ภาวะที่คนทำงานในเมืองใหญ่กลุ่มใหญ่ๆ ประสบอยู่เป็นระยะ มักเป็นภาวะอารมณ์มัวๆ ร่างกายซึมๆ ตื่นตอนเช้าก็ง่วงๆ ทำงานแล้วก็อยากพัก สุดท้ายคราบอารมณ์และความเครียดจากการงานจะค่อยๆ เกาะตัวเป็นชั้นบางทว่าหนาขึ้นทุกวันในใจ ดีไม่ดียังส่งผลถึงชีวิตส่วนตัวอย่างความสัมพันธ์ทั้งคนรัก เพื่อน และครอบครัวด้วย

เวลาเป็นแบบนั้นเราอาจเยียวยาตัวเองด้วยการเปิดหาตั๋วเครื่องบิน Low-cost เพื่อท่องเที่ยวบำบัด ออกไปดื่มกับเพื่อน ทิ้งงานทิ้งการไปสักพัก แต่เราก็อาจรู้ในใจลึกๆ ว่ามันไม่ใช่วิถียั่งยืนในระยะยาว

เราไม่อยากหยิบยืมวลีเด็ดมาใช้เลยว่า ‘ชีวิตดีขึ้นทุกด้าน แค่คุณอ่าน Are You Fully Charged? แค่ครั้งเดียว’ แต่เนื้อหาที่ Tom Rath เขียนเล่าในนี้น่าจะตอบโจทย์คนเมืองและคนทำงานป่วยๆ หลายคนได้ดีทีเดียว

เล่าภูมิหลังสักหน่อยว่าผู้เขียนอย่างทอมป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่วัยรุ่น อาการป่วยทำให้เขาสูญเสียตาข้างซ้ายไป และทุกวันนี้เขาก็ยังป่วยอยู่ แต่เงื่อนไขร่างกายเช่นนั้นก็ส่งผลให้เขาศึกษาเรื่องการพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง เพื่อหาวิธีใช้เวลาที่มีอยู่จำกัดให้ดีที่สุด

เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจ คำว่า ‘ชาร์จพลัง’ ของทอมไม่ใช่แค่วลีโลกสวย เป็นนามธรรมเชิงจิตวิญญาณ หรือให้ผลชั่วครั้งชั่วคราว แต่มาจากผลการศึกษาที่มีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันจริงๆ

พูดง่ายๆ คือถ้าทำได้ ยังไงชีวิตก็น่าจะดีขึ้นสักทางแบบรับประกันได้น่ะ

ทอมแบ่งการชาร์จพลังชีวิตออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ ในแต่ละหัวข้อจะซอยเนื้อหาออกเป็นตอนสั้นๆ ให้ย่อยง่ายแต่ต่อเนื่องกันไปเป็นเนื้อเดียว ระหว่างเนื้อหาก็จะสอดแทรกผลวิจัยให้ดูไปด้วย ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าจะอ่านยาก

ตอนที่หนึ่ง คือ ‘ความหมาย’ เล่าถึงการสร้างความหมายในการทำงานของเรา การมองเห็นว่าการทำงานของเราจะสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นได้อย่างไรบ้าง มากกว่าคิดทำงานเพื่อแสวงหาความสุขส่วนตัวผู้เดียว หรือเพื่อหาเงินเท่านั้น

ฟังเผินๆ อาจคล้ายสิ่งที่คนพูดกันมา แต่ทอมชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ‘ความหมาย’ กับ ‘ความสุข’ นั้นต่างกันอย่างชัดเจน และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับฐานะทางการเงินของบุคคลนั้นๆ ด้วย

การจะเสาะหาความหมาย เราไม่จำเป็นต้องผันตัวไปเป็นคนทำงานเพื่อสังคม แค่มองหาจุดที่ว่าในงานที่ทำให้เจอ เช่น ถ้าทำงานจัดวางสินค้าในร้านขายของชำก็ให้รู้ตัวว่าเรากำลังช่วยให้คนอื่นประหยัดเวลา และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้ซื้อหาของมีประโยชน์กลับไปให้ตัวเองและครอบครัวอยู่ ความรู้สึกและประสิทธิภาพการทำงานก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

การจะเสาะหาความหมาย เราไม่จำเป็นต้องผันตัวไปเป็นคนทำงานเพื่อสังคม แค่มองหาจุดที่ว่าในงานที่ทำให้เจอ

เขายกตัวอย่างผลการทดลองจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาที่ยืนยันว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีความสุขแต่ขาดความหมายในชีวิต (ในที่นี้คือการไขว่คว้าเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง) จะแสดงยีนที่เกี่ยวกับภาวะเครียดที่มักนำไปสู่อาการอักเสบ แถมยังมียีนรูปแบบเดียวกับคนที่เผชิญความยากลำบาก เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเป็นต้นเหตุของโรคภัยต่างๆ ด้วย

อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่เราก็นึกเชื่อมโยงได้ว่าห้วงเวลาที่มีความสุขแบบกลวงๆ ไม่เคยดีกว่าตอนที่เราทำงานโดยรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่า ถ้าต้องทำงานโดยไม่มีเป้าหมายทุกวัน ไม่ต้องรอผลวิจัยมายืนยันเราก็รู้แก่ใจว่าน่าจะรู้สึกแบบไหน

 

ตอนที่สอง คือ ‘ปฏิสัมพันธ์’ เล่าถึงวิธีการปฏิบัติตัวที่จะช่วยให้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวดีขึ้นได้ พลังบวกนั้นจะส่งต่อไปในวงกว้างในเครือข่ายสังคม และวนกลับมาให้ประโยชน์ตัวเราในที่สุด
ทอมอธิบายโดยอ้างอิงผลวิจัยว่า เราประเมินอิทธิพลที่การปฏิสัมพันธ์มีต่อประสบการณ์ในแต่ละวันต่ำเกินไป ทุกคนที่เราสื่อสารด้วยในแต่ละวันหรือตลอดทั้งสัปดาห์มีอิทธิพลต่อความอยู่ดีมีสุขของเรา ไม่ว่าเราจะเห็นเขาเป็นเพื่อนหรือรู้จักชื่อหรือไม่ ตัวเราเองจึงมีผลในต่อชีวิตประจำวันของคนอื่นโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน และเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเลือกปฏิบัติตัวแบบไหน

ทุกคนที่เราสื่อสารด้วยในแต่ละวันหรือตลอดทั้งสัปดาห์มีอิทธิพลต่อความอยู่ดีมีสุขของเรา

ปฏิสัมพันธ์ทางบวกจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่างกับปฏิสัมพันธ์ทางลบ ฮอร์โมนที่หลั่งต่างกันก็จะส่งผลต่อการคิดทำสิ่งต่างๆ อย่างมีคุณภาพต่างกัน ที่สำคัญคือฮอร์โมนที่เกิดปฏิสัมพันธ์ด้านบวกนั้นจะสลายตัวเร็วกว่าที่เกิดจากด้านลบ อารมณ์ทางบวกจึงเกิดขึ้นน้อยกว่าและคงอยู่ไม่นานเท่าอารมณ์อีกฝั่ง เมื่อปฏิสัมพันธ์เชิงลบหนึ่งครั้ง เราต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกอย่างน้อย 3-5 ครั้งเพื่อลบล้างผลกระทบนั้น

เราจึงควรพยายามทำให้บทสนทนามีแต่เรื่องดีอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าประชุมก็อย่าลืมคุยเรื่องที่กำลังไปได้สวย หรือถ้าพิมพ์ข้อความหาเพื่อนแล้วใส่ความเห็นเชิงลบลงไป อย่าลืมเติมเรื่องบวกลงไปด้วยเพื่อดึงอารมณ์เพื่อนกลับมา

การลงรายละเอียดกับการปฏิสัมพันธ์จะเห็นผลลัพธ์งอกเงยเป็นรูปธรรม เช่นเพื่อนร่วมงานที่มีมิตรภาพอันดีต่อกันจะทำงานได้ลื่นไหล เพราะอารมณ์ความรู้สึกแพร่กระจายได้ไวกว่าคำพูด เราจึงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้รวดเร็วกว่าคนที่ไม่คุ้นเคยกัน เป็นต้น

 

ตอนที่สามคือ ‘พลังงาน’ เล่าถึงวิธีดูแลสุขภาพกายและจิตผ่านการกินที่ดี การพักผ่อนที่ดี และการเคลื่อนไหวร่างกายที่ดี

ในยุคที่เราแข่งกันทำงานหนักๆ และอวดว่าอดนอนบนเฟซบุ๊ก ทอมดึงเรากลับมาอยู่ในโลกความจริงว่าคนจำพวกสุดท้ายที่องค์กรอยากได้คือพนักงานระดับหัวกะทิที่หมดไฟเพราะจัดการกับชีวิตประจำวันไม่ได้ในระยะยาว งานวิจัยบ่งชี้ว่าการอดนอนส่งผลต่อร่างกายไม่ต่างจากการดื่มแอลกอฮอล์ ลองนึกถึงผลการทำงานที่อาจผิดพลาดจากภาวะดังกล่าวดู คิดง่ายๆ ว่านางพยาบาลที่ทำงานเหนื่อยมากแล้วต้องดูแลคนไข้ต่อโดยไม่ได้พักผ่อน ก็คงทำงานได้ไม่ดีเท่านางพยาบาลที่พลังงานเต็มเปี่ยม

สุขภาพจึงต้องมาก่อนเสมอ เพื่อให้เรามีเชื้อเพลิงไปทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อไปได้

คนจำพวกสุดท้ายที่องค์กรอยากได้คือพนักงานระดับหัวกะทิที่หมดไฟเพราะจัดการกับชีวิตประจำวันไม่ได้ในระยะยาว

ทุกตอนที่ผ่านมาทอมจะมีคำแนะนำเชิงปฏิบัติที่ทำได้จริงในตอนนี้ก็เช่นกัน เขาแนะนำให้เราลองจัดระเบียบอาหารรอบตัว การวางอาหารที่มีประโยชน์ไว้ใกล้ตัวและเก็บที่มีประโยชน์น้อยให้ไกลๆ ก็ช่วยให้เรากินอาหารที่ดีขึ้นได้ ใบ้เคล็ดลับการต่อสู้กับภาวะนั่งนานที่ส่งผลต่อร่างกายอย่างคาดไม่ถึง รวมถึงแนะวิธีรับมือกับความเครียดที่เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยและความชรา

ตั้งแต่ต้นเล่ม ทอมย้ำถึงศาสตร์ประสบการณ์ประจำวัน (daily experience) ที่หมายถึงผลจากประสบการณ์ทั้งดีและร้ายที่เราพบตลอดวัน ว่ามันมีความหมายต่อพลังงานและความสุขในตัวมากกว่าที่เราคิด และจะส่งผลต่ออนาคตในอีกหลายปีหรือสิบๆ ปีข้างหน้าด้วย แม้จะเป็นแค่ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ก็อย่าดูถูกมัน และควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้

ไม่อย่างนั้นต่อให้มีกูรูด้านชาร์จพลังอีกกี่คนก็คงช่วยเราไม่ได้ จริงไหม

FACT BOX:

ผลงานอื่นๆ ของทอมมีเช่น How Full Is Your Bucket? หนังสือขายดีอันดับหนึ่งของ New York Times และ StrengthsFinder 2.0 ซึ่งติดอันดับหนังสือขายดีทั่วโลกของเว็บไซต์ Amazon.com รู้จักเขาให้มากขึ้นได้ที่ www.tomrath.org