หากพูดถึงการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญที่ผู้ชมตั้งหน้าตั้งตารอทั่วโลก นอกเหนือจากศึกแดงเดือด ระหว่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (Manchester United) กับลิเวอร์พูล (Liverpool) มิลานดาร์บี้ของอินเตอร์มิลาน (Inter Milan) และเอซีมิลาน (AC Milan) กระทั่งการเจอกันของเดอะคลาสิก ระหว่างบาเยิร์นมิวนิก (Bayern Munich) กับโบรุสเซียดอร์ทมุนด์ (Borussia Dortmund)
ยังมี ‘เอลญ โกลาซิโก’ (El Clasico) หรือการพบกันระหว่างคู่ปรับตลอดกาลแห่งลาลีกา อย่าง ‘เรอัลมาดริด’ (Real Madrid) กับ ‘บาร์เซโลนา’ (Barcelona) ที่ได้รับความนิยมในวงการลูกหนังมาโดยตลอด
โดยเฉพาะ หากย้อนกลับไป 10 ปีก่อน เราอาจกล่าวได้ว่า เอลกลาซิโกอยู่ในจุดสูงสุดของโลกแห่งฟุตบอลก็ไม่เกินจริงเสียทีเดียว เพราะเรื่องราวสุดแสนดราม่าในสนาม ประกอบกับฝีไม้ลายมือของนักเตะซูเปอร์สตาร์ สามารถดึงดูดผู้ชมทั่วทุกสารทิศให้ต้องหยุดทุกกิจกรรมเพื่อชมการฟาดแข้งของ 2 ยักษ์ใหญ่จากสเปนในทุกครั้งไป ดั่งที่ก่อนหน้านี้เคยเกิดขึ้น ครั้งเมื่อสองตำนานแห่งโลกฟุตบอลร่วมสมัย อย่าง ลิโอเนล เมสซี (Lionel Messi) และคริสเตียโน โรนัลโด (Cristiano Ronaldo) ได้พบกันในเอลกลาซิโกไม่กี่ปีให้หลัง
แม้ปัจจุบันยุคทองของสองมหาอำนาจแห่งลาลีกา ค่อยๆ จางหายไปตามกาลเวลา ทั้งจากการผลัดใบของนักเตะรุ่นก่อน รวมไปถึงอิทธิพลของลีกเกาะอังกฤษอย่างพรีเมียร์ลีก แต่ก็ยังพูดได้อยู่เต็มปากว่า เอลกลาซิโกยังคงได้รับความนิยมจากแฟนบอลเช่นเดิม อ้างอิงจากการเป็นหนึ่งในแมตช์การแข่งขันฟุตบอลมีคนดูเยอะที่สุดในโลกถึง 700 ล้านวิว
เหตุที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอลกลาซิโกคือส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์ฟุตบอลสเปน ว่าในแต่ยุคสมัยใครที่ถือเป็นเบอร์หนึ่ง ยืนบนบังลังก์ ณ ห้วงเวลานั้น
ยกตัวอย่างเช่นในปัจจุบัน ฟอร์มอันยอดเยี่ยมของเรอัลมาดริดในต้นฤดูกาลถูกตั้งคำถามอย่างหนัก หลังจากตอนนี้ทำผลงานได้แย่กว่าที่เคยเป็นไปเสียแล้ว ในขณะที่บาร์เซโลนาทำผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ จากปีก่อน จนกลับมาอยู่ในเส้นทางลุ้นแชมป์ลาลีกาอีกครั้งหนึ่ง
ฟังดูเหมือนจะเป็นยุคสมัยของขุนพลบาร์ซา แต่ปรากฏว่า เอลกลาซิโกในศึกโคปาเดลเรย์ คืนวันพฤหัสที่ผ่านมา ราชันชุดขาวกลับเอาชนะทีมจากคาตาลันได้ถึง 4-0 โดยมีคาริม เบนเซมา (Karim Benzema) สามารถยิงประตูได้ถึง 3 ลูกด้วยกัน แม้ว่ารอบก่อนแพ้ด้วยคะแนน 1-0 ในบ้าน ณ ซานติเอโกเบร์นาเบว (Santiago Bernabéu) ก็ตาม เหล่านี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ทำให้การดูเอลกลาซิโกแมตช์ยังคงสนุก ระทึก และคาดเดาบทสรุปไม่ได้อยู่เช่นเดิม
แต่หากจะพูดถึงเบื้องหลังเอลกลาซิโกให้ลึกลงไปยิ่งขึ้น ก็สามารถกล่าวได้เต็มปากว่า แมตช์ฟุตบอลของสเปนไปไกลกว่ากีฬา เพราะมันคือเรื่องการเมืองที่กำลังบอกเล่าผ่านฟุตบอล
โดยเรื่องราวและประวัติศาสตร์ระหว่างสองสโมสร ก็เป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจที่มักถูกพูดถึงในการแข่งขันเอลกลาซิโก โดยเฉพาะเรื่องการประกาศเอกราชของแคว้นคาตาลุญญา ที่สโมสรบาร์เซโลนาคือตัวแทนของชาวคาตาลัน หรือกลุ่มประชากรในแคว้นคาตาลุญญา ที่มีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภาษาเป็นของตนเอง ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านสโลแกนของสโมสร ‘Mes Que Un Club’ (เป็นมากกว่าสโมสร)
ในขณะที่เรอัลมาดริดฉายภาพชาตินิยมตามแบบฉบับสเปนขนานแท้ เมื่อย้อนดูความผูกพันระหว่างสโมสรกับราชวงศ์ นับตั้งแต่ชื่อนำหน้าของสโมสร ‘Real’ (แปลว่า Royal หรือราช ในภาษาสเปน) รวมไปถึงความข้องเกี่ยวกับผู้นำเผด็จการสเปนในยุคหนึ่งอย่าง จอมพล ฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)
จึงไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อเรามักพบเห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างแฟนบอลทั้งสอง โดยเฉพาะกลุ่มเบลากรานา (Blaugrana) ซึ่งเป็นแฟนบอลของสโมสร มักตะโกนเรียกร้องเอกราชในระหว่างการแข่งขันไปพร้อมกับโบกธงคาตาลุญญา รวมไปถึงอดีตนักเตะระดับตำนาน อย่าง เปป กวาร์ดิโอลา (Pep Guardiola) ก็เป็นผู้สนับสนุนการประกาศเอกราชของคาตาลุญญาอย่างเปิดเผย หรือแม้แต่สโมสรบาร์เซโลนาเอง ก็เคยปิดสนามคัมป์นู (Camp Nou) เพื่อประณามเหตุการณ์ตำรวจทำร้ายประชาชนในการทำประชามติเพื่อแยกตัวคาตาลุญญาออกจากสเปนในปี 2017
ทั้งหมดนี้ อาจกล่าวได้ว่า เอลกลาซิโกไม่ใช่แค่การเดิมพันด้วยศักดิ์ศรีของสโมสรและแฟนบอล แต่มันยังรวมไปถึง ‘ศักดิ์ศรีของแคว้นคาตาลุญญา’ ในการต่อสู้เพื่อเอกราชจากสเปนอีกด้วย
“สโมสรแห่งนี้เป็นกระบอกเสียงที่ใหญ่ที่สุด ใหญ่มากพอที่จะบอกให้ทั่วโลกรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในคาตาลุญญาและผู้คนต้องการอะไร มันส่งเสริมขบวนการเรียกร้องเอกราชของพวกเรา” หนึ่งในแฟนบอลบาร์เซโลนาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera)
การแข่งขันฟุตบอลที่ไม่ใช่แค่ฟุตบอล
เมื่อกีฬากลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในยุคเผด็จการครองอำนาจ
‘กีฬาควรแยกออกจากการเมือง’ ประโยคนี้คงใช้ไม่ได้ในความเป็นจริง โดยเฉพาะประเทศสเปน เมื่อความเชื่อมโยงระหว่างการเมืองกับสโมสรฟุตบอลเป็นหนึ่งเดียวอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ เนื่องจากเรื่องราวความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องมา จนปัจจุบันอิทธิพลทางการเมืองครอบงำผลการแข่งขัน เพียงเพราะผู้มีอำนาจนำกีฬามาเป็นเครื่องมือหล่อเลี้ยงอำนาจของตนเอง
เหตุการณ์ทำให้ทุกคนไม่ลืมเลือน คือเอลกลาซิโกปี 1943 เมื่อเรอัลมาดริดเอาชนะบาร์เซโลนาได้ถึง 11-1 ในการแข่งขัน ‘โคปาเดลเจเนรัลลิสซิโม’ (Copa Del Generalísimo) ซึ่งแฟนฟุตบอลมองว่า เป็นเอลกลาซิโกที่เรอัลมาดริดเอาชนะทีมคู่ปรับจากคาตาลันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
แต่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง กลับไม่ค่อยมีมาดริดิสตา (Madridista) คนไหนนำความพ่ายแพ้ดังกล่าวมาล้อเลียนหรืออวดอ้างอย่างเปิดเผยเหมือนกับทีมอื่นๆ ในทางกลับกัน บางคนถึงกับอดสูและละอายใจการแข่งขันครั้งนี้ จนไม่สามารถหาคำบรรยายความรู้สึกได้อย่างตรงไปตรงมา
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้นำเผด็จการอย่างจอมพล ฟรานซิสโก ฟรังโก ได้เข้าครอบงำสเปนอย่างเต็มรูปแบบในปี 1939 หลังจากตั้งตนเองเป็นประมุขแห่งรัฐช่วงสิ้นสุดสงครามกลางเมือง
ในระยะเวลาการครองอำนาจของจอมเผด็จการร่วม 30 กว่าปีเต็มไปด้วยเรื่องราวเลวร้ายมากมาย นับตั้งแต่การละเมิดสิทธิมนุษยชน การปราบปรามฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงการทิ้งมรดกจากระบอบฟาสซิสต์ ไว้เป็นอนุสรณ์เตือนใจมวลมนุษยชาติ
หนึ่งในผลพวงจากลัทธิชาตินิยมอันน่าขยาดของจอมพลฟรังโก คือ ‘นโยบายชำระล้าง’ (Cleansing; Limpieza) โดยต้นกำเนิดมาจากการเปรียบเทียบสเปนในฐานะร่างกายว่า กำลังเจ็บป่วยจากสงครามกลางเมือง ที่ทำให้ประเทศแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลและกองทัพ เพราะได้รับเชื้อร้ายจากสิ่งแปลกปลอม ซึ่งก็คือการแทรกแซงกลุ่มคนต่างชาติ กลุ่มฝ่ายซ้ายในสเปน
ดังนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและผู้มีอำนาจต้องกำจัดเนื้อร้ายให้สิ้นซาก นโยบายชำระล้างจึงนำมาสู่การคร่าชีวิตผู้คนที่เห็นต่างทางการเมืองหลากหลายพันคน รวมไปถึงกลุ่มแคว้นอื่นๆ ถูกตีตราว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมของประเทศ เพราะไม่ได้มีความเป็นสเปนขนานแท้ ตามความคิดของฟรังโก
คาตาลุญญาเป็นหนึ่งในภูมิภาคถูกจับตามองมากที่สุด นอกเหนือจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มีความแปลกแยกจากสเปน เพราะเป็นแคว้นปกครองตนเอง มีภาษาประจำชาติ และมีวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง คาตาลุญญายังเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนระบอบสาธารณรัฐและกลุ่มแนวคิดชาตินิยมในท้องถิ่น ผู้เชิดชูความเป็นคาตาลัน ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มฝ่ายขวาของฟรังโกที่ประกอบด้วยชนชั้นนำ นายทุน กองทัพ รวมถึงกลุ่มสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์
ผู้นำเผด็จการจึงใช้นโยบายกลืนชาติและวัฒนธรรมต่อชาวคาตาลันอย่างรุนแรง เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองและรวมชาติสเปนให้เป็นหนึ่งเดียวตามอุดมคติ นับตั้งแต่ยกเลิกข้อตกลงการปกครองตนเองระหว่างสาธารณรัฐเก่า ห้ามพลเมืองใช้ภาษาคาตาลัน สัญลักษณ์ประจำภูมิภาค เช่น ธงชาติ วันหยุดประจำชาติ ดนตรี บทเพลง หรือแม้แต่การอ้างอิงสิ่งต่างๆ ที่ดูเป็นคาตาลัน
ยิ่งไปกว่านั้น ฟรังโกมองเห็นว่าฟุตบอลคือวัฒนธรรมที่สามารถกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายของเขา เมื่อมิติระหว่างกีฬากับการเมืองทับซ้อนกันจากความเชื่อมโยงระหว่างสโมสรบาร์เซโลนากับผู้คนในแคว้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสังหารอดีตประธานสโมสร โจเซฟ ซุนยอล (Joseph Sunyol) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านระบอบฟรังโก ทำให้ผู้คนในแคว้นเดือดดาล นโยบายของจอมเผด็จการค่อยๆ แทรกซึมในกีฬาลูกหนังอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เขาสั่งให้เปลี่ยนชื่อสโมสรจาก ‘Catalan FC Barcelona’ สู่ภาษาสเปน คือ ‘Barcelona Club De Fútbol’ รวมถึงทำลายตราสโมสร ‘เซนเยรา’ (Senyera) หรือสัญลักษณ์ความเป็นเอกราชแห่งคาตาลันออกไป
ในทางตรงกันข้าม ฟรังโกให้การสนับสนุนเรอัลมาดริดอย่างเปิดเผย เช่น คืนสถานะ Real (Royal) ซึ่งมีมาแต่เดิมและให้ตรามงกุฎอันเป็นสัญลักษณ์ประจำยศนำหน้าแก่สโมสร แน่นอนว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นและดูหมิ่นต่อแฟนบอลแห่งคาตาลันอย่างไม่แปลกใจ เมื่อฟุตบอลเป็นอีกไม่กี่อย่างที่ให้ความหวังและความสุข ท่ามกลางการถูกกดขี่ของรัฐบาลเผด็จการ โดยเฉพาะเกียรติยศและชัยชนะของบาร์เซโลนา
‘11-1’ ลบไม่ได้ช่วยให้ลืม:
มรดกจากระบอบฟรังโกที่ยังหลอกหลอนประวัติศาสตร์ชาติสเปน
วันอันเลวร้ายในความทรงจำของเบลากรานาก็มาถึง 19 มิถุนายน 1943 เมื่อนักเตะบาร์เซโลนาก้าวสู่สนามเยือนเอสตาดิโอชามาร์ติน (Estadio Chamartin) บ้านของ เรอัลมาดริด ในการแข่งขันชิงถ้วยโคปาจากนายพลฟรังโกรอบรองชนะเลิศ บรรยากาศฝ่ายผู้มาเยือนจากคาตาลันควรจะเป็นไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ พวกเขาทำผลงานยัดเยียดความปราชัยให้ราชันชุดขาวถึง 3-0 ในเลสกอสต์ (Camp de Les Corts) ซึ่งนั่นแทบจะการันตีชัยชนะของพวกเขาแล้ว
แต่สถานการณ์ที่คาดคิดไว้กลับพลิกตาลปัตรอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเรอัลมาดริดเอาชนะบาร์เซโลนาด้วย ‘11-1’ ประตู โดยฝั่งเจ้าบ้านทำประตูได้ถึง 8-0 ในครึ่งแรก ในขณะที่ครึ่งหลังตามมาด้วยสกอร์เต็ม 11-1 อีกทั้งมีผู้เล่น 2 คน อย่างซาบิโน บารินากา (Sabino Barinaga) และพรูเด็น (Pruden) ทำแฮตทริกในการแข่งขันนัดนี้ แน่นอนว่าเช้ารุ่งขึ้นหลังจากวันแห่งการแข่งขัน เอลกลาซิโกนัดประวัติศาสตร์กลายเป็นข่าวใหญ่ในหลายสื่อ หนึ่งในนั้นคือมาร์กา (Marca) สื่อกีฬาชื่อดังของสเปนประโคมข่าวนี้ลงหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์
ผลการแข่งขันช็อกโลกย่อมเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมบาร์เซโลนาถึงพ่ายแพ้ต่อเรอัลมาดริดอย่างราบคาบขนาดนี้?
คำตอบนี้มีหลากหลายเหตุผล แต่หนึ่งในสาเหตุชัดเจนที่สุด คือบรรยากาศความกดดันของการมาเยือนชามาร์ติน มีคำอธิบายจากนักเตะบาร์เซโลนาว่า พวกเขารู้สึกเหมือน ‘ทาสชาวคาร์เธจในสังเวียนกลาดิเอเตอร์ของพวกโรมัน’ เมื่อแฟนบอลมาดริดนับ 2 หมื่นคน โห่ร้องและก่นด่าพวกเขาจนสั่นประสาทราวกับถูกเฆี่ยนตี
ต้นเหตุความวุ่นวายทั้งหมดมาจากนักข่าวชื่อดังแห่งมาร์กา เอร์เนสโต เตอุส (Ernesto Teus) ผู้เป็นแฟนบอลของราชันชุดขาว เขียนข่าวถากถางการเล่นของสโมสรว่า ‘ขาดความเชื่อมั่นและยอมจำนนต่อคู่แข่งอย่างบาร์เซโลนาง่ายดายเกินไป’ บทความนี้จึงกลายเป็นเชื้อเพลิงกระตุ้นความโกรธแค้นของมาดริดิสต้าและฝ่ายขวาบางส่วนที่สนับสนุนเรอัลมาดริดในสนามเป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้น มีคำบอกเล่าจากกลุ่มนักเตะและโค้ชจากคาตาลันว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ แวะมาเยือนพวกเขาในห้องแต่งตัวก่อนการแข่งขัน ถึงแม้ไม่มีการข่มขู่ ไม่มีอาวุธใดๆ นอกจากบรรยากาศอันหนาวเย็นยะเยือก หากแต่ผู้มีอำนาจบางคนใช้วาทศิลป์ในทำนองว่า “ให้ผู้เล่นบาร์เซโลนาสำนึกถึง ‘บุญคุณ’ ของทางการที่ยังคงปล่อยให้แคว้นคาตาลุญญาเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐ”
นักเตะบางคนถึงกับรู้สึกหวาดกลัวและกังวลต่อความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขา รวมถึงครอบครัว เพราะคำขู่ด้วยความเงียบตอกย้ำพวกเขาด้วยความเป็นจริงในเวลาดังกล่าว เมื่อผู้คนมากมายหายสาบสูญ ไม่มีข่าว ไม่มีการสอบสวนใดๆ ยังไม่รวมหลากหลายชีวิตยังถูกคุมขังด้วยอำนาจรัฐ
แม้ว่าคำกล่าวอ้างนี้ไม่สามารถหาคำตอบได้แล้ว เพราะผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคนลาจากไปตามกาลเวลา แต่หลักฐานชัดเจนที่สุด คือปฏิกิริยาของพวกเขาในสนาม ปล่อยให้ผู้เล่นราชันชุดขาวถลุงได้ถึง 11 ประตูอย่างไม่น่าเชื่อ รวมถึงความอยุติธรรมระหว่างการแข่งขัน เริ่มจากกองเชียร์ชาวคาตาลันถูกดำเนินคดีโดยสหพันธ์ฟุตบอลสเปน หลังจากพวกเขาโห่ร้อง รบกวนนักเตะเรอัลมาดริด ด้วยการเป่านกหวีดในการแข่งขันที่บาร์เซโลนา
ในทางกลับกัน แฟนบอลในสนามชามาร์ตินกลับไม่ถูกดำเนินคดีอะไร แม้บรรยากาศในสนามเต็มไปด้วยความปั่นป่วนอย่างไร้ความเป็นมนุษย์ หลุยส์ มิโร (Luis Miró) ผู้รักษาประตู ถูกทำร้ายจากแฟนบอลมาดริดบนอัฒจันทร์ จนไม่สามารถอยู่ใกล้กรอบเขตโทษเพื่อป้องกันประตู ในขณะที่โค้ชของบาร์เซโลนา อังเชียล มูร์ (Angel Mur) ถูกก่นด่าด้วยถ้อยคำต่างๆ ทั้ง ‘ผู้แบ่งแยกดินแดน’ หรือ ‘ไอหน้าหมา’ จากตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อีกทั้งไม่ได้รับอนุญาตให้หยุดเกมเพื่อรักษาผู้เล่นของตนเองที่บาดเจ็บ
หรือหลังการแข่งขัน ยังมีการปิดปากนักข่าววิจารณ์เหตุการณ์ในครั้งนั้น แม้ว่าจะเป็นกลุ่มฝ่ายขวาด้วยกันเองอย่าง ฮวน อันโตนิโอ ซามารันช์ (Juan Antonio Samaranch) ผู้ไม่สามารถอดทนต่อเหตุการณ์ครั้งนี้จนเขียนก่นด่าพฤติกรรมอันบ้าคลั่งของแฟนบอล และความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ท้ายที่สุด เขาถูกห้ามเขียนแสดงความคิดเห็นในสื่อพิมพ์เป็นเวลาเกือบ 10 ปี
การพ่ายแพ้ในเอลกลาซิโกครั้งนี้ ด้วยคะแนน 11-1 จึงไม่ใช่ตราบาปสำหรับสโมสรบาร์เซโลนาหรือผู้คนแคว้นคาตาลุญญาที่ถูกย่ำยีเพียงเท่านั้น แต่นี่คือรอยด่างพร้อยอันอัปยศอดสูของระบอบเผด็จการในสเปน ที่ทิ้งให้คนรุ่นหลังเรียนรู้จากเรื่องราวในอดีต หากจะลบหรือทำลายทิ้ง มันก็ไม่เคยหายไปจากความทรงจำของผู้คนราวกับผีที่ตามหลอกหลอนไม่หยุด
ดั่งที่ โจน บาโรล (Joan Barau) นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวของบาร์เซโลนากล่าวไว้ว่า “เรอัลมาดริดไม่เคยอวดอ้างผลการแข่งขันนั้น เพราะมันซ่อนผีที่น่ากลัวจากวันอันมืดมิดที่สุดของสเปน…”
อ้างอิง
–http://www.goaldentimes.org/the-origin-of-el-clasico/
–https://www.sportskeeda.com/football/real-madrid-11-barcelona-1-controversial-el-clasico
–https://foreignpolicy.com/2017/10/05/the-ghost-of-franco-still-haunts-catalonia/
–https://www.the101.world/nuchthida-rasiwisut-interview/
–https://footballbh.net/2023/01/25/franco-el-clasico/
Fact Box
- เอสตาดิโอชามาร์ติน (Estadio Chamartin) เป็นสนามกีฬาในกรุงมาดริด และถูกใช้เป็นสนามเหย้าของเรอัลมาดริด ก่อนสนามซานติเอโกเบร์นาเบว (Santiago Bernabeu) เปิดใช้ในปี 1947 จนถึงปัจจุบัน
- ‘โคปาเดลเจเนรัลลิสซิโม’ (Copa Del Generalísimo) คือการแข่งขันโคปาเดลเรย์ในปัจจุบัน หากแต่ถูกเปลี่ยนชื่อโดยนายพลฟรังโก เมื่อเป็นประมุขของรัฐ
- เลสกอสต์ (Camp de Les Corts) คือสนามเหย้าเก่าของบาร์เซโลนาก่อนจะย้ายไปคัมป์นูปี 1957
- คาตาลุญญามีทีมชาติฟุตบอลเป็นของตนเอง ชื่อว่า Selecció de futbol de Catalunya และอดีตหนึ่งในนักเตะชื่อดัง คือ เปป กวาร์ดิโอลา ซึ่งเคยลงเล่นในนัดกระชับมิตรหลายรายการ