(1)

“ทำไปเพื่ออะไร” คือคำถามสำคัญหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จบลง

จนถึงวันนี้ ผ่านมานานกว่า 1 สัปดาห์ แม้จะได้เห็นหน้าค่าตาของ ‘ผู้ทรงเกียรติ’ ที่จะดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครแสดงความมั่นอกมั่นใจว่า คนเหล่านี้จะเป็น ส.ว.จริงๆ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่า นี่คือการเลือกวุฒิสภาที่อัปยศที่สุด เพราะนอกจากกติกาจะพิสดารเอื้อให้เกิดการ ‘ซื้อเสียง’ เอื้อให้เกิดการ ‘จัดตั้ง’ แล้ว ในเวลาเดียวกัน หน้าตาของสภาสูงที่ควรจะทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ซ้ำยังมีอำนาจ มีบทบาทในทางการเมืองมากมาย เกี่ยวโยงไปถึงการสรรหา การแต่งตั้งองค์กรอิสระนั้น แท้จริงแล้ว กลับกลายเป็นหน้าตาของ ‘ขั้วการเมือง’ แบบภูมิใจไทย แบบที่มีตัวแทนจากบุรีรัมย์เข้ามามากที่สุดถึง 14 คน แบบที่มีตัวแทนจากกลุ่มอาชีพ ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจากกลุ่มอาชีพจริง กระทั่งมีนักจัดรายการเสียงตามสายเข้ามาในสายสื่อมวลชนได้ หรือนักฟุตบอลอาวุโสวัย 69 ปี คนขับรถที่เข้ามาในกลุ่ม ‘กีฬา’ ได้

คำถามคือแท้จริงแล้ว หน้าตาของวุฒิสมาชิกเหล่านี้ กำลังบอกอะไรกับเรา? แล้วแท้จริงแล้ว ระบบเลือก ส.ว.แบบนี้ คือภาพสะท้อนของอะไร หรือแท้จริงแล้วระบบเลือก ส.ว.แบบนี้ อาจทำให้แต่ละคน ไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร และของอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว ตัวแทนเดียวที่จะเป็นได้อาจเป็นตัวแทนของบรรดาผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือคนที่ ‘จิ้ม’ คนเหล่านี้เข้ามาเท่านั้น 

คำถามที่น่าสนใจกว่าก็คือคำถามว่าด้วย ‘ความชอบธรรม’ ว่าวุฒิสมาชิกนั้นยึดโยงกับอะไร จำต้องยึดโยงกับประชาชนหรือไม่ หรือเอาเข้าจริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับอะไรเลย

แล้วถ้าเช่นนั้น เราจะมี ‘วุฒิสภา’ ไปทำไม

 (2)

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ไม่กี่ปีให้หลังมานี้ ระบบอันพิกลพิการของวุฒิสภาไทยในระยะหลัง คือความพยายามปฏิเสธระบบเลือกตั้ง เพราะยิ่งเลือกไปเท่าไร ก็ยิ่งห่างไกลจากเสียงของบรรดา ‘ชนชั้นสูง’ บรรดา ‘อีลิท’ มากไปทุกที

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามประดิษฐ์คำว่าคำว่า ‘สภาผัวเมีย’ ‘สภาทาส’ เกิดขึ้นในเวลานี้ เวลาที่ประชาชนสามารถเลือก ส.ว.ของตัวเองได้ เวลาที่บรรดานักการเมืองส่งญาติพี่น้องตัวเองไปเป็น ส.ว.เป็นเสียงแห่งความรังเกียจเสียงของประชาชน

เสียง ‘หลอน’ จึงดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยเกิดแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งปี 2548 และ ส.ว.ทั้งชุดเดิม และชุดใหม่ที่เลือกตั้งทั้งหมดในช่วงต้นปี 2549 ล้วนแล้วแต่เป็นคนของทักษิณ

ฉะนั้น เมื่อผ่านหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ‘ผู้ออกแบบระบบ’ ก็กลายเป็นไม่ยอมให้ประชาชนเลือกวุฒิสมาชิกด้วยตัวเองอีกเลย ระบบที่ประชาชนเลือกเอง นำไปสู่ระบบพิสดาร อย่างเลือกตั้ง ส.ว.จังหวัดละคน อีกครึ่งหนึ่งมาจากการลากตั้ง ซึ่งเป็นความพยายาม ‘บิด’ เสียงจากประชาชน ให้เสียงบรรดาผู้มีอำนาจนั้นอยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะกลัว ‘ผีทักษิณ’ จะกลับมามีอำนาจเหนือสภาสูงอีกครั้ง

และในช่วงเวลาหลัง คสช.นั้นกลับกลายเป็นการ ‘ตอกฝาโลง’ ให้สนิทมากขึ้น คือนอกจากจะไม่อนุญาตให้ฝั่งทักษิณขึ้นมามีอำนาจในวุฒิสภาแล้ว ยังแต่งตั้งเฉพาะคนของตัวเองขึ้นมา และทำหน้าที่สำคัญคือรักษาอำนาจของ คสช.ให้ตลอดรอดฝั่ง โดยที่ไม่มีใครขัดขวาง

นั่นจึงเป็นเหตุที่บรรดาองค์กรอิสระไม่น้อยถูกปัดตก และเป็นเหตุผลเดียวกับที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะจำเป็นต้องอาศัยเสียงวุฒิสมาชิกไม่น้อยกว่า 84 เสียง

และเป็นเหตุผลเดียวกับที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่อาจดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ แม้จะมีเสียงเลือกตั้งมากเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยสาเหตุที่ว่าไม่สามารถรวมเสียงวุฒิสมาชิกและเสียง ส.ส.ให้ได้เกิดกึ่งหนึ่ง 

โดยสาเหตุใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งมาจาก ส.ว.เกิด ‘หักดีล’ ขึ้นในนาทีสุดท้าย

เพราะ ส.ว.ทั้งหมดคือ ผลผลิตจาก คสช.ที่ต้องการรักษาอำนาจเอาไว้อย่างแน่นหนา

(3) 

หากวาดผังการเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าการที่ขั้วอำนาจของ คสช.สามารถคุม ‘สภาสูง’ ได้ คือการเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งให้กับระบอบของ ‘อำนาจเก่า’

ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางคนของตัวเองไปอยู่ในองค์กรอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปอยู่ในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปอยู่ใน กสทช.ไปอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ

ส.ว.คนหนึ่งเคยยอมรับกับผมว่า เรื่องที่ยากลำบากที่สุดคือการต้องโหวตในบางเรื่อง ยอมรับบางคน เพราะมีเสียงจาก ‘คนแต่งตั้ง’ ให้โหวตตามนั้น

วันนี้ เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือ จาก คสช. เป็นคนคุม ไปสู่ขั้วการเมือง ‘สีน้ำเงิน’ เป็นคนคุม การเมืองไทยจึงน่าจับตาไปอีกขั้น

บทความของ อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ไม่นานมานี้ในมติชน ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่ ส.ว.กลายเป็นขั้วการเมืองของพรรคภูมิใจไทยนั้น เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย ไม่ได้เอาภูมิใจไทยมาอยู่ในสมการตั้งแต่ต้น และอาจเป็นเพราะไม่เข้าใจเครือข่ายทางการเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ว่า เครือข่ายราชการ เครือข่ายท้องถิ่น การเชื่อมประสานกับพรรคนั้นทำงานอย่างไร

ขณะเดียวกัน การที่ ส.ว.กลายเป็นสีน้ำเงิน ย่อมเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับภูมิใจไทยในสภาล่างอย่างเลี่ยงไม่ได้ พรรคเพื่อไทยอาจคุมรัฐบาล มีเสียง ส.ส.มากที่สุดในฝ่ายรัฐบาลก็จริง แต่การที่พรรคภูมิใจไทยมี 70 เสียง คุมกระทรวงมหาดไทย และได้สภาสูงเกิน 120 เสียง ย่อมส่งผลให้พวกเขามีอำนาจต่อรองบางอย่างเพิ่ม 

อย่างน้อยๆ ก็อาจต้องคิดให้ดีขึ้นหากจะทำอะไรกับนโยบายกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และอย่างน้อยๆ พรรคเพื่อไทยก็ต้องคิดให้ดีหากจะขอโควตาบางกระทรวงคืนเพราะผลงานไม่เข้าตา

ข้อสังเกตคือ เมื่อเข้าสู่ระบบการเมืองแบบ ‘ไม่เป็นทางการ’ เป็นต้นว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่ และการดูด ส.ส.ในรัฐบาลที่แล้ว หรือการเลือก ส.ว.รอบนี้ ภูมิใจไทยมักมีแต้มต่อเสมอ และระบบที่มีช่องโหว่ทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองเพิ่ม

ในทางการเมืองแล้ว เวลานี้ อนุทิน ชาญวีรกูล ถือว่ามีแสงส่องถึงมากกว่า เศรษฐา ทวีสิน ด้วยซ้ำ

(4)

หากใครเคยไปอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จะพบว่าฝั่งวุฒิสภาเป็น ‘อาณาจักร’ แห่งหนึ่งที่ใหญ่ทัดเทียมกับอาณาจักรของผู้แทนราษฎร

แต่คำถามสำคัญคือ วันนี้ วุฒิสภาคือผู้แทนของใคร เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยหรือไม่ หรือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการต่อรองทางการเมือง

และมีความจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องให้อำนาจของคนเหล่านี้ในการตัดสินใจเรื่องใหญ่ เป็นต้นว่าแต่งตั้งองค์กรอิสระที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล หรือมีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนเหล่านี้คือใคร มาจากไหน รู้แต่ว่ามาจากระบบที่คณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างขึ้น

ความมั่วของระบบการเมืองในประเทศไทย คือการไม่สนใจเรื่อง ‘ความชอบธรรม’ ทั้งที่ในทางรัฐศาสตร์ ความชอบธรรม (Legitimacy) เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่ว่ากฎหมาย หรืออำนาจปกครอง จำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน ทว่าในสารบบว่าด้วยเรื่องวุฒิสภา วุฒิสมาชิก นั้น ไม่ได้มีความชอบธรรม ไม่เคยได้รับการยอมรับแม้แต่น้อย

ถึงตรงนี้ ผู้มีอำนาจ หรือกองเชียร์ บอกได้เพียงว่า ‘เป็นไปตามกฎหมาย’ ซึ่งกฎหมายก็เกิดขึ้นโดยคณะรัฐประหารอยู่ดี

(5)

เรื่องสำคัญที่ควรขบคิดก็คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศนี้อาจไม่ต้องมีวุฒิสภาอีกต่อไป โดยเฉพาะในเมื่อหาทางออกที่ลงตัวไม่ได้ว่า ส.ว.ควรมีที่มาจากไหน 

และจนถึงวันนี้ ยิ่งพยายามเขียนกติกาให้ยากลำบากเท่าไร ยิ่งกลายเป็นว่าเข้ารกเข้าพง มีหน้าตา ส.ว.ที่พิสดารมากขึ้นเท่านั้น

การไม่มีสมาชิกวุฒิสภาไม่ใช่เรื่องแปลก ในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา ไม่มีประธานาธิบดี และไม่ใช่ระบบสหพันธรัฐนั้น 20 ประเทศไม่มีวุฒิสมาชิก คงเหลืออยู่เพียง 11 ประเทศเท่านั้นที่มีวุฒิสมาชิก ขณะเดียวกัน ประเทศที่มีวุฒิสมาชิกเกือบทั้งหมด วุฒิสมาชิกมาจากการ ‘เลือกตั้ง’ 

นอกจากนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่า ในประเทศที่มี ส.ว.ไม่มีประเทศไหนที่ระบบคัดสรร สรรหา จะมั่ว สับสน และวุ่นวาย เท่ากับประเทศเรา

เมื่อไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร ไม่สามารถหาระบบที่ลงตัว ไม่สามารถพูดถึงความชอบธรรมได้ และยิ่งสร้างปัญหาทางการเมืองใหม่ๆ มากกว่าจะแก้เรื่องซับซ้อนเดิมที่มีมา

การคงเหลือระบบสภาผู้แทนราษฎรเพียงระบบเดียว ก็น่าจะเพียงพอ สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันเองได้ แต่งตั้งองค์กรอิสระเองได้ กระทั่งแก้รัฐธรรมนูญด้วยมือของผู้แทนได้ ด้วยมีความชอบธรรมอย่างเต็มเปี่ยม เพราะมาจากประชาชนลงคะแนนด้วยตัวเอง

แม้โดยหลักการทั้งหมดจะถูกต้อง และถ้าพวกคุณอ่านตามทั้งหมด ก็อาจจะพยักหน้าตามหงึกหงัก 

แต่เอาเข้าจริง เรื่องเหล่านี้อาจไม่ได้แก้ไขง่ายนัก เพราะผู้มีอำนาจในการเมืองไทยมักจะไม่ใช่ประชาชน

และพวกเขายิ่งชอบให้ระบบการเมืองมั่วเข้าไว้ มั่วเท่าไรยิ่งดี เพราะมั่วเท่าไรยิ่งเปิดโอกาสให้ ‘อำนาจนอกระบบ’ แทรกแซงได้ง่าย และอำนาจของประชาชนนั้น ต้องไม่ให้มีมากนัก

ฉะนั้น อย่าไปคาดหวังว่า ส.ว.ชุดที่กำลังจะเข้าไปจะดำเนินการ ‘ยกเลิก’ ตัวเอง หรือเปลี่ยนระบบให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดในอีกไม่ช้าไม่นาน

ในอีกไม่นาน วุฒิสมาชิกชุดใหม่จะกลายเป็นตัวละครสำคัญในการเพิ่มความสับสน สร้างความซับซ้อนให้กับระบบการเมืองไทย

น่าเศร้าใจที่เราอยู่กับความมั่วมาแล้ว 20 ปี และระบบนี้จะเพิ่มให้ความมั่วยังคงเดินทางต่อไปอีกเรื่อยๆ



Tags: , , , ,