“สู้ๆ”

“อดทนนะ”

“เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้น”

สารพัดคำปลอบโยนที่เรามักใช้กันตอนที่คนใกล้ตัวประสบกับความผิดหวัง อกหัก ตกงาน หรือเจอกับปัญหาใหญ่ในชีวิต มันเกิดขึ้นไม่บ่อยนักหรอก คนเราจะทุกข์เศร้าอะไรได้นานๆ

แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่กับช่วงเวลานี้…

ตั้งแต่เกิดมา รู้สึกว่าช่วงเวลานี้แหละที่คำปลอบโยนถูกใช้บ่อยที่สุด ราวกับเป็นคำทักทายเมื่อพบเจอ แทบทุกคนล้วนต้องเผชิญกับสถานการณ์หดหู่ท้อแท้สิ้นหวังต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ถ้อยคำบ่นระบายถึงความทุกข์ยากกลายเป็นหัวข้อหลักของการสนทนา ก่อนจากลาด้วยการโอบกอดให้กำลังใจ นี่เป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทยช่วงนี้

จำได้ว่ามันเริ่มต้นอย่างฉับพลันไม่ทันตั้งตัว เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดเปิดฉากขึ้น หลายคนเริ่มถูกบริษัทลดเงินเดือน บางคนถูกจำกัดเวลาทำงาน แม้รายได้ลดลง แต่ขวัญกำลังใจยังดี จึงได้แต่พูดกันขำๆ ว่า 

“สู้ๆ”

“อดทนนะ”

“เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้น”

จากนั้นไม่ถึงเดือน ข่าวยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าหวาดกลัวทั่วโลก จากร้อยเป็นพัน หมื่น แสน จนทะลุล้านในบางประเทศ ขยับมาเมืองไทย ที่มีการประกาศล็อกดาวน์เป็นครั้งแรก ธุรกิจสายการบินประกาศหยุดบิน นักท่องเที่ยวหายหมด โรงแรมร้าง สถานบันเทิงผับบาร์ปิดสนิท ขยายลุกลามมายังร้านอาหาร ร้านกาแฟ เนื่องจากกฎห้ามนั่งกินในร้าน

กลุ่มคนทำธุรกิจ คนทำมาค้าขายได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นพวกแรกๆ ภาพตึกแถวติดป้ายเลิกกิจการเริ่มมีให้เห็น คนจำนวนมากตกงาน หลายคนถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนอาชีพ หลายคนทยอยกลับไปตั้งหลักยังภูมิลำเนา บางคนชีวิตดิ่งลงถึงจุดต่ำสุดต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ขณะที่บางคนโบกมือลาโลก…  

ขณะที่พนักงานบริษัทน้อยใหญ่ต่างเฝ้ามองความเป็นไปในสังคมด้วยความหวั่นวิตก สถานการณ์ดูจะวิกฤตลงเรื่อยๆ วัคซีนก็ยังมาไม่ถึง เศรษฐกิจทรุดลงทุกวัน ไม่มีใครมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะถึงคิวตัวเองเมื่อไหร่ ทำได้แต่รัดเข็มขัดประหยัดเงิน ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง พร้อมทั้งปลอบโยนให้กำลังใจกันไป

ล่วงมาจนถึงช่วงปลายปี ตัวยอดผู้ติดเชื้อดูเหมือนจะคงที่ บรรยากาศทำท่าว่าจะไม่มีอะไรเลวร้ายลงไปกว่านี้ เริ่มมีคำสั่งให้ผ่อนคลายธุรกิจหลายประเภท ผู้ประกอบการบางคนรวบรวมเงินก้อนใหญ่กลับมาลงทุนอีกครั้ง ร้านรวงต่างๆ ฮึดสู้กลับมาเปิด นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคัก ทำให้เกิดแสงสว่างแห่งความหวังในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ กระทั่งเกิดคลัสเตอร์สนามมวย คลัสเตอร์สมุทรสาคร เชื้อโรคแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับความตื่นกลัวของคนในสังคม รัฐบาลประกาศปิดสถานประกอบการหลายแห่งอีกครั้ง ทำให้เจ้าของธุรกิจที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะกลับมาได้ ถูกตอกฝาโลง หลายคนยอมแพ้ต้องเลิกกิจการถาวร

หลังจากนั้นอะไรที่ไม่เคยก็ได้เห็น นักบินหันมาขับรถส่งอาหารเดลิเวอร์รี อดีตพนักงานบริษัทใหญ่เงินเดือนเฉียดแสนต้องมาขายของออนไลน์ ดารามาเปิดร้านข้าวต้ม บางคนต้องเปลี่ยนอาชีพกะทันหันในวัยสี่สิบ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนที่ฝึกฝนเรียนรู้และทำงานสายใดสายหนึ่งมาทั้งชีวิต 

รุ่นพี่คนหนึ่ง อดีตรุ่นใหญ่วงการพีอาร์เอเจนซี เคยมีรายได้เดือนละหลักแสน มีบริษัทมั่นคง ถึงขั้นลงทุนทำโฮสเทลเล็กๆ ในเมืองท่องเที่ยว อนาคตสดใส แต่วันนี้ต้องปิดบริษัท เป็นหนี้เกือบสิบล้าน ขายรถยนต์ทิ้ง และกำลังวางแผนจะย้ายลูกออกจากโรงเรียนค่าเทอมแพง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

เพื่อนอีกคนเปิดร้านอาหารอีสานคราฟต์เบียร์มาห้าปี ธุรกิจรุ่ง มีชื่อเสียง สามารถขยายสาขาแห่งที่สองที่สาม มีเงินเก็บอุ่นใจในธนาคาร แต่หลังจากปิดๆ เปิดๆ มานานนับปีตามคำสั่งของรัฐบาล แถมยังไม่ได้รับการเยียวยาแม้แต่น้อย บัดนี้อาการร่อแร่ และขีดเส้นตายให้ธุรกิจตัวเองแล้ว

คำว่า “เดี๋ยววัคซีนมา ทุกอย่างก็ดีขึ้น” “ดูสิ อเมริกาเขาเลิกใส่หน้ากาก กลับมาใช้ชีวิตปกติกันแล้ว” นั้นดูจะเป็นคำพูดเพ้อเจ้อ หากย้อนกลับมามองการบริหารจัดการวัคซีนที่โง่บัดซบของรัฐบาลไทย การแทงม้าเต็ง ทำให้วัคซีนมาช้า มาน้อย แถมยังได้ยี่ห้อที่มีประสิทธิภาพต่ำ หนำซ้ำการจัดสรรฉีดวัคซีนก็สับสนอลหม่าน ได้คนละยี่ห้อบ้าง ถูกยกเลิก เลื่อนเอาดื้อๆ บ้าง ในขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดก็เลวร้ายลงทุกวัน ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุเป็นสี่ห้าพันต่อวัน ไวรัสกลายพันธุ์อุบัติ คลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นไปทุกหัวระแหง ไหนจะวิกฤตเตียงขาดแคลน และคำสั่งประกาศปิดสถานประกอบการอย่างกะทันหัน ที่ไร้การสื่อสาร ไร้การวางแผน ทำคนหัวใจสลาย ล้มทั้งยืนรอบที่สาม

คราวนี้เสียงก่นด่าสาปแช่งดังระงมทั้งแผ่นดิน ความหวังพังทลายลงแล้วสำหรับใครบางคน ข่าวนักร้องสาวฆ่าตัวตาย บัณฑิตหนุ่มโพสต์ขอรับบริจาคเงินมาใช้หนี้ให้ครอบครัว พร้อมคำสั่งเสีย บรรยากาศบ้านเมืองมาถึงจุดที่คนสิ้นหวัง หมดทางไป ไร้ที่พึ่ง หลายคนเขียนระบายด้วยความเจ็บปวด บางคนเริ่มมีอาการเงียบขรึมผิดปกติ และหายหน้าไปจากโซเชียลและเพื่อนฝูง แม้กระทั่งคนที่ยังมีการงานมั่นคงก็อดที่จะซึมเศร้าหดหู่ไม่ได้ ยามเห็นเพื่อนร่วมสังคมต้องเจอกับสภาวะที่ไร้ขวัญและกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ต่อไป

“สู้ๆ”

“อดทนนะ”

“เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้น”

ถ้อยคำปลอบโยนให้กำลังใจที่เราใช้กับคนอื่นมาตั้งแต่โควิดระบาดระลอกแรก ระลอกสอง และระลอกสาม เราไม่มีวันรู้เลยว่าระลอกต่อไป อาจเป็นเราก็ได้ 

วันที่เราต้องกลายมาเป็นคนถูกปลอบโยนเสียเอง

Tags: ,