ท่ามกลางสมาชิกพรรคเพื่อไทยจำนวนมากที่ปรากฏตัวในวันฟังคำพิพากษาในคดีจำนำข้าวเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือสุภาพสตรีที่ห่างจากหน้าสื่อและแวดวงการเมืองไปนาน ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ ‘หญิงหน่อย’

เมื่อ 25 ปีที่แล้ว คุณหญิงสุดารัตน์เริ่มบทบาทนักการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคพลังธรรมที่ก่อตั้งโดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง และกลุ่มสันติอโศก กระทั่งเป็น ส.ส. คนสุดท้ายของพรรค ก่อนจะมาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ที่ต่อมาเปลี่ยนผ่านกลายเป็นพรรคเพื่อไทย

หากยังจำได้ เธอเคยลงชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และเป็นเจ้ากระทรวงเกรดเออย่าง สาธารณสุข และเกษตรฯ

เหตุที่ต้องหายหน้าไปจากสนามการเมืองพักใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคำตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2550 ที่มีผลให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คนต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นั่นทำให้งานการเมืองที่เธอเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 ต้องยุติลงชั่วคราว

มาถึงวันที่พรรคเพื่อไทยกำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คุณหญิงเจ้าของฉายา ‘สวยประหาร’ ฉายแววว่าเป็นตัวเต็งที่จะกลับมามีบทบาทโดดเด่นในสนามการเมืองอีกครั้ง ท่ามกลางศึกรอบด้านที่ไม่ได้มีเพียงเงื่อนปมการเมืองในยุคปัจจุบัน แต่ยังมีความท้าทายที่ต้องแสวงหาการยอมรับจากทั้งนักคิดและนักการเมืองในซีกเดียวกัน

The Momentum ใช้โอกาสนี้พูดคุยกับเธอที่ดูเหมือนยึด ‘หลักธรรม’ เป็นธงนำใจในการใช้ชีวิต ในวันที่สถานการณ์แวดล้อมทำให้เธอประกาศจุดยืนละเว้นการทะเลาะเบาะแว้ง และย้ำว่าพรรคเพื่อไทยต้องเริ่มต้นที่การปฏิรูปตัวเอง

ระยะหลังคุณหญิงดูห่างจากงานการเมือง ช่วงที่ผ่านมาทำอะไรบ้าง

พอเกิดรัฐประหารปี 2549 ตอนนั้นก็คิดว่าชีวิตโล่งแล้ว ช่วงที่เป็นรัฐมนตรี ตอนนั้นทำงานหนัก กลางวันก็อยู่แต่กับกระทรวง (สาธารณสุขและเกษตรฯ) ออกไปตรวจงานบ้าง ประชุมบ้าง พอกลับมาบ้าน เราก็ต้องมาเซ็นงานตอนดึกอีกมาก กับพ่อแม่ เราอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ 7-8 โมงเช้าก็ไปหาพ่อแม่ ไปหอมแก้ม แต่ชีวิตเรามันก็ทำได้แค่นั้น แทบไม่ได้คุยกันเลย พอเย็นก็ไม่เป็นเวลา บางทีสองทุ่มถึงได้ออกจากกระทรวง พอกลับมา เขาก็จะเข้านอนแล้ว ได้คุยกันแค่ครึ่งชั่วโมง แล้วเราก็ต้องมาดูลูก ยังดีว่าสามีช่วยดูลูกให้ จากนั้นกว่าจะได้อาบน้ำแต่งตัวก็เที่ยงคืน เสร็จแล้วก็นั่งเซ็นงานต่อจนตีสองตีสาม

หลังจากรัฐประหารก็โล่ง จากที่เป็นหุ่นยนต์มาสิบปี ก็อยากอยู่กับพ่อกับแม่ จากนั้นปีกว่าก่อนที่แม่จะป่วย เราก็พาแม่พาพ่อเที่ยว ได้หัดทำกับข้าวกับเขา แต่มันก็สั้นมาก เพราะแม่เริ่มป่วย ทั้งๆ ที่แข็งแรงมาก

ตอนนั้นคุณแม่อายุเท่าไร

ใกล้จะ 80 ปี พอเริ่มป่วย มันเหมือนกับเป็นต่อกัน พอโรคนี้ดีขึ้นก็เป็นต่ออีกโรค โคม่าอยู่หลายรอบ กินนอนด้วยกันอยู่ที่โรงพยาบาลหลายเดือน ตาเราก็จ้องมอนิเตอร์ดูตัวเลขอยู่ตลอดเวลา ดูจนหมอบอกว่าต้องหยุดดู เราก็หยุดดูไม่ได้ ถ้าใครมีญาติป่วยจะเข้าใจ อยู่ในนั้นแล้วมันเครียด มันแย่ ระหว่างนั้นก็มีญาติผู้ใหญ่เอาหนังสือสวดมนต์มาให้อ่านให้แม่ฟัง เราก็ท่องตามนั้น อ่านหนังสือธรรมะให้แม่ฟัง ตอนเช้าก็จะพาแม่สวดมนต์ เฝ้าแม่จนใกล้ๆ จะ 6 โมง จำได้ว่าก่อนละคร บ้านนี้มีรัก ฉาย เราก็จะสวดมนต์ก่อน บางวันก็อ่านหนังสือธรรมะ ทำให้ได้เรียนธรรมะกับแม่ ดิฉันจึงมีความรู้สึกว่าแม่ให้เราได้เกิดสองรอบ ช่วงที่แม่อยู่ แม่ให้กำเนิดเรา ช่วงที่แม่ป่วย แม่ก็ให้กำเนิดเราในทางศาสนาอีกครั้ง

จึงเป็นที่มาว่าระยะหลังคุณหญิงหันมาสนใจเรื่องพระพุทธศาสนา

จริงๆ ตอนเด็กๆ เรียนที่เซนต์โยเซฟคอนเวนต์ก็สวดมนต์ไม่เป็น แต่คุณยายเป็นสายปฏิบัติวิปัสสนา ท่านจับให้สวดมนต์และอาราธนาศีล แต่ก็ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองมากกว่า พอคุณยายเสีย มรดกที่คุณยายทิ้งไว้ก็คือพระพุทธรูปสามองค์ซึ่งเป็นพระเก่าแก่ที่คุณยายกราบไหว้บูชาทุกวัน ทุกวันนี้ก็ยังกราบไหว้ต่อ ก็แค่นั้น เป็นไปตามลักษณะของครอบครัวไทย

แต่พอแม่เสียก็อ่านทุกอย่าง รู้ทุกอย่าง แต่ทำใจไม่ได้ รู้สึกว่าทำไมอยู่กับแม่ได้ไม่นาน โทษตัวเอง รู้สึกแย่ และก็เป็นธรรมดา เวลาคนไม่สบายใจก็จะมีคนชวนไปวัด มีคนชวนไปลุมพินีวันที่เนปาล ที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ตอนนั้นเราไปหน้าฝน สภาพที่ไปนี่ไม่ไหวเลย ต้องถอดรองเท้าเดินลุยโคลน เราไม่อะไรหรอก ลำบากได้ แต่มีเด็กผู้ชายแบกแม่เดินสวนออกมา เขาบอกว่าแม่ของเขาหายป่วย เลยอยากให้มาไหว้ที่นี่สักครั้งในชีวิต แต่มันเข้าไปยาก เข้าไปถึงก็ไม่มีที่นั่งสวดมนต์ กางเกงขาวก็แฉะไปหมด พระก็จีวรเปื้อนโคลน กระถางธูป ที่วางเทียนก็ไม่มี ให้เราไปปักกับกระถางต้นไม้ที่แตกหักแล้ว

อย่างเรามีเชื้อจีน เราต้องไปเชงเม้ง เทียบกับที่นี่ เรารู้สึกว่ามันเหมือนกับเอาบรรพบุรุษไปทิ้งไว้ในดินแดนที่ไม่มีใครดูแล พระศาสดาก็เหมือนพ่อเรา แต่แค่กระถางธูปก็ยังไม่มี เราก็ขอถวายกระถางธูปกับเทียน แต่ปรากฏว่าเขาไม่ยอม ไม่เอา ไม่ให้ทำอะไรเลย แต่เราเป็นคนดื้อ ถ้าคิดว่าถูกก็จะทำ อยากจะทำถนนเข้ามา ไม่ใช่ต้องมาแบกกันแบบนี้ คือจะเอาชนะ คิดว่าเราทำสิ่งที่ถูก ก็ยื้ออยู่เป็นปี และสุดท้ายก็ได้ทำ

ทำไมเขาถึงไม่อยากให้ทำ

มันก็หลายอย่าง ความเข้าใจไม่ตรงกัน ผู้ดูแลเขาเป็นฮินดูด้วย เขามองว่าไปแตะต้องไม่ได้ ตรงนี้พื้นที่มรดกโลก

การก่อสร้างหรือทำอะไรเพิ่มเติมในพื้นที่มรดกโลกก็ไม่น่าจะอนุมัติกันได้ง่าย

ความจริงเราไม่ได้ทำวัตถุอะไรใหญ่โต เราทำถนน ทำที่นั่งให้คนสวดมนต์ มีวัตถุประสงค์แค่ว่าจะทำอย่างไรให้ใครก็แล้วแต่ที่ไปกราบพระพุทธเจ้า ณ ที่ประสูติ แล้วระลึกถึงพระคุณ กลับออกมาแล้วรู้สึกว่ามีความกลัวและละอายต่อบาปมากขึ้น เราคิดว่าการทำให้คนเข้าไปกราบไหว้พระพุทธเจ้า ไปสวดมนต์ เป็นเรื่องที่ดี มันทำให้เรากลับมาอยู่ในศีลในธรรมบ้าง ทำให้คนไปรับสิ่งที่เป็นพระธรรมคำสอนได้สะดวกขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ได้ทำวัตถุที่หรูหรา แต่เราก็ทำไม่ได้ เพราะความไม่เข้าใจหลายๆ อย่าง ความที่การเมืองของเขาไม่นิ่ง ความที่คนละศาสนา ทำให้ไม่เข้าใจกัน

แต่ท้ายที่สุด ยูเนสโกก็อนุมัติ เพราะเราติดต่อประสานงานเอกสารทุกอย่างจนเขาเห็นความตั้งใจ

ตอนทำลุมพินีวันได้รู้จักกับพระมากขึ้น พระท่านก็ชวนว่าไปเรียนก็ดีนะ จะได้รู้มากขึ้น ดิฉันเองก็อยากรู้พระธรรมคำสอน พอเอาวุฒิการศึกษาไป เขาก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นต่อปริญญาเอกเลยแล้วกัน (หัวเราะ) ก็ดูเป็นเรื่องใหญ่นะ เพราะไม่ได้คิดอยากจะเป็นดอกเตอร์

ดิฉันเลยไปเรียนปริญญาเอกพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตอนนี้กำลังจะต้องจบแล้ว เขาต้องไล่ให้จบแล้ว (หัวเราะ)

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

เลือกศึกษาหัวข้ออะไรสำหรับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก

ทำเรื่องการประยุกต์หลักคำสอนพระพุทธศาสนามาใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

ช่วงที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 2549 ในวันครบรอบในหลวงทรงครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ทรงมีพระราชดำรัสสำคัญ แต่ช่วงนั้นคนตีกันเยอะกระมัง เลยไม่มีใครฟัง ท่านบอกว่าบ้านเมืองจะสงบสามัคคี ต้องยึดคุณธรรม 4 ประการ

ตอนนั้นก็คิดแล้วว่าท่านจะบอกอะไร พอมาศึกษาพระพุทธศาสนาก็ อ๋อ ท่านนำมาจากสาราณียธรรม 6 คือธรรมะที่ทำให้เราอยู่ด้วยกันอย่างสันติ แต่นำมาจัดกลุ่มใหม่แล้วพูดให้ง่ายเป็นภาษาสมัยใหม่ ไม่ใช่ภาษาพระ ดิฉันก็สนใจเรื่องนี้ คือถ้าคนเราไม่อคติ ใช้เหตุผล คิดดีต่อกัน ทำอะไรให้นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ส่วนตนไว้ทีหลัง จึงนำคุณธรรม 4 ประการและสาราณียธรรม 6 มาเป็นโจทย์ในการทำวิทยานิพนธ์ แล้วแปลงคำสอนให้เป็นหลักปฏิบัติ ว่าจะใช้คำสอนมาประยุกต์แก้ปัญหาทางการเมืองอย่างไร

ในทางการเมือง นับแต่เข้าวงการมาเมื่อปี 2535 จนปัจจุบัน 2560 คุณหญิงคิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

ตอนนี้วิธีคิดเปลี่ยนเยอะ ความมีตัวตนของเราสูง เราเป็นลูกคนเดียว แต่เป็นคนเดียวของแม่คนนี้นะ เพราะพ่อเจ้าชู้ แต่ก็ถือว่าทั้งพ่อทั้งแม่ทุ่มเทกับเรา แม่เหมือนใส่ฮาร์ดแวร์ที่ดูแลให้เราแข็งแรง ที่เคยเกือบจะเสียตอน 8 ขวบมาครั้งหนึ่งให้แข็งแรงขึ้นมา แม่ก็ประคบประหงมจนสมบูรณ์แข็งแรงมาได้จนทุกวันนี้ แต่ความที่ถูกประคบประหงม พ่อก็มองว่าแบบนี้ไม่ไหว พ่อก็เหมือนเป็นคนใส่ซอฟต์แวร์ให้ กลายเป็น combination ที่ทำให้เราแข็งแกร่ง และสมบูรณ์ขึ้นมา

การเข้าสู่การเมือง ดิฉันมั่นใจ และรู้สึกว่าเราตั้งใจมาทำ ไม่ได้มาเอาอะไร ไม่ได้มากอบโกย เพราะเราก็มีพื้นฐานของเรา

พอได้ศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้นมันก็ดีนะ เดิมเราเป็นคนใจร้อน เป็นลูกสาวคนเดียว เอาแต่ใจ และเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเราเชื่อว่าใครผิดก็ผิดเลย เราไม่ผิดก็คือไม่ผิด ไม่ยอม เป็นคนแรง เพราะเป็นลูกคนเดียว พ่อก็สอนให้อยู่ในโลกได้ สอนให้ดื่มเหล้าให้เป็น จะได้ไม่ถูกใครมอม ซึ่งก็ดี พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ทำหน้าที่ขับรถส่งเพื่อนผู้ชาย

ดิฉันเป็นคนพูดไม่ค่อยเพราะนะ เป็นคนพูดเสียงดัง ตอนทำงานการเมือง ช่วงหนึ่งก็ปะฉะดะ เลยได้ฉายา ‘สวยแต่เจ็บ’ ‘สวยประหาร’ อะไรแบบนี้ ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะเราก็แรงจริง แต่ถ้าเราผิด เราขอโทษโดยไม่ลังเล

ในทางการเมือง บางทีถูกกล่าวหา เราก็ชนแหลก เขาว่ามาสิบ เราก็จัดเต็มร้อย แต่พอเข้าสู่พระพุทธศาสนา เข้ามาศึกษาพระธรรมคำสอน ก็ทำให้ตัวเองเย็นลง คิดเรื่องเหตุผลมากขึ้น เริ่มปลงบ้าง เช่น เริ่มคิดว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ

 

แต่ภาพลักษณ์ที่มองเห็นผ่านสื่อ ‘สุดารัตน์’ ก็ดูไม่ก้าวร้าว

ไม่ก้าวร้าว แต่ไม่ยอมคน ที่ไม่ก้าวร้าวเพราะพ่อสอนให้นอบน้อมถ่อมตน บอกให้อ่อนนอกแข็งใน คือจิตใจต้องเข้มแข็ง แต่กับคนอื่น เราต้องมีสัมมาคารวะ ทุกคนมีความสำคัญ เด็ก คนรับใช้ ภารโรง เราต้องเห็นความสำคัญของทุกคน แต่เราพร้อมชนในเรื่องที่เราไม่ผิด

ในทางการเมือง บางทีถูกกล่าวหา เราก็ชนแหลก เขาว่ามาสิบ เราก็จัดเต็มร้อย แต่พอเข้าสู่พระพุทธศาสนา เข้ามาศึกษาพระธรรมคำสอน ก็ทำให้ตัวเองเย็นลง คิดเรื่องเหตุผลมากขึ้น เริ่มปลงบ้าง เช่น เริ่มคิดว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ

เมื่อก่อนเป็น Perfectionist?

ใช่ แต่ตอนนี้เริ่มเรียนรู้ว่าเหรียญมีสองด้าน คนมีหลายมุม ก็ปล่อยวางมากขึ้น

แล้วการเมืองให้ประสบการณ์อะไรบ้าง

สิ่งที่เจอก็มีสองอย่าง คือ หนึ่ง การเมืองจะมีการป้ายสีกัน เราก็ตอบแหลก กับสอง เรื่องความไม่มีประสิทธิภาพในระบบ เรามาจากภาคธุรกิจ งานมันต้องมีระบบ แต่พอเจอระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เราก็ไม่ยอม ทำไมดิฉันถึงกลับบ้านสองทุ่ม เพราะรู้สึกว่าต้องทำ ต้องสู้ งานทุกอย่างก็ต้องทำ เราก็เอาทีมข้างนอกเข้าไป

ทั้งสองเรื่องนี้ทำให้เราดูเหมือนแรง แต่งานไม่มีประสิทธิภาพเราก็ทนไม่ไหว ไม่ใช่เรื่องที่เราจะดุด่า แต่ต้องแข็งในเรื่องนโยบายที่ยืนยันว่าฉันจะต้องทำสิ่งนี้ให้ได้ ถ้าผู้ปฏิบัติเขาบอกว่ามันติดปัญหาอะไร ก็ต้องทำหน้าที่ break the ice ตรงนี้ให้ได้ นี่เลยเป็นคาแรกเตอร์ของการพุ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ พอเป็นแบบนี้ โดยพื้นฐานเดิม บางทีก็รู้สึกว่าทนไม่ได้ที่จะทำงานกับคนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ เราไม่ได้มองว่าเขาอาจจะมีแง่มุมอื่น นั่นคือแต่ก่อนนะ

ถามว่าดิฉันเปลี่ยนไปไหม เปลี่ยน เรามองเห็นเหรียญสองด้าน วางใจอุเบกขามากขึ้นกับสิ่งที่เข้ามากระทบในชีวิต ความเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ลดลง แต่ก่อน ถ้ามองว่าอะไรไม่ใช่ก็คือไม่ใช่เลย ไม่มาเสียเวลาอ้อมไปอ้อมมา ก็ปล่อยวางและพยายามทำความเข้าใจกับคน ประนีประนอมมากขึ้น แต่ก่อน ถ้าไม่ใช่คือให้ไปข้างๆ เลย แต่ตอนนี้ก็จะพยายามทำให้เขารู้ว่า สิ่งที่ใช่คืออะไร สิ่งที่ถูกคืออะไร

การพยายามทำให้คนเข้าใจ แบบนี้ไม่เครียดกว่าเดิมหรือ

ก็เหนื่อยอยู่เหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่ความเครียดกลับน้อย อย่างสมัยก่อน เวลาเป็นนักการเมืองแล้วถูกว่า ดิฉันก็ปรี๊ดทันที แต่เดี๋ยวนี้เราวางเฉยได้ แต่คนว่ากลับดูทุกข์กว่าเรา เรารู้สึกชีวิตมีความสุขมากขึ้น เตรียมพร้อมที่จะตายได้ทุกวัน เรารู้ว่าวันนี้เราต้องทำให้ดีที่สุด

ในฐานะที่เป็นนักการเมืองหญิง และมีบุคลิกที่ค่อนข้างแข็ง คิดว่ามีข้อได้เปรียบเสียเปรียบอะไรบ้าง

ผู้หญิงได้เปรียบและเสียเปรียบในตัว

ได้เปรียบคือ การเข้ากับผู้ลงคะแนนเสียง เวลาที่ไปหาเสียง พอเป็นผู้หญิงก็ดูเหมือนเข้าหาง่ายกว่า และอีกจุดหลักที่เห็น อันนี้ไม่ได้เข้าข้างผู้หญิงนะ แต่รู้สึกว่า ผู้หญิงมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปในการทำเรื่องไม่ดี

ข้อเสียก็มี คือผู้หญิงถูกใส่ร้ายป้ายสีง่ายมากเลยนะ แค่เดินไปกับใครก็ถูกหาว่านี่มีอะไรกันหรือเปล่า โดนประจำว่ามี affair กับหัวหน้าพรรค (พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย) ก็ไม่รู้จะทำยังไง

ตอนนั้นโต้ตอบอย่างไร

ไม่ค่อยได้โต้เลย เพราะมันไม่ได้ออกมาเป็นข่าว เป็นแค่ข่าวลือว่ามีนั่นมีนี่ ถ้าแต่ก่อนมีไลน์ก็จะโต้ในไลน์ได้ แต่มันเป็นข่าวลือแบบคำพูด ก็ไม่รู้จะไปโต้กับใคร โต้ออกสื่อก็ไม่ได้ เดินกับใครก็โดนมอง ผู้หญิงทุกคน ทั้งนักการเมืองและผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ ทางราชการก็โดนแบบนี้เหมือนกัน ลูกสาวคนเล็กก็เคยถูกลือว่าเป็นลูกของคนนั้นคนนี้ ซึ่งเราก็รู้ว่ามันไม่ใช่ ครอบครัวเราก็ไม่มีอะไรหรอก

ตั้งแต่แต่งงานมา สามีดิฉันก็เป็นคนสังคมนะ แต่ทุกวันอาทิตย์เช้า ที่บ้านเขาต้องไหว้พระร่วมกันทั้งบ้าน ตั้งแต่แต่งงานจนถึงวันนี้ ทุกคนก็ยังต้องไหว้พระร่วมกัน ห้ามขาด แต่ก่อนนี่ก็เป็นเรื่องที่เขาจะทะเลาะกับดิฉันบ่อย เพราะเราทำการเมือง บางทีวันอาทิตย์ก็ต้องไปเปิดงานนั่นนี่ เขาก็จะบอกว่าขอแค่นี้ไม่ได้หรือ จนคนชอบบอกว่า เราแยกกันอยู่แล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงมันไม่มี ผู้หญิงก็จะมีข้อเสียเรื่องนี้ล่ะ ก็ต้องพิสูจน์ เรื่องนี้เราจะไปโต้ก็ไม่ได้ ไม่รู้จะโต้ยังไง เพราะข่าวมันไม่ได้ลงหนังสือพิมพ์ แต่ก็ทำให้เห็นว่าครอบครัวเราอบอุ่น แข็งแรง ซึ่งวันเวลาที่ผ่านไปมันจะเห็นเองว่าเราก็ยังแข็งแรงอยู่ด้วยกันนะ

นี่ก็เป็นเรื่องที่เขาจะทะเลาะกับดิฉันบ่อย เพราะเราทำการเมือง บางทีวันอาทิตย์ก็ต้องไปเปิดงานนั่นนี่ เขาก็จะบอกว่าขอแค่นี้ไม่ได้หรือ จนคนชอบบอกว่า เราแยกกันอยู่แล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงมันไม่มี ผู้หญิงก็จะมีข้อเสียเรื่องนี้ล่ะ

 

คิดว่าเรื่องข่าวลือแบบนี้มันเป็นเพราะอะไร ใช่สังคมชายเป็นใหญ่ไหม

มันเป็นเรื่องที่ง่ายไง เราก็จะเห็นว่า สมมติมีผู้ชายอยู่กลุ่มหนึ่งเดินมากับผู้หญิง หัวข้อตรงนั้นคือ วิจารณ์ผู้หญิงที่เดินมา นี่คือสิ่งที่เกิดอยู่ในสังคม

เราก็เข้าใจได้ แล้วยิ่งทางการเมือง เรื่องแบบนี้มันพิสูจน์ไม่ได้ คุณจะไปเห็นยังไง จะไปตามยังไงว่าใช่หรือไม่ใช่ แค่เดินผ่านก็พูดได้เลย แล้วเป็นเรื่องที่แพร่เร็วมาก ไม่ต้องมีข้อมูลรองรับ และไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ เพราะคนแค่ชอบที่จะสนุกปาก ซึ่งก็ไม่ใช่ข้อดีของสังคมนะที่เป็นแบบนี้

ยิ่งเดี่ยวนี้มีไลน์ อยากจะบอกว่า ไลน์นี่เราต้องใช้อย่างมีสติ อยากจะแชร์ตรงๆ ว่าความเร็วของข้อมูลที่มากับเทคโนโลยี ยิ่งเร็วเท่าไร เรายิ่งใช้สติลดลง

ในฐานะนักการเมือง คุณหญิงตีโจทย์ความขัดแย้งทางการเมืองตอนนี้ไว้อย่างไร

ตอนที่เขาให้เลือกวิทยานิพนธ์ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกหัวข้อในวิชาชีพตัวเอง เช่นคนที่เป็นพยาบาลก็เลือกเรื่องผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะใช้ธรรมะอย่างไร ดิฉันมาจากสายการเมือง มันก็มีเรื่องตีกัน เราก็เบื่อเรื่องการตีกัน จริงๆ แล้วถ้าคนเราปรับความคิดกันนิดหนึ่ง จะส่งผลไม่ใช่แค่สังคมสงบสุข แต่จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

ทุกวันนี้คนบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ต้องยอมรับว่ามันมาจากปัญหาของการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่ต้องว่าว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก แต่มันเกิดจากปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น มันก็ฉุดเศรษฐกิจลงมาตลอดสิบปีมานี้

แต่ถ้าเราไม่อคติ ไม่มายาคติ แล้วปล่อยให้ระบบมันเดินโดยไม่มีอะไรมา interrupt มันก็แก้ไขปัญหาได้ ตอนนี้ก็กลับมาแก้ที่จุดของเราเอง

ดูเหมือนคุณหญิงกำลังจะหวนกลับมาสู่งานการเมือง วางแผนไว้อย่างไรบ้าง

มีคนมาถามเรื่องพรรคเพื่อไทย ซึ่งเราเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง จากนั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง แล้วคืนสิทธิเมื่อปี 2555 แต่จากนั้นก็ไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้ง เพราะตอนนั้นรู้สึกว่ากำลังอยู่ในสังคมใหม่ที่สนุกสนาน ไปทำหมู่บ้านศีลห้า ไปทำลุมพินีฯ ก็สนุกสนาน พอสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เขาก็อยากให้ไปรับตำแหน่งใหญ่ ใหญ่นะ ใหญ่มากด้วยนะ แต่ก็ไม่ได้ไป

เพราะอะไร

ความที่ได้ผลมาจากด้านศาสนา ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องขวนขวายกลับสู่การเมือง ไม่ได้คิดจะตั้งพรรค ตอนนั้นก็เลือกที่จะหยุดอยู่กับตัวเอง กับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ เหมือนเราเคยอยู่องค์กรนี้ แล้วตอนนี้เหมือนเราเกษียณแล้ว เราก็อยู่แบบที่ถ้าเขามีอะไรให้ช่วยเขาก็มาบอก ถ้าเขาไม่ได้มีอะไร ไม่ได้ขออะไร เราก็อยู่แบบเอาใจช่วยกัน ก็ไม่ได้ไปทำกิจกรรมอะไร

ตอนนั้นทางพรรคมีผู้บริหารชุดใหม่ เราจะไปก้าวก่ายไม่ได้หรอก เดี๋ยวเกิดแนวไม่ตรงกัน คิดไม่ตรงกัน ก็จะเป็นความขัดแย้งในองค์กร เกิดถ้าคิดไม่ตรงกัน… ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะมีนะ… แต่แค่คิดเอาไว้ก่อน จากการที่เดี๋ยวนี้รอบคอบ มีสติ ใช้เหตุใช้ผล แน่นอน คนที่มีหน้าที่อยู่ในปัจจุบันไม่อยากให้คนเกษียณแล้วไปก้าวก่ายอะไรมากนักหรอก แล้วเกิดคิดไม่ตรงกันมันก็จะทะเลาะกัน เลยเลือกหยุดอยู่ของเราเฉยๆ …

ถึงตอนนี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์อะไรต่างๆ ก็มีคนมาถามเกี่ยวกับพรรค คิดว่าวันนี้ไม่อยากให้โทษใคร การเดินมาถึงเหตุการณ์วันนี้ได้มันก็เหมือนกับการตบมือ เพียงใครฝั่งเดียวไม่สามารถทำให้บ้านเมืองมันแย่ขนาดนี้ได้ มันต้องสองฝั่ง สามฝั่ง สี่ฝั่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

เราต้องแก้ที่ตัวเราเองก่อน ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เราทำมันผิด แต่มันอาจจะถูกเข้าใจผิด มันอาจมีบางอย่างที่เราทำพลาดจริง บางอย่างเราไม่ได้ทำแต่ถูกใส่ร้ายป้ายสี บางอย่างเหตุการณ์พาไป… ไม่เป็นไร…

 

คุณหญิงมองว่าพรรคเพื่อไทยเอง ก็มีส่วนต้องรับผิดชอบกับวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อจนถึงทุกวันนี้

พรรคเอย ทหารเอย ใครต่อใคร มีส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งนั้น ทุกพรรคการเมือง พรรคที่ไม่ลงเลือกตั้ง รวมทั้งทหารเอง ทุกฝ่ายทำให้เกิด แต่มันเปล่าประโยชน์ที่จะโทษกันไปมา ซึ่งก็ให้คำแนะนำว่า พรรคเพื่อไทยต้องเริ่มที่การปฏิรูปตัวเอง

นั่นคือต้องทำอย่างไรบ้าง

ต้องเริ่มที่ตัวเอง ไม่ต้องไปโทษทุกอย่าง แต่สัจธรรม ความเป็นจริง การที่จะเกิดเหตุการณ์อะไร มันไม่ได้มาจากสิ่งเดียว มันเป็นองค์ประกอบทั้งหมดที่ทำให้เกิดสิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ถ้าจะแก้ แต่ทุกคนมัวแต่โทษกันไปมา คุณแก้สิ เธอแก้สิ มันเกิดไม่ได้ เราไปบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันไม่ได้

ถ้าเราจะทำ เราต้องแก้ที่ตัวเราเองก่อน ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เราทำมันผิด แต่มันอาจจะถูกเข้าใจผิด มันอาจมีบางอย่างที่เราทำพลาดจริง บางอย่างเราไม่ได้ทำแต่ถูกใส่ร้ายป้ายสี บางอย่างเหตุการณ์พาไป… ไม่เป็นไร… มันไม่มีอะไรที่เป็นเหรียญด้านเดียว ไม่เป็นไร… เราก็ยอมเจ็บช้ำน้ำใจ ยอม suffer แล้วก็เริ่มที่ตัวเราเองโดยไม่ต้องไปโทษใคร แล้วมาดูซิว่า จุดอ่อนของเรามันคืออะไรบ้างที่เราต้องแก้ แล้วเราเคยมีจุดแข็งที่ประชาชนยังนิยมอยู่ นั่นคืออะไร ไปเสริมตรงจุดแข็ง แก้ที่จุดอ่อน เริ่มจากตัวเราเอง แทนที่จะบอกว่าคนนั้นก็ผิดคนนี้ก็ผิด มันก็ผิดทุกคน มันไม่มีใครผิดทั้งหมด และก็ไม่มีใครถูกทั้งหมด

ดิฉันคิดว่าเราต้องเริ่มตั้งแต่ตัวองค์กร ตัวระบบ เช่น ระบบยุติธรรม วันนี้ต้องยอมรับว่าระบบยุติธรรมมีปัญหา เรตติ้งเทียบกับทั่วโลกก็ลดลงมาเรื่อยๆ ถ้าทุกคนมองตามหลักพระพุทธศาสนา ก็ไปแก้จากตัวเราเองก่อน อย่างองค์กรของพรรคการเมืองไปบังคับให้องค์กรตุลาการปฏิรูปไม่ได้หรอก ไปบังคับให้พรรคนู้นปฏิรูปไม่ได้ บังคับให้ทหารปฏิรูปไม่ได้ ถ้าเป็นตัวเราเอง เราจะแก้… เราแก้ที่ตัวเราเองก่อน

ดิฉันคิดว่าหากเราแก้ที่ตัวเราเอง อย่างน้อยประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศก็จะเห็น ว่า.. มันมีคนที่ …อย่าใช้คำว่าสำนึกผิดนะ ต้องบอกว่า คนที่ willing ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะอย่างที่บอก เราไม่เชื่อว่าจะมีใครที่ผิดฝ่ายเดียว หรือคนคนนี้ผิดทั้งหมด หรือองค์กรนี้ผิดทั้งหมด มันมีทั้งผิดและไม่ผิด และถูกป้ายสี

หากมองว่าการแก้ไขต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน อะไรบ้างที่พรรคเพื่อไทยต้องแก้ไข

หนักที่สุดก็คือ คนกังวลเรื่องความวุ่นวาย ความไม่สงบ ซึ่งเราเองก็ต้องแก้ไขตรงนี้เป็นตัวหลัก ตอนนี้กระแสทั่วโลกเบื่อการเมืองแบบปะฉะดะ พรรคเพื่อไทยมีรากฐานจากพรรคไทยรักไทย เราเป็นยุคก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ในยุคนั้น หลังจากที่พลังธรรมโดนใส่ร้ายจนเหลือดิฉันเป็นส.ส.คนเดียว แล้วตัดสินใจมาเปิดบ้านใหม่คือไทยรักไทย จุดแข็ง ณ วันนั้น จากเหลือเราคนเดียว มาได้ ส.ส. เต็มไปหมด นั่นเพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ทำการเมืองแบบปะฉะดะ เราเป็นผู้เสนอคำตอบ เสนอทางออกให้กับประชาชน นี่คือสิ่งที่เป็นจุดแข็ง และก็เป็นจุดอ่อนในตัว เพราะหลังจากนั้นเราก็กลายเป็นผู้ที่อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง เราต้องลดภาพตรงนี้ลง

เวลาคนพูดถึงการเมือง คนมักมองเรื่องการปรองดอง ซึ่งตามมาด้วยข้อเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ คุณหญิงมองว่ามันจะไปได้ดีไหม

วันนี้ที่พูดกันเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ แต่ละคนที่เสนอ ไม่ตรงกันเลย แล้วยังไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร แนวคิดก็ไม่ตรงกันเลย เช่น ถ้าหลังเลือกตั้งมีรัฐบาลแห่งชาติ มันก็ไม่เป็นไปตามวิถี ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งเราก็ไม่สามารถพูดเอาไว้ก่อนว่าหลังเลือกตั้งจะมีรัฐบาลแห่งชาติ เพราะเราไม่รู้ว่าเลือกตั้งมา ใครได้เสียงเท่าไร ใครจะเป็นนายกฯ ใครจะเป็นพรรคร่วม ใครจะเป็นฝ่ายค้าน ก็งงๆ กับคำนี้เหมือนกัน คือมันยังไม่ชัดว่ารัฐบาลแห่งชาติคืออะไร แต่ละคนที่เสนอมาอาจคิดไม่ตรงกันเลยก็ได้

แต่แน่นอนว่า ชาวบ้านหรือนักธุรกิจ ย่อมเห็นว่าปัญหาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมันกระทบกับการทำมาหากินของเขาอย่างมาก ตรงนี้จะทำยังไง วันนี้เราเหมือนคนไม่มีทางเลือก เลือกตั้งแล้วนักการเมืองกลับมาตีกัน มีม็อบ เศรษฐกิจก็แย่ ทหารอยู่แบบนี้คนก็ไม่กล้าค้าขายด้วย

ถ้าวันนี้เรามองเห็นปัญหาตรงกัน ทุกฝ่ายต้องปรับปรุงตัวเอง สมมตินั่งกันอยู่ 5 คน คนนั้นปรับปรุงแล้ว คนไหนที่ยังไม่ปรับปรุง ชาวบ้านจะเห็นเอง

มันต้องให้ทุกคนมาตระหนักว่า ต้องลดอารมณ์ลง เอาความโกรธ ความเกลียด ความรัก ความหลง ลง แล้วยึดเอาเหตุผลของการอยู่รอดของบ้านเมือง ถ้าเรายังใช้มายาคติแก้ไขปัญหา มายาคตินี้ไม่ได้เผาฝั่งตรงข้าง แต่มันเผาตัวเราเอง เราก็อยู่ไม่ได้

ถ้าเรายังปล่อยให้มีสงครามสีอยู่ในใจ ถามว่า มีสงครามแบบนี้แล้วทำให้เกิดวิธีการวิเศษต่างๆ ถามว่ามันทำให้ปากท้องเราดีขึ้นหรือเปล่า คุณธรรม ศีลธรรมเราสูงขึ้นไหม

วันนี้สงครามของสีเกิดจากความรักฝั่งหนึ่งมากเกินไป เกลียดอีกฝั่งหนึ่งมากเกินไป วันนี้ยังมีอยู่ ช่วงที่ผ่านมาไม่มีสงครามอยู่บนถนนแล้ว แต่ถ้าเรายังปล่อยให้มีสงครามสีอยู่ในใจ ถามว่า มีสงครามแบบนี้แล้วทำให้เกิดวิธีการวิเศษต่างๆ ถามว่ามันทำให้ปากท้องเราดีขึ้นหรือเปล่า คุณธรรม ศีลธรรมเราสูงขึ้นไหม ในเมื่อมันไม่ใช่ แต่เราก็คิดว่ามันต้องอยู่อย่างนี้ล่ะ เพราะเราเกลียดฝั่งโน้นเหลือเกิน อีกฝั่งก็บอกว่าอยู่อย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉันก็เกลียดอีกฝั่งหนึ่งมากเหลือเกิน บ้านเมืองก็จะไปไม่ได้ บ้านเมืองมันเป็นเขม็งเกลียวตึงแบบนี้ไปไม่ได้ จากมายาคติที่เผาเราเอง มันก็ทำให้เกิดปัญหาที่จะสะท้อนมาถึงชีวิตประจำวันถึงสภาพความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ สภาพปากท้อง เรื่องเหล่านี้เหมือนไม่เกี่ยวกันเลย แต่เกี่ยวโดยตรง

แต่ดิฉันก็ไม่มีปัญญาจะทำให้สังคมช่วยกันคิดบนจุดนี้ แล้วกลับไปอยู่บนหลักการ มันไม่มีใครถูกทั้งหมดและไม่มีใครผิดทั้งหมด ส่วนที่ผิดก็ต้องบอกให้ปรับปรุงแก้ไข นี่คือสิ่งที่คิดว่าควรจะมี แต่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เป็นความคิดเล็กๆ ของคนคนหนึ่งเท่านั้นเอง

นับจากนี้ต้องยอมรับว่าด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้หลงเหลือนักการเมืองที่ยังเข้าเกณฑ์ทำงานหรือรับตำแหน่งสำคัญได้น้อยมาก

เอาตรงๆ คนก็คงไม่อยากเข้าทำงานทางการเมืองจากหลักเกณฑ์ที่เขียนใหม่ นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่มันกระทบกับทุกคน มันกระทบนักการเมืองไหม ก็กระทบ แต่สำหรับนักการเมือง แม้จะกระทบมากน้อยแค่ไหน เขาเอาตัวรอดได้ เลือกตั้งมาได้ เขาก็อยู่เฉยๆ กินเงินเดือนมาได้ แต่หลักเกณฑ์ที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ประเทศเคลื่อนตัวไปไม่ได้

ทั้งตัวรัฐธรรมนูญ…นี่พูดแบบไม่มีอคติเลย… คือ ทั้งตัวรัฐธรรมนูญเอง ทั้งเรื่องแผนยุทธศาสตร์ศาสตร์ชาติ 20 ปี มันคือพันธนาการที่รัดเราจนเราเคลื่อนตัวเองออกไปไม่ได้ ซ้ำร้ายด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วมาก ความคิดคนเปลี่ยนไปเร็วมาก ตอนนี้เรามีเรื่องให้ถูก disrupt ทุกวัน ไม่ได้ว่านะ ไม่ได้มีอคติเลย ห่วงประเทศจริงๆ

ดิฉันได้คุยกับนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น เขาบอกว่า เราเขียนรัฐธรรมนูญแบบที่ยากจะทำความเข้าใจ และมั่นใจได้ว่ารัฐบาลหน้าทำอะไรไม่ได้ ไม่สามารถคุ้มครองการลงทุนได้ นี่คือการสะท้อนจริงจัง สมมติเรามีปัญหาอย่างหนึ่ง แล้วรัฐบาลมีหน้าที่เข้าไปแก้ แก้ไม่ได้หรอก เพราะมันมีกลไกที่เข้าไป overrule (มีอำนาจเหนือ) ผู้บริหาร เหมือนบริษัทมี CEO ที่คอยมาบอกผู้บริหารว่าทำนั่นทำนี่ไม่ได้ ซึ่ง CEO จะทำให้บริษัทเติบโตไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่อาจารย์วิษณุ (เครืองาม) พูดเองว่า ไม่ทำติดคุกนะ

ขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยน คุณเอาคนอายุเลยวัยเกษียณมามากมายมาเขียนแผนให้เด็กรุ่นหลัง กับโลกเทคโนโลยีที่ไปไกลขนาดนี้ มันเห็นได้ว่าเรากำลังสร้างพันธนาการ มันทำให้เห็นได้ว่า อนาคตข้างหน้ามันน่าห่วง ไม่ใช่ห่วงนักการเมือง เพราะเขาเอาตัวรอดได้ เลือกตั้งได้ก็นั่งกินเงินเดือนเฉยๆ แถมอ้างได้เลยว่ารัฐธรรมนูญห้ามเขาทำ แผน 20 ปีห้ามเขาแตะ ก็เหมือนเลือกและจ้าง robot มาชุดหนึ่งที่ต้องทำตามโปรแกรมแผน 20 ปีที่วางไว้แล้ว ถามว่าใครเสีย ตัวประชาชนได้รับผลเสียหมด นี่พูดแบบไม่มีอคตินะ แล้วมันก็เป็นอย่างนี้จริงๆ

แล้วยังมีความหวังต่อประเทศไทยไหม

(นิ่งถอนใจ) มันจะเหนื่อย เหนื่อยมาก เอางี้แล้วกัน ถ้าพูดเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นี่คือสิ่งที่ดิฉันทำ เรามีโอกาสจากภาคเกษตร มีการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรเป็นโอกาสที่จะต้องส่งออกได้ดีมาก เพราะทั่วโลกกำลังห่วงเรื่องความมั่นคงของอาหาร แต่เราไปไม่ถูกทิศถูกทาง นี่เป็นเรื่องที่คาใจให้อยากทำเรื่องการปฏิรูปเกษตร สอง เราส่งออกอะไร ส่งออกจากอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมวันนี้ที่ส่งออกได้มากที่สุดคือ ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งรถไฟฟ้ากำลังมา เราไม่ได้ทำรองรับเลย เราไม่มี R&D (research and development – การวิจัยและพัฒนา) ด้วยซ้ำไป ไม่ต้องไปถึง R&D แต่เรามีแรงงานที่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีน้อยมาก

เราเหลืออะไร ก็มีเรื่องท่องเที่ยว กับตัวสุดท้ายคือการบริโภคภายใน ซึ่งไม่ต้องพูดเลย พอสินค้าเกษตรตกต่ำ การบริโภคภายในก็หายไป เป็นแบบนี้มา 5-6 ปีแล้ว ดังนั้น เมื่อเครื่องยนต์สามตัว เกษตร ส่งออก บริโภคภายใน มันดับ เหลือการท่องเที่ยวบ้าง กับเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ มันไม่ได้แปลว่าต้องมีเครื่องมือล้ำสมัย แต่เราไม่มีความพร้อมพอที่จะปรับตัวรับกับวิธีคิดและคลื่นลูกใหม่ของเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งเรื่องกฎหมายและเรื่องต่างๆ และยิ่งเขียนอะไรที่พันธนาการไว้แบบนี้ มันจะกลายเป็นประเทศที่ไม่ไปไหน

‘ข้าวสานธรรม’ โครงการที่ชวนเกษตรกรผลิตข้าวโดยไม่ใช่สารเคมี ใช้โรงสีชุมชน ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 4 ของโครงการแล้ว

ตอนนี้เวลาคนมองอนาคตของพรรคเพื่อไทย ชื่อ ‘สุดารัตน์’ ปรากฏเป็นชื่อต้นๆ ว่าอาจถูกวางตัวให้มารับมือเป็นผู้นำคนต่อไป คุณหญิงพร้อมรับมือไหม

เอาจริงๆ เลย ตอนนี้ความอยากได้ใคร่มี ทำมาเยอะแล้ว ทำมาตั้งแต่ตอนอายุ 30 ตอนที่สบายๆ ยังไม่ไปเลย

แต่เข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ ถ้าพรรคเพื่อไทยดำเนินนโยบาย มีท่วงที หรือมีบทบาทที่ช่วยเสริมส่งในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง มันก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะยังไงก็เป็นพรรคใหญ่ จึงได้นำเสนอว่า เรื่องตัวบุคคลน่าจะเป็นเรื่องรอง แต่นำเสนอให้ปฏิรูปพรรคเสียก่อน แล้วกำหนดแนวทางเสียว่าเราจะเดินไปอย่างไร เราจะทำอย่างไรให้พรรคนี้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข

เราเป็นคนทำไทยรักไทย เราถนัดวิธีแบบนั้น (ยิ้ม) คือหาทางออกให้ประชาชน นึกถึงว่าตอนนี้เรายังมาคุยกันเองไม่ได้ เขายังห้าม (ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน) ถ้าคุยได้ก็จะเสนอให้คุยกันแบบนี้เสียก่อน แล้วค่อยดูทิศทางว่ามันจะเดินไปทางไหน จากนั้นค่อยไปหาผู้นำที่เหมาะสม ว่าทิศทางใดแบบไหนถึงจะเหมาะ ขณะที่ดิฉันก็เอาใจช่วยอย่างเต็มที่ให้พรรคเกิดการปฏิรูป

ควรปฏิรูปพรรคเพื่อไทยอย่างไร

อย่างที่พูด คือเราถูกกระทำและต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างมาก มันจึงกลายเป็นเรื่องความขัดแย้งวุ่นวาย จำเป็นที่เราจะต้องเดินอย่างเป็นระบบ เป็นองค์กรทางการเมือง เป็นสถาบัน

จุดแข็งคืออย่างที่บอก เราเป็นพวกที่ทำไทยรักไทยมา พรรคการเมืองต้องเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้ประชาชน อำนวยความอยู่ดีมีสุขให้ประชาชน ทำมาหากินให้ประชาชน นี่คือแนวทาง ที่ต้องปฏิรูป

ระบบ ‘นายใหญ่’ ถือเป็นอุปสรรคไหม?

ดิฉันขออธิบายอย่างนี้นะ ถ้าพูดถึงระบบนายใหญ่ ถ้ามองเป็นบริษัท ดิฉันกำลังชวนว่า จากที่เราเป็นบริษัทจำกัด เราเข้าบริษัทมหาชนกันไหม

คือเราไม่ปฏิเสธตัวตนผู้ถือหุ้นนะ Founder หรือ ผู้ก่อตั้งเขาก็มีคุณูปการจนทำให้คนนิยมได้จนถึงทุกวันนี้ ใครจะไปพูดว่าได้มาเพราะซื้อเสียง มันก็พิสูจน์มาแล้วกว่าสิบปีว่าเป็นแค่นกแก้วนกขุนทองที่พูดไป founder เขาก็มีข้อดี ต้องนับว่ากิจการเจริญได้ก็เพราะ founder ทำสินค้าที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่แน่นอน เมื่อยุคสมัยมันเปลี่ยน มันจำเป็นต้องมีการมีส่วนร่วม founder ก็ยังอยู่ เขาก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ และแน่นอนว่ามันมีกฎระเบียบ ที่จะต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่ว่าถ้า founder จะเอาคนนี้ออก จะขึ้นเงินเดือนคนนี้ แบบนี้ไม่ได้ มันก็ต้องมีกรรมการร่วมกันตัดสินใจ

วันนี้ถ้าเราคิดอย่างนักบริหารจัดการระบบ มันจัดการได้ แล้วจุดอ่อนของการเป็นพรรคครอบครัวก็จะหมดไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทย ยังไงเขาก็ได้รับความนิยม แต่ถ้าเราวางระบบให้ดี ปฏิรูปให้ดี ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อประชาชน ซึ่งไมได้แปลว่าที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยทำผิดทั้งหมด มันก็อาจจะเป็นบางอย่างที่อาจจะพลาด บางอย่างที่ถูกใส่ร้าย แต่เราก็ทำให้มันดีก็แล้วกัน

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อ 18 กันยายน 2560

 

FACT BOX:

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ปัจจุบันอายุ 56 ปี

ประวัติการศึกษา:

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาด จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ชีวิตครอบครัว:

เป็นบุตรสาวคนเดียวของนางเรณู เกยุราพันธุ์ และนายสมพล เกยุราพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคอิสระ ต่อมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย
​          สมรสกับนายสมยศ ลีลาปัญญาเลิศ นักธุรกิจ มีบุตรธิดารวมสามคน

งานด้านการเมือง

  • ปี 2535 เข้าสู่การเมืองไทยโดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ของพรรคพลังธรรม
  • ปี 2537 – 2538 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
  • ปี 2538 – 2539 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ปี 2541 ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย
  • ปี 2544 – 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • ปี 2548 – 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • ปี 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง มีคำตัดสินให้ยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 111 คนเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งรวมถึงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
Tags: , , , , , , , , , , ,