สิ้นเสียงนกหวีดยาวจากเชิ้ตดำชาวอาร์เจนตินา เฟอนานโด ราปาลินี  (Fernando Rapallini) ที่สนามเอดูเคชัน ซิตี (Education City Stadium) ในเมืองอัลเรย์ยาน ประเทศกาตาร์ (Al Rayyan, Qatar) ประเทศจากทวีปแอฟริกาตอนเหนืออย่าง ‘โมร็อกโก’ (Morocco) ได้ช็อกผู้คนที่ดูการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ด้วยการดวลจุดโทษชนะสเปน ซึ่งมีศักดิ์ศรีเป็นถึงอดีตแชมป์เวิลด์คัพหนึ่งสมัย และมีนักเตะซูเปอร์สตาร์ล้นทีม 

ที่น่าเหลือเชื่อยิ่งกว่านั้นคือ ฝั่งโมร็อกโกสามารถส่งลูกเข้าตาข่ายถึง 3 ลูก ขณะที่สเปนยิงไม่เข้าสักคน โดยลูกจุดโทษปิดเกมเป็น อัชราฟ ฮาคิมี (Achraf Hakimi) แบ็กขวาตัวเก่งจากสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่ยิงลูกโทษสไตล์ปาเนนก้า (Panenka) ราวกับจะประกาศว่า ‘เอ็งเก่งมาจากไหนข้าก็ไม่กลัว’

ผลดังกล่าวทำให้ ‘ทีมสิงโตแห่งแอตลาส’ จารึกประวัติศาสตร์กลายเป็นชาติที่ 4 จากแดนกาฬทวีป ต่อจาก แคเมอรูน (1990) เซเนกัล (2002) และ กานา (2010) ที่สามารถทะลุเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในทัวร์นาเมนต์เวิลด์ คัพ พร้อมเป็นชาติจากทวีปแอฟริกาชาติที่สอง ต่อจาก แคเมอรูน (1982, 1990) ที่ไม่แพ้ใครเลยตลอดการแข่งขัน 5 นัดแรก

สถานีต่อไปของพวกเขามีโปรตุเกสที่มีคริสเตียโน โรนัลโด (Cristiano Ronaldo) และเพื่อนร่วมทีมเป็นก้างขวางคอชิ้นโต ซึ่งถ้าหากพวกเขาทำได้จะกลายเป็นชาติจากแอฟริกาทีมแรก ที่หักด่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ

แต่กว่าจะถึงบทสรุปดังกล่าว เราขอชวนคุณผู้อ่านมาร่วมวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้โมร็อกโกกลายเป็นทีมสุดแข็งแกร่ง และไม่ได้มาฟุตบอลโลกหนนี้เพื่อเป็นแค่ไม้ประดับ

เกมรับที่ดีนำมาซึ่งชัยชนะ

เทรนด์ลูกหนังสมัยใหม่มักยึดติดอยู่กับการเป็นทีมที่ต้องครองบอลเหนียวแน่น และสร้างสรรค์เกมรุกสวยงาม ความคิดที่ว่าอาจจะไม่ผิดแปลกเท่าไร แต่หากทีมของคุณมีเกมรับที่ดี เสียประตูยาก ก็หมายความว่าคุณมีโอกาสเป็นผู้ชนะได้มากขึ้นเช่นกัน

โมร็อกโก ในทัวร์นาเมนต์เวิลด์ คัพ 2022 เริ่มต้นรอบแบ่งกลุ่ม โดยมี เบลเยียม อดีตทีมอันดับหนึ่งของโลก โครเอเชียรองแชมป์โลกหนล่าสุด และแคนาดา ที่ดูจะพอฟัดพอเหวี่ยงกับพวกเขาร่วมกลุ่ม

แน่นอนว่าสื่อหลายสำนักพร้อมใจฟันธงให้กรุ๊ป F เป็นเบลเยียมและโครเอเชีย ตีตั๋วเข้ารอบแบบนอนมา แต่ตัดภาพมาทีความเป็นจริงกลับเป็นโมร็อกโกที่คว้าแชมป์กลุ่ม 

เกมแรกยันเสมอโครเอเชีย 0-0

เกมสองไล่อัดเบลเยียมไป 2-0

ปิดท้ายเกมสามด้วยการเฉือนชนะแคนาดา 2-1 

ก่อนสุดท้ายจะมาดวลจุดโทษชนะสเปน 3-0 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย หลังเสมอกันในเวลาปกติ 120 นาที 

ไล่เรียงสถิติรอบแบ่งกลุ่มทั้ง 3 เกม จนถึงรอบ 16 ทีม ทัพสิงโตแห่งแอตลาส มีสถิติครองบอลด้อยกว่าคู่แข่งทุกเกม เฉลี่ยเพียงเกมละ 36 เปอร์เซ็นต์ และโอกาสยิงตรงกรอบเฉลี่ยเกมละ 2 ครั้ง สาเหตุไม่ใช่เพราะสู้ไม่ได้ แต่พวกเขาเลือกที่จะเล่นอย่างระมัดระวัง ใช้กลยุทธ์โซนเกมรับให้เหนียวแน่น ช่วยกันไล่กดดันคู่แข่ง เข้าสกัดถึงลูกถึงคน และอาศัยจังหวะโต้กลับไม่กี่ครั้งทำประตู

จึงเป็นที่มาของสถิติยิง 4 เสีย 1 และ 1 ลูก นั้น คือการทำเข้าประตูตัวเองของกองหลัง นาอิฟ อเกิร์ด (Nayef Aguerd) ดีเลิศกว่าฟุตบอลโลกหนก่อน (2018) ที่พวกเขาจมบ๊วยกลุ่มด้วยผล แพ้ 2 เสมอ 1 และเสียประตูไปถึง 4 ลูก 

การกลับมาอีกครั้งของฮาคีม ซีเย็ค และการเลือกใช้งานโค้ชชาติเดียวกัน

เดือนกันยายนปี 2021 วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช (Vahid Halilhodzic) เฮดโค้ชชาวบอสเนีย ที่ ณ เวลานั้นมีสถานะเป็นกุมบังเหียนทีมชาติโมร็อกโก ได้ลั่นวาจาว่าจะไม่เรียกตัว ‘ฮาคิม ซีเย็ค’ (Hakim Ziyech) ผู้เล่นตำแหน่งปีกและคีย์แมนคนสำคัญ เนื่องจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น รายงานตัวสาย และปฏิเสธการลงเล่นในช่วงโปรแกรมฟีฟ่า เดย์ 

“ผมไม่สามารถเลือกนักเตะที่ไร้ความเป็นมืออาชีพและทำให้ทีมเสียสมดุล แม้ชายคนนั้นจะชื่อว่า ลิโอเนล เมสซี ก็เถอะ พฤติกรรมของซีเย็คไม่เหมาะที่จะเป็นตัวเลือกให้กับทีมชาติ เขาขาดซ้อม และเขาไม่คิดจริงจังกับการลงเล่นให้ทีมชาติ นี่เป็นเหตุผลมากพอที่ผมจะไม่เรียกเขากลับมา” ฮาลิลฮอดซิช ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว เดลีเมล์ (Daily Mail) ถึงกรณีของซีเย็ค

นอกจากถูกหั่นชื่อออกจากทีมชุดทัวนาเมนต์แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชันส์ 2021 (Africa Cup of Nations 2021) ซีเย็คยังส่อแววถูกกาชื่อออกจากชุดลุยทัวนาเมนต์เวิลด์ คัพ 2022 ทำให้ปีกพ่อมดตัดสินใจชิงประกาศอำลาทีมชาติถาวร และยืนกรานว่า ฮาลิลฮอดซิชเป็นฝ่ายที่ไม่ให้เกียรติตนก่อน

 วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช (ซ้าย) และ วาลิด เรกรากุย (ขวา)

อย่างไรก็ดี 100 วัน ก่อนบอลโลกเวอร์ชันกาตาร์รูดม่านเปิดฉาก สมาคมฟุตบอลโมร็อกโกได้ออกแถลงการณ์ปลดกุนซือชาวบอสเนียออกแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แม้เจ้าตัวจะเป็นคนที่พาทีมผ่านรอบควอลิฟายมาหมาดๆ และประกาศแต่งตั้งเฮดโค้ชโลว์โปรไฟล์ วัย 47 ปี วาลิด เรกรากุย (Walid Regragui) ที่เคยผ่านการคุมทีมแค่ในระดับประเทศกับทีม วีแดด คาซาบลานกา (Wydad Casablanca) และ ฟุส ราบัต (Fus Rabat) มาเท่านั้น 

โดยสื่อเจ้าดังหลายสำนักต่างพากันประโคมข่าว ถึงสาเหตุการปลดฮาลิลฮอดซิช ว่ามาจากการที่โค้ชชาวบอสเนียดื้อดึงปฏิเสธคำขอของสมาคมฯ ที่ต้องการให้เรียกตัวซีเย็คกลับมาร่วมทีมชาติ

ระยะเวลาทำทีมเพียง 2 เดือน วาลิด ใช้บารมีในฐานะอดีตนักเตะรุ่นพี่ทีมชาติโมร็อกโก และคนที่เคยผ่านการทำงานระดับเยาวชนกับทีมชาติ สานความสัมพันธ์ที่เคยแตกร้าวภายในทีม ที่สำคัญคือการตัดสินใจเรียกฮาคีม ซีเย็ค กลับมาติดธงอีกครั้ง นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเมื่อ ปีกจากเชลซีมีส่วนสำคัญในการเสริมเขี้ยวเล็บทีมให้น่ากลัวอีกครั้ง โดยเฉพาะลูกเปิดจากกราบซ้าย 

สู้เพื่อนามทีมชาติของตนเอง

“บ้านของผมคือโมร็อกโก ผมไม่ต้องคิดตัดสินใจใดๆ เลย อาหารการกิน วัฒนธรรมต่างๆ ผมมีสายเลือดเป็นชาวมุสลิม และพ่อของผมท่านมักจะเล่าเรื่องราวของนักฟุตบอลชาวโมร็อกโกระดับตำนานในอดีต ให้ผมฟังอยู่เสมอเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ” 

คำกล่าวข้างต้นคือบทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งของ อัชราฟ ฮาคิมี ต่อหนังสือพิมพ์เลอร์ กิ๊ป (L’Equipe) ถึงการตัดสินใจเลือกติดธงโมร็อกโก ในปี 2016 ทั้งที่ความจริงแล้วตนกำเนิดและเติบโตในเมืองมาดริด ประเทศสเปน (Madrid, Spain)

เหตุผลการตัดสินใจของฮาคิมีถือเป็นเรื่องง่ายดาย ในฐานะครอบครัวผู้อพยพหนีความแร้นแค้นจากบ้านเกิด เลือดทุกหยดที่ไหลเวียนอยู่ในตัวฮาคิมียังคงเป็นชาวมุสลิม กอปรกับในวัยเด็กแบ็กขวารายนี้มีประสบการณ์ฝังใจจากกรณีถูกเลือกปฏิบัติโดย เรอัล มาดริด (Real Madrid) อดีตต้นสังกัดในวัยเยาว์ และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) เกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ จึงทำให้ฮาคิมีสัมผัสได้ลึกๆ ว่าสเปนไม่ใช่บ้านของเขา

เฉกเช่นเดียวกับพ่อค้าแข่งชาวโมร็อกกัน ที่มีสถานะเป็นครอบครัวผู้อพยพ เช่น ฮาคีม ซีเย็ค และ โซฟียาน อัมราบัต (Sofyan amrabat) ที่เติบโตและมีสิทธิ์ลงเล่นให้กับเนเธอร์แลนด์, อับเดลฮามิด ซาบิรี (Abdelhamid Sabiri) ที่เติบโตและมีสิทธิ์ลงเล่นให้กับเยอรมนี รวมไปถึงผู้รักษาประตู ยาสซีน โบโน ที่เติบโตและมีสิทธิ์ลงเล่นให้กับแคนาดา ทว่าทุกรายเลือกที่จะสวมเสื้อโมร็อกโก ด้วยเหตุผลใหญ่ข้อเดียว คือ “ชาวมุสลิมย่อมเข้าใจหัวอกและวิถีชาวมุสลิมด้วยกันดีกว่าใคร”

อีกประการหนึ่ง หากกางบันทึกหน้าประวัติศาสตร์โลกจะพบว่า ในปี 1912 โมร็อกโกต้องตกอยู่ในสถานะชาติอาณานิคมจากฝีมือของฝรั่งเศสกับสเปน และต้องเสียดินแดนที่มีชื่อว่า เซวตา (Ceuta) และ เมลิยา (Melilla) ภายใต้สนธิสัญญาเฟส (Treaty of Fes) จึงทำให้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวโมร็อกกันถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร และแรงงามตามฟาร์มหรือโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนจะได้รับเอกราชคืนในปี 1956 

ทว่าการเป็นเมืองขึ้นมายาวนานก็ทำให้ดุลเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศลดน้อยถอยลง นำไปสู่ภาวะประชากรสมองไหลทั่วยุโรปหลายล้านครัวเรือน อันหมายถึงบรรดาบรรพบุรุษของนักฟุตบอลทีมชาติโมร็อกโกด้วยเช่นกัน และแม้แต่ปัจจุบันก็ยังมีข่าวคราวชาวมุสลิมที่พยายามอพยพข้ามฝั่งมายังเขตปกครองตนเองเซวตา ประเทศสเปน เพื่อเป็นใบเบิกทางไปสู่การใช้ชีวิตใหม่ในยุโรปที่ดีกว่า 

ฉะนั้นการได้ผนึกกำลังสู้เพื่อศักดิ์ศรีแก่ชาติกำเนิดตนเองบนผืนหญ้า จึงเป็นสิ่งล้ำค่าหาที่เปรียบใด

แด่นูริเพื่อนของเรา   

ย้อนกลับไปในเดือนกรกฎาคม ปี 201 เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเมื่อ อับเดลฮัค นูริ (Abdelhak Nouri) เพลย์เมกเกอร์อนาคตไกลชาวโมร็อกโก สังกัดทีมอายักซ์ อัมสเตอร์ดัม (Ajax Amsterdam) เกิดวูบหมดสติ ขณะกำลังลงแข่งในเกมพรีซีซันกับทีมแวเดอร์ เบรเมน (Werder Bremen)

นูริ ในวัย 22 ปี ถูกส่งตัวถึงมือแพทย์เป็นการด่วน และได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ซ้ำร้ายยังส่งผลกระทบกระเทือนร้ายแรงต่อสมอง ไม่ช้านูริกลายเป็นเจ้าชายนิทรานอนโคม่าเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม เมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาฟุตบอลที่เขารักก็ถูกพรากจากไปตลอดกาล 

พลาดแม้แต่โอกาสที่จะได้รับบัตรเชิญจากสมาคมฟุตบอลโมร็อกโกให้เข้าร่วมทีมชาติ ซึ่ง ณ เวลานั้น สมาคมฯ กำลังเฟ้นหานักฟุตบอลระดับเยาวชนหัวกะทิชาวโมร็อกกันพลัดถิ่นทั้งหลาย เพื่อสร้างขุมกำลังระยะยาว

ดังนั้น ภาพที่เห็นบรรดานักฟุตบอลและทีมสต๊าฟพากันชูเสื้อสกรีนเบอร์ 34 ที่เป็นเบอร์ประจำตัวของนูริ หลังเกมเอาชนะสเปน จึงเป็นการส่งสารไปหายังอดีตเพลย์เมกเกอร์รายนี้ ว่าพวกเขาทุกคนยินดีที่ดีที่จะสู้ตายถวายหัวแทนนูริ ที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสอาชีพนักฟุตบอลอีกต่อไป โดยเฉพาะ ฮาคิม ซีเย็ค เพื่อนซี้ต่างรุ่นที่ทันกันสมัยค้าแข้งกับอายักซ์ฯ 

และสุดท้าย ไม่ว่าเส้นทางของทัพสิงโตแห่งแอตลาสจะจบลงตรงไหน จะสามารถสร้างเทพนิยายฉบับแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ได้หรือไม่ ทั้งหมดคงไม่สำคัญเกินกว่าทีมสปิริต และการป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าพวกเขาคือ ‘ม้ามืด’ หาใช่ ‘ไม้ประดับ’ ธรรมดา 

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , ,