ตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา ฉันติดตามปรากฏการณ์ #MeToo ในสื่อต่างชาติด้วยอารมณ์ผสมปนเป บางครั้งก็ปลาบปลื้มไปกับอีกหนึ่งก้าวใหญ่ของชาว ‘เพศที่สอง’ ทั่วโลก (แม้จะไม่ทุกมุมโลก) บางทีก็หงุดหงิดกับท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ของผู้ที่เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์

สำหรับผู้อ่านที่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ว่า hashtag (#) “MeToo” คืออะไร เกี่ยวอะไรกับเฟมินิสต์ หรือมีความสำคัญยังไงต่อการต่อสู้ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ​ ฉันขอสรุปย่อๆ ว่า มันคือวลีที่ถูกใช้ในโซเชียลมีเดียเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ​ และนับตั้งแต่มันทำโลกอินเทอร์เน็ตแทบแตกไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา หลายคนก็มองว่ามันได้เปลี่ยนแปลงโลก “ผู้ชายเป็นใหญ่” ที่เราๆ ท่านๆ อาศัยอยู่ไปแล้วในชั่วข้ามคืน

วลีดังกล่าวไม่ใช่สิ่งใหม่ ทารานา เบิร์ค (Tarana Burke) นักกิจกรรมเพื่อเด็กสาวชนกลุ่มน้อยได้ใช้วลีนี้มาตั้งแต่ปี 2006 แต่เหตุที่มันมาดังเปรี้ยงปร้างในยุคสมัยของโซเชียลมีเดีย ก็เพราะกรณีอื้อฉาวของฮาร์วี ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการฮอลลีวูด ที่ถูกนักหนังสือพิมพ์เปิดโปงพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศหญิงสาวในวงการของเขาซึ่งดำเนินมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลากว่า 20 ปี

แม้พฤติกรรมของเขาจะเป็นเรื่อง “ปิดกันให้แซ่ด” แต่อิทธิพลชี้เป็นชี้ตายคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งมาจากอำนาจเงิน เครือข่าย และทีมกฎหมายที่เข้มแข็งของไวน์สตีน เป็นเหตุให้ก่อนหน้านี้แทบไม่มีใครสามารถหาหลักฐานจริงๆ จังๆ มามัดตัวเขาได้ และก็เพราะเหตุนี้ การเปิดโปงเขาเป็นผลสำเร็จในที่สุด จึงนับเป็นสัญญาณบวกครั้งสำคัญสำหรับเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งมักเป็นผู้หญิงที่ทำงานอยู่ใต้ผู้บังคับบัญชาเพศชาย ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อให้การกระทำความรุนแรงทางเพศต่อสตรีดำรงอยู่ได้

การใช้ #MeToo ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ จึงถือกำเนิดขึ้นจากการจุดประกายของดาราสาวอลิสซา มิลาโน (Alyssa Milano) ด้านหนึ่งเพื่อเป็นพื้นที่ให้หญิงสาวที่เคยตกเป็นเหยื่อได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ อีกด้านก็เพื่อเป็นมาตรวัดอย่างไม่เป็นทางการของสเกลและความรุนแรงของพฤติกรรมการล่วงละเมิด ที่เป็นเหมือน “โรคระบาด” ซึ่งเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทั่วโลกมาอย่างยาวนาน

นับจากวันแรกที่ #MeToo ทำหน้าที่ทลายประตูกั้นเขื่อนแห่งความอัดอั้นตันใจของผู้หญิงนับล้านลง เราได้เห็นการเปิดโปงคนใหญ่คนโตทั้งในและนอกอุตสาหกรรมบันเทิงอีกหลายราย หลายคนถูกสั่งพักงาน ไล่ออก บางคนถูกดำเนินคดีและลงโทษทางกฎหมาย บรรยากาศทางสังคมที่เคยเป็นอุปสรรคต่อการ “ส่งเสียง” เกี่ยวกับประสบการณ์การตกเป็นเหยื่อของผู้หญิง เปลี่ยนแปลงไปโดยเกือบจะสิ้นเชิงภายในระยะเวลาอันสั้น โดยทั้งหมดนี้ ฉันอยากจะยกความดีความชอบส่วนใหญ่ให้อิทธิพลของวงการฮอลลีวู้ดต่อวัฒนธรรมป๊อปของโลก และพลังของโซเชียลมีเดียซึ่งพาเสียงเล็กๆ ของคนไม่สำคัญทั่วโลกมาเจอกัน จนมันดังมากพอที่สังคมจะหันมามองในที่สุด

#MeToo แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย

แม้ #MeToo ในฐานะการเคลื่อนไหวโดยรวมจะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่เหตุการณ์ต่างกรรมต่างวาระที่ปรากฏในสื่อ ก็ทำให้ตัวมันเองตกเป็นเป้าของการวิจารณ์อยู่เป็นระยะ หลักๆ ก็เพราะการเปิดช่องให้ “ส่งเสียง” ในเบื้องแรกไม่ได้มาพร้อมกับกลไกการตรวจสอบที่รัดกุม เมื่อผนวกกับบรรยากาศที่คึกคักอย่างไม่เคยมีมาก่อนของการได้เปิดโปงพฤติกรรมแย่ๆ ของเพศชายที่มักอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจเหนือกว่าเพศหญิง การเปิดเผยข้อมูลจึงหมิ่นเหม่ที่จะเป็นการ “สำเร็จโทษ” ไปพร้อมกัน เพราะฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามักถูกลงทัณฑ์ทางสังคมอย่างรวดเร็ว ขณะที่การตั้งข้อสงสัยหรือเรียกร้องการตรวจสอบ มักถูกมองเป็นการเลือกจุดยืนเข้าข้างเพศชายหรือหวงแหนโครงสร้างอำนาจชายเป็นใหญ่แบบเดิมๆ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดต่อต้านกระแส #MeToo ที่สร้างความฮือฮาและข้อถกเถียงได้มากที่สุด ไม่ได้มาจากโลกภาษาอังกฤษแต่มาจากฝรั่งเศส (ซึ่งก็มี #MeToo ฉบับ ‘โลคัล’ กับเขาด้วยในชื่อ #BalanceTonPorc) โดยหญิงชาวฝรั่งเศส 100 คน (เกือบทั้งหมดผิวขาวและมีอาชีพที่จัดว่าอยู่ “แถวหน้า” ของสังคม) ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกวิจารณ์ #MeToo ว่าอาจนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพทางเพศ และยืนยันว่าการ “เฟลิต” ที่เซ้าซี้น่ารำคาญ ไม่ใช่อาชญากรรม รวมทั้งผู้หญิงเองก็อาจมีความสุขจากการเป็นวัตถุทางเพศของผู้ชายในบางเวลา ตราบใดที่ไม่ใช่การบังคับข่มขืน

บางคนตั้งข้อสังเกตว่า จุดยืนที่เกือบจะตรงกันข้ามกับกลุ่มผู้สนับสนุน #MeToo ของผู้ลงชื่อในจดหมายนี้ เป็นผลมาจากความแตกต่างระหว่างเฟมินิสต์ฝั่งอเมริกากับฝั่งฝรั่งเศส ขณะที่บางคนมองว่า เป็นเพราะสถานะทางสังคมของหญิงฝรั่งเศสเหล่านี้ ทำให้พวกเธอไม่ต้องผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ต้องรู้สึกบอบช้ำทางจิตใจจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งนี้ไม่นับว่า หญิงสาวที่เติบโตขึ้นมาในช่วงก่อนการปฏิวัติทางเพศ (Sexual Revolution) ในทศวรรษ 1960s มีแนวโน้มจะหวงแหนเสรีภาพทางเพศมากกว่าหญิงสาวรุ่นหลังที่ไม่เคยโดนปิดกั้น

ขอบเขตของคำว่า ‘ล่วงละเมิด’

จุดสำคัญที่นำมาสู่การตั้งคำถามต่อกระแส #MeToo อย่างแพร่หลาย และอาจเรียกได้ว่าเป็นความแตกแยกครั้งใหญ่ในหมู่ผู้ร่วมขบวนการ ก็คือบทความในเว็บไซต์ “เฟมินิสต์” ชื่อ babe.net ซึ่งดูคล้ายเป็นการเปิดโปงพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศของแอซิซ อันซารี (Aziz Ansari) นักแสดงตลกชาวอเมริกัน ปัญหาของบทความดังกล่าว นอกเหนือจากความบกพร่องในแง่จริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์ (ไม่มีการตรวจสอบข้อมูล และไม่เผื่อเวลา 24 ชม. ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ตอบโต้ก่อนที่จะเผยแพร่บทความ)​ ก็คือเนื้อหาของมันแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ (หลายคนมองว่า) คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ โดยผู้เขียนบทความ เล่าเรื่องราวของเกรซ (นามสมมติ) ที่มีประสบการณ์ทางเพศอันไม่น่าอภิรมย์กับอันซารีเมื่อครั้งที่พวกเขาสองคนได้ไปออกเดทกัน และในภายหลังเมื่อเธอนึกย้อนกลับไป เธอรู้สึกว่าถูกล่วงละเมิด เพราะอันซารีไม่ใส่ใจอวัจนภาษาที่เธอแสดงออกว่ารู้สึกไม่ดีกับกิจกรรมทางเพศที่พวกเขากำลังกระทำ น้ำเสียงที่ใส่อารมณ์และความเห็นของตัวเองอย่างเต็มที่ของผู้เขียน และการบรรยายเหตุการณ์ที่หมิ่นเหม่จะเป็นหนังสือโป๊ โดยที่แทบไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าอันซารีบังคับ ขืนใจ หรือใช้อำนาจกดดันให้เกรซต้องมีเซ็กซ์ด้วย ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่านี่น่าจะเป็นการเกาะกระแส #MeToo ที่พาให้คนอื่นเสียขบวน มากกว่าจะเป็นเรื่องเป็นราวอะไรที่มีเนื้อหาสาระจริงๆ

ข้อวิจารณ์ที่รุนแรงซึ่งมาจาก ‘เฟมินิสต์’ ด้วยกัน ก็คือพฤติกรรมของเกรซที่สมยอมกระทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้พอใจ ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่น่าจะมีแรงกดดันอะไร แต่แล้วกลับโทษว่าฝ่ายชายล่วงละเมิดตน เป็นสิ่งที่ยิ่งเน้นย้ำความอ่อนแอของผู้หญิง ที่ถูกปลูกฝังมาให้ยอมรับบทบาทสร้างความพอใจให้คนอื่น จนไม่แม้แต่จะลุกขึ้นมาแสดงความต้องการ (หรือไม่ต้องการ) ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

สังคมร่วมข่มขืน

คำวิจารณ์ดังกล่าว (รวมถึงอื่นๆ ในบริบทใกล้เคียงกัน) นำไปสู่ความแตกแยกทางความคิดที่ยากจะประสาน โดยเฉพาะในหมู่ ‘เฟมินิสต์’ หลากหลายจุดยืน ที่ต่างฝ่ายต่างก็เชื่อในมุมมองของตัวเองอย่างเหนียวแน่น จนหลายคนมองว่า กระแส #MeToo อาจจะเจ๊งไม่เป็นท่าเอาง่ายๆ เพราะความบานปลายของการถกเถียงพาประเด็นออกจากเป้าหมายแรกเริ่มของความเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ

โดยส่วนตัว ฉันมองว่าคุณูปการจากการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนที่ถูก “ทำให้เงียบ” มาโดยตลอด มีมากกว่าปัญหาความขัดแย้งและมุมมองขาดๆ เกินๆ ที่ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นปกติในทุกความเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่เสถียร แต่ถึงอย่างนั้น ฉันก็เห็นว่าท่าทีของเหล่า “เฟมินิสต์” ที่พร้อมจะฟาดฟันกับทุกคนที่เห็นต่างแล้วผลักให้เป็นศัตรู (เช่น บอกว่าคนอื่นเป็น “เฟมินิสต์ปลอม”) ดูจะไม่ใช่สัญญาณที่ดีเอาเสียเลย อันที่จริง มีข้อท้วงติงหลายอย่างที่น่ารับฟัง และการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ก็น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยับขอบเขตของการต่อสู้ให้ครอบคลุมกลุ่มคนให้มากและเท่าเทียมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ดูตัวอย่างการเรียกร้องสิทธิ #MeToo ให้แก่ผู้อพยพที่ถูกกักกันและผู้ขายบริการทางเพศ)

ที่สำคัญกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนกว่าการตื่นตัวตามกระแสที่น่าจะจางไปภายในเวลาไม่นานนัก คงไม่ได้อยู่ที่การเสียบประจานหรือขับไล่ผู้ชายเลวแค่ไม่กี่คนออกจากสังคม (แม้ว่ามันอาจใช้ได้กับคนไม่น้อยที่ชอบถูก “ขู่ให้กลัว”)​ แต่อยู่ที่การตรวจสอบและตั้งคำถามต่อสังคมที่ “อนุญาต” ให้พฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นมาได้อย่างยาวนานและแพร่หลายทั่วถึงเสียยิ่งกว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ การเพิกเฉยไม่ยอมรับรู้ การไม่เชื่อคำพูดของเหยื่อที่ไร้เครดิต การสมยอมต่อผู้มีอำนาจ หรือแม้แต่การเชื่อฝังหัวเกี่ยวกับสถานะที่ต่ำต้อยโดยธรรมชาติของเพศหญิง ล้วนมีส่วนในการหล่อเลี้ยง “ภัยคุกคาม” ทางเพศให้เติบโตและอยู่ยงคงกระพันจากรุ่นสู่รุ่น

ความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนกว่าการตื่นตัวตามกระแสที่น่าจะจางไปภายในเวลาไม่นานนัก คงไม่ได้อยู่ที่การเสียบประจานหรือขับไล่ผู้ชายเลวแค่ไม่กี่คนออกจากสังคม

ในยามนี้ที่เสียงของเหยื่อกลับกลายเป็นเสียงที่ “ดัง” พอจะต่อสู้กับภัยที่ว่านั้นได้ด้วยตนเอง การที่สังคมเฮละโลกันไปลงทัณฑ์ทางสังคมต่อผู้กระทำผิด (สำหรับคนมีหน้ามีตา อาจพ่วงด้วยการบริจาคเงินให้องค์กรเพื่อสิทธิสตรีสักแห่ง) จากนั้นก็ปลื้มปริ่มเฉลิมฉลองที่ได้กำจัดคนชั่ว สำหรับฉันจึงถือเป็นการปัดความรับผิดชอบในฐานะ “ผู้ร่วมกระทำผิด” แบบหน้าตาเฉย

แม้ว่าในแง่หนึ่ง บรรยากาศทางสังคมที่เอื้อให้ผู้หญิงจำนวนมากกล้าบอกเล่าเรื่องราวการถูกล่วงละเมิดของตัวเองมากขึ้น จะบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แต่ฉันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การชื่นชมยินดีกับชัยชนะของเหยื่อ หรือกระทั่งการส่งเสริมการ “ล่าแม่มด” (ในความหมายของการ “ตัดสิน” ความผิดโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์) อาจเป็นแค่การแสดงออกที่ “ถูกต้องทางการเมือง” ซึ่งสะท้อนความมักง่ายของคนในสังคมที่ล้วนมีส่วนเล็กๆ ในการพยุง “วัฒนธรรมแห่งการข่มขืน” (rape culture) เสียมากกว่า

ก็อะไรจะง่ายไปกว่าการร่วมประนามคนเลวในนามของความถูกต้อง โดยไม่ต้องเหนื่อยยากไปตรวจสอบหรือลุกขึ้นมาตั้งคำถามใดๆ ต่อทัศนคติและพฤติกรรมของตนเอง?

ในแง่นี้ กรณีของแอซิซ อันซารี อาจเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะตัวเขาเรียกตัวเองว่าเป็น “เฟมินิสต์” แถมยังติดเข็มกลัด Time’s Up ในงานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำที่ผ่านมา เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ ความเข้าใจของอันซารีต่อเรื่องความรุนแรงดังกล่าว อาจจำกัดอยู่ที่ “การข่มขืน”​ ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ถ้าหากไม่มีเรื่องของเกรซผ่านเข้ามาในชีวิต เขาก็อาจไม่ตระหนักเลยว่า การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศในฐานะ “เฟมินิสต์” ไม่ได้มีแค่การกำจัดปีศาจอย่างไวน์สตีนเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการทบทวนตัวเอง ร่วมทั้งเงื่อนไขทางสังคมที่มีส่วนสำคัญในการกำกับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเพศอย่างเข้มข้นอีกด้วย

ละคร ล่า และนิยามของความเป็น ‘เหยื่อ’

ขณะกำลังคิดทบทวนว่า เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากกระแส #MeToo ของโลก และเมืองไทยอยู่ตรงจุดไหนในข้อถกเถียงต่างๆ  ก็พอดีได้ยินว่าละครเรื่อง ล่า ซึ่งมีกระแสมากพอสมควรตั้งแต่ก่อนเริ่มฉายได้ดำเนินมาถึงตอนจบเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (ฉันคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยดูเวอร์ชั่นก่อนหน้ามาแล้ว แต่ก็จำอะไรแทบไม่ได้นอกจากความโหดเหี้ยมของทั้งการข่มขืนและการล่าล้างแค้นที่ทำให้เอากลัวจนฝังใจไปพักหนึ่ง) เมื่อได้ลองย้อนดูจึงพบว่า นอกจากจะสะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมที่กลายเป็นไปสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ “ศาลเตี้ย” แล้ว ละครเรื่องนี้ยังบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมุมมองต่อ “เหยื่อ” ของความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย ที่ตัวฉันมองว่าเป็น “อาการ” หนึ่งของวัฒนธรรมข่มขืน

มธุสรตัวเอกของ ล่า เป็นเมียและแม่สุดประเสริฐ (ความรักลูกของเธอถูกเน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า) ขณะที่ผึ้งผู้เป็นลูก ก็เป็นเด็กสาวที่ใสซื่อบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ ทั้งคู่ต้องออกมาเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่กันตามลำพัง ก็เพราะว่าอดีตสามีของมธุสรติดการพนัน มีผู้หญิงอื่น และชอบใช้กำลังทุบตีเธอ สองแม่ลูกถูกข่มขืนและทำร้ายปางตายโดยชายโฉดเจ็ดคนซึ่งอยู่ในเครือข่ายค้ายาเสพติด โดยภาพของเหตุการณ์ดังกล่าวถูกถ่ายทอดออกมาในทีีวีดิจิตอลระบบ HD อย่างสมจริงสะเทือนใจ เท่านั้นยังไม่พอ เธอยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากศาล จนกระทั่งต้องลุกมาล้างแค้นคนร้ายด้วยตัวเอง นำไปสู่ข้อถกเถียงร่วมสมัยที่ละครในเวอร์ชั่นนี้ปูเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก นั่นก็คือ “ข่มขืน” ควร = ประหารหรือไม่

สิ่งที่ฉันอยากตั้งข้อสังเกตก็คือ มธุสรและผึ้งมีคุณสมบัติของความเป็น “เหยื่อ” ที่สมบูรณ์แบบ ทั้งคู่ไม่มีรอยแปดเปื้อนเลยแม้แต่น้อยในฐานะผู้หญิงที่ดี โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเธอเป็นสิ่งไม่ “ยุติธรรม” อย่างไม่ต้องสงสัย และชายทั้งเจ็ดคนก็ชั่วร้ายเลวทรามแบบไร้ข้อกังขา (บางคนอาจถึงขั้นมองว่าคนเหล่านี้เป็นอมนุษย์)​ แม้แต่ตัวฉันเองก็ไม่ได้สงสัยในตรรกะพื้นฐานภายในละครเรื่องนี้

ในฐานะตัวละครสมมติ ความสมบูรณ์แบบของมธุสรและลูก ทำให้ฉันสงสัยว่าผู้ถูกล่วงละเมิดจะต้องมีคุณสมบัติแบบไหนจึงจะผ่านเกณฑ์ความเป็น “เหยื่อ” ของสังคมไทย

แต่ในฐานะตัวละครสมมติ ความสมบูรณ์แบบของมธุสรและลูก ทำให้ฉันสงสัยว่าผู้ถูกล่วงละเมิดจะต้องมีคุณสมบัติแบบไหนจึงจะผ่านเกณฑ์ความเป็น “เหยื่อ” ของสังคมไทย มธุสรจะยังมีคนเข้าข้างอยู่ไหมหากเธอเลี้ยงลูกแบบทิ้งๆ ขว้างๆ? ชะตากรรมของหนูผึ้งจะถูกเข้าใจยังไงถ้าหากเธอไม่ใช่เด็กน้อยติดแม่หากแต่อาจเคยเฟลิตกับหนึ่งใน “เจ็ดทรชน”? ขณะเดียวกัน เรายังจะนับเป็นการข่มขืนอยู่หรือไม่ หากมันไม่ใช่การยื้อยุดกันตามตรอกซอย แต่เป็นการกดดันด้วยอำนาจ (ทางการเงิน การงาน สังคม) ให้ “จำใจ” มีเพศสัมพันธ์ด้วย?

การสร้างเรื่องราวที่มีลักษณะ “สุดโต่ง” ของ ล่า (คือฝ่ายเหยื่อก็สุดจะดี ฝ่ายผู้กระทำก็สุดจะเลว) ทำให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคนดู ที่จะตัดสินตัวละครต่างๆ จากจุดยืนของผู้มีใจยุติธรรมได้ในเสี้ยวนาทีโดยไม่ต้องเสียสมองตอบคำถามข้างต้น และโดยไม่ต้องทบทวนว่า ตนเองมีส่วนหรือไม่ในการดำรงไว้ซึ่งทัศนคติที่เอื้อต่อการกระทำรุนแรงทางเพศในรูปแบบอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่ ‘เบา’ กว่ากรณีของมธุสร

พูดอีกอย่างก็คือ เมื่อเทียบกับการกระทำของ “เจ็ดทรชน” พลเมืองเกือบ 70 ล้านคนของไทย ก็ล้วนแต่สูงส่งกว่าในเชิงจริยธรรมทั้งนั้น

ละครเรื่องนี้จึงสะท้อนมาตรฐานขั้นสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ของคนที่จะมีสิทธิร้องว่า “Me too!” ในสังคมไทย และขั้นต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ของคนที่สามารถยืดอกภูมิใจว่าตนเองไม่ได้สนับสนุนวัฒนธรรมการข่มขืน

บริบทไทยๆ ยังอีกไกลกว่าจะไปถึง #MeToo

ในฐานะหนึ่งใน “ผู้ประสบภัย” เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ความทรงจำของฉันเกี่ยวกับโจรที่บุกเข้ามาล่วงละเมิดฉันและเพื่อนอีกสองคนในบ้านเช่านั้นลางเลือนจนแทบจะหมดสิ้น เช่นเดียวกันกับบาดแผลทางกายที่ไม่เหลือร่องรอยใดๆ ไว้อีก

แต่สิ่งที่ยังแจ่มชัดไม่เคยเปลี่ยน ก็คือภาพของเด็กสาววัย 16 ปีที่ถูกตำรวจชั้นผู้ใหญ่สอบสวนราวกับเป็นอาชญากร ด้วยคำพูดที่แทบไม่ต่างอะไรกับการล่วงละเมิดทางเพศ ในนามของการทำหน้าที่เพื่อช่วยตามหาคนร้ายที่ไม่เคยจับได้ เด็กคนนั้นนั่งร้องไห้ด้วยความคับแค้นทั้งที่ไม่ได้เสียน้ำตาแม้สักหยดตอนที่เผชิญหน้ากับคนร้าย และหลังจากโดนครูที่โรงเรียนตั้งข้อสังเกตว่า เธออาจเปิดประตูให้ผู้ชายจนชิน โจรจึงสามารถเข้าไปในบ้านได้ เธอก็บอกตัวเองได้อย่างมั่นใจว่า “คนร้าย” ในสายตาเธอไม่ได้มีแค่คนเดียว

หากมีใครถามฉันในวัยผู้ใหญ่ว่าอะไรที่สร้างรอยแผลให้ตัวตนของฉันมากที่สุด ภาพเหล่านี้คือสิ่งที่แว่บเข้ามาในหัว ไม่ใช่ขี้ยาบ้ากามที่ฉันไม่เคยเห็นหน้า

เสียงเชียร์สะใจในสรรพวิธีการแก้แค้นที่มธุสรคิดค้นขึ้นมาใช้กับ “เจ็ดทรชน” สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยไม่เคยตระหนักเลยแม้แต่น้อย ว่าถ้าหาก “เหยื่อ” จะลุกขึ้นมาแก้แค้นกันจริงๆ แบบในละคร ใครกันบ้างที่จะต้องชดใช้

ขณะที่โลกกำลังตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ #MeToo ว่ามันไปไกลจนกู่ไม่กลับซะแล้วหรือยัง ฉันอยากจะมองโลกในแง่ดีว่า สังคมไทยดูเหมือนจะยังไม่ต้องกังวลกับปัญหานี้ เรายังต้องเดินทางกันอีกไกล กว่าที่จะใกล้กับจุดเริ่มต้นของการถกเถียงเพื่อการเปลี่ยนแปลง เอากันตั้งแต่ว่าเราจะ ‘ลด’ มาตรฐานความสูงส่งทางศีลธรรม-จริยธรรมของคนที่จะเข้าคุณสมบัติ ‘เหยื่อ’ ได้อย่างไร ด้วยการผลิตคอนเทนต์ทางวัฒนธรรมแบบไหน หรือขยับขยายความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ-สัมพันธ์อย่างไร หากเราไปถึง ‘จุดเริ่มต้น’ ของกระแส #MeToo ซึ่งวางอยู่บนความเชื่อในสิทธิเหนือร่างกายตนเองของเพศหญิงได้จริงในสักวัน ก็คงเรียกได้ว่าไกลเกินฝันของเด็กวัยรุ่นอายุ 16 คนนั้นไปมากเหลือเกินแล้ว

Tags: , , , ,