ปฎิเสธไม่ได้ว่า ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามในประเทศไทยที่เหมือนตัวเลขการติดเชื้อจะไม่ลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผู้คนส่วนใหญ่พยายามตะเกียกตะกายสุดความสามารถในการรับวัคซีนหน่วยงานภาครัฐจัดสรรให้ ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งจองผ่านแอพพลิเคชันออนไลน์ เข้าคิววอล์กอิน (แบบไม่มั่นใจว่าจะได้หรือไม่) โควตาที่ทำงาน หรือพื้นที่เสี่ยงในละแวกใกล้บ้าน

จากวิวาทะเรื่องคุณภาพของยี่ห้อวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามาในช่วงพฤษภาคม ตอนนี้ผู้คนเริ่มเห็นว่า “อย่างน้อยก็ฉีดวีคซีนไปก่อน ยี่ห้อไหนก็ได้” พูดง่ายๆ คือเอาภูมิคุ้มกันมาก่อน ถ้าติดก็อาจจะไม่ตาย ปอดอาจพังน้อยลง ลดโอกาสการแพร่เชื้อ และที่สำคัญที่สุด วัคซีนยังเป็นเหมือน ‘ใบเบิกทาง’ ให้ได้กลับไปทำงานตามปกติ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่แทบจะล้มละลายกันหมดแล้ว 

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากๆ หลังจากรัฐบาลได้เริ่มจัดสรรการฉีดวัคซีนครบเข็มที่สองไปแค่ 10% ของประชากรเป้าหมายทั้งหมด (ข้อมูลวันที่ 19 มิถุนายน 2564 รัฐบาลได้ฉีดวัคซีนสะสม 7,483,083 ราย แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 5,434,119 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 2,048,964 ราย)

จากเป้าหมายที่สองเข็มจำนวน 50 ล้านคน คือการออกมาทำแคมเปญทางการตลาด (หรือบางแห่งอ้างว่าเป็นการทำแคมเปญ CSR -Corporate Social Responsibility ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ) จากห้างร้าน เอกชน และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ โดยเสนอสิทธิพิเศษให้แก่คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น (ผู้เขียนขอใช้คำว่า ‘fully-vaccinated privilege’) ผู้เขียนขอจำกัดความไว้ก่อนว่า สิทธิพิเศษที่มอบให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว หรือ fully-vaccinated privilege ในที่นี้ คือสิ่งที่เสนอมอบให้เกินพื้นฐานหรือความจำเป็น ซึ่งมาก่อนเวลาอันควรไปมาก และมีแววส่อเสี่ยงให้เกิดปัญหาที่จะตามมาในเร็ววัน

ในทางตรงกันข้าม ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของคนที่ฉีดวัคซีนแล้วที่ควรได้รับในไทย คือการเดินทางข้ามประเทศแบบกักตัวน้อยลง หรือไม่ต้องกักตัวเลย อันนี้ถือว่าจำเป็นและเป็นเรื่องพื้นฐาน สมเหตุสมผล ถือเป็นความรับผิดชอบ สร้างประโยชน์และส่งผลดีไม่เฉพาะแก่ตัวเอง ทว่าต่อคนอื่นและส่วนรวมอีกด้วย 

ทว่าสิทธิพิเศษที่มอบให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ได้แก่ การให้ส่วนลด แถม หรือแจกของ สิทธิพิเศษดังกล่าวสามารถเห็นได้ทั่วไปเวลาไปเดินห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งซื้อของออนไลน์ก็ยังมี เช่น ร้านกาแฟดังร้านหนึ่งให้ส่วนลดคนนั่งกินในร้าน 10% หรือร้านอาหารหลายร้านให้ของแถมฟรี หากคนที่ฉีดวัคซีนแล้วมาใช้บริการ ที่เลวร้ายไปกว่านั้น เนื่องจากในประเทศไทยมีผู้ฉีดวัคซีนน้อยกว่าคนที่ยังไม่ฉีด ดังนั้น จึงเริ่มมีแคมเปญให้สิทธิ์กับคนที่ยังไม่ฉีดก็ได้ ขอแค่มีใบจองวัคซีนก็มารับสิทธิพิเศษได้เลย 

ผู้เขียนมีความกังวลใจเป็นอย่างมาก หลังจากเริ่มเห็นแคมเปญเหล่านี้ออกมาอย่างสะเปะสะปะ และเริ่มไม่แน่ใจว่าองค์กรเอกชนหรือหน่วยงานที่ออกมาเสนอให้สิทธิพิเศษเหล่านี้มีวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ ระหว่างการดึงยอดขาย การเอาตัวรอดในวิกฤตเศรษฐกิจ หรือต้องการช่วยรณรงค์ให้คนออกไปฉีดวัคซีนจริงๆ ทั้งที่ภาครัฐยังจัดการเรื่องการจัดสรรวัคซีนได้ไม่ถึงเสี้ยวของคนทั้งประเทศ ยังไม่ต้องพูดถึงคุณภาพของวัคซีนที่ผู้คนยังคลางแคลงใจ (เธอฉีดยี่ห้อนี้ ฉันได้ยี่ห้อนั้น, ประสิทธิภาพดีแค่ไหน, รับรอง-ไม่รับรองโดย WHO, ต่างประเทศยอมรับแล้วหรือยัง)

ตัวอย่างของการทำแคมเปญทางการตลาดหรือ CSR แบบนี้ในประเทศที่มีวัคซีนเพียงพอหรือล้นตลาด เริ่มมีให้เห็นแล้วที่สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนได้เอง จัดสรรวัคซีนได้เกินครึ่งของประเทศ และมีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อให้ประชาชนเลือก (โดยเฉพาะในอเมริกา)

ภาคเอกชนมีการร่วมมือกับภาครัฐ ลด แลก แจก แถมสิ่งของ และโปรโมชันต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกมาฉีดวัคซีน เนื่องจากเริ่มมีประชากรบางกลุ่มยังลังเลและไม่กล้าที่จะออกมาฉีด ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลร่วมมือกับบริษัทรถแท็กซี่เจ้าหนึ่ง ด้วยการรับส่งคนไปฉีดวัคซีนฟรีเลยทีเดียว หรือในรัสเซียก็ไม่แพ้กัน หากไปฉีดวัคซีน ที่สถานีฉีดจะมีอาหารและสิ่งของแจกให้ติดมือกลับบ้านด้วย แถมมีเล่นใหญ่ด้วยการจับฉลากแจกรถยนต์เดือนละ 5 คัน หรือคอนโดฯ ฟรี ให้สำหรับคนที่ไปฉีดวัคซีนมาแล้วด้วย

หันกลับมามองที่ประเทศไทย…

หากประเทศไทยมีวัคซีนล้นตลาดแล้วไม่มีคนยอมไปฉีด ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อไม่ลดลง ตอนนั้นแหละคือเวลาที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นช่วงเหมาะสม ที่ห้าง ร้าน องค์กรเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐควรจะออกมาทำแคมเปญเสนอสิทธิพิเศษ fully-vaccinated privilege เพื่อเชิญชวนให้คนฉีดวัคซีน จะได้หยุดโรคเพื่อชาติ สร้างภูมิคุ้นกันหมู่ และทำให้คนไทยและต่างชาติเชื่อใจได้ว่าเราพร้อมที่จะเปิดประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเต็มรูปแบบอีกครั้ง

ในทางกลับกัน ปัญหาที่กำลังจะตามมา จากการให้สิทธิพิเศษกับพวกที่ได้ฉีดวัคซีนเกินความจำเป็นและก่อนเวลาที่เหมาะสม ได้แก่ การแบ่งแยกชนชั้นในสังคมโดยไม่รู้ตัว (ฉันฉีดแล้ว ฉันมีเยอะกว่า) วัดและเปรียบเทียบได้จากสิทธิพิเศษที่ห้างร้านเอกชนและหน่วยงานรัฐมอบให้ ซึ่งทฤษฎี Capital ของ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ดี หากมองในกรณีนี้ การได้รับวัคซีนถือเป็น Healthcare Capital หรือต้นทุนทางสาธารณสุข และเมื่อแต่ละคนมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน (ซึ่งควรจะเท่ากัน เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทางภาครัฐต้องมอบให้อย่างเท่าเทียม) ก็จะเกิดปัญหาของความไม่เท่าเทียมได้

นอกจากนี้ การสร้างหรือเข้าถึงพื้นที่ปลอดภัย ในกรณีที่ “ฉันฉีดแล้ว แกยังไม่ได้ฉีด ออกไป น่ารังเกียจ อย่ามานั่งทานอาหารในร้านเดียวกับฉันนะ” ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหนังเรื่อง The Hunger Games ที่มีการแบ่งโซนที่อยู่อาศัยตามฐานะเศรษฐกิจ หรืออื่นๆอีกมากมาย จนสุดท้าย วาทกรรมเหล่านี้ (ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน) ก็จะกลับไปสร้างปัญหา การทะเลาะเบาะแว้งและความรุนแรงเรื่องเดิมๆ เช่น ความไม่เท่าเทียม การแบ่งแยก และอยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของคนในประเทศไทย จากแค่ปัญหาเล็กๆ ของแคมเปญทางการตลาด fully-vaccinated vaccine ที่กำลังเกิดขึ้นจากกระบวนการความคิดไม่ถี่ถ้วนและระมัดระวังของการทำแคมเปญ 

ผู้เขียนตั้งใจให้บทความชิ้นนี้แสดงความกังวลใจ และต้องการที่จะเตือนสติแก่เหล่านักการตลาดที่ทำแคมเปญ CSR หรือใครก็ตามที่กำลังจะสนับสนุนการให้สิทธิพิเศษเฉพาะ fully-vaccinated privilege นี้ว่า มีความจำเป็นหรือผลดีต่อสังคมส่วนรวมหรือไม่ และเหมาะสมควรแก่จังหวะเวลาแล้วหรือยัง

ถ้ายัง รอให้คนไทยทุกคนได้รับวัคซีนครบจริงๆ ก่อนได้ไหม แล้วเราค่อยช่วยกันสร้างสิทธิพิเศษ เพื่อเป็นการจูงใจให้คนที่ยังไม่ยอมฉีดในวันที่วัคซีนเหลือล้นตลาด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่น่าจะดีกว่า 

Tags: , , , , ,