วันนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญอีกครั้ง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณี เศรษฐา ทวีสิน จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน ขึ้นเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ใจความสำคัญของเรื่องนี้คือข้อกล่าวหาว่า เศรษฐาจงใจนำชื่อพิชิตกราบบังคมทูลขึ้นเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่า พิชิตเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน กรณีนำถุงขนม 2 ล้านบาทมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลเมื่อปี 2551 และเมื่อรู้ชัดแจ้งว่า พิชิตขาดคุณสมบัติ จึงเท่ากับว่า ‘รู้’ แต่ยังจงใจเสนอชื่อแต่งตั้ง ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ยื่นเรื่องขอให้ตำแหน่งนายฯ ของเศรษฐาสิ้นสุดลง
สำหรับกรณีดังกล่าว คนที่จุดพลุประเด็นถอดถอนคือกลุ่ม 40 สมาชิกวุฒิสภาชุดเดิม ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้แต่งตั้งและผู้ควบคุม ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ ‘รับคำร้อง’ ต่อด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 นั่นทำให้เศรษฐาค่อนข้างมั่นใจว่า ตัวเองมีศาลรัฐธรรมนูญ 3 เสียงอยู่ในมือ
กรณีนี้เศรษฐายังมีปรมาจารย์เนติบริกรอย่าง วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ บวกกับสัปดาห์ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของเศรษฐายังสะท้อนชัดว่า เป็นไปในซีกความพยายามเอาใจชนชั้นนำ จึงทำให้หลายคนมองว่า กรณีนี้เศรษฐามีสิทธิ ‘รอด’ มากกว่าจะพ้นจากตำแหน่ง
กระนั้นเอง การเมืองไทยและการเมืองว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญยังมีเรื่องลึกลับอีกมากมาย เป็นต้นว่า การที่อยู่ดีๆ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจขอศาลออกนอกประเทศช่วงเวลาเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเรื่องนี้พอดี หรือการที่พรรคภูมิใจไทยเกิด ‘หัก’ พรรคเพื่อไทยในกฎหมายว่าด้วยเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์นาทีสุดท้าย พร้อมทั้งแถลงเดินหน้าคัดค้าน ทั้งที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน เช่นเดียวกับการเลื่อนการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรออกไปอีก 1 สัปดาห์
สะท้อนว่ามีความแปลกประหลาด มีเรื่องลึกลับที่มองไม่เห็นอีกมาก และการดำรงอยู่ของเศรษฐาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาจต้องแลกด้วยอะไรบางอย่าง บางอย่างที่คนนอกมองไม่เห็น บางอย่างที่อาจกดดันอยู่
อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ทุกคนพูดตรงกันว่า ด้วยบรรยากาศสังคมเชื่อว่า เศรษฐาจะรอด แต่หากเศรษฐาไม่รอดก็แปลว่าคนที่อยู่ข้างเดียวกัน ‘แทง’ กันเอง
หากว่ากันด้วยข้อกฎหมาย ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจไขความกระจ่างให้คนไทยได้ว่า ‘กฎหมาย’ มีส่วนสำคัญอย่างไรในการวินิจฉัย เรื่องใหญ่ล้วนเป็นการ ‘ตีความ’ เป็นไปตามเกมขณะนั้น และเป็นเช่นนี้มานับตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2550 รวมถึงการยุบพรรคไทยรักษาชาติ การยุบพรรคอนาคตใหม่ และการยุบพรรคก้าวไกลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เช่นเดียวกับที่ในสมัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์และบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายทำอะไรก็ไม่เคยผิด ศาลรัฐธรรมนูญจึงดำรงความเป็น ‘ศาลการเมือง’ อย่างเห็นได้ชัด
เพราะฉะนั้นในวันนี้ หลักที่ใหญ่กว่าเรื่องกฎหมายก็คือ เศรษฐายังมีประโยชน์ในทางการเมืองกับ ‘ผู้มีอำนาจ’ หรือไม่
เรื่องไม่ได้ซับซ้อนมาก หากเศรษฐาและคณะรัฐมนตรีชุดนี้ยังสามารถต่อสู้กับ ‘พรรคส้ม’ ได้ ยังแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ให้รัฐบาลสลายขั้ว เป็น ‘หนังหน้าไฟ’ ให้กับชนชั้นนำได้ในเวลานี้ เศรษฐาก็ยังอยู่ แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามก็ถึงเวลาเปลี่ยนตัว
ไม่ว่ากระทรวงการต่างประเทศหรือรัฐบาลไทยจะชี้แจงแบบใด ข้อสำคัญก็คือ ความรู้สึกนี้ปกคลุมอยู่เหนือการเมืองไทยจริง
คำถามสำคัญก็คือ คนไทยจะต้องยอมรับระบบการเมือง กลไกทางการเมืองแบบนี้จริงหรือ และถ้าครั้งนี้เป็นเช่นนี้ เศรษฐาต้องเอาคอขึ้นเขียงแบบนี้ ครั้งต่อไป ใครหรือพรรคใด จะถูกจับขึ้นเขียง ต่อรองด้วยวิธีนี้อีก
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องส่งเสียงออกมาดังๆ คือต้องรักษาหลักการสำคัญไว้ ให้เสียงของประชาชนคือเสียงที่ดังที่สุด มีอำนาจมากที่สุด มากกว่าเสียงจากกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มชนชั้นนำ ไม่กี่คน ที่มีเสียงดังกว่า กำหนดความเป็นไปของประเทศอย่างไรก็ได้
จุดยืนของคำวินิจฉัยวันนี้ จึงต้องยึดหลักการสำคัญคือ นายกฯ เศรษฐาต้องรอด ไม่ควรต้องไปด้วยวิธีนี้ และในระยะยาวก็ควรต้องปรับกฎหมาย แก้กฎหมาย เพื่อลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แก้ที่มาศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยึดโยงกับประชาชนเสียที ไม่ใช่ให้อำนาจคน 9 คน ตัดสินทุกอย่างในทางการเมือง และมีอำนาจเหนือเสียงของประชาชน จนเปิดโอกาสให้มีการ ‘ต่อรอง’ เช่นนี้
เพราะหากชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับคนไม่กี่คนที่จะชี้ให้ไปทางไหนก็ได้ ‘ประชาธิปไตย’ ก็ไม่ได้มีอยู่จริง และเราจะเผชิญกับวิบากกรรมว่าด้วยความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเช่นนี้ไปอีกยาวนาน
Tags: From The Desk, นายก, เศรษฐา ทวีสิน, เศรษฐา, รัฐบาล, นายกรัฐมนตรี, ศาลรัฐธรรมนูญ, ชนชั้นนำ