กลายเป็นประเด็นที่น่าจับตา เมื่อองค์กรกีฬาชั้นนำในอังกฤษร่วมกันคว่ำบาตรสื่อออนไลน์เป็นเวลา 81 ชั่วโมง ด้วยการไม่โพสต์สิ่งใดลงโซเชียลมีเดียของตนเอง เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2564 เพื่อเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ดำเนินการให้มากขึ้นในการหยุดการล่วงละเมิดทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความหรือการมองเห็น
พรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นลีกฟุตบอลสูงสุดของอังกฤษ รวมถึงกลุ่มแคมเปญต่อต้านการเหยียดผิว Kick It Out เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เรียกร้องให้มีมาตรการใหม่ๆ เพื่อจัดการกับความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัติ รวมถึงข้อกำหนดให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในโซเชียลมีเดียแสดงคำแจ้งเตือน หากมีผู้ใช้งานเขียนข้อความที่ไม่เหมาะสม หรือขอให้ผู้ใช้งานป้อนข้อมูลส่วนบุคคล หากพวกเขายืนยันต้องการส่งข้อความ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้บริษัทโซเชียลมีเดียต้องส่งรายงานเป็นรายไตรมาสโดยละเอียดเพื่อสรุปถึงความพยายามที่ทางบริษัททำในการป้องกันการละเมิดทางออนไลน์
การคว่ำบาตรดังกล่าวเริ่มต้นครั้งแรกโดยสโมสรฟุตบอลและผู้เล่นจำนวนมาก รวมถึงสมาคมฟุตบอล ที่ประกาศระยะเวลาของการคว่ำบาตร ซึ่งจะครอบคลุมโปรแกรมการแข่งขันช่วงวันหยุดของธนาคารในวันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2564 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. จนถึงวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564 เวลา 23.59 น.
ภายหลังจากจุดเริ่มต้นนั้น องค์กรกีฬาอื่นๆ จำนวนมากในอังกฤษ รวมถึงสหราชอาณาจักร ก็ได้เข้าร่วมแคมเปญนี้ อาทิ คณะกรรมการคริกเก็ตอังกฤษและเวลส์, พรีเมียร์ชิปรักบี้, สมาคมกีฬาลอนเทนนิส, ยูฟ่า รวมถึงสื่อกีฬายักษ์ใหญ่อย่าง Guardian Sport, BT Sport และ Sky Sports นอกจากนี้ ผู้สนับสนุนพรีเมียร์ลีกอย่าง Nike, Budweiser, EA Sports และ Barclays ก็จะเข้าร่วมการคว่ำบาตรโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ยักษ์ใหญ่แห่งโซเชียลมีเดียทั้งหลายต้องปฏิบัติมากขึ้น เพื่อขจัดความเกลียดชังทางออนไลน์
วิล วูดวอร์ด (Will Woodward) หัวหน้าฝ่ายกีฬาของ Guardian News & Media กล่าวว่า “เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดผิว และการเลือกปฏิบัติทางออนไลน์ในทุกรูปแบบ สุดสัปดาห์นี้เราได้ตัดสินใจที่จะระงับการโพสต์โดยตรงจากทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมของ Guardian Sport ในสหราชอาณาจักร ร่วมกับองค์กรอื่นๆ ในแวดวงกีฬาที่คว่ำบาตรโซเชียลมีเดียในช่วงเวลานี้ การเคลื่อนไหวนี้ควรได้รับการปฏิบัติควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นของเรา ที่จะรายงานและตรวจสอบเรื่องสำคัญนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงรายงานพิเศษเชิงลึกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
“โดยทั่วไป เราไม่นิยมการคว่ำบาตร เราเชื่อว่าข่าวสารและความคิดเห็นที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญ แต่การละเมิดอย่างไม่ลดละจำเป็นต้องหยุดลง มันจึงสำคัญที่เราต้องยืนหยัดต่อเรื่องนี้”
ขณะที่ อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน (Aleksander Ceferin) ประธานยูฟ่า (UEFA) หรือสมาคมฟุตบอลยุโรป ได้ให้การสนับสนุนโครงการตั้งแต่ต้นกล่าวว่า การปล่อยให้วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังเติบโตขึ้นโดยไม่ต้องมีใครรับโทษเป็นเรื่องที่อันตราย
“ไม่เพียงแต่สำหรับฟุตบอล แต่สำหรับสังคมโดยรวม เรามีคนขี้ขลาดเหล่านี้จำนวนมากที่ซ่อนตัวอยู่โดยไม่เปิดเผยตัวตน และพ่นอุดมการณ์ที่เป็นพิษของพวกเขาออกไป
“เรารู้ดีว่าการคว่ำบาตรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถขจัดความหายนะของการละเมิดทางออนไลน์ได้ นั่นคือเหตุผลที่เราจะดำเนินการเชิงรุกต่อไป เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง เราจะไม่หยุดคัดค้านบริษัทโซเชียลมีเดียจนกว่าเราจะเห็นการดำเนินการที่เพียงพอ”
สำหรับแถลงการณ์ของการคว่ำบาตรครั้งนี้มีประเด็นที่สำคัญอยู่สามข้อ
1. วางมาตรการป้องกันและการลบออกที่เข้มงวดขึ้น เพื่อหยุดการส่งหรือการพบเห็นข้อความที่เป็นการละเมิด
2. รับผิดชอบต่อความปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม และปกป้องผู้ใช้ โดยใช้การตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
3. รับรองผลที่ตามมาในชีวิตจริง สำหรับการเลือกปฏิบัติโดยมิชอบทางออนไลน์
นอกจากนี้ การคว่ำบาตรซึ่งนำโดยแคมเปญ Kick It Out ยังเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบให้แน่ใจว่า ร่างกฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ที่จะเกิดขึ้น จะทำให้บริษัทโซเชียลมีเดียมีความรับผิดชอบมากขึ้น
ภายใต้แผนการที่ประกาศเมื่อปีก่อนโดยฝ่ายดิจิทัล วัฒนธรรมสื่อ และกีฬา เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์อาจต้องเผชิญกับค่าปรับสูงถึง 10% ของมูลค่าการซื้อขายต่อปี หากฝ่าฝืนกฎการดูแลดังกล่าว
“เราต้องการให้บริษัทโซเชียลมีเดียปฏิบัติมากขึ้น และดำเนินการเร็วขึ้น” ซานเจย์ บานดารี (Sanjay Bhandari) ประธาน Kick It Out กล่าว “เราต้องการให้พวกเขาสร้างแพลตฟอร์มของพวกเขาเองให้มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรสำหรับพวกคนที่น่ารังเกียจ มากกว่าสำหรับครอบครัวฟุตบอล เราต้องการให้รัฐบาลรักษาสัญญาที่จะคอยกำกับเรื่องเหล่านี้”
จากการสอบสวนของ PFA หรือสมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษ แสดงให้เห็นว่า มีทวีตที่เป็นการเหยียดผิวจำนวน 31 ข้อความ จาก 56 ข้อความ ที่โพสต์ในระหว่างการเริ่มโครงการคว่ำบาตรนี้ และยังคงเผยแพร่อยู่บนโซเชียลมีเดีย โดย ซิโมเน พาวนด์ (Simone Pound) ผู้อำนวยการด้านความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการร่วมมือของ PFA กล่าวว่า “สถานการณ์นี้ไม่สามารถยอมรับได้อย่างแน่นอน ในขณะที่แพลตฟอร์มต่างๆ เน้นย้ำหลายครั้งว่าพวกเขากำลังทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อต่อสู้กับการละเมิดทางออนไลน์ แต่การเหยียดเชื้อชาติอย่างรุนแรงยังคงปรากฏให้เห็นบนทวิตเตอร์ห้าเดือนหลังจากที่เราให้หลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม”
จากเรื่องราวดังกล่าวทำให้ฝั่งทวิตเตอร์ต้องออกมาแถลงการณ์ โดยทางโฆษกของทวิตเตอร์กล่าวว่า ทวิตเตอร์แน่วแน่ในคำมั่นสัญญาที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่า การพูดคุยเรื่องฟุตบอลในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์จะปลอดภัยสำหรับแฟนกีฬาและนักกีฬาทุกคน โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ทำการปรับปรุงมาตรการเชิงรุกโดยการลบข้อความละเมิดออกไปกว่า 90%
“พฤติกรรมเหยียดผิว การล่วงละเมิด และการคุกคาม จะต้องไม่มีอยู่ในพื้นที่การให้บริการของเรา รวมถึงพันธมิตรของเราในวงการฟุตบอล เราขอประณามการเหยียดในทุกรูปแบบ” โฆษกกล่าว ในขณะที่เฟซบุ๊กยังไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นใดๆ
นับเป็นความร่วมมือในระดับใหญ่ของวงการกีฬาในอังกฤษและสหราชอาณาจักรที่น่าสนใจ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่สำคัญขึ้นมา และทำให้ผู้บริการโซเชียลมีเดียได้มองเห็นถึงปัญหาการละเมิดดังกล่าวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงทำให้มีมาตรการในการจัดการที่ชัดเจนและเด็ดขาดมากขึ้น
เพราะกีฬาควรเป็นโลกแห่งความมีน้ำใจ ไม่ใช่ความเกลียดชัง
อ้างอิง
https://www.bbc.com/sport/cricket/56915338
Tags: โซเชียลมีเดีย, ฟุตบอล, กีฬา, Game On, Kick it out