่แล้ว! หากใครเป็นแฟนมวยปล้ำตัวจริงคงไม่ไหวที่จะกระโดดโลดเต้น เพราะนี่คือการกลับคืนสู่สังเวียนมวยปล้ำอีกครั้งในรอบ 7 ปี ของ ‘ซีเอ็ม พังก์’ (CM Punk) นักมวยปล้ำขวัญใจมหาชน ไม่ได้เป็นการกลับมาในสังกัด WWE แบบเดิม แต่เป็นการกลับมาภายใต้สังกัดใหม่ ‘AEW’ (All Elite Wrestling)
การกลับมาเคลียร์แผลใจบนสังเวียน
“ผมกลับมาอยู่ในจุดที่ควรจะเป็น เวลาคือบทพิสูจน์สำหรับทุกสิ่ง ตอนนี้ผมเป็นตัวเองแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมกลับมาเป็นซีเอ็ม พังก์ในแบบที่ควรจะเป็น แม้ตอนนี้ผมจะอายุ 42 แล้ว เป็นตัวเลขที่ดูเยอะจนเหมือนทุกอย่างจะเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมายหากมองเส้นทางอาชีพที่เหลืออยู่
“แต่เอาเถอะ เรามาสนุกกับช่วงเวลาที่เหลือ กับสิ่งโง่ๆ ที่เรารักสุดหัวใจอย่างมวยปล้ำกันดีกว่า สำหรับใครหลายคน ระยะเวลา 7 ปี อาจยาวนาน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าช่วงเวลาที่ผมห่างหายไปจะทำให้ไฟในตัวมอดลง”
คำสัมภาษณ์สุดเท่ของซีเอ็ม พังก์ ผ่านเว็บไซต์ wrestlinginc.com
เสียงตะโกนเรียกชื่อชายเจ้าของฉายา ‘Best in The Word’ ดังกึกก้องไปทั่วทั้งยูไนเต็ดเซ็นเตอร์ฮอลล์ เป็นเครื่องหมายการันตีว่าชายคนนี้ยังคงเป็นที่รักของแฟนๆ เสมอมา ด้วยลีลาการปล้ำอันเร้าใจ ไม่กลัวเจ็บ คาแรกเตอร์ยียวน แต่ลึกๆ แล้วช่วงเวลาที่หายไป 7 ปี แทนที่นักกีฬามวยปล้ำชั้นยอดอย่างเขาจะได้โลดแล่นอยู่บนจุดสูงกับค่าย WWE (World Wrestling Entertainment) ชีวิตของเขากลับเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ไม่ใช่เรื่องของการยอมรับ การพิสูจน์ตัวเอง หรือความสำเร็จ เพราะที่กล่าวมา ซีเอ็ม พังก์แทบจะพิสูจน์ตัวเองมาหมดแล้ว ยกเว้นกับ วินซ์ แม็กแมน (Vince McMahon) ผู้บริหารของค่าย WWE ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างที่ไม่ลงรอยกัน
เชื่อว่าแฟนมวยปล้ำหลายคนน่าจะเคยจดจำ ซีเอ็ม พังก์กับเหตุการณ์สุดอื้อฉาวอย่าง ‘ไปป์ บอมบ์’ (Pipe Bomb) เมื่อเขาลุกขึ้นมาแฉเรื่องราวเบื้องหลังเวทีอันน่าเฟะ จากการที่เจ้าของสมาคมอย่างแม็กแมนเลือกที่จะประคบประหงมและผลักดัน ทริปเปิ้ล เอช (Triple H) หรือ จอห์น ซีนา (John Cena) ซึ่งเป็นนักมวยปล้ำที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดแฟนวัยกระเตาะเป็นหลักในขณะนั้น โดยไม่สนใจใครหน้าไหน และพยายามเกลี่ยบทบาทฝ่ายธรรมมะกับฝ่ายอธรรมออกจากกันอย่างชัดเจนจนดูเหมือนว่าทุกอย่างบนเวทีกลายเป็นบทละครน้ำเน่าไปเสียหมด
นอกจาก นี้แม็กแมนยังกดดันให้ซีเอ็ม พังก์ เลือกย้ายข้างไปอยู่ฝ่ายอธรรม และกลายเป็นบันไดให้เหล่านักมวยปล้ำที่แม็กแมนเลือก เหยียบย่ำไปสู่ความสำเร็จ สุดท้ายกับสัญญาทาส ไม่ว่าซีเอ็ม พังก์จะบาดเจ็บหนัก ซี่โครงร้าว แขนหัก ไม่กี่สัปดาห์ก็จะต้องกลับมาขึ้นปล้ำให้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่คือการเอาเปรียบอย่างน่ารังเกียจ และมันได้กลายเป็นรอยร้าวระหว่างคนทำงานและเจ้านายที่เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง เลือกที่รักมักที่ชัง จนสุดท้ายกลายเป็นความบาดหมางที่ต่อไม่ติด ลงเอยด้วยการโบกมือลาแบบไม่เผาผีกันของซีเอ็ม พังก์กับ WWE
เมื่อ AEW ท้าชิงบัลลังก์ค่ายมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลก
นอกจากการมาของซีเอ็ม พังก์แล้ว ยังมีนักมวยปล้ำชื่อดังมากมายตบเท้าย้ายค่ายจาก WWE มาสู้อ้อมอก AEW อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บิ๊ก โชว์ (Big Show), โคดี โรดส์ (Cody Rhodes), เคนนี โอเมก้า (Kenny Omega) และสติง (Sting) แล้วเหตุผลอะไรคือปัจจัยที่ทำให้อดีตนักมวยปล้ำชื่อดังพาเหรดมายังค่ายมวยปล้ำน้องใหม่แห่งนี้
เป็นเวลา 41 ปี ที่ค่ายมวยปล้ำ WWE ผูกขาดความเป็นค่ายมวยปล้ำอาชีพอันดับหนึ่งตลอดกาล ด้วยการพึ่งคาแรกเตอร์ของนักมวยปล้ำในการดึงดูดผู้ชม พร้อมกับหยิบยกกลยุทธ์ ‘สปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์’ (Sport Entertainment) ขึ้นมาเป็นอาวุธหลัก จนเราได้เห็นละครน้ำเน่าต่างๆ มากมายเกิดขึ้นบนเวทีจนบางครั้งก็ดูเลอะเทอะ ทำให้นักมวยปล้ำบางคนไม่สามารถก้าวขึ้นมาโด่งดัง แม้ฝีมือจะยอดเยี่ยมเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าหากบทไม่ส่งก็เป็นอันจบกัน แต่นี่ไม่ใช่วิธีการเดียวกับสิ่งที่ AEW ต้องการจะสังคายนาบทละครบนเวทีมวยปล้ำและการแบ่งชนชั้นในหมู่นักมวยปล้ำด้วยกันเอง
จุดเริ่มต้นการก่อตั้งสมาคม AEW มาจาก โคดี โรดส์ อดีตนักมวยปล้ำฝีมือดีจาก WWE และลูกชายของตำนานมวยปล้ำ ดัสตี โรดส์ (Dusty Rhodes) เขาชักชวนคู่พี่น้องแมตต์ และ นิก แจ็กสัน (Matt and Nick Jackson) ซึ่งหันหลังให้กับค่าย WWE เช่นกันมาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับโปรเจ็กต์รวมสุดยอดนักมวยปล้ำจากทั่วทุกสารทิศบนโลกทั้ง ROH (Ring of Honor), New Japan Pro Wrestling และ NWA (The National Wrestling Alliance) โดยปราศจากนายทุนใหญ่หนุนหลัง ภายใต้ชื่อ ‘ALL IN’ เมื่อปี 2018
ก่อนโปรเจ็กต์ดังกล่าวจะโด่งดังเป็นพลุแตกด้วยการปล้ำอันดุดัน ดิบเถื่อน เน้นทักษะความสามารถของนักมวยปล้ำมากกว่าการพึ่งพาบท เพื่อแสดงให้เห็นว่ามวยปล้ำยังคงเป็นกีฬาที่ต้องใช้การฝึกฝนขั้นสูง
อย่างไรก็ดี โลกใบนี้ยังคงขับเคลื่อนได้ด้วยเงิน จนแล้วจนรอด ALL IN หรือที่แฟนมวยปล้ำเวลานั้นรู้จักกันในชื่อกลุ่ม ‘เดอะ อีลิต’ (The Elite) ยังคงต้องพึ่งกลุ่มนายทุนเพื่อปลุกปั้นให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม แต่สเป็กนายทุนที่พวกเขาตามหานั้นต้องเป็นผู้ที่มีใจรักกีฬาจริงๆ ซึ่งตรงกับความต้องการของ โทนี ข่าน (Tony Khan) นักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายปากีสถาน ลูกชายของมหาเศรษฐี ชาฮิด ข่าน (Shahid Khan) ผู้คลั่งไคล้ในเกมกีฬา โดยตระกูลข่านเป็นเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอลแจ็กสันวิลล์ จากัวร์ส (Jacksonville Jaguars) และทีมฟุตบอลฟูแลม (Fulham) แห่งเกาะอังกฤษ โทนีเป็นพวกคลั่งมวยปล้ำเข้าเส้นเลือด สุดท้ายทั้งสองฝ่ายจึงจัดตั้งค่าย AEW อย่างเป็นทางการ ภายใต้ปณิธานว่าจะทำให้ค่ายนี้เป็นสังเวียนแห่งความเท่าเทียม และอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แบบที่ควรจะเป็น ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง นักกีฬาทุกคนจะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย ไม่มีการฝืนขึ้นปล้ำทั้งที่บาดเจ็บ อีกทั้งนักกีฬาระดับซีเนียร์จะไม่ถูกเฉดหัวทิ้ง แต่จะเป็นการเกื้อกูลรุ่นน้องที่เตรียมเดบิวต์เสียมากกว่า ส่วนความบันเทิงก็จะสะท้อนออกมาให้เห็นบนเวที พร้อมเข้าถึงแฟนได้ง่ายกว่าเดิมด้วยค่าตั๋วเพียง 28 ดอลลาร์ฯ (ราว 900 บาท)
การดิ้นรนเฮือกใหญ่ในรอบสองทศวรรษของ WWE
เป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้วที่ WWE เป็นค่ายมวยปล้ำเบอร์หนึ่งของโลกอย่างไร้คู่ต่อกร แม้ว่าจะเคยมีคู่แข่งคือค่าย ‘WCW’ (World Championship Wrestling) จนถึงปี 2001 จากนั้น WWE ก็ผูกขาดธุรกิจมวยปล้ำแบบเบ็ดเสร็จ นักกีฬาหน้าใหม่แจ้งเกิดจากค่ายเล็กค่ายน้อยก็มักถูกเงินซื้อตัวมาร่วมค่ายอย่างรวดเร็ว ดังที่ซีเอ็ม พังก์ออกมาแฉถึงกระบวนการทำงานบนหลังคน จนนักกีฬาที่ไม่ใช่ลูกรักต่างเบือนหน้าหนี ขณะเดียวกันฝั่งคนดูเองยังรู้สึกเบื่อหน่ายจำเจกับการปล้ำประเภทที่บทซ้ำไปซ้ำมา เห็นได้ชัดจากการที่ค่ายเคเบิ้ลโทรทัศน์อย่าง TNT กล้าตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์และมอบผังรายการ ‘Wednesday Night Dynamite’ จากทาง AEW ให้เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อชนกับรายการ RAW และ Smack Down ของทางช่อง USA Network
WWE ยังคงดิ้นรนหาความสดใหม่เพื่อดึงฐานแฟนคลับเอาไว้ด้วยการปั้นรายการ NXT ที่ไม่มีการดำเนินเรื่องด้วยบทละครซูเปอร์สตาร์ แต่เน้นโชว์ทักษะความสามารถแบบโลดโผนของนักมวยปล้ำ อีกทั้งปลายปีนี้พวกเขายังพยายามที่จะผลักดันศึก extreme rules ที่จัดเต็มได้ทุกกระบวนท่า นี่จึงเหมือนเป็นการประกาศศึกอย่างเป็นทางการกับ AEW
เมื่อต่างฝ่ายต่างหันหน้าเข้าสู่การแข่งขันแบบถึงพริกถึงขิง ทว่าฝั่ง WWE ยังคงได้เปรียบอยู่หนึ่งก้าวในเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายสด เมื่อพวกเขามีสัญญาระดับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับทั้ง Fox Sports และ NBCUniversal ในการฉายรายการผ่านระบบสตรีมมิง จนสามารถทำรายได้ถึง 475.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021
เรื่องราวของสองขั้วอำนาจแห่งโลกมวยปล้ำจะลงเอยอย่างไรคงต้องจับตาดูกันยาวๆ เพราะแฟนคลับส่วนใหญ่ยังเลือกเสพโชว์คุณภาพจากทั้งสองฝ่าย แต่ปัจจัยรองลงมาอย่างเรื่องนักกีฬาเอง ก็เป็นสิ่งที่จะตอบว่างานคุณภาพชั้นเยี่ยมจะออกมาก็ต่อเมื่อองค์กรให้ความใส่ใจ เชื่อมั่น ดั่งที่เห็นในกรณีของซีเอ็ม พังก์ ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมของธุรกิจว่า ถ้าหากคุณเก็บคนในองค์กรไว้ไม่ได้ ในบั้นปลายคนเหล่านั้นมักจะกลับมาแก้ไขจุดบกพร่องในสิ่งที่องค์กรไม่สามารถมอบให้เขาได้… ในฐานะ ‘คู่แข่ง’
อ้างอิง:
https://nypost.com/2021/08/31/cm-punk-feeling-very-dangerous-entering-aews-all-out/
https://bleedingcool.com/tv/transcript-of-cm-punks-return-promo-at-aew-rampage-the-first-dance/
https://www.fightful.com/wrestling/aew-begin-touring-again-july
Tags: Game On, มวยปล้ำ, AEW, All Elite Wrestling, CM Punk, ซีเอ็ม พังก์