เห็นคนกำลังอินกับแอพพลิเคชัน Clubhouse เลยอดใจไม่ไหว ลองโหลดมาเล่นเสียหน่อย เพราะกลัวจะตกขบวน คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง

เข้าห้องโน้นออกห้องนี้ หัวข้อน่าสนใจทั้งนั้น ตั้งแต่เรื่องหนักๆ อย่างรัฐธรรมนูญไทย การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เทรดหุ้น ลงทุนคริปโต นินทาเจ้า เล่าเรื่องผี เรียนภาษา ให้คำแนะนำเรื่องการทำธุรกิจ จนถึงเมาท์มอยกันขำๆ ที่หาสาระอันใดไม่ได้ กว่าจะปิดไอแพดก็ปาเข้าไปสามสี่ชั่วโมงอยู่เหมือนกัน

ก่อนมาได้ข้อสรุปว่า ห้องที่ชอบที่สุดและใช้เวลาฟังนานที่สุดคือ ‘สิ่งที่อยากเห็นในแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.’

ในห้องนั้นมีคนฟังอยู่นับร้อย หลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ข้าราชการ คนทำธุรกิจ นักการเมือง ยันอดีตผู้ว่าฯ กทม. และผู้ที่เตรียมจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. 

ผมสังเกตเห็นว่า Clubhouse ถ้าเป็นห้องที่มีเนื้อหายากๆ จะมีคนที่ติดตามหรือศึกษาเท่านั้นถึงจะมีความรู้ พอจะเสนอความเห็น บางคนก็กล้าๆ กลัวๆ หรืออายที่จะพูดจึงเลือกที่จะฟังอยู่เงียบๆ

แต่ในห้อง ‘สิ่งที่อยากเห็นในแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.’ เป็นหัวข้อซึ่งคนที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุง ล้วนมีประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยประสบพบเจอ มีมุมมอง มีความคิดเห็น มีข้อเสนอแนะ มีเรื่องที่อยากจะแชร์ บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยความคึกคัก มีสีสัน มีความหลากหลาย และทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมได้มากกว่าห้องที่มีแต่สปีกเกอร์เก่งๆ เพียงไม่กี่คน เป็นคนพูด

คืนนั้น มีการคุยกันแทบทุกเรื่อง จากสายไฟที่พันกันยุ่งเหยิงถึงฟุตบาทที่ไม่เคยเดินได้สะดวกปลอดภัย จากสตรีทฟู้ดถึงทางม้าลายที่ข้ามแล้วอาจตายได้ง่ายๆ จนถึงพื้นที่สีเขียวที่ถูกสร้างทับด้วยห้างหรู ปัญหารถติด น้ำท่วม ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง ฟังแล้วได้ความรู้เพียบ คนหนึ่งเล่า คนหนึ่งถาม อีกคนตอบ อีกคนคอยช่วยเสริม วงสนทนาเป็นไปอย่างสุภาพราบรื่น เปี่ยมด้วยสาระ ขณะเดียวกัน ยิ่งฟังประสบการณ์อัดอั้นตันใจของแต่ละคน ก็ยิ่้งเศร้าใจไปกับเมืองใหญ่อันศิวิไลซ์แห่งนี้

เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา อากาศหนาวอยู่นานสองสามสัปดาห์ ดึงดูดใจให้อยากจะออกจากบ้านไปนั่งเล่นที่ไหนสักแห่ง จึงตัดสินใจเดินทางไปที่สะพานพระรามแปดหวังจะรับลมแม่น้ำเย็นๆ 

ภาพที่เห็นคือ คนออกมานั่งเล่นกันริมแม่น้ำกันหนาตา จิบเบียร์ นั่งคุยกระหนุงกระหนิง กินจิ้มจุ่ม ถัดไปบนลานกว้าง เด็กมัธยมต้นกลุ่มหนึ่งตั้งแถวเตรียมซ้อมเต้นเชียร์ลีดเดอร์ ไม่ไกลกันเด็กแนวกลุ่มใหญ่กำลังไถสเก็ตบอร์ด และที่เห็นไกลลิบๆ มีรุ่นใหญ่กำลังเตะฟุตบอลกันอย่างสนุกสนาน

ผมเดินดูนั่นดูนี่ไปเรื่อย รู้สึกดีกับฉากชีวิตอันหลากหลายใต้สะพานพระรามแปด ยังมีพื้นที่ที่ให้คนได้ออกมาทำกิจกรรมได้ แม้ยามดึกดื่น ก็มีแสงไฟสปอร์ตไลต์ส่องสว่าง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยตรวจตรา ผิดจากที่เคยคิดไว้ก่อนนี้ว่าเป็นแหล่งมั่วสุม มืดสลัว เสี่ยงอันตราย มีแต่วัยรุ่นนั่งจับกลุ่มดื่มเหล้าเมาเอะอะโวยวายเสียงดัง 

ด้วยความที่เป็นคนชอบออกกำลังกาย ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ผมจะออกไปวิ่งตามสวนสาธารณะ เว้นวรรคจากหน้าจอ ออกไปดูต้นไม้เขียวๆ ใกล้ชิดธรรมชาติบ้าง ให้รู้สึกสบายอกสบายใจ 

ผมเปลี่ยนบรรยากาศไปทั่ว สวนรถไฟ สวนลุมพินี สวนหลวง ร.9 ศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอน และถึงขั้นเคยขับรถออกนอกเมืองไปไกลแถวพุทธมณฑล แต่สถานที่โปรดปรานที่สุดน่าจะเป็นบึงหนองบอน เพราะการได้เห็นบึงใหญ่ๆ เห็นผืนน้ำกว้างไกลสุดสายตา สลับกับทิวไม้ แล้วมันสดชื่นปลอดโปร่งอย่างบอกไม่ถูก

ขณะวิ่ง สายตาก็สอดส่ายไปเรื่อย ก่อนจะพบว่าสวนสาธารณะมันคือพื้นที่ชีวิต พื้นที่แห่งความสุข พื้นที่ปลดปล่อยความทุกข์ พื้นที่สันทนาการ พื้นที่สงบจิตสงบใจ บ้างมาเป็นครอบครัว บ้างเป็นคู่ ปูเสื่อกินข้าว นอนอ่านหนังสือ ซ้อมเต้น พลอดรัก สอนลูกตัวน้อยปั่นจักรยาน ไถสเก็ต ฝึกถ่ายรูป ทำกายภาพบำบัด แม้กระทั่งนอนพักสักงีบเอาแรง โดยไม่ต้องควักเงินจ่ายผ่านประตู ทว่าสิ่งที่กลับมานั้นประเมินค่ามิได้ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ จนถึงกระชับความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว 

นึกถึงคำของ ‘พี่แหม่ม’ – วีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซีไรต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า กรุงเทพฯ เมืองไม่โรแมนติก ไม่เอื้อให้มีความรัก

“ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรักในกรุงเทพฯ มีน้อยมาก เพราะกรุงเทพเป็นเมืองที่ไม่โรแมนติก เป็นเมืองที่ถ้าคุณตกหลุมรักเดี๋ยวนี้ เย็นนี้ก็เลิก จะเดินคุยกันก็ไม่มีที่ เข้าไปนั่งในร้านกาแฟก็คนหนาแน่น เดินห้างก็ตกหลุมรักใครไม่ได้ คนเยอะ วุ่นวาย เจี๊ยวจ๊าว ไม่มีพื้นที่ให้คู่รัก หรือถ้าเกิดตกหลุมรักใคร ก็ยากที่จะประคองความสัมพันธ์เอาไว้ เช่น นัดกันไว้หกโมงเย็น มาถึงทุ่มนึงเพราะจราจรและขนส่งมวลชนแย่ ไหนจะฝุ่นทำให้ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ นั่งแอ๊วผู้ชายอยู่แล้วเลือดกำเดาไหล เป็นเมืองที่น่าหงุดหงิด รถติด ควันดำ ไม่มีพื้นที่ สวนสาธารณะก็น้อย ไม่ได้รับการดูแล เช่น สวนรถไฟ สวนลุมพินี ก็เป็นสวนที่ไม่สวย ไม่มีการวางทัศนียภาพและภูมิทัศน์ แต่เป็นทั้งหมดที่เรามี ก็ต้องเดินกันไปอย่างนั้น

“แม้ว่าจะมีแอพพลิเคชันหาคู่ แต่ก็ไม่มีปัจจัย ไม่มีกำลังที่จะเดตกับใคร ดูหนังครั้งหนึ่ง 250 บาท ขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ทุกคนต้องทำงานเยอะขึ้น ความรักก็มีพื้นที่น้อยลง กลับกัน ถ้าคุณอยู่ปารีส 2 ชั่วโมง คุณก็ตกหลุมรักได้ 3 หนแล้ว เพราะเมืองมันสวยงาม น่ามีชีวิตอยู่ และสีสันของการมีชีวิตอยู่คือการได้รัก การถูกรัก การเอ็นจอยในแต่ละวัน สำคัญคือต้องมีพื้นที่ให้เดิน” (อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ https://voicetv.co.th/read/8mRreeakQ)

เออว่ะ แม่งโคตรใช่ ทุกวันนี้จะหาสถานที่ผ่อนคลาย เดินเล่น ก็ไม่รู้จะไปไหน คิดอะไรไม่ออกนอกจากห้างสรรพสินค้า มีห้างเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แต่สวนสาธารณะกลับมีน้อย แถมบางแห่งก็ปิดเร็ว บางแห่งก็ทรุดโทรม จะไปเดินมิวเซียม หลายแห่งก็ปิดในวันหยุด สุดท้ายไม่รู้จะไปไหนก็หนีไม่พ้นห้าง ร้านกาแฟ และตลาดนัด สถานที่พักผ่อนดีๆ และฟรีนั้น ดูเหมือนจะหายากขึ้นทุกวัน

เอาแค่เดินเล่นในละแวกบ้าน แม้กระทั่งทางเท้าก็ต้องเจอกับพื้นผิวขรุขระเป็นหลุมบ่อ อาจโดนรถมอเตอร์ไซค์ชนเข้าอีก จะนั่งพักเหนื่อยหลบแดดก็ไม่มีม้านั่งใต้ต้นไม้ร่มรื่น เพราะถูกตัดจนเหี้ยนเหลือแต่ตอ ต้องดมฝุ่นอยู่ริมถนนที่เต็มไปด้วยรถติดและควันจากท่อไอเสีย ดีไม่ดี เดินๆ อยู่อาจต้องเอาชีวิตไปทิ้ง ถ้าต้องเจอกับท่อระบายน้ำที่ไม่ได้ปิดฝา สายไฟฟ้าระโยงระยางที่มีโอกาสช็อตตายได้ทุกเมื่อ

ผมเคยเห็นคนวิ่งออกกำลังกายกันบนทางเท้า ต้องหลบมอเตอร์ไซค์ หลบสิ่งกีดขวาง สูดควันพิษ ย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา ถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่า คงไม่มีใครอยากออกมาวิ่งเสี่ยงตายกันแบบนี้แน่ๆ

ถ้ามีพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ให้คนได้เข้าไปใช้ประโยชน์ตั้งอยู่ไม่ไกลบ้าน เดินทางง่ายๆ โดยไม่ต้องเดินทางอ้อมเมืองดั้นด้นไปหา มีสนามหญ้ากว้างๆ มีบึงใหญ่ๆ มีต้นไม้เขียวๆ ให้พักผ่อน นั่งเล่น นอนเล่น เดินเล่น มีพื้นที่ให้คนทำกิจกรรมหลากหลาย เล่นกีฬา แสดงดนตรี ตั้งวงปิกนิก มีห้องน้ำสะอาดๆ มีแสงไฟส่องสว่าง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลความเรียบร้อย และเป็นสถานที่ที่ไม่ต้องจ่ายเงินหรือมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนในการเข้าถึง ไม่แบ่งแยกคนรวย คนจน คนไร้บ้าน 

ฟังดูแล้วฝันฟุ้งและแทบจะเป็นไปไม่ได้ สำหรับกรุงเทพฯ เมืองที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนและเม็ดเงินทางธุรกิจ มากกว่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของตัวจริง

Tags: , , , , ,