1.
ถ้านั่งดูข่าวรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จะพบความ ‘ไม่ปกติ’ เกิดขึ้นหลายประการ และสิ่งที่สะท้อนชัดก็คือ แม้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นมาแล้วหลายเดือน แต่ความ ‘ไม่ปกติ’ นี้ ก็ยังอยู่กับประเทศไทย
คำถามสำคัญก็คือในรอบ 10 เดือนหลังจากการเลือกตั้ง ประเทศไทยเปลี่ยนไปหรือไม่ ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้วหรือ หรือแท้จริงแล้วยังมี ‘รัฐพันลึก’ กระบวนการ Deep State ซึ่งยังทำงานอยู่เบื้องหลังอย่างคึกคัก เพื่อหยุดเวลาไว้ที่เดิมให้นานที่สุด
เพราะสิ่งสำคัญก็คือ โลกที่เคลื่อนไปข้างหน้านั้นอันตรายเกินไปสำหรับ ‘พวกเขา’ ไม่ว่าพวกเขาจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
และอันตรายนั้นมาถึงเร็วเกินไป เมื่อพรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาและยังไม่มีทีท่าจะแผ่วลง
ด้วยเหตุนี้ หลายเหตุการณ์จึงเริ่มสุกงอมว่าพวกเขาตัดสินใจพร้อมกันในการ ‘ทุบ’ เพื่อทิ้งพรรคก้าวไกลไว้ข้างหลัง แล้วให้อยู่กับสิ่งที่อันตรายน้อยกว่า ที่หน้าตาออกไปทางคล้ายๆ รัฐบาล ‘ข้ามขั้ว’ แบบในปัจจุบัน
ความผิดปกติจึงถูกแสดงออกผ่านสองเรื่อง หนึ่งคือการตัดสินใจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการเสนอยื่น ‘ยุบพรรค’ ก้าวไกล อันเป็นผลพวงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า พรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครอง ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เท่ากับเริ่มกระบวนการนับหนึ่ง ‘ยุบพรรค’ อีกครั้ง
อีกหนึ่งคือการเดินทางเยือนจังหวัดเชียงใหม่ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็คือความพยายามฟื้นความยิ่งใหญ่ของแบรนด์ ‘ชินวัตร’ ที่เชียงใหม่ และภาคเหนือคือพื้นที่ ‘ของตาย’ ของตระกูลนี้มาโดยตลอด
และอีกหนึ่งคือการออกบทวิเคราะห์ของ KKP ที่บอกว่าประเทศไทยเป็นฐานผลิตสินค้าที่ ‘โลกกำลังจะลืม’ รวมถึงศูนย์วิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่บอกว่าไทยคือประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ในลำดับที่ ‘ช้า’ เกือบที่สุด
หากจะอธิบายว่าความผิดปกติเหล่านี้คืออะไร คำอธิบายที่ดีที่สุดคือคำกิริยาที่ปรากฏบนหน้านิตยสาร TIME เป็นภาษาอังกฤษสั้นๆ ง่ายๆ แต่นำไปสู่การถกเถียงเป็นวงกว้างว่า ‘Shortchange’
บนหน้าปกนิตยสาร TIME ปก เศรษฐา ทวีสิน เขียนสั้นๆ ง่ายๆ ว่า The Salesman, Thai Prime Minister Sretta Thavisin is open for business in a country that feels shortchanged by his election หรือเซลส์แมน เศรษฐา ทวีสิน พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ที่คนรู้สึกว่า ‘ถูกโกง’ เพราะการเลือกตั้งที่เขากลายเป็นนายกฯ
‘Shortchange’ จึงมีความหมายอย่างยิ่งในการอธิบายสิ่งในประเทศนี้ ถูก ‘โกง’ โดยผู้มีอำนาจ โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลัง และทำให้เรื่องราวเตลิดไปไกลกว่าเดิม
และคำว่า ‘Shortchange’ ก็อันตรายอย่างยิ่ง อันตรายเสียจน ‘กรมประชาสัมพันธ์’ ต้องลบคำโปรยบนหน้าปกของนิตยสารไทม์ทิ้ง คงเหลือแค่รูปเศรษฐากับคำว่า TIME เท่านั้น
2.
ถ้าว่ากันตามจริง ถ้าย้อนกลับไปหนึ่งปีที่แล้ว ผมไม่คิดว่าใครก็แล้วแต่จะตัดสินใจ ‘ยุบพรรค’ ก้าวไกลด้วยเหตุผลที่ว่า เขาเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพราะข้อเท็จจริงก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ที่ ‘ไฟเขียว’ อนุญาตให้พรรคก้าวไกลหาเสียงว่าด้วยเรื่องการแก้ไขกฎหมายได้ และให้บรรจุเป็นหนึ่งในนโยบายเลือกตั้ง
แต่เมื่อเลือกตั้งผ่านไปได้หลายเดือน เมื่อมีผู้ยื่นว่าพรรคก้าวไกล อาจกระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง กกต. ก็กลับเห็นชอบว่าสิ่งที่ตัวเองอนุมัติเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา
และหากอ่านคำวินิจฉัยดีๆ ก็จะพบว่า ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ ที่กลายเป็นคำยอดนิยมในการวินิจฉัย ถือเป็นเรื่องของอารมณ์ เรื่องของความรู้สึก มากกว่าจะเป็นเรื่องข้อกฎหมาย
เพราะฉะนั้น แค่ตั้งเรื่องนี้ขึ้นมา ก็ปฏิเสธไม่ได้ หากใครหลายคนจะตกลงปลงใจว่า เรื่องดังกล่าวมี ‘ธง’ ที่ชัดเจนว่าต้องการเล่นพรรคการเมืองนี้ด้วยเรื่องนี้ ส่วนความสมเหตุสมผล ให้เป็นเรื่องภายภาคหน้า
ทว่าวันใดก็แล้วแต่ที่จะยุบพรรคก้าวไกล จะอีกหนึ่งเดือน จะอีกหนึ่งปี ก็ควรคิดด้วยว่า หากวัดจากสายตาชาวโลก–การลงมติยุบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งด้วยเหตุผลว่าหาเสียงเรื่องการ ‘แก้กฎหมาย’ หรือมีแนวคิดอยากแก้กฎหมายว่าอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองนั้น ‘ไร้สาระ’ เพียงใด
แล้วจะ ‘ตลก’ เพียงใดในสายตาชาวโลก…
3.
เอาเข้าจริงแล้ว การเดินทางเยือนเชียงใหม่ของทักษิณ ควรจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ อดีตนายกฯ ผู้สร้างตำนานจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กลับบ้านเกิดที่เมืองเหนือเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี พร้อมกำหนดการพบปะประชาชนแน่นเอี้ยด
ประเด็นก็คืออดีตนายกฯ คือผู้ที่รับโทษนาน 6 เดือนที่โรงพยาบาลตำรวจโดยไม่ต้องเข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียว เพราะ ‘ป่วยหนัก’ ประเด็นก็คืออดีตนายกฯ ยังอยู่ในระหว่าง ‘พักโทษ’ โดยต้องอยู่ในเคหสถาน จะออกจากบ้าน ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ประเด็นก็คือระหว่างพักโทษ ทักษิณทำตัวเสมือนหนึ่งยังเป็นนายกฯ ออกตรวจโดยมีข้าราชการต้อนรับหลายสิบคน มีรัฐมนตรีติดตาม มีผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวรายงาน มีรถขบวนวิ่งตามยาวเหยียด 20-30 คัน
คำถามดังๆ จึงตั้งไปยังกระบวนการยุติธรรมว่า แล้วนักโทษคนอื่นที่อยู่ในช่วงพักโทษ สามารถทำแบบเดียวกับทักษิณได้หรือไม่ ทักษิณ ณ วันนี้ อยู่ในสถานะอะไร สถานะของนักโทษที่ได้รับการพักโทษ หรือสถานะผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาลเต็มตัว
แล้วข้อเท็จจริงที่น่าสะพรึงกว่าก็คือ ก่อนหน้านี้ทักษิณถือเป็น ‘คนแดนไกล’ ที่กลับบ้านไม่ได้ด้วยคดีความ ด้วยนิติสงคราม เป็นบุคคลที่บรรดาขั้วอนุรักษนิยม บรรดา Deep State เกลียดชังที่สุด แต่อยู่ดีๆ เมื่อมี ‘อำนาจต่อรอง’ บางอย่างกับ ‘ผู้มีอำนาจ’ เรื่องทั้งหมดก็กลายเป็นเรื่องง่าย กลายเป็นทักษิณกลับมาในฐานะ ‘ผู้มากบารมี’ ที่ผ่านการ ‘ดีล’ บางอย่าง
ที่สำคัญก็คือเราไม่รู้ว่าการ ‘ดีล’ คืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร นอกจากการที่บรรดา ส.ว. สายอนุรักษนิยมยกมือให้เศรษฐากันพรึบพรับ แล้วมีอะไรอยู่เบื้องหลังที่ทำให้ทักษิณ ผู้เคยมีฐานะติดตัวศัตรูตัวฉกาจของฝ่ายตรงข้ามสามารถกลับประเทศได้อย่างเท่ๆ สามารถแลกเปลี่ยนเพื่อทำให้ดีลนี้ลุล่วง
นี่คือความรู้สึก Shortchange สำคัญที่ทำให้หลายคน ‘อิหยังวะ’ กับประเทศนี้
4.
อันที่จริงรายงานสถานการณ์ว่าด้วยการ ‘ส่งออก’ ของประเทศไทยวิกฤตนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นที่รู้กันว่า GDP ของประเทศเดินด้วย 2 สิ่ง คือ ‘ส่งออก’ และ ‘ท่องเที่ยว’ หากเครื่องจักรใดดับไป ก็แปลว่าประเทศไทยจะเติบโตช้าลง จะยิ่งชะงักงัน โอกาสในการโตก็ช้าขึ้นไปอีก
ในรอบสิบปีที่ผ่านมา GDP ไทยโตเฉลี่ยอยู่ที่ 2% เป็นอันดับท้ายๆ ของอาเซียน และต้องการเครื่องจักรที่ใหญ่กว่านั้น ในการพาประเทศให้แข่งขันได้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อันเกิดจากบรรดาเทคโนแครต จากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็เริ่มต้นเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามสร้างความหวังด้วยการบอกว่า เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) จะเป็นฐานการผลิตใหม่ของโลก เป็นฐานของอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ท่าเรือขนาดใหญ่ วิธีคิดแบบเดียวกับสมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ คิดทำโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด
ประเด็นก็คือในเวลาที่ EEC ตั้งไข่ ประเทศคู่แข่งก็เคลื่อนเร็วกว่า เวียดนาม อินโดนีเซีย น่าดึงดูดกว่ามาก ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง
วิธีคิดแบบ ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ ดึงคนมาสร้างโรงงาน มาลงทุนเยอะๆ นั้นใช้ไม่ได้อีกแล้วใน พ.ศ. นี้ แล้วสิ่งที่เหลืออยู่กับประเทศก็คือของตกยุค ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์สันดาป โรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ เป็นผลพวงสำคัญจากระบบการเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพ ง่อนแง่น ไม่สามารถวางนโยบายได้ยาว
ขณะเดียวกัน คนที่อยู่ยาวๆ พยายามวางนโยบายยาวๆ ก็ไม่ได้มีความคิดที่เท่าทันโลก คิดเพียงแต่จะรักษาอำนาจ และรักษา ‘เวลา’
5.
สิ่งสำคัญก็คือ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศนี้ไม่เคยมีช่วงเวลาที่การเมือง ‘นิ่ง’ พอ ในการวางนโยบายยาวๆ หรือสร้างการเติบโตที่เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นรูปเป็นร่าง ยังเกิดการต่อสู้ระดับบน และระดับล่างไร้การแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง
ระบบราชการไทยคือที่สุดของความเทอะทะ แต่ไม่มีใครสามารถ ‘รื้อ’ ได้ ยิ่งเมื่ออยู่กับพลเอกประยุทธ์มานานกว่า 10 ปี ยิ่งทำให้ทุกอย่างช้าไปอีก และเมื่อรู้ตัวอีกทีก็ตามอะไรไม่ทันเสียแล้ว
ประเทศไทยจึงถูก Shortchange ถูก ‘โกงเวลา’ เช่นเดียวกับประชาชนไทย ที่เสียเวลานานนับสิบปี ไปเพื่อการต่อสู้ของชนชั้นนำ ที่ไม่ได้มีประชาชนอยู่ในสมการ แต่เพื่อรักษาสิ่งเก่า รักษาสิ่งเดิมไว้ แล้วหาทางทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดช้าที่สุด
การเดินเรื่องยุบพรรคก้าวไกล การ ‘ดีล’ กับทักษิณเพื่อรักษาอำนาจเดิมไว้ จึงเป็นกระบวนการสอดคล้องกับการที่ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันได้-การดึงทักษิณกลับมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อพยายามสร้างสภาพ Hybrid ด้วยคิดว่าหากเศรษฐกิจดี คนจะเลิกสนใจเรื่องการเปลี่ยน ‘โครงสร้าง’ หรือเปลี่ยนอะไรที่ใหญ่กว่านั้น
แต่สภาพการเมือง สภาพเศรษฐกิจ หลังผ่านสภาพ Hybrid มาสักระยะ ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าต่อให้ ทักษิณคิด เศรษฐาทำ ไม่มีก้าวไกลอยู่เลยในโลกนี้ ประเทศไทยก็ยังขยับได้ช้า และยากลำบากกว่าเดิมมาก
หากระบบนี้ไปไม่รอด ไม่ประสบความสำเร็จ คนไทยก็ต้องถูก Shortchange ต่อไป เป็น Shortchange เรื่อง ‘เวลา’ ที่มากกว่า และใหญ่กว่าถูกโกงกระบวนการเลือกตั้ง
และถ้ายังนิ่งเฉยอยู่ ปล่อยให้กระบวนการนี้ยังเดินไปตามปกติ เราจะอยู่กับระบอบ Shortchange นี้ไปอีกนาน
Tags: TIME, ทักษิณ, From The Desk, ก้าวไกล, เศรษฐา