“ฉันรู้แค่ว่า ต้องรักษาชีวิตตัวเอง”
แอนเจลา คารินี (Angela Carini) นักมวยชาวอิตาเลียนวัย 25 ปี สารภาพความในใจถึงผลการแข่งขันล่าสุดในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปารีส 2024 หลังถูก อิมาน เคลิฟ (Imane Khelif) นักมวยคู่แข่งทีมชาติแอลจีเรีย ซัดหมัดครั้งแรกในการแข่งขัน จนลงไปนอนบนสังเวียนด้วยความเจ็บปวดสุดขีดภายใน 30 วินาที ก่อนจะยอมแพ้ทั้งน้ำตาในเวลาต่อมา ด้วยเหตุผลว่า เป็นการ ‘รักษาชีวิต’ ของเธอขณะนั้น
ในเวลาต่อมา คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) ออกมาทิ้งระเบิดด้วยข้อมูลว่า เคลิฟถูกตัดสิทธิลงแข่งขันชกมวยชิงแชมป์โลกปี 2023 ที่ประเทศอินเดีย หลังเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนเพศชายในร่างกายของเธอพุ่งสูงขึ้น ทำให้ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติทางเพศสำหรับนักกีฬา ซึ่งยิ่งสร้างความงุนงงให้กับสาธารณชน พร้อมกับคำถามที่ตามมาว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
คอลัมน์ Game On สัปดาห์นี้จะสรุปเหตุการณ์ทั้งหมด นับตั้งแต่ข้อเท็จจริงในสังเวียนแข่งขัน ข้อโต้แย้งจากคู่พิพาททั้ง 2 ฝ่าย จนถึงการเมืองเรื่องเพศในกีฬาระดับโลกที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ในปัจจุบัน
‘46 วินาที’ แห่งชีวิตในโอลิมปิก 2024
เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในนอร์ทปารีสอารีนา (North Paris Arena) สนามกีฬามวยในโอลิมปิก 2024 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา แม้การแข่งขันดูเป็นไปตามปกติ ทว่าทันทีที่เคลิฟต่อยคางของคารินีเพียง 1 ครั้ง หลังจากการแข่งขันเริ่มแค่ 30 วินาที สายรัดป้องกันของนักมวยชาวอิตาเลียนก็หลุดออกมา ขณะที่เลือดอาบคางจนไหลลงไปเปื้อนกางเกงของเธอ
ไม่นานนัก คารินีตัดสินใจถอยหลังไปที่มุมสนามและขอยอมแพ้ในวินาทีที่ 46 กรรมการยกมือคู่แข่งเป็นสัญญาณชัยชนะของคู่ต่อสู้ ขณะที่ผู้แพ้ร้องไห้สะอึกสะอื้นบนเวที เสียงจากกล้องดังขึ้นมาว่า “นี่มันไม่ถูกต้อง”
เมื่อจบการแข่งขัน คารินีตัดสินใจไม่จับมือกับเคลิฟตามธรรมเนียม ก่อนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในเวลาต่อมาว่า เธอไม่สามารถแข่งขันต่อไปอีกได้แล้ว เพราะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณจมูกมาก โดยหากจะบอกอะไรกับตนเองในฐานะหญิงสาวคนหนึ่งและผู้ที่มีประสบการณ์ในสังเวียน เธอหวังว่า อิตาลี ประเทศของเธอและพ่อจะไม่ผิดหวังกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ก่อนจะทิ้งท้ายว่า เธอขอยุติการแข่งขันเพื่อตัวเองเท่านั้น
“การต่อยมวยอาจเป็นการแข่งขันทั้งชีวิต แต่ฉันก็ต้องรักษาชีวิตในขณะนั้นเหมือนกัน ฉันไม่เคยหวาดกลัว ไม่กลัวสังเวียน ไม่กลัวการขึ้นชก แต่ครั้งนี้คือจุดจบของทุกอย่าง และขอจบมันในการแข่งขัน เพราะไม่สามารถต่อสู้ได้อีกต่อไป” คารินีเผยความในใจ ก่อนเสริมว่า เธอรู้สึกใจสลาย เพราะเธอขึ้นสังเวียนเพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อ แม้จะได้รับคำชมบ่อยครั้งในฐานะนักสู้ แต่ครั้งนี้เธอต้องยุติทุกอย่าง เพราะไม่เคยถูกชกแบบนี้มาก่อน
ขณะที่ผู้ชนะในการแข่งขันแสดงความคิดเห็นว่า เธอหวังให้คารินีสู้ไปจนถึงที่สุด และจบลงด้วยความสุข โดยเธอจะไม่ตัดสินใคร เพราะไม่ได้มาที่นี่เพื่อตัดสิน
“ฉันมาที่นี่เพื่อเหรียญทอง และฉันจะสู้กับทุกคน” เคลิฟกล่าวกับบีบีซีสปอร์ต (BBC Sport)
ชายจริงหรือหญิงแท้: ประเด็นถกเถียงเรื่องเพศสภาพของเคลิฟ
ภายหลังจากแมตช์นี้จบลง โลกออนไลน์เกิดประเด็นถกเถียงเป็นวงกว้างว่าด้วยเพศสภาพ แต่ โรซาริโอ โคโค (Rosario Coco) โฆษกประจำตัวของเคลิฟ ออกมาปฏิเสธว่า เธอไม่ใช่หญิงข้ามเพศตามรายงานในสื่อออนไลน์ ทว่าจัดอยู่ในกลุ่มเพศกำกวม (Intersex) ซึ่งหมายถึง บุคคลที่เกิดมามีโครโมโซมหรืออวัยวะเพศชายและหญิงในเวลาเดียวกัน พร้อมกับย้ำว่า ที่ผ่านมาเคลิฟเลือกใช้ชีวิตในฐานะเพศหญิง และในชีวิตการแข่งขันก็เลือกลงสนามในนามนักกีฬาหญิงมาตลอด
แม้การแข่งขันยังต้องดำเนินต่อไป ทว่ามีการคาดการณ์ว่า คณะกรรมการดูแลการแข่งขันชกมวยแห่งโอลิมปิก 2024 (Paris 2024 Boxing Unit: PBU) อาจจะตัดสิทธินักกีฬาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในภายหลัง หากการต่อต้านจากมวลชนเพิ่มขึ้น หรือผลกระทบจากการแข่งขันร้ายแรงเกินกว่าที่คาดไว้
จอร์จา เมโลนี (Giorgia Meloni) นายกรัฐมนตรีหญิงอิตาลี แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า การยอมแพ้ของคารินีทำให้เธอเศร้า และย้ำว่า ความเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญของการแข่งขัน โดยจากมุมมองของเธอ นี่ไม่ใช่การแข่งขันเลย และทุกคนควรต้องระวังการเลือกปฏิบัติ
“ความจริงที่ว่า ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอยู่ในตัวของนักกีฬาชาวแอลจีเรียตั้งแต่ต้น ไม่มีความเท่าเทียมเลยสักนิด” นายกฯ อิตาลีกล่าว ก่อนบอกว่า เธอต่อต้านการให้บุคคลที่มีลักษณะร่วมกับเพศชายเข้าร่วมการแข่งขันของเพศหญิงมาตลอด
ขณะที่คณะกรรมการโอลิมปิกแอลจีเรีย (Algeria’s Olympic committee: COA) ออกมาปกป้องเคลิฟจากเสียงวิจารณ์ของสาธารณชนว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูลความจริง และเกิดขึ้นจากการโฆษณาชวนเชื่อของชาติตะวันตกบางประเทศ ที่ต้องการใส่ร้ายนักกีฬาของตน
ด้านสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ (International Boxing Association: IBA) ผู้จัดการแข่งขันมวยชิงแชมป์โลก ออกแถลงการณ์ตั้งคำถามกับโอลิมปิกว่า เหตุใดจึงอนุญาตให้เคลิฟหรือนักกีฬาคนอื่นที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนลงแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม IOC ออกมาโต้แย้งข้อกล่าวหาทั้งหมดว่า นักกีฬาทุกคนปฏิบัติตามกฎและระเบียบของ IOC และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาลงแข่งขันในรายการสำคัญ ก่อนจะย้ำว่า องค์กรรู้สึกเสียใจที่มีการละเมิดนักกีฬาที่เป็นประเด็นอยู่ และการที่ IBA ตัดสิทธินักกีฬาด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวในปี 2023 ยิ่งเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้คนอย่าง เจ. เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling) และอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซึ่งสื่อถึงกลุ่มคนที่มีอคติทางเพศ ออกมาต่อต้านหลักเกณฑ์นี้ในการแข่งขัน
“ทุกคนมีสิทธิในการเล่นกีฬาโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จาก IOC
ในอดีต IBA เคยได้รับการรับรองจาก IOC ทว่าเพิกถอนอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2024 เนื่องจากปัญหาด้านการเงิน ธรรมาภิบาล และจริยธรรม ขณะที่บางส่วนมองวาระแอบแฝงว่า การเพิกถอนครั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ หลังรัสเซียที่ถูกแบนในโอลิมปิกครั้งนี้จากข้อหาอาชญากรสงคราม เป็นหัวเรือหลักที่ขับเคลื่อน IBA
หากย้อนกลับไปในปี 2023 ไม่ใช่แค่เคลิฟคนเดียวที่ถูกตัดสิทธิจากการแข่งขันชิงแชมป์โลก เพราะ หลิน อวี้ถิง (Lin Yu-ting) นักกีฬาชาวไต้หวัน ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ผ่านเกณฑ์เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ IBA เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทั้งคู่ไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขัน เพราะองค์กรต้องการให้เกิดความยุติธรรม และทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดในสังเวียน โดยระบุว่า ขั้นตอนการตรวจสอบไม่ใช่การวัดระดับเทสโทสเตอโรน แต่มีการทดสอบแยกที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียด
“เรายังคงต้องแบน 2 นักกีฬาต่อไป เพราะข้อกังวลทางการแพทย์” คริส โรเบิร์ต (Chris Roberts) ผู้บริหารสูงสุดของ IBA ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี พร้อมเล่าว่า เคลิฟเคยยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่ออนุญาโตตุลาการกีฬา แต่ถอนคำร้องในภายหลัง ก่อนย้ำว่า ทุกอย่างค่อนข้างชัดเจน เพราะนักกีฬาอีกฝ่ายมีน้ำหนักและคุณสมบัติที่เหนือกว่า โดยการทดสอบชี้ว่า เธอไม่ควรจะลงแข่งขันในกลุ่มผู้หญิง
Intersex: ภาวะเพศกำกวมที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ในวงการกีฬา
ปัจจุบัน ภาวะเพศกำกวมถือเป็นเรื่องถกเถียงในการแข่งขันกีฬา โดยที่ผ่านมามักใช้เกณฑ์ตัดสินจุดแบ่งแยกคือ การตรวจเพศผ่านโครโมโซม หรือระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
ในอดีต เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นในวงการกรีฑากับ แคสเตอร์ เซเมนยา (Caster Semenya) แชมป์กรีฑาหญิงชาวแอฟริกาใต้ ผู้คว้าเหรียญทองโอลิมปิกลอนดอน 2012 และโอลิมปิกริโอ 2016 โดยย้อนไปในปี 2009 มีข้อสงสัยว่า เธอมีความสามารถเกินเพศหญิง ทั้งร่างกายที่แข็งแรงและรูปร่างดูคล้ายผู้ชาย ทำให้สหพันธ์สมาคมกรีฑาโลก (International Association of Athletics Federations: IAAF) ตรวจร่างกายของเธอในเวลาต่อมา
สุดท้ายแล้วเซเมนยาลงแข่งขันตามปกติ และไม่มีการเปิดเผยผลทดสอบออกมา ปล่อยให้สังคมคาดเดาไปต่างๆ นานา ซึ่งในเวลานั้นนิตยสารไทม์ (TIME) ถึงกับขึ้นหน้าปกพาดพิงเธอด้วยหัวข้อ ‘แชมป์โลกผู้หญิงคนนี้อาจเป็นผู้ชายหรือเปล่า?’
ขณะที่ เอลิซา แคสมา (Elisa Cusma) นักกรีฑาชาวอิตาเลียนโจมตีว่า เซเมนยาไม่สมควรแข่งขันกับพวกเธอ เพราะไม่ใช่ผู้หญิง ตามมาด้วยรายงานโคมลอยของสื่อว่า นักกีฬาสาวชาวแอฟริกาใต้ไม่มีรังไข่หรืออวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง แต่มีอวัยวะเพศชายที่ผลิตเทสโทสเตอโรน ซึ่งมีระดับสูงกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า
อย่างไรก็ตาม เซเมนยาปฏิเสธพร้อมย้ำผ่านสื่อว่า เธอคือผู้หญิงมาตลอด และอยู่ในภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง (Hyperandrogenism) จนทำให้ต้องกินยาลดระดับฮอร์โมน ซึ่งตามมาด้วยผลกระทบด้านสุขภาพและจิตใจหลังจากนั้น
ไม่ว่าบทสรุปในสังเวียนโอลิมปิก 2024 จะลงเอยเช่นไร แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนทั้งในกรณีของเคลิฟและเซเมนยา คืออคติทางเพศและการสาดสีในวงการกีฬา โดยเฉพาะมายาคติความเป็นผู้หญิง ที่ถูกผูกขาดเพียงรูปลักษณ์ภายนอก ขณะที่สื่อมวลชน กระบอกเสียงของประชาชน สนใจแค่เพียงพาดหัวที่เรียกยอดเข้าชม แต่กลับละเลยหน้าที่ในการเปิดเผยข้อเท็จจริงในเนื้อหา
อ้างอิง
https://www.dailymail.co.uk/news/article-13697911/italian-giorgia-meloni-ioc-opponent-collapses.html
https://www.bbc.com/sport/olympics/articles/cw0yvln9z00o
https://www.reuters.com/sports/iba-accuses-ioc-political-agenda-after-olympic-exclusion-2024-03-21/
https://www.bbc.com/sport/athletics/67367157
https://www.vox.com/identities/2019/5/3/18526723/caster-semenya-800-gender-race-intersex-athletes
https://www.worldboxingnews.net/2024/08/01/angela-carini-pulls-out-fight-imane-khelif/
Tags: นักมวย, มวย, โอลิมปิกปารีส 2024, Olympics 2024, เพศกำกวม, Olympics, โอลิมปิก, intersex