นักกีฬาที่ ‘ทำการตลาด’ ได้ดีที่สุด

สมมติว่าคุณเป็นผู้จัดการด้านการตลาดให้กับแบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่อย่าง ไนกี้ อาดิดาส หรืออันเดอร์ อาร์เมอร์ และมีหน้าที่ในการเฟ้นหานักกีฬาที่จะมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ คุณสมบัติใดบ้างในตัวนักกีฬาที่คุณกำลังมองหาอยู่ เพราะในโลกยุคปัจุบัน การจะเป็นตัวแทนของแบรนด์ระดับโลกได้ แค่ ‘มีฝีมือ’ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป

แล้วนักกีฬาที่แบรนด์เหล่านั้นมองหา ต้องมีคุณสมบัติใดบ้าง?

สิ่งสำคัญพื้นฐานสำหรับการเป็นนักกีฬาที่มีฝีมือคือความสำเร็จ นักกีฬาต้องมีความเป็นผู้ชนะ โดยมีผลงานหรือถ้วยรางวัลเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าจะให้ดีกว่านั้น จะต้องมีอายุน้อย แถมมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จได้นานอีกด้วย

อีกข้อที่สำคัญคือแง่มุมของการตลาด นักกีฬาคนนั้นจะต้องเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อุปนิสัยที่เป็นที่ชื่นชอบของคนทั้งโลก หรืออย่างน้อยก็เป็นที่รู้จักในตลาดที่สามารถขยายไปอยู่ในระดับโลกได้

สรุปก็คือ 1. ประสบความสำเร็จ 2. อายุน้อย และ 3. เป็นที่รู้จักและสามารถทำการตลาดเป็นวงกว้างได้ 

นาโอมิ โอซากะ คือนักเทนนิสสาวที่มีคุณสมบัติทั้ง 3 อย่างครบถ้วน และแทบทุกเสียงของวงการเทนนิสการันตีว่า เธอกำลังจะก้าวเข้าไปสู่จุดสูงสุดของการเป็นนักเทนนิส และเป็นซูเปอร์สตาร์ที่ทั้งโลกต้องรู้จัก

ชื่อของ นาโอมิ โอซากะ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลังเธอสามารถเอาชนะ เซเรนา วิลเลียมส์ ตำนานนักเทนนิสหญิงผู้อยู่บนจุดสูงสุดของวงการมานาน รวมถึงเป็นไอดอลของตัวนาโอมิเองด้วย ในการแข่งขันยูเอสโอเพนรอบชิงชนะเลิศปี 2018 

การแข่งขันครั้งนั้นเต็มไปด้วยดราม่ามากมาย เพราะเซเรนาทะเลาะกับอัมไพร์ (ผู้ตัดสิน) รวมถึงกล่าวหาอัมไพร์ว่าเป็นพวกเหยียดเพศ และถูกปรับแต้ม จนทำให้นัดชิงชนะเลิศเป็นนาโอมิที่เอาชนะไปได้ แต่ก็ไม่ได้รับเกียรติยศและการยกย่องเท่าที่เธอควรจะได้รับ เธอรับรางวัลด้วยน้ำตาแห่งความผิดหวัง เธอไม่คิดเลยว่าการได้มาเจอไอดอลในนัดชิงที่เหมือนฝันแบบนี้จะกลายเป็นฝันร้ายขึ้นมาได้

Credit: New York Times

อย่างไรก็ดี นัดชิงสุดดราม่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ฟอร์มการเล่นของเธอตกลงไป เธอโชว์ฟอร์มสุดยอดด้วยคว้าแชมป์การแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนในปี 2019 ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์แกรนด์สแลม 2 ทัวร์นาเมนต์ติดต่อกันครั้งแรกในอาชีพ จากนั้นเธอก็แสดงความสามารถของเธอให้โลกเห็นอีก ด้วยการคว้าแชมป์ยูเอสโอเพนอีกครั้งในปี 2020 

อย่าลืมว่าตอนนี้เธอมีอายุแค่ 23 ปีเท่านั้น แต่เธอสามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมอย่างน้อย 1 รายการต่อปี เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน และนับจากนั้นเธอก็ไต่อันดับสู่การเป็นนักเทนนิสหญิงอันดับ 1 ของโลกอย่างไม่ยากเย็น 

การได้รับความสำเร็จมากมายขนาดนี้ ย่อมส่งผลอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกีฬาเทนนิส 

ตั้งแต่ปี 1990 ทุกครั้งที่นิตยสาร ฟอร์บส์ ทำการจัดอันดับนักกีฬาหญิงที่มีรายได้มากที่สุดในโลก ก็มักจะเป็นของนักเทนนิสหญิงเสมอ ไม่ว่าจะเป็น มาเรีย ชาราโปวา, สเตฟฟี กราฟ หรือเซเรนา วิลเลียมส์ แต่นาโอมิสามารถทำรายได้แซงทุกคนที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดในปี 2020

นาโอมิทำรายได้จากเงินรางวัล และเงินสนับสนุนจากแบรนด์ต่างๆ มากมาย จนทำให้เธอสร้างสถิติทำรายได้สูงสุดของนักกีฬาหญิงตลอดกาลด้วยเงินจำนวนกว่า 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เอาชนะสถิติรายได้สูงสุดของนางฟ้าเทนนิสอย่าง มาเรีย ชาราโปวา ในปี 2015 มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

กีฬาเทนนิสเป็นหนึ่งในกีฬาไม่กี่ชนิดที่นักกีฬาชายและหญิงได้รับเงินรางวัลที่พอจะเท่าเทียมกันบ้าง โดยเฉพาะในทัวร์นาเมนต์แกรนด์สแลม นักเทนนิสชายและหญิงจะได้รับเงินรางวัลเท่ากัน ไม่ว่าจะแข่งขันจบที่อันดับเท่าใดก็ตาม แต่ว่าในทัวร์นาเมนต์ที่มีชื่อชั้นต่ำกว่านั้น อัตราเงินรางวัลของนักเทนนิสชายก็ยังสูงกว่าอยู่ดี 

แต่ว่ารายได้หลักของนาโอมินั้น ไม่ใช่เงินรางวัลจากการแข่งขัน หากเป็นเงินจากการสนับสนุนของแบรนด์ โดยคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ทั้งหมดของเธอเลยทีเดียว 

‘ความขี้อาย’ ที่ลบล้างภาพจำเดิมๆ ที่นักกีฬาต้องดุดัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กีฬาเกิดความสนุกก็คือ ‘การแข่งขัน’ ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมแข่งขันล้วนต้องอยากเป็นผู้ชนะ จึงทำให้เป็นภาพจำของผู้ชนะในกีฬาต่างๆ ทั้งในและนอกสนามว่า ผู้ชนะต้องดูมีความดุดัน มั่นใจ สุขุมนุ่มลึก หรือมีความขี้เล่นยียวน สร้างความเอนเตอร์เทนให้กับคนดูได้อย่างไม่มีเบื่อ 

หากเปรียบแค่ตัวอย่างเฉพาะกีฬาเทนนิส ราฟาเอล นาดาล มีภาพลักษณ์แบบสิงโตที่ดุร้ายพร้อมขย้ำคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา เซเรนา วิลเลียมส์ ก็เหมือนตัวแทนของผู้หญิงที่แข็งแกร่งในยุคสมัยใหม่ ที่สามารถประสบความสำเร็จในในสายอาชีพพร้อมกับการเป็นแม่ควบคู่ไปด้วยกันได้ หรือโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ก็คือนักเทนนิสอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบในทุกท่วงท่า แต่ว่า นาโอมิ โอซากะ กลับไม่มีบุคลิกเหล่านี้อยู่ในตัวเลย

ตอนเธอให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังจากคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรกได้ เธอถูกถามว่าจะทำอะไรเป็นอย่างแรกหลังจากเป็นแชมป์ เธอก็ตอบว่า “นอนค่ะ” ด้วยสีหน้าเกร็งๆ และอึดอัดเล็กน้อย “ปกติแล้วฉันไม่ใช่คนที่เข้าสังคมเก่งเท่าไหร่ค่ะ ฉันอาจจะเล่นวิดีโอเกมมั้ง ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน” เธอตอบคำถามกับสื่ออย่างเคอะเขิน ก่อนที่จะได้รับเสียงหัวเราะด้วยความเอ็นดูจากสื่อกันยกใหญ่

ในปี 2019 คำว่า ‘shy’ (ขี้อาย) ถูกใช้ในการนิยามตัวตนของ นาโอมิ โอซากะ กว่า 200 ครั้งตามบทความออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเป็นการทำให้นาโอมิถูกเข้าใจผิดไปเล็กน้อยในช่วงแรกว่า เป็นเด็กขี้อาย

นาโอมิได้ค่อยๆ เปิดเผยสไตล์ของตัวเองออกมาทีละน้อย ในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร เธอเหมือนตัวแทนของเด็กยุคมิลเลนเนียลที่เติบโตมากับโลกอินเทอร์เน็ต และมีความอินโทรเวิร์ตอยู่ในตัวสูง ซึ่งเป็นสไตล์ที่ขัดกับเหล่าซูเปอร์สตาร์ในอดีต ที่มักจะเต็มไปด้วยความมั่นใจ กลับกลายเป็นว่าบุคลิกที่มีความนิ่งๆ และอารมณ์ขันแบบมิลเลนเนียลของนาโอมินั้น ทำให้เธอเอาชนะใจแฟนเทนนิสทั่วโลกได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนั้น เชื้อชาติของนาโอมิก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เธอได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะว่านาโอมิเป็นลูกครึ่ง ญี่ปุ่น-อเมริกัน โดยเธอเกิดที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ย้ายไปอยู่อเมริกาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ทำให้ชื่อเสียงของเธอนั้น เป็นที่รู้จักอย่างมากในประเทศที่เศรษฐกิจดีอันดับ 1 และอันดับ 3 ของโลก เรียกได้ว่าเป็นความฝันของเหล่านักการตลาดเลยทีเดียว

นาโอมิเป็นบุคคลที่ถือพาสปอร์ตของทั้งญี่ปุ่นและอเมริกา แต่เธอได้ตัดสินใจเลือกที่จะรับใช้ชาติญี่ปุ่นในการแข่งขันโอลิมปิก ปี 2020 ณ ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้การแข่งขันต้องเลื่อนไป เธอได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นหน้าเป็นตาของงานโอลิมปิกในครั้งนี้ และแน่นอนว่าการเลือกรับใช้ชาติญี่ปุ่นนั้นทำให้มีเหล่าสปอนเซอร์ชื่อดังจากญี่ปุ่นอย่างนิชชิน หรือ ANA เข้ามาเซ็นสัญญาเลือกเธอเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา

“ฉันอยากที่จะให้ความสนใจกับธุรกิจของฉันตอนนี้ โดยที่ไม่ต้องรอจนกว่าฉันจะเลิกเล่น”

สิ่งที่ทำให้คนในวงการกีฬาคาดว่า นาโอมิ โอซากะ จะกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ตำนานคนต่อไปก็คือ การเลือกที่จะดูแลการเงินและธุรกิจของตัวเธอเองตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพ เพราะว่าในโลกของนักกีฬา ชื่อเสียงและเงินทองจะหลั่งไหลเข้ามาเหมือนสายน้ำเมื่อประสบความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นมากมายก็หลงระเริงไปกับเงินทองจนไม่ระมัดระวัง ได้มาเท่าไหร่ก็จ่ายไปเท่านั้น จนเมื่อเลิกเล่นก็ต้องล้มละลายกันไป หรือแม้กระทั่งบางคนไม่ต้องรอจนถึงเลิกเล่นด้วยซ้ำ 

ปัจจุบัน เริ่มมีนักกีฬาชื่อดังที่หันมาเริ่มใส่ใจการลงทุนและเปิดธุรกิจใหม่ๆ ในช่วงสูงสุดของอาชีพ เพื่อป้องกันการล้มละลายในชีวิตบั้นปลายของตัวเอง เช่น เลบรอน เจมส์ หรือโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ แต่ว่านาโอมิเริ่มสนใจสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่อายุ 20 ปีเท่านั้น

นาโอมิบอกว่า เธอมี โคบี ไบรอันต์ ตำนานบาสเก็ตบอลผู้ล่วงลับเป็นตัวอย่างในการลงทุนและจัดการกับเงินของตัวเอง เพราะว่านอกจากการรักษาสถานะความเป็นซูเปอร์สตาร์ของตัวเอง โคบีก็มีธุรกิจร่วมเงินลงทุน (Venture Capital) เป็นของตัวเอง รวมถึงมีความสามารถในการลงทุนกับเงินอันมหาศาลของตัวเองได้อย่างชาญฉลาด

แน่นอนว่านักกีฬาที่มีชื่อเสียงอย่างนาโอมิย่อมดึงดูดการเซ็นสัญญาจากบริษัทใหญ่ๆ มากมาย เช่น ลีวายส์ หรือหลุยส์ วิตตอง ที่ต้องการเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้ แต่นาโอมิได้ทำการขยายพอร์ตของตัวเองด้วยการเซ็นสัญญากับบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กอย่าง Bodyarmor และ Hyperice โดยรับค่าตอบแทนเป็นสัดส่วนในการถือหุ้นบริษัทนั้นๆ แทนที่จะรับค่าตอบแทนเป็นแค่เงินเพียงอย่างเดียว

เหนือไปกว่านั้นเธอได้ทำงานร่วมกับ UNINTERRUPTED บริษัทของ เลบรอน เจมส์ ในการเซ็นสัญญากับเน็ตฟลิกซ์เพื่อทำสารคดีชุดเกี่ยวกับชีวิตของเธอ จนถึงการแข่งขันโอลิมปิกปี 2020 ที่โตเกียวอีกด้วย 

ทุกอย่างในชีวิตของ นาโอมิ โอซากะ นั้น ดูจะเพียบพร้อมเหลือเกินในการปูทางให้เธอเดินขึ้นไปสู่จุดสุดยอดของการเป็นนักกีฬาในแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน คงต้องคอยลุ้นเอาใจช่วยกันจริงๆ ว่าเธอจะสามารถไต่ภูเขาลูกนี้ไปได้สูงขนาดไหน

 

อ้างอิง:

https://www.youtube.com/watch?v=hnV6ZbZhb-o&ab_channel=AthleticInterest

https://www.forbes.com/sites/timnewcomb/2021/02/05/naomi-osaka-charting-fresh-business-path-as-partnership-agreements-mount/?sh=7d277e722e88

https://www.nytimes.com/2018/08/23/magazine/naomi-osakas-breakthrough-game.html

https://www.japantimes.co.jp/sports/2021/02/21/tennis/naomi-osaka-shy-youngster-grand-slam-champion/

Tags: , , , , ,