ในโลกนี้มีนิทานปรัมปราเจ้าหญิงเจ้าชายอยู่หลายเรื่อง แต่ยังไม่มีเรื่องไหนที่เขียนบทให้เจ้าหญิงผู้ใส่ใจประชาชนของตัวเองกระโดดจากหอคอยลงมาเกลือกกลั้วทางการเมืองที่ว่ากันว่าสกปรก รับบทเป็นผู้นำฝ่ายบริหารในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”
การเมืองในประเทศไทยกำลังเป็นแบบนั้น
ก่อนหน้านี้ไม่นาน คอการเมืองยังตื่นเต้นสลับหัวร้อนกันไม่หายกับข่าวที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ฮีโร่คนแกร่งจะลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทยแต่ไม่ยอมลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพราะเป็นการตัดสินใจที่สะท้อนซีนาริโอการเมืองที่ว่า แคนดิเดตในนามเพื่อไทยอาจจะเผื่อใจแล้วว่าจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะกฎหมายหลายฉบับของ คสช.วางเงื่อนไขเอาไว้ให้เรื่องนี้ให้เป็นไปได้ยาก
ผู้คนยังคิดเรื่องชัชชาติกันไม่ตก พรรคอะไหล่ของพรรคเพื่อไทยอย่าง ‘ไทยรักษาชาติ’ หรือ ทษช. ก็กลายเป็นม้ามืด จากพรรคที่คนยังจำชื่อไม่ได้ก็กลายเป็นพรรคที่คนพูดถึงชื่อนี้ทุกๆ นาที ด้วยการโหมกระพือข่าวว่าจะมีเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก่อนจะเฉลยในวันสุดท้ายของการยื่นรายชื่อว่า ข่าวลือเป็นจริง พรรคไทยรักษาชาติส่งชื่อของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว
ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น อีกรายชื่อที่คนเฝ้ารอ ก็คือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐ พรรคที่สนับสนุน(โดย)คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่แม้เป็นฝ่ายเขียนกฎหมายให้เสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้สามคน แต่ก็ตัดสินใจเปิดโพยออกมาว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงรายชื่อเดียว
จุดร่วมของชัชชาติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ รวมถึงพลเอกประยุทธ์ คือ ทุกคนล้วนแต่เป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
จุดร่วมของทั้งชัชชาติและทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ก็คือการดึงเอาคนที่มีฐานแฟนๆ ที่แตกต่างจากกลุ่มเดิมเข้ามา เช่น ชัชชาติทำให้เกิดความลังเลของฐานเสียงคนเมืองที่ชื่นชอบชัชชาติแต่เกลียดเพื่อไทย ส่วนทูลกระหม่อมหญิงฯ ก็ทำให้กลุ่มรอยัลลิสต์ที่อาจไม่เคยเหลียวมองเครือข่ายชินวัตรมาก่อนต้องทบทวนใหม่
จุดร่วมของชัชชาติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ รวมถึงพลเอกประยุทธ์ คือ ทุกคนล้วนแต่เป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
ในการเลือกตั้งที่จงใจออกแบบมาให้ยากครั้งนี้ วิธีลงคะแนนซับซ้อนขึ้น (ต่างเขตต่างเบอร์ จำลำบาก) ได้ลงคะแนนน้อยลง (กาบัตรครั้งเดียวใบเดียว) การไปจรดปากกากากบาทหนึ่งครั้ง หนึ่งเสียงนั้นนอกจากจะนำไปนับเสียงส่วนใหญ่เพื่อเลือก ‘ส.ส. เขต’ แล้ว ยังต้องนำไปหักลบกับจำนวน ส.ส.พึงมีทั้งประเทศเพื่อให้ได้จำนวนที่นั่งของ ‘ส.ส.บัญชีรายชื่อ’ จากนั้น จำนวนที่นั่งรวมของ ส.ส.เขต ก็จะมีผลต่อการลงคะแนนในรัฐสภาเพื่อจัดตั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงเลือกนายกรัฐมนตรี
หนึ่งเสียงที่ไปกากบาท จึงมีความหมายมากในทางการเมือง ผู้ติดตามทางการเมืองก็ตีความเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ยังจำได้ไหม ช่วงแรกคนกังวลว่านี่จะเป็นการเลือกตั้งที่ยึดติดกับบุคคล เพราะเชื่อว่าคนน่าจะตัดสินใจลงคะแนนให้คนในพื้นที่ที่ตัวเองคุ้นเคยโดยไม่สนใจหรอกว่าคนนั้นสังกัดพรรคอะไร จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์การดูด ส.ส. ให้ย้ายค่ายกันไปจำนวนมาก แต่เมื่อพ้นฤดูกาลดูด ส.ส.มาแล้ว พรรคต่างๆ ก็หันมาโปรโมต ‘ความเป็นพรรค’ แต่ด้วยเงื่อนไขและบรรยากาศ วินาทีนี้ไม่มีพรรคไหนที่โปรโมตความเป็นพรรคผ่านนโยบายสำคัญอีกต่อไปแล้ว เพราะต่างมุ่งให้ความสำคัญไปที่รายชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่า
ด้วยเหตุนี้ ภาษาสื่อสารทางการเมืองที่ออกมาตอนนี้ จึงเป็นการนำผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้พรรค นั่นคือ ถ้าเราเลือกพลังประชารัฐแปลว่าเราสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าเราเลือกเพื่อไทย แปลว่าเราสนับสนุน ชัชชาติ – สุดารัตน์ – ชัยเกษม ถ้าเราเลือกอนาคตใหม่ แปลว่าเราสนับสนุน ธนาธร และล่าสุด ถ้าเราเลือกไทยรักษาชาติ แปลว่าเราสนับสนุนทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ
วินาทีนี้ไม่มีพรรคไหนที่โปรโมตความเป็นพรรคผ่านนโยบายสำคัญอีกต่อไปแล้ว เพราะต่างมุ่งให้ความสำคัญไปที่รายชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่า
ความหมายของการเป็น ‘พรีเซ็นเตอร์’ ของพรรคชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในกรณีของ ชัชชาติ – ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ และพลเอกประยุทธ์ ที่ต่างก็ลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. เพราะนั่นหมายความว่า บุคคลเหล่านี้สมัครมาเพื่อรอตำแหน่งผู้นำฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้เตรียมที่ทางเอาไว้สำหรับเป็นฝ่ายค้านในสภา
ดังนั้น คนที่ใจเอนเอียงว่าจะยึดหลักตัดสินใจลงคะแนนจากพรีเซนเตอร์เหล่านี้ ก็ต้องเฉลียวใจด้วยว่า หากเราเลือกพรรคที่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ก็หมายความว่า หนึ่งเสียงซีดๆ บางๆ นั้น คงจะส่งไปไม่ถึงความหมายของการเลือกคนเข้าไปทำงานในสภา เพราะแคนดิเดตนายกฯ ประเภทนี้ไม่ใช่ตำแหน่งที่จะเตรียมตัวเข้าไปทำงาน แต่เป็นเหมือนหน้าตาของพรรคมากกว่า
การเฉลยรายชื่อที่ทำเซอร์ไพรส์ในวันสุดท้ายของการส่งรายชื่อนายกฯ นั้นยืนยันว่า เสียงลงคะแนนของเรา ด้านหนึ่งก็ช่างเบาจาง เพราะเลือกอะไรไปก็ตามเกมชนชั้นนำไม่ทัน แต่อีกด้านหนึ่งมันยิ่งย้ำว่า เสียงที่จะรวมป็อปปูลาร์โหวตยิ่งสำคัญ และเป็นเพียงภาษาเดียวเท่านั้นที่เหลือเอาไว้ให้ประชาชนสื่อสารทางการเมือง
ย้ำอีกครั้งว่า การตัดสินใจไปลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ การกากบาทหนึ่งครั้งในบัตรหนึ่งใบ เสียงนั้นจะนำไปคำนวณเป็นคะแนน ส.ส.เขต, ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายกรัฐมนตรี และอย่าลืมคำนวณไปถึงพลังของฝ่ายค้านด้วย
เพราะในยามที่ตัวละครเด่นมีมากมาย และยังมองเกมไม่ออกว่าจะหักกันลงอย่างไร นั่นอาจเป็นสัญญาณล่วงหน้าของการไกล่เกลี่ยของชนชั้นนำ และมาสู่ทางออกของการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งถ้าคนยังคงคาดหวังในระบอบประชาธิปไตย การมีฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพจะเป็นพลังสำคัญไม่แพ้กันที่จะทำให้การบริหารประเทศดำเนินไปตลอดรอดฝั่ง ไม่ใช่รัฐบาลสูตรสมานฉันท์
Tags: Princess Ubolratana, ไทยรักษาชาติ, ทษช., พลังประชารัฐ, คสช., ทูลกระหม่อม, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, คณะรักษาความสงบแห่งชาติ, เพื่อไทย, ทักษิณ ชินวัตร, นายกรัฐมนตรี, เลือกตั้ง62