นี่อาจไม่ใช่งานที่เหล่าผู้เข้าร่วมมาเพื่อห้ำหั่นกันในการแข่งขัน ไม่มีการคัดเลือก ไม่มีการแบ่งแยก แต่เป็นเวทีที่ให้เหล่า LGBT ทุกคนที่สนใจได้มีโอกาสแสดงออกและใช้เวลาร่วมกัน โดยมีกีฬาและวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์
เกย์เกมส์ (Gay Games) เป็นงานมหกรรมกีฬาและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการยอมรับความหลากหลายทางเพศ โดยมีนักกีฬา ศิลปิน และบุคคลอื่นๆ ที่เป็นเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ (LGBT) เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี ไม่ต่างกับการแข่งขันระดับเมเจอร์อย่างโอลิมปิก
หลังเปิดฉากครั้งแรกในปี 1982 จนถึงวันนี้ Gay Games กำลังจะครบรอบ 40 ปี ในปีหน้า (2022) และเป็นปีที่มหกรรมกีฬาของชาวสีรุ้งนี้จะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชีย โดยมีเจ้าภาพคือฮ่องกง ดินแดนในการปกครองของจีน ที่ยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งแยกเพศสภาพในสังคม
แต่ก้าวใหม่ในครั้งนี้อาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ไม่มากก็น้อย
เพราะกีฬาคือหนึ่งในสิ่งที่เป็นภาพสะท้อนของความหลากหลายบนโลกได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดใด รุ่นใด หรือมีร่างกายแบบใด ก็ล้วนมีพื้นที่ให้ได้เข้าร่วมชิงชัย ยิ่งปัจจุบันที่โลกเดินหน้าเข้าสู่เรื่องของความหลากหลายและความเท่าเทียมแล้ว ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ไม่ว่าเพศสภาพแบบใดก็ควรมีแห่งหนให้ได้แสดงออก ในทุกสาขา ทุกอาชีพ และทุกความสนใจ
ไม่เว้นแม้แต่โลกกีฬา
แพทย์จากครอบครัวคาทอลิกผู้รณรงค์ให้เกิดเกย์เกมส์
ทอม แวดเดลล์ (Tom Waddell) เกิดปี 1937 ที่เมืองแพเทอร์สัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ในครอบครัวคาทอลิก เขารู้ตัวว่าเป็นเกย์ตอนเรียนอยู่โรงเรียนมัธยม แต่เขาพยายามปรามความรู้สึกของตัวเอง และทุ่มสมาธิเข้าสู่โลกของกีฬา โดยเฉพาะกรีฑา และในที่สุด ความหลงใหลในกีฬาก็พาให้เขาได้เป็นหนึ่งในนักทศกรีฑาทีมชาติสหรัฐอเมริกา ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1968 ที่เม็กซิโกซิตี้ โดยแวดเดลล์ได้อันดับที่ 6 จากผู้เข้าแข่งขัน 33 คน และสามารถทำลายสถิติส่วนตัวได้ห้ารายการ จากสิบรายการแข่งขัน
หลายปีหลังวางมือจากโอลิมปิก งานหลักของแวดเดลล์ในฐานะแพทย์ ได้พาเขาเดินทางไปทั่วโลก กระทั่งมาตกหลุมรักแคลิฟอร์เนีย และย้ายไปอยู่ซานฟรานซิสโก ที่นั่น เขามีโอกาสเข้าร่วมทีมโบว์ลิงเกย์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เขามีแนวคิดอยากจัดการแข่งขันกีฬาเกย์ตามรูปแบบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ก่อนที่เขาจะใช้เวลาเดินทางไปทั่วสหรัฐอเมริกาเพื่อรณรงค์หาแนวร่วมสนับสนุนในการจัดโอลิมปิกเกย์ให้เกิดขึ้น
ในที่สุด มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกย์ก็เตรียมเปิดฉากครั้งแรกที่ซานฟรานซิสโก ปี 1982 ในฐานะการแข่งขันกีฬาและเทศกาลศิลปะ หากแต่สามสัปดาห์ก่อนการแข่งขันจะเริ่ม แวดเดลล์และเกย์โอลิมปิกก็ต้องเผชิญกับข้อฟ้องร้องจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา (USOC) ที่ไม่ต้องการให้มีคำว่าโอลิมปิกในชื่อการแข่งขัน รวมถึงเหรียญรางวัล ของที่ระลึก เสื้อยืด ป้าย และโปรแกรมแข่งขัน แวดเดลล์จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Gay Games’ และใช้ชื่อดังกล่าวตลอดมา
แต่ในขณะที่ชื่อเปลี่ยนไป ความคิดของแวดเดลล์ยังคงเหมือนเดิม คือการจัดแข่งขันกีฬาหลายประเภทที่เปิดกว้างสำหรับผู้เข้าแข่งขันทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เขาไม่ต้องการให้ Gay Games เป็นคู่แข่งหรือทางเลือกของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ต้องการนำแนวคิดของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาใช้กับมหกรรมกีฬาที่ผู้คนทุกเพศและทุกความสามารถร่วมแข่งขันได้ ในรูปแบบที่สะท้อนโครงสร้างของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
Gay Games จัดขึ้นครั้งแรกที่ซานฟรานซิสโก มีการแข่งขันกีฬา 17 ชนิด มีนักกีฬาเข้าร่วม 1,350 คน จาก 12 ประเทศ ได้รับเกียรติจาก ทินา เทอร์เนอร์ (Tina Turner) ศิลปินชื่อดังในการร้องเพลงเปิดงาน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของมหกรรมกีฬาและศิลปะขนาดใหญ่ ที่ช่วยยกระดับและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกถึงเพศสภาพของผู้เข้าร่วม และความภาคภูมิใจในฐานะนักกีฬา
จุดสิ้นสุดและจุดเริ่มต้นใหม่
เมื่อถึงการแข่งขัน Gay Games ครั้งที่สองในปี 1986 ซึ่งยังคงจัดที่ซานฟรานซิสโก มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มเป็นเท่าตัวจากครั้งแรกในปี 1982 โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันถึง 3,500 คน แต่ข่าวน่าเศร้าคือ แวดเดลล์ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอดส์ในปี 1985 เสียชีวิตลงในปี 1987 หนึ่งปีหลังการแข่งขัน Gay Games ครั้งที่สองสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม มรดกของการแข่งขันที่เขาทิ้งไว้กลายเป็นที่ยอมรับ และยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี
ในทางหนึ่ง Gay Games ก่อตั้งขึ้นในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตโรคเอดส์ ซึ่งกลายเป็นโอกาสสำคัญสำหรับชุมชน LGBT ในการเฉลิมฉลองของชีวิตและส่งเสริมการยอมรับ โดยหนึ่งในกิจกรรมทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของงาน คือการแสดงสัตว์น้ำสีสันสดใสที่เรียกว่า ‘ฟลามิงโกสีชมพู’ (Pink Flamingo) ที่มีฉากริบบิ้นสีแดงในน้ำ อันเป็นสัญลักษณ์ของวันเอดส์โลก เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ป่วยโรคเอดส์ นอกจากนี้ ในงานแข่งขันจะมีอาสาสมัครคอยจัดหาอุปกรณ์ทางเพศที่ปลอดภัยและถุงยางอนามัย เพื่อให้ความรู้แก่สาธารณชนอีกด้วย
ภายหลัง Gay Games ครั้งที่สองจบลง เมื่อการแข่งขันของโลกสีรุ้งเริ่มขยายใหญ่ขึ้น Gay Games ครั้งที่สามในปี 1990 ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา จึงเป็นครั้งแรกที่การแข่งขันถูกจัดขึ้นนอกสหรัฐอเมริกา พร้อมกับผู้เข้าร่วมการแข่งขันประมาณ 7,300 คน และสเกลงานที่ใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่า
แต่การจัดการแข่งขันนอกสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะเกมการแข่งขันถูกต่อต้านโดยกลุ่มอนุรักษนิยมในแวนคูเวอร์ รวมถึงมีสมาชิกของโบสถ์ Fraser Valley นำโฆษณาแบบเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ The Vancouver Sun และ The Province ประณามการจัดงานแข่งขันว่าเป็นการบุกรุกของ ‘การสังวาสแบบผิดธรรมชาติ’ ที่กำลังใกล้เข้ามา และสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกันที่ Empire Stadium เพื่อสวดมนต์ต่อต้านการจัดแข่งขัน ขณะที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอย่าง บิล แวนเดอร์ ซาล์ม (Bill Vander Zalm) ปฏิเสธที่จะให้เงินสนับสนุนการแข่งขันนี้
ดราม่าความไม่ลงรอย
ในการแข่งขัน Gay Games ครั้งที่ 7 เมื่อปี 2006 เกิดดราม่าขึ้นเล็กน้อย เดิมทีการแข่งขันมีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ในปี 2001 และต้องมีการวางแผนงานสำหรับนักกีฬาที่จะเข้าร่วมราว 24,000 คน ซึ่งเพิ่มเป็นสองเท่าจากการแข่งขันเมื่อปี 2002 ที่ออสเตรเลีย ขณะที่ทางสหพันธ์ Gay Games หรือ FGG (The Gay Games Federation) พยายามระมัดระวังที่จะไม่เสี่ยงในการเป็นหนี้ เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังประสบภาวะอ่อนแอหลังการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 แต่การเจรจาระหว่างคณะกรรมการกับเมืองมอนทรีออลกลับต้องพังไม่เป็นท่า เพราะทางฝั่งเมืองมอนทรีออลไม่มีความชัดเจนในแผนงบประมาณดังกล่าว
การเจรจาที่ไม่เป็นผลหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ในที่สุด ปี 2003 ทาง FGG จึงถอนสิทธิ์ที่จะจัดงานในมอนทรีออล และย้ายไปจัดที่ชิคาโกในปี 2006 แทน
แต่ดราม่ายังไม่จบ เพราะทางแคนาดาไม่ล้มเลิกความคิดการจัดงาน พวกเขาจึงริเริ่มจัดการแข่งขัน World Out Games ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาสำหรับชุมชน LGBT ขึ้นมาเพื่อเป็นคู่แข่งกับ Gay Games ในปี 2006 โดยทั้งสองการแข่งขันจัดขึ้นในเวลาห่างกันเพียงแค่หนึ่งอาทิตย์ จึงเกิดปัญหาที่นักกีฬาจำนวนมากต้องเลือกเข้าร่วมการแข่งขันอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากไม่มีเวลาพักฟื้นเพียงพอที่จะเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสองรายการ
ถึงแม้จะมีการพยายามหาทางออกโดยการรวมการแข่งขันทั้งสองเข้าด้วยกัน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ผลสุดท้ายจึงมีการเจรจาหาข้อสรุป โดยทาง World Out Games ยินยอมที่จะเลื่อนจัดการแข่งขันให้เร็วกว่า Gay Games หนึ่งปี และทำให้ทั้งสองรายการสามารถดำเนินการด้วยความสำเร็จทั้งคู่ ถึงแม้ว่า World Out Games จะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องจำนวนผู้ร่วมงานและเรื่องการเงินในบางปีก็ตาม
ครบรอบ 40ปี และการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในเอเชีย
ในปี 2022 การแข่งขัน Gay Games จะครบรอบ 40 ปี พอดี โดยความน่าสนใจคือการแข่งขันครั้งที่ 11 นี้ จะถูกจัดขึ้นที่ฮ่องกง ซึ่งนับเป็นดินแดนเอเชียแห่งแรกที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ หลังเอาชนะกวาดาลาฮารา (Guadalajara) และวอชิงตัน ดี.ซี. (Washington DC) ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก จากการโหวตในงานกาลาดินเนอร์ที่ Hôtel de Ville กรุงปารีส เมื่อปี 2017
แน่นอนว่าสิ่งที่น่าจับตาอีกอย่างคือ การที่ฮ่องกงซึ่งเป็นหนึ่งในดินแดนของประเทศจีน อันมีสถานการณ์ของ LGBT ที่ถูกกีดกัน และมีปัญหาเรื่องการแบ่งแยกเพศสภาพในสังคม สามารถลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพได้ รวมถึงความกล้าหาญของ FGG ที่เลือกฮ่องกงเป็นหมุดหมายใหม่ในการแข่งขันสีรุ้งครั้งหน้า
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะขจัดการเหมารวมเชิงลบเกี่ยวกับชุมชน LGBT” แจ็กกี้ เวียโรว์ (Jackie Vierow) ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาและหนึ่งในผู้จัดการแข่งขันกล่าว
“เราต้องการให้ผู้คนตระหนักว่า เมื่อเราร่วมกัน เราสามารถแบ่งปันประสบการณ์ด้านกีฬาและวัฒนธรรมได้ เราต้องการแสดงให้เห็นว่ากีฬาพาเรามารวมกันเป็นหนึ่ง และทำให้เราสามัคคี”
ขณะที่ฝั่งฮ่องกงซึ่งนำโดย ชาร์ลส์ อึ้ง (Charlz Ng) ผู้อำนวยการของ Hong Kong Festival Village กล่าวว่า เขาตื่นเต้นกับการที่เอเชียได้กลายเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬา LGBT ครั้งนี้ “คุณจะไม่เข้าใจความหมายของ Gays Game จนกว่าคุณจะได้เข้าร่วมจริงๆ ผมเคยไปร่วมงานที่ปารีสในปี 2018 และมันก็ยิ่งใหญ่กว่าที่คิดไว้มาก มันน่าทึ่งมาก”
“เมื่อคุณได้เป็นส่วนหนึ่งของ Gays Game มันจะเป็นสิ่งที่คุณไม่มีวันลืมไปชั่วชีวิต”
ความเปลี่ยนแปลงและอนาคตที่น่าจับตา
Gay Games ครั้งที่ 11 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-19 พฤศจิกายน 2022 ภายใต้สโลแกน ‘ความสามัคคีในความหลากหลาย’ โดยจะเป็นการผสมผสานระหว่างกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม ความสนุกสนาน และชุมชนที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย เพื่อสร้างความสามัคคีและทัศนคติเชิงบวก ที่จะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ในฮ่องกง เอเชีย และทั่วโลก
การแข่งขันในช่วงเวลาครบรอบ 40 ปีนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วม 12,000 คน ผู้ชม 75,000 คน และอาสาสมัคร 3,000 คนจาก 100 ประเทศ มีการแข่งขัน 36 ชนิดกีฬา รวมถึงการแข่งขันใหม่ๆ อย่างเช่น การแข่งเรือมังกร ดอดจ์บอล อีสปอร์ต และการวิ่งเทรล รวมถึงกิจกรรมมากมาย อาทิ งานนิทรรศการศิลปะ LGBTQ+ กาลาคอนเสิร์ต และการแสดงทางวัฒนธรรม โดยทุกคนสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา อายุ รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ความสามารถ หรือภูมิหลัง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก การแข่งขันกีฬาจำนวนมากต้องถูกเลื่อนออกไป เช่นเดียวกับการแข่งขัน Gay Games ที่ฮ่องกง ที่ยังคงต้องมีการติดตามกันอยู่ต่อเนื่อง เดนนิส ฟิลิปส์ (Dennis Philipse) หัวหอกในการผลักดันฮ่องกงเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้ หวังว่าชีวิตแบบปกติจะกลับมาอีกครั้งภายในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 พร้อมมาตรการในการจัดการแข่งขันเพิ่มเติม
ฟิลิปส์และทีมงานได้ติดต่อกับผู้จัดงานโอลิมปิก เพื่อดูว่าบทเรียนใดบ้างที่สามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์การเลื่อนจัดงาน รวมถึงได้จัดตั้งคณะกรรมการวางแผนฉุกเฉิน และจัดทำแผนเพื่อครอบคลุมความเสี่ยงเฉพาะ เช่น การเกิดการระบาดใหญ่ และความไม่สงบทางสังคม
อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางผู้จัดงานในฮ่องกง (GGHK) ร่วมสัมมนาทางออนไลน์ และประกาศว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นและกำลังนับถอยหลังสู่งาน Gay Games ครั้งที่ 11 ที่ฮ่องกง ในอีก 600 วันข้างหน้า ช่วงปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับทุกคน แต่เราก็เห็นโมเมนตัมเชิงบวกกับการเปิดตัววัคซีนทั่วโลก”
ไม่แน่ว่าคำประกาศดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณที่ดีว่า มหกรรมกีฬาของเหล่าสีรุ้งในครั้งนี้อาจเกิดขึ้นตามกำหนด และอาจเป็นจุดที่ก่อให้เกิดคลื่นของความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกี่ยวกับชุมชน LGBT ที่น่าสนใจก็เป็นได้
อ้างอิง
https://www.planetromeo.com/en/blog/history-of-the-gay-games/
https://en.wikipedia.org/wiki/Gay_Games
https://en.wikipedia.org/wiki/2006_Gay_Games
https://www.bbc.com/sport/55847279
https://www.advocate.com/sports/2018/8/03/7-fascinating-facts-about-gay-games#media-gallery-media-7
https://www.rugbyasia247.com/gay-games-hong-kong-2022/
Tags: Gay Games, LGBT, กีฬา, Game On