ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเรื่องฮือฮาในแวดวงฟุตบอลบ้านเรา เมื่อชายหนุ่มนาม อธิคุณ ปิ่นทอง ได้เข้าทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ทีมเยาวชน (Academy performance Analysis) ของสโมสรอาร์เซนอล ซึ่งบรรดาแฟนฟุตบอลมากหน้าหลายตาต่างร่วมแสดงความยินดี กับความสำเร็จของเขาในฐานะคนไทยที่มีโอกาสร่วมงานกับสโมสรยักษ์ใหญ่แห่งศึกพรีเมียร์ลีก 

อันที่จริงเรื่องราวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืนแต่อย่างใด หากแต่เป็นการเดินตามความฝันของอธิคุณ ในการเป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอลมาตลอดหลายปี นับตั้งแต่การเปิดเพจวิเคราะห์ฟุตบอลของตัวเอง เข้าเรียนในคณะที่เกี่ยวกับศาสตร์ของฟุตบอลในโซเลนท์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ก่อนจะเป็นเด็กฝึกงานในสโมสรแบงค็อกยูไนเต็ด ทีมชาติไทย สโมสรอ็อกฟอร์ด ยูไนเต็ด สโมสรเซาแธมป์ตัน กระทั่งได้ร่วมงานกับอาร์เซนอลในปัจจุบัน

The Momentum มีโอกาสสนทนากับพนักงานหน้าใหม่ของทีม ‘เดอะกันเนอร์’ รายนี้ ถึงแนวคิดในเส้นทางฟุตบอลของเขาตั้งแต่วันแรก ว่าวางแผนเส้นทางอย่างไร และมีทัศคติแบบไหน จึงจะกลายเป็นนักวิเคราะห์ระดับโลกเช่นนี้ได้ 

ความแตกต่างของการวิเคราะห์เกมฟุตบอลระหว่างแฟนฟุตบอลทั่วไปกับนักวิเคราะห์คืออะไร

สำหรับแฟนฟุตบอลผมคิดว่า เขาให้ความสำคัญกับเรื่องการยิงประตูมากที่สุด และจะมีอารมณ​์ร่วมกับเกมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะจังหวะฟาวล์หรือการตัดสินของกรรมการ 

แต่ในการวิเคราะห์ฟุตบอลเชิงลึก มีหลายปัจจัยให้พิจารณามากกว่านั้น ทั้งแผนการเล่นของทีมตัวเอง แผนการเล่นของทีมคู่แข่ง หรือรวมไปถึงเป้าหมายการเล่นของนักเตะแต่ละคน ซึ่งผมมองว่า อย่างหลังเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงโดยแฟนฟุตบอลเท่าไรนัก 

ยกตัวอย่าง ไค ฮาเวิร์ต (Kai Havertz) กองกลางของสโมสรอาร์เซนอล ที่ช่วงหนึ่งถูกตั้งคำถามถึงฟอร์มและความมั่นใจในการเล่น เพราะไม่สามารถยิงประตูให้กับสโมสรได้ในช่วงแรก แต่ผมในฐานะนักวิเคราะห์กลับมองว่า เขาทำหน้าที่ของตัวเองได้ค่อนข้างดีแล้ว ทั้งการวิ่งหาตำแหน่ง หรือการเคลื่อนตัวในขณะที่ไม่ได้ครองลูกฟุตบอล เพียงแต่จังหวะการจบสกอร์ยังมาไม่ถึงเขา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องปรับแก้ในแผนภาพรวมต่อไป แต่ถ้าให้ตัดคะแนนในการทำหน้าที่ของฮาเวิร์ต ผมก็ยังมองว่าเขาเป็นผู้เล่นที่สอบผ่าน 

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ในการวิเคราะห์จะมีระยะ (Phase) ของรูปเกมด้วย ยกตัวอย่างในเกมรุก ก็ต้องพิจารณากันตั้งแต่การขึ้นบอลจากแดนหลังเป็นอย่างไร การเปลี่ยนผ่านจากแดนตัวเองไปสู่แดนฝั่งตรงข้ามของกองกลางเป็นอย่างไร จังหวะในกรอบเขตโทษ รูปแบบการเข้าทำประตูของกองหน้าเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้นักวิเคราะห์ก็ต้องแยกส่วนพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนขึ้นไปอีก ซึ่งนี่เป็นแค่พื้นฐานเท่านั้น เพราะในแต่ละช่วงของรูปเกม จะมีรายละเอียดปลีกย่อยเจาะลึกลงไปอีก

สิ่งที่ผมจะสื่อคือ เราไมได้ดูกันแค่ว่าคนนี้ยิงประตูได้ คนนี้จ่ายบอลให้เพื่อนได้ หรือผู้รักษาประตูคนนี้มีจังหวะรับฟุตบอลยากๆ หรือไม่ เราต้องพิจารณาว่าหน้าที่ของผู้เล่นแต่ละคนในสนามคืออะไร เขาทำได้ตามแผนหรือคำสั่งของโค้ชหรือไม่ เคลื่อนตัวได้ถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งหากทำได้ดี เขาก็ควรได้รับคำชม แม้จะไม่ได้ดูโดดเด่น หรือหวือหวาในเกมครั้งนั้นเท่าไรนัก

คุณเองรู้จักคำว่า ‘วิเคราะห์ฟุตบอล’ ตั้งแต่เมื่อไร วันนั้นความเข้าใจของคุณต่อเรื่องนี้คืออะไร

ผมว่าต้องย้อนกลับตั้งแต่ตอนอายุ 18 ปี คือผมก็เป็นแฟนฟุตบอลคนหนึ่ง ติดตามดูฟุตบอลมาตลอด แล้วก็จะคิดอยู่เสมอว่า ทุกอย่างในเกมฟุตบอลมันต้องมีเหตุผลรองรับสิ ทำไมนักฟุตบอลคนนี้ถึงเก่งกว่าคนอื่น ทำไมเขาถึงเลี้ยงหลบคู่แข่งได้ง่ายๆ ทำไมบางคนมีชอตยิงไกลสวยๆ ตลอด ซึ่งผมก็พยายามหาคำตอบเสมอว่า มาจากอะไร จากแผนการเล่นของทีมไหม หรือการที่เพื่อนร่วมทีมคนอื่นช่วยเหลือเขา 

พอเราฝึกวิเคราะห์มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งต่อมาที่ผมทำคือการหาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งจากวิดีโอการแข่งขันฟุตบอล ที่จะเห็นภาพมุมกว้างมากขึ้น ยกตัวอย่างสมัยก่อนผมอาจจะดูแค่ว่านักฟุตบอลคนนี้ยิงประตูได้เพราะเขาเคลื่อนตัวแบบไหน แต่พอเราศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ จะเริ่มเห็นว่าในจังหวะทำประตูนั้น ผู้เล่นคนอื่นๆ เขาเริ่มขยับตัวอย่างไร จนทำให้นักฟุตบอลคนนั้นมีโอกาสทำประตูชัดเจนยิ่งขึ้น อีกอย่างคือพอเริ่มวิเคราะห์ให้หลากหลาย สิ่งที่ตามมาคือเราเริ่มใส่อารมณ์และอคติลงไปน้อยลง มองเกมฟุตบอลได้เป็นกลาง ได้ชัดเจนมากขึ้น

และสิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้น คือการวิเคราะห์แบบคาดการณ์ (What If) คือถ้าเรามีความรู้มากพอ เริ่มอ่านเกม วิเคราะห์จังหวะฟุตบอลเป็น ก็จะสามารถคาดการณ์ได้ว่า ถ้าทีมแบบนี้ใช้แผนแบบนี้กับทีมคู่ต่อสู้แบบนี้ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร หรือถ้าจะต้องการปรับแก้แผนการเล่นให้ทีมที่เป็นรองกลับมาได้เปรียบจะต้องทำอย่างไร ถ้าหากไปถึงจุดนี้ได้ ก็จะทำให้การวิเคราะห์ของคุณมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อทีมฟุตบอลมากยิ่งขึ้น

ความรู้แบบไหนที่ช่วยเสริมการวิเคราะห์ฟุตบอลให้ดีขึ้น

นอกจากเรื่องความรู้และมุมมองต่อการดูฟุตบอล ผมว่าสิ่งที่นักวิเคราะห์ควรรู้คือความสามารถของนักฟุตบอลในทีมนั้นๆ ว่า เขามีสมรรถนะร่างกายอย่างไร มีจุดด้อยจุดแข็งตรงไหน แล้วเหมาะสมกับตำแหน่งที่เขาเล่นหรือไม่ รวมไปถึงอาการบาดเจ็บต่างๆ เช่นกัน เพื่อวิเคราะห์และให้คำแนะนำการทีมว่า เราควรบริหารจัดการนักเตะคนนี้อย่างไร

ผมยกตัวอย่าง กาเบรียล เชซุส ​​(Gabriel Jesus) ที่ช่วงหนึ่งบาดเจ็บ พอจะกลับมาลงแข่งขันอีกครั้งก็ต้องค่อยๆ Build Performance ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสโมสรก็จะให้เขาลงแข่งขันในช่วงยี่สิบนาทีสุดท้ายก่อน เพื่อทดสอบความแข็งแรงในขณะนั้น จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาในการลงแข่งแมตช์ต่อๆ ไปให้นานยิ่งขึ้น เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ต้องมีความรู้เพื่อทำงานกับทีมงานในภาคส่วนอื่น

กับอีกอย่างในการเป็นนักวิเคราะห์อาชีพ เราก็ต้องมองคู่แข่งให้ขาดด้วย รู้ว่าเขาลงสนามด้วยรูปแบบการเล่นแบบไหน มีแผนการอย่างไร แล้วทีมเราเองจะรับมือและแก้เกมได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเราก็ต้องทำการบ้านและมานำเสนอให้ทีมดูเลยว่า หากจะแข่งกับทีมนี้ เราจะเริ่มส่งบอลจากแดนหลังอย่างไร โจมตีจากทางซ้ายหรือขวา และเข้าทำประตูในรูปแบบใด คือต้องมีแผน มี Excution ให้กับทีมหลังจากวิเคราะห์รูปเกมมาแล้ว เพื่อให้โค้ชนำไปปรับใช้ต่อได้

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรู้แบบนี้ตั้งแต่เริ่ม ตัวคุณเองเริ่มสะสมความรู้ตรงนี้ขึ้นมาได้อย่างไร 

ส่วนตัวผมเริ่มต้นจากการทำเพจของตัวเอง ชื่อว่า The Next Coach (ทำร่วมกับ พันธุ์นารายณ์ พันธุ์ศิริ โค้ชผู้ฝึกสอนสโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล) ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่งที่ใช้บันทึกการวิเคราะห์ของเรา ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ของตัวเองขึ้นมา

อีกอย่างคือการทำสื่อของตัวเองมันต่อยอดได้ เพราะการมีที่ทางของตัวเองสามารถพาเราไปสู่สังคม ไปสู่โอกาสในแวดวงฟุตบอลที่เราตั้งใจไว้

หรือในช่วงที่มีโอกาสได้ทำงานกับทีมชาติไทยและสโมสรแบงค็อกยูไนเต็ด ผมก็เรียนรู้ด้วยวิธีการฟังและลองทำ คือผมรับข้อมูลมาเยอะ ทั้งจากคนในทีม ทั้งจากสื่อต่างๆ ที่เขาวิเคราะห์เกมฟุตบอลต่างประเทศ เราก็เอามาประเมิน มาทดลองดู ว่าจริงอย่างที่เขาบอกไหม ถ้าจะให้ดีหรือเหมาะกับทีมที่เราดูแลอยู่จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร 

อันดับแรกคือต้องลองเริ่มลงมือดูก่อน

ใช่ ทั้งการลองหาความรู้ หาช่องทางของตัวเอง รวมถึงหาโอกาสที่จะเข้ามาในชีวิต คือมันอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ ไม่มีใครรู้ แต่อย่างน้อยถ้าได้ลองทำ สิ่งที่จะได้แน่ๆ คือได้เรียนรู้และได้ปรับปรุง เพื่อพัฒนาตัวเราให้ดีขึ้นไปได้

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีหลายคนที่ทำคอนเทนต์และพยายามวิเคราะห์ฟุตบอลเช่นกัน แต่เหตุใดพวกเขาจึงไม่สามารถพัฒนาต่อจนกลายมาเป็นนักวิเคราะห์อาชีพได้

ผมว่าหลายคนอาจจะไม่ได้วางแผนให้เป็นขั้นตอนที่ชัดเจนเท่าไร ว่าจากจุดหนึ่งจะไปจากจุดหนึ่งอย่างไร และจะก้าวต่อไปสู่จุดที่ตัวเองฝันอย่างไรบ้าง 

อย่างผมก็เริ่มต้นจากศูนย์ จากมีเพจของตัวเองก็เริ่มไปศึกษาเพิ่มเติม ได้เป็นเด็กฝึกงาน จนได้มาทำงานที่อาร์เซนอล คือค่อยๆ ไต่ขึ้นมาเป็นบันไดตามแผนที่วางไว้ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ 

คุณมองว่าประสบการณ์การทำงานเป็นนักวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ ส่งผลต่อการเข้ามารับตำแหน่งนักวิเคราะห์กับสโมสรอาร์เซนอลอย่างไรบ้าง

การทำงานในแต่ละที่ก็เป็นเหมือนโรงเรียนแต่ละแห่ง ที่ให้ความรู้แบบต่างๆ ให้ผมมาปรับใช้ทุกวันนี้ ซึ่งบางเรื่องผมก็อาจไม่รู้ตัว อย่างเช่นตอนทำงานที่สโมสรแบงค็อกยูไนเต็ด ผมก็ได้ไอเดียในการเลือกวิธีนำเสนอบทวิเคราะห์ของเรารูปแบบวิดีโอ หรือการพรีเซนต์อย่างไรให้นักเตะเข้าใจมากที่สุด ซึ่งก็ต่อยอดไปสู่ตอนทำงานที่อ็อกฟอร์ดยูไนเต็ดที่ได้ใช้อะไรเหล่านี้เหมือนกัน 

เรื่องนี้สำคัญมากกับการนำเสนอไอเดียของเรา คือต่อให้คุณวิเคราะห์เก่งแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถถ่ายทอดให้ผู้เล่นได้ ก็แทบไม่มีประโยชน์กับทีมเลย 

หมายความว่าการจะแสดงทัศนะหรือการวิเคราะห์แต่ละครั้ง จำเป็นอย่างมากที่ต้องทำพรีเซนเทชันนำเสนอไอเดียของเรา

ใช่ และส่วนใหญ่ผมจะทำงานในรูปแบบวิดีโอค่อนข้างมากด้วย คือนักวิเคราะห์แต่ละคนอาจมีสไตล์ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะแค่ชอบพูด แต่ผมชอบเสนอให้เห็นภาพ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมทำงานกับเด็กด้วย ซึ่งเขาจะมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องยากๆ ได้ไม่ค่อยนาน เลยต้องหาวิธีในการให้เขาเรียนรู้สิ่งที่เราจะสื่อให้มากที่สุด

แล้วพอยิ่งมาอยู่กับสโมสรใหญ่ๆ การทำวิดีโอยิ่งสนุกเลย ยกตัวอย่างตอนอยู่กับสโมสรเซาธ์แฮมป์ตัน เขาสอนเราเลยว่า ถ้าอยากได้คลิปการเล่นฟุตบอลแบบนี้ อยากได้รีเพลย์แมตช์นี้ ต้องทำอย่างไร นั่นยิ่งทำให้สิ่งที่เราวิเคราะห์และต้องการนำเสนอชัดเจน เข้าใจ และถูกนำไปปรับใช้กับทีมมากยิ่งขึ้น 

การทำงานเป็นนักวิเคราะห์ให้กับสโมสรสักทีมจะต้องทำอะไรบ้าง

ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อันดับแรกต้องพิจารณาก่อนว่า ทีมชุดนั้นเป้าหมายคืออะไร

อย่างทีมชุดใหญ่ แน่นอนว่าเป้าหมายคือต้องชนะในทุกสัปดาห์ของการแข่งขัน อาจจะต้องวิเคราะห์รูปเกม วิเคราะห์คู่แข่ง แต่ถ้าหากเป็นทีมชุดเล็ก ชุดเยาวชนที่ผมดูแล ส่วนใหญ่จะวิเคราะห์หลังการแข่งขันมากกว่าว่า นักเตะในทีมเราบกพร่องตรงไหน ควรพัฒนาอย่างไร หรือจุดแข็งของทีมในขณะนี้คือเรื่องไหน 

แล้วก็จะมีอีกประเภทหนึ่งเป็นวิดีโอเสริมทักษะในแต่ละสัปดาห์ สมมติสัปดาห์นี้ผมอาจมองเห็นเรื่องปัญหาของผู้เล่นตำแหน่งแบ็กซ้าย-ขวา เราก็อาจทำวิดีโอวิเคราะห์มานำเสนอว่าผู้เล่นตำแหน่งแบ็กของเรามีปัญหาตรงไหน ควรเล่นฟุตบอลอย่างไร หรือควรต้องพัฒนาทักษะและร่างกายส่วนไหนเพิ่มเติม 

นอกจากนี้ก็จะเป็นการวิเคราะห์นักเตะรายบุคคลซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละทีม ในแต่ละช่วงเวลา 

สำหรับการวิเคราะห์นักฟุตบอลรายบุคคลต้องพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง

สำคัญอันดับแรก คือทีมต้องการอะไรจากนักเตะคนนี้ที่ไปเล่นตำแหน่งนี้ ยกตัวอย่างเช่นสมมติเป็นผู้เล่นตำแหน่งฟูลแบ็กก็อาจจะต้องดูว่า หน้าที่เขาคืออะไร ในพื้นที่บนสนามเขาทำได้ดีไหม ทั้งในช่วงที่ครองลูกฟุตบอลและไม่ได้ครองลูกฟุตบอลก็ตาม จากนั้นก็ต้องมาดูต่อว่าทางสโมสรเขาอยากได้ข้อมูลเรื่องอะไรจากผู้เล่นคนนี้ แล้วเราก็ค่อยวิเคราะห์ต่อไป 

อะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับการทำงานอาชีพนักวิเคราะห์

เรื่องเวลาที่เสียไป (Time Consuming) เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะผมทำงานกับวิดีโอ ซึ่งการจะทำสักชิ้นหนึ่งใช้เวลาเยอะมาก ทั้งในการหาแหล่งข้อมูล การกรองต่างๆ ไหนจะตัดต่อเรียบเรียง และที่สำคัญคือมันต้องดี ต้องละเอียดด้วย 

หรือในบางทีเวลาโค้ชเขาอยากให้เราหาข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ ก็เป็นเรื่องที่วัดทักษะและประสบการณ์เราเหมือนกัน ว่าจะทำออกมาได้ดีไหม ในเมื่อไม่ได้เริ่มมาจากไอเดียตัวเอง ยกตัวอย่างครั้งหนึ่งที่โค้ชให้ผมไปหาทีมที่เล่นแผนฟุตบอลระบบ 4-4-2 มาวิเคราะห์ ผมก็ต้องรีเสิร์ชแล้วว่าทีมอะไรที่เล่นแผนนี้บ้าง ซึ่งถ้าไม่มีความรู้หรือประสบการณ์มันจะกลายเป็นเรื่องที่ยากมาก

การเป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอลจำเป็นต้องดูฟุตบอลให้เยอะเข้าไว้ไหม

เยอะมาก เยอะจนบางทีเลี่ยนเลย บางสัปดาห์คือ 6-7 แมตช์ บางวันคือตอนเช้าไปดูทีมเยาวชน ตอนเย็นต้องไปดูทีมชุดใหญ่ แบบนี้ก็มี 

แต่ส่วนหนึ่งมันก็เป็นความสุขของผมด้วย แม้ในระหว่างดูอาจไม่ได้สุขขนาดนั้น (หัวเราะ) เพราะการไปดูสักที่หนึ่งคือเราได้ตั๋วมาจากสโมสร ซึ่งเขากำชับว่าไปดูฟุตบอลแต่ละครั้งต้องได้ข้อมูลอะไรกลับมาด้วยนะ 

ซึ่งผมก็ทำนะ บางทีเราดูเกมอยู่แล้วเจอจังหวะที่ไอเดียมันผุดเข้ามา ก็จะจดเอาไว้ในโทรศัพท์ว่าในเกมฟุตบอลวันนี้ มันเป็นแบบนี้นะ มันเอาไปต่อยอดต่อได้ 

ในระหว่างดูก็ต้องจริงจัง คอยบันทึกรายละเอียดต่างๆ แบบนี้ตลอดเลยเหรอ

 จริงๆ ก็ไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น บางทีก็ปล่อยใจ สนุกไปกับเกมบ้าง แต่ถ้าเกมของทีมชุดเยาวชน โดยเฉพาะที่เราดูแลอยู่จะจริงจังหน่อย ต้องบันทึกตลอดว่านักเตะเขาได้ทำตามที่เราบอกไหม เพื่อเอาไปปรับใช้ในการวิเคราะห์หลังการแข่งขันที่เป็นงานของผม

แต่เอาเข้าจริงสุดท้ายในการวิเคราะห์ ในวิดีโอของผม ก็ไม่ได้จริงจังกดดันขนาดนั้น เพราะเวลาเราจะพูดถึงปัญหาให้กับคนที่ทำผิด ถ้าเราไปพูดกันแบบขวานผ่านซาก บอกว่าเขาทำผิด นักเตะก็จะเสียกำลังใจ เสียความมั่นใจเปล่าๆ ดังนั้น ในช่วงการนำเสนอของผมเลยจะต้องทำให้ดูผ่อนคลาย ทำให้เห็นว่าเป็นจุดที่อยากเห็นคุณพัฒนาต่อ ไม่ได้จะมาซ้ำเติมข้อผิดพลาดกัน

ผมมีกฎอยู่ข้อหนึ่งในการนำเสนอกับทีมเยาวชนคือ No Stupid Question ทุกคำถามสามารถถามได้หมดเลย เพราะบางเรื่องเขาอาจจะยังไม่เข้าใจจริงๆ บางเรื่องเขาอาจจะยังเด็กอยู่ เราจึงต้องค่อยๆ ป้อนข้อมูลให้เขาได้เรียนรู้ 

อีกอย่างที่ผมพยายามทำ คืออยากให้นักเตะเองสามารถเป็นคนทำวิดีโอวิเคราะห์ฟอร์มการเล่นของทีมตัวเองได้ เพราะอยากให้เขาได้ลองดู ได้พิจารณาการเล่นของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพและพัฒนาไปได้ดียิ่งขึ้น 

การวิเคราะห์ฟุตบอลให้กับนักเตะรุ่นเยาวชน มีความแตกต่างจากนักเตะชุดใหญ่อย่างไรบ้าง

นักเตะเยาวชน ในมุมหนึ่งเขาก็คือเด็กคนหนึ่ง ยังมีจุดบกพร่อง มีจุดผิดพลาดค่อนข้างเยอะ แต่ข้อดีคือเขาเป็นช่วงวัยที่เต็มไปด้วยแพสชัน ดังนั้น เขาจึงพร้อมที่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาด

สิ่งที่นักวิเคราะห์ต้องทำ คือต้องเข้าใจว่าคนในช่วงวัยประมาณ 13-14 ปี เขาต้องการอะไรจากฟุตบอล เขารับข้อมูลได้มากแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่า เด็กอายุเท่านี้ ในอีกด้านหนึ่งของชีวิตเขายังเป็นนักเรียน ยังเป็นวัยที่ติดเพื่อนอยู่ ก็ต้องค่อยๆ ป้อนข้อมูลเรื่องฟุตบอลให้เขาเติบโตไปกับช่วงวัยอย่างถูกต้อง 

ฉะนั้น การวิเคราะห์ทีมชุดเยาวชน ผลลัพธ์คือการทำให้เขาพัฒนากลายเป็นนักฟุตบอลที่มีดี และเติบโตไปเป็นวัยรุ่นที่มีคุณภาพไปพร้อมกัน 

เป้าหมายคือการพัฒนาให้นักเตะเยาวชนกลายมาเป็นผู้เล่นชุดใหญ่ที่มีคุณภาพ

ใช่ แล้วพอมาเป็นผู้เล่นชุดใหญ่ คราวนี้จะแตกต่างออกไปแล้ว เราจะคุยกันแค่เรื่องทำอย่างไรให้สโมสรสามารถเอาชนะทีมตรงข้ามได้ 

ในวันนี้ความสุขของการทำงานเป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอลคืออะไร

อย่างแรกคือการได้สอนใครบางคน ได้เห็นเขาพัฒนา ได้เติบโตไปเป็นนักฟุตบอลที่ดี อย่างในบางรายที่เขาติดทีมชาตินี่ ผมยิ้มไม่หุบเลย ดังนั้น การประสบความสำเร็จของนักเตะในทีมคือความสุขแรกของผม

แต่ในระหว่างที่อยู่ด้วยกันก็มีความสุขเหมือนกัน เวลาได้ไปแข่งกับสนามสโมสรยักษ์ใหญ่ต่างๆ ได้อยู่ร่วมกับพวกเขา ได้ดีใจ ได้เสียใจด้วยกัน ก็เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าและมีความสุขของตัวผม 

หากใครสนใจอยากพัฒนาตัวเองมาเป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอลอาชีพ คุณมีอะไรอยากแนะนำพวกเขาบ้าง

ประสบการณ์ แพสชัน และความรู้สามสิ่งนี้สำคัญที่สุด จำเป็นกว่าการเริ่มต้นด้วยมหาวิทยาลัยดีๆ สักแห่งอีก สำหรับการเป็นนักวิเคราะห์ที่สำคัญคือต้องสร้างโอกาส หาช่องทาง สร้างความแตกต่างให้กับตัวเองเยอะๆ เพื่อให้โปรไฟล์ของเราโดดเด่น และเตะตาออกมาจากนักวิเคราะห์คนอื่นๆ อันนี้เป็นคำแนะนำจากในมุมมองของผม 

อีกอย่างคือกล้าลองผิดลองถูก กล้าที่จะผิดพลาดในการเสนอไอเดีย เพราะทำให้เราออกจากกรอบ ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน ถ้าผิดก็ไม่เป็นไรค่อยเริ่มใหม่ แต่ถ้าถูกต้องไปต่อได้ ก็จะมอบผลลัพธ์ที่ล้ำค่าตามมาให้คุณอย่างแน่นอน 

Tags: , , , , ,