(1)

หากเปรียบชีวิตของ พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เหมือนหนังสักเรื่อง ก็คงเป็นหนังที่เล่าเรื่องความเน่าเฟะของระบบราชการไทยได้ดี หนังเรื่องนี้ควรจะจบอย่างแฮปปี้ คนอย่างพลตำรวจตรีปวีณควรได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นเบอร์ต้นๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และควรจะเกษียณอายุด้วยเกียรติยศ ในฐานะนายตำรวจน้ำดี ในฐานะ ‘มือปราบ’ ที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ

แต่ด้วยระบบของประเทศนี้ กลับไม่เป็นอย่างนั้น สิ่งที่ประเทศนี้ตอบแทนพลตำรวจตรีปวีณ ก็คือการที่เขาต้องลี้ภัยไปที่ออสเตรเลีย ด้วยวัย 64 ปี พลตำรวจตรีปวีณยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ เพื่อเอาชีวิตรอดในฐานะผู้ลี้ภัย ขณะที่อำนาจที่เขาต่อสู้ด้วย วันนี้ยังคงสุขสบายดี

สองสัปดาห์ก่อน The Momentum มีโอกาสได้คุยกับปวีณ ถึงเส้นทางชีวิตตำรวจ การทำงาน และคดีสุดท้ายของ พล.ต.ต.ปวีณ เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ เป็นความตั้งใจของพวกเรา ในการทำให้เรื่องนี้ไม่เงียบหายไปจากหน้าสื่อ 

สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่าน พลตำรวจตรีปวีณเล่าถึงชีวิตของเขาในฐานะตำรวจ ที่เขาบอกเองว่า ไม่ได้เป็นคนดี ‘ขนาดนั้น’ แต่ก็ไม่ได้เป็นตำรวจที่ยอมใคร เอาเข้าจริง เขาเล่าถึงชีวิตราชการตั้งแต่คดี ศักดิ์ ปากรอ, คดีมาเฟียแท็กซี่ภูเก็ต, คดีโรงพักร้าง 396 แห่ง และควรจะเกษียณอายุราชการอย่างสงบสุข หากไม่ได้รับโทรศัพท์สำคัญให้ไปทำคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา

วันที่ได้ยินข่าวการค้ามนุษย์โรฮีนจาครั้งแรก เมื่อ 7 ปีก่อน ผมจำได้ว่า ความรู้สึกในเวลานั้น ในฐานะนักข่าวคนหนึ่ง เป็นเรื่อง ‘ตื่นตะลึง’ ที่ตำรวจสามารถจับกุมนายทหารยศ ‘พลโท’ ได้ ในฐานะ ‘หัวหน้า’ ขบวนการค้ามนุษย์ได้ 

แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าว สร้างความอับอายให้กับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เพิ่งยึดอำนาจไปก่อนหน้านั้น 1 ปี 

แต่สิ่งที่เราไม่เคยรู้คือ เกิดอะไรขึ้นบ้างต่อจากนั้น… และพลโท ที่บอกว่าเป็นจุดสิ้นสุดนั้น ก็เป็นเพียงแค่ปลาซิวปลาสร้อยตัวหนึ่งเอง…

 

(2)

สำหรับใครที่ตามไม่ทัน คดีค้ามนุษย์โรฮีนจานั้น ในอีกแง่หนึ่ง ยังเป็นคดีที่บ่งบอกความเน่าเฟะของประเทศไทย และตำรวจไทยได้ดี เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจากการพบหลุมศพโรฮีนจาจำนวนมากนับร้อยศพที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นภาคต่อจากคดีที่พบรถยนต์ขนโรฮีนจา 96 คน ที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช จนมีบางคนขาดอากาศหายใจกลายเป็นศพ เมื่อเดือนมีนาคม 2558

แต่แทนที่สังคมไทย จะรู้สึกสะเทือนใจกับขบวนการค้ามนุษย์ ในเวลานั้นมุมมองต่อโรฮีนจา ยังเป็นอีกอย่าง คนเหล่านี้ยังเป็น ‘ตัวร้าย’ ทั้งภายใต้การอธิบายของรัฐไทย และส่งผ่านไปถึงมุมมองของอินฟลูเอนเซอร์ เป็นช่วงเวลาที่ ‘ทหาร’ ยังมีเครดิตเต็มเปี่ยม ในฐานะผู้รักษาความสงบ และรัฐราชการ คือความจริงสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว

เล่าคร่าวๆ ขบวนการโรฮีนจานั้น เป็นมุสลิมในรัฐยะไข่ เมียนมา ซึ่งทางการเมียนมาไม่ต้องการ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องล่องเรือไปเรื่อยๆ เพื่อหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งก็หนีไม่พ้นประเทศไทย ตั้งแต่แถบจังหวัดระนอง เรื่อยไปจนถึงชายแดนมาเลเซียแถบจังหวัดสตูล โดยปกติทางการไทย จะใช้วิธีผลักดันกลับ แต่ก็มีหลายครั้ง ที่ทหารเรือถอดเครื่องยนต์ ปล่อยให้ลอยเคว้งคว้างกลางทะเล มีการแฉเรื่องราวลักษณะนี้อยู่หลายครั้งทั้งจากสื่อไทย และสื่อต่างชาติ แต่ทางการไทยไม่เคยจับใครได้เป็นชิ้นเป็นอัน

เรื่องเล่าที่เป็นที่นิยมในเวลานั้นจากรัฐไทย คือกลุ่มคนโรฮีนจานั้น มีลูกมาก อยู่ที่ไหนก็มีปัญหา หากรับเข้ามาก็เป็นภาระกับคนไทย เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว ที่ทหารเรือไทยจะถอดเครื่องยนต์ จะไล่จับ หรือเร่งผลักดันให้โรฮีนจาไปใช้ชีวิตในประเทศอื่น ‘พี่แยม’- ฐปณีย์ เอียดศรีชัย ทำข่าวเรื่องนี้นานหลายปี ก็โดนกล่าวหาทุกครั้งว่าเป็นนักข่าวโรฮีนจา หลายครั้ง บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ในยุคนั้น ไล่ให้ฐปณีย์เอาโรฮีนจาไปเลี้ยงที่บ้าน ตามด้วยการกดไลก์ และคอมเมนต์สะใจของคนไทย 

แต่เรื่องที่อยู่ใต้พรมก็คือ มีการปล่อยให้โรฮีนจาจำนวนไม่น้อยหลุดเข้ามา เพื่อจะเจอด่านต่อไปคือขบวนการค้ามนุษย์ มีการจับโรฮีนจาเหล่านี้ไปขายต่อเป็นแรงงานราคาถูก มีการเก็บค่าหัวคิว เพื่อให้เปลี่ยนสถานะจากแรงงานไร้สัญชาติ เป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำมาหากินได้ ที่แย่กว่านั้นก็คือบางคนที่ดูมีฐานะหน่อยก็จะถูกจับไปเรียกค่าไถ่ และในระหว่างนั้น ก็มีคนกลุ่มนี้จำนวนมากถูกข่มขืน ถูกฆ่า เป็นที่มาของการพบหลุมศพจำนวนมาก โดยที่ไม่เคยมีกระบวนการทางกฎหมายเอาผิดใครได้…

เป็นเพียงความ ‘โชคร้าย’ ของโรฮีนจาเท่านั้นเอง

 

(3)

แต่การพบหลุมศพ และศพจำนวนมาก ทำให้ตำรวจหนีไม่พ้น สิ่งที่ต้องตามต่อคือปลายทางของเรื่องนี้จะจบลงที่ใคร… แน่นอนว่า ‘ตำรวจ’ ในฐานะต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ต้องคลี่คลายคดีนี้ให้ได้ และเป็นคนกำหนดว่า ‘ปลายทาง’ ของเรื่องนี้จะอยู่ที่ไหน

แน่นอนว่า หากตำรวจทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เราจะพบจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร คำพูดที่พลตำรวจตรีปวีณพูดอยู่บ่อยครั้งก็คือ โรฮีนจาไม่อาจปรากฏขึ้นมาเองบนแผ่นดินไทยได้ แต่ต้องผ่านน่านน้ำ ผ่านด่านบก ซึ่งเกี่ยวพันกับทั้งทหารเรือ ทหารบก และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ที่ต้องรู้เห็น ต้องหลับตาข้างหนึ่ง และมีจำนวนไม่น้อยรับผลประโยชน์จากขบวนการนี้ คิดค่าขึ้นฝั่ง หัวละพัน หรือมากกว่านั้น จึงเป็นเหตุให้ไทยถูกตีตราจากชาติตะวันตกว่ามีปัญหาการค้ามนุษย์ อยู่ในระดับ Tier 2 (Watch List) หรืออยู่ในบัญชี ‘เฝ้าระวัง’

ทว่า เมื่อเรื่องเกินมือตำรวจยาวไปถึง ‘ทหาร’ เมื่อหลักฐานสลิปโอนเงิน ถูกตรวจสอบว่าสามารถโอนไปถึง พลโท มนัส คงแป้น ก็ทำให้ทหาร ‘เดือด’ พลโทมนัสในช่วงเวลานั้น เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ตำแหน่ง ‘ขาลอย’ ทว่า มีความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นอย่างดีกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนพลเอกประวิตรให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นเรื่องส่วนตัว และที่ผ่านมาก็ทำงานดี”

พลโทมนัสเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี 2564 ด้วยโรคประจำตัว ‘หัวใจวายเฉียบพลัน’ สมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในผู้ต้องขังร่วมเรือนจำเคยเล่าให้ฟังว่า พลโทมนัสบอกว่ามีอีกหลายคนที่ร่วมขบวนการ แต่ถึงเวลาที่โดนจับ กลายเป็นพลโทมนัสที่โดนเพียงคนเดียว

แน่นอนว่า คำแถลงอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาล และโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น จบลงที่คดีนี้ ‘สิ้นสุด’ แล้ว และหัวหน้าขบวนการใหญ่คือพลโทมนัส

 

(4) 

แต่ในการให้สัมภาษณ์ของพลตำรวจตรีปวีณในอีก 7 ปีให้หลัง เขาเล่าให้เราฟังว่า มีหลายครั้งที่ตำรวจถูก ‘นาย’ สั่งให้ยุติการสอบสวน เมื่อไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะมีคำสั่งให้ ‘พอ’ หากไปเจอตอ หรือบรรดาผู้ต้องหานั้นออกแรง ‘วิ่งเต้น’ ได้เพียงพอ และแน่นอนว่าปลายทางของเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่นายทหารใกล้เกษียณที่ไม่มีตำแหน่งอย่างพลโทมนัส หากแต่ยังหมายถึง ‘นาย’ อีกหลายคนของเขาที่นั่งอยู่ในกรุงเทพฯ

ถึงจุดนี้ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 บอกว่า ที่ผ่านมา มีวิธีการเยอะมากในการ ‘วิ่ง’ เพื่อเปลี่ยนรูปคดี ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งผ่านตำรวจระดับต่างๆ เช่น ทำสำนวนคดีสั่งฟ้องให้อ่อนๆ หรือถ้าวิ่งผ่านตำรวจไม่สำเร็จ ก็ไปวิ่งผ่าน ‘อัยการ’ ให้อัยการเปลี่ยนสำนวน

“พวกเขายังมีวิธีการอีกเยอะแยะ เช่น ทำสำนวนคดีสั่งฟ้องอ่อนๆ ไปให้อัยการเปลี่ยนสำนวน ไปวิ่งผ่านอัยการ ไม่ผ่านทางผม แต่ถ้าหากเขาสั่งไม่ฟ้องมาทางผม ผมจะโต้กลับทันทีและมีมาตรการที่ดุเดือดมาก ลูกน้องนี่ไม่ค่อยชอบเท่าไร เขาจะพูดตลอดว่า เฮ้ย ทำไมคนนี้เข้มจัง อะไรก็ไม่ได้”   

เขาบอกว่า หากเป็นคนอื่น หรือหากเป็น พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา รุ่นน้อง ซึ่งบังเอิญเป็นผู้บังคับบัญชาของเขาทำคดี คดีนี้ คงจบที่นายทหารยศร้อยเอก ร้อยโท หรือข้าราชการท้องถิ่นบางคน ไม่สามารถสาวไปถึงทหารระดับนายพล หรือคนระดับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้

แต่ลำพังตัวเขาเอง ก็ทำให้เรื่องนี้สุดได้เพียงเท่านี้เหมือนกัน ตามวงจรข่าวสารของบ้านเรา เมื่อเรื่องเงียบ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็โดนย้ายออกจากพื้นที่อย่างเงียบๆ โดยเฉพาะยิ่งเมื่อเรื่องอาจสาวไปถึงทหาร ในระดับที่ ‘ลึก’ ขึ้นเรื่อยๆ และอาจเกี่ยวพัน แม้กระทั่งกับคนในรัฐบาล คสช.

ในเวลาไม่ถึงปี ไม่ว่าใครก็แล้ว ไม่ว่าจะตำรวจ อัยการ หรือศาล แต่ที่รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ ก็ถูกย้ายเข้า ‘กรุงเทพฯ’ เกือบหมด ปล่อยให้พื้นที่ภาค 8 กลายเป็นแดนสนธยาต่อไป และมีแต่เพียงพลตำรวจตรีปวีณคนเดียวที่ถูกส่งไปประจำที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

(5)

เรื่องที่ไม่ได้เล่าในบทสัมภาษณ์ก็คือ มีความพยายามจากนายตำรวจผู้บังคับบัญชา ที่บอกไปยังบุคคลระดับสูงกว่า ก็คือมีความพยายามในการ ‘จำหน่าย’ เขาออกจากระบบ หรือ ‘เก็บ’ หลังจากที่ส่งเขาไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ผมรู้ละ โอ้โห เขาต้องการเล่นผมแน่นอน เพราะมีสิ่งบอกเหตุมาตั้งหลายเดือนแล้ว มีคนเยอะมากมาพูดมาคอยเตือนตลอด โอเค ถ้าผมไปอยู่ 5-6 เดือนแรกผมอาจจะรอด แต่ผมอาจจะพลาดเดือนที่ 7 ก็ได้ ใครจะรู้ ผมไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงหรอก ยิ่งเราทำคดีมาเยอะ ศัตรูก็เยอะตาม เพราะทุกครั้งที่คุณปฏิเสธ คุณก็มีศัตรูเพิ่มแล้ว และยิ่งบอกว่าผู้ใหญ่ขอมา ความแค้นก็มากขึ้นเท่านั้น

“คนในวงการนี้มันตายมาเท่าไรแล้ว อย่างพันตำรวจโท จันทร์ (พันตำรวจโท จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ [หัวหน้าสอบสวน] สน.เทียนทะเล) หนึ่งในนายตำรวจที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปงานสืบสวนสอบสวน) อยู่ๆ ก็ตายขึ้นมาเฉยๆ ตอนนั้นถูกจับแขวนคอ หรือร้อยตำรวจเอกที่สงขลาก็ถูกยิงตาย และจับใครไม่ได้ด้วย” 

เมื่อเขาปฏิเสธไม่รับข้อเสนอที่ถูกเสนอโดย ‘นาย’ ของเขาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การตัดสินใจที่ยากลำบากกว่าก็คือการตัดสินใจลี้ภัย ทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ผลงานชิ้นสุดท้ายของนายตำรวจที่ทำงานหนักเพื่อจัดการคดีค้ามนุษย์ จึงจบลงด้วยการที่เขาอยู่ประเทศนี้ไม่ได้ เพราะเรื่องที่เขาทำไม่ถูกใจบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ ที่บังเอิญไปจับคนของนาย และทุกคนล้วนอยู่ในกระบวนการปิดบัง – ตัดตอน กระบวนการค้ามนุษย์ให้สิ้นสุดแค่นั้น และเหลือเพียงวงการตำรวจแบบที่เราเห็นทุกวันนี้

 

(6)

ทั้งหมดทั้งมวล นำมาสู่คำถามสำคัญ คือเราต้องการ ‘ตำรวจ’ แบบไหน ที่ผ่านมา ตำรวจ ต้นทางของกระบวนการยุติธรรมนั้น ถูกเรียกร้องอย่างมากในสมัย กปปส. ว่าต้องการ ‘ปฏิรูป’ โดยด่วน เพราะตำรวจนั้น ถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลมากเกินไป

แต่จนถึงวันนี้ 8 ปีให้หลังการรัฐประหาร วงการตำรวจยังคงเละเทะเหมือนเดิม เสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง และ ‘ตั๋ว’ ยังคงดังระงมสังคมไทย หลายคดีในเงื้อมมือของตำรวจถูกสังคมสงสัย เคลือบแคลง และตำรวจคนไหนที่ใกล้ชิดกับนาย วิ่งได้ถูกคน ตำรวจคนนั้น ก็จะใหญ่โตอย่างก้าวกระโดด

ทั้งหมดนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของคนที่เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา…

ส่วนคนอย่าง พลตำรวจตรีปวีณ ก็คือคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ปล่อยทิ้งให้เดียวดาย กลายเป็นคนที่ถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวหาว่าทำให้สถาบันตำรวจเสียหาย ทำให้ประเทศชาติเสื่อมเสีย และกลายเป็นคนที่ไม่สามารถอยู่ในประเทศอย่างปกติสุขได้ จนกว่าตำรวจและประเทศจะถูกปฏิรูปอย่างแท้จริง

ทั้งหมด ยังคงไม่เห็นอนาคตอันใกล้ แต่ทำให้เห็นว่าสังคมไทย ต้องจัดการเรื่องโครงสร้าง ต้องแก้ปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงลึก มากกว่าจะทำแค่ลูบหน้าปะจมูก เพื่อให้กระบวนการนี้ได้รับความเชื่อถือ ไม่ได้เป็นแค่กระบวนการยุติธรรม ‘ของใคร’

หากยังไม่ทำอะไร หากยังปล่อยให้มีความพยายามปกปิด หากผูกขาดความจริง และความดี ไว้ที่คนกลุ่มเดียวเมื่อไร เราก็จะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ และถ้ายังไม่ทำอะไร สุดท้ายเราก็จะต้องมี ปวีณ 2 ปวีณ 3 ปวีณ 4 อีกต่อไป ส่วนพลตำรวจตรีปวีณ ก็คงต้องลี้ภัยไปตลอดชีวิต เหมือนกับอีกหลายคนที่เป็นศัตรูของรัฐ ที่กลับประเทศไม่ได้

เป็นความจริงที่น่าเศร้าของประเทศนี้…

Tags: , , ,