1

ย้อนกลับไป 11 ปีก่อน ผมเป็นนักศึกษาปีที่ 3 กำลังฝึกงานที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ช่วงเวลาเดียวกับที่มีการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พอดิบพอดี ความทรงจำที่นึกขึ้นได้และยังคงติดในใจอย่างหนึ่งก็คือ ‘สื่อไทย’ ไม่เคยมีที่ทางอย่างเป็นทางการให้กับชาวบ้าน นปช. และคนเสื้อแดงเลย และในสายตาสื่อไทย ‘คนเสื้อแดง’ นั้น ‘เลวร้าย’ เป็นอันมาก

คำถามก็คือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? 1 ปีก่อนหน้า จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ภาพลักษณ์ของคนเสื้อแดงยับเยินด้วยภาพของ ‘ความรุนแรง’ ไม่ว่าจะเป็นการล้มประชุมอาเซียนที่พัทยา, การทุบรถของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงมหาดไทย และจบลงไม่สวยที่สามเหลี่ยมดินแดง เมื่อมีความพยายามนำรถแก๊สเข้ามาต่อต้านการสลายการชุมนุม

เพราะฉะนั้น การกลับมาใหม่ของคนเสื้อแดงในปี 2553 ด้วยข้อเรียกร้องไม่ต่างจากเดิม คือให้นายกรัฐมนตรียุบสภา จึงดูมีความน่าสะพรึง คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยมองว่า เป็นการรวมตัวของคนหัวรุนแรงจำนวนมากจากต่างจังหวัดเข้ามากินนอนกลางกรุง และหวาดหวั่นว่าจะมีเหตุไม่สงบอีก

วันที่คนเสื้อแดงเริ่มเคลื่อนขบวนจากต่างจังหวัดเข้ากรุง ทั่วถนนพหลโยธินแถวประตูน้ำพระอินทร์เต็มไปด้วยรถอีแต๋นและรถกระบะ สถานีโทรทัศน์ ซึ่งเป็น ‘สื่อหลัก’ ในเวลานั้น ล้วนแต่เกี่ยวพันกับสัมปทานจากรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่างอุทิศเวลาให้กับการรายงาน ‘ความหวาดกลัว’ ของคนกรุงเทพ และมนุษย์ออฟฟิศ เพราะเห็นว่าคนเหล่านี้เป็น ‘ชาวบ้าน’ ชาวเหนือ ชาวอีสาน ชาวภาคกลาง ที่ถูกซื้อได้ การเดินทางไกลมาชุมนุมที่ต้องปักหลักค้างคืนเวลานาน เพื่อไล่นายกรัฐมนตรีหนุ่มนักเรียนนอก ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการอุดหนุนจากคนแดนไกล

คุณพัชรศรี เบญจมาศ พิธีกรชื่อดังในห้วงเวลานั้น เขียนบทความลงใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มีนาคม 2553 ในชื่อเรื่องว่า ‘วันแดงเดือด’ บอกว่า วันเดียวกับที่เสื้อแดงเคลื่อนขบวนไปบ้านนายกฯ อภิสิทธิ์ นั้น เธอต้องเป็นพิธีกรงานอีเวนต์ที่โรงหนังลิโดพอดี

“ฉันมองไปที่ขบวนที่ถนนรู้สึกกลัวอย่างบอกไม่ถูก คำว่าอกสั่นขวัญหายมาเข้าใจก็วันนี้ ขนลุก อยากร้องไห้ สงสารเจ้าของงานคนจัดงาน และกลัวว่าตัวเองจะเป็นอะไรไหม หลังจากร่ำลาลูกค้าก็รีบขึ้นรถไฟฟ้ากลับทันที บอกตรงๆ ฉันไม่กล้ามองไปที่ผู้ชุมนุมที่อยู่บนรถมากนัก ฉันยอมรับว่าฉันกลัว ฉันคาดเดาไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น” 

ถ้อยคำข้างต้นนี้บ่งบอกได้ดีว่า ในสายตาของคนกรุงเทพฯ หรือชนชั้นกลางนั้น มองคนเสื้อแดงเลวร้ายเพียงใด

2

วันที่ 10 เมษายน 2553 วันที่เริ่มมีการใช้กำลังและใช้ ‘กระสุนจริง’ เข้าสลายการชุมนุมครั้งแรก ผมเข้าไปที่สถานีโทรทัศน์ช่วงบ่ายๆ เลยได้รู้ว่าที่สถานีมีเทปจำนวนหนึ่ง ซึ่งเก็บภาพการใช้กำลังของทหารบริเวณหน้ากองทัพภาคที่ 1 ไว้ได้ พี่ช่างภาพบอกกับผมว่า ภาพที่ออกมารุนแรงไม่แพ้กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ไม่สามารถออกอากาศได้ ผมมารู้ทีหลังว่าเทปที่ออกอากาศไม่ได้ถูกนำไปทำลายทิ้งในภายหลัง เพราะฉะนั้น คนที่ดูแต่ ‘สื่อไทย’ นั้น แทบไม่อาจรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายการการชุมนุมวันนั้นได้เลย

มิหนำซ้ำ เมื่อมีการปรากฏตัวของ ‘ชายชุดดำ’ ในคืนวันนั้น วาระของการเสนอข่าวก็เปลี่ยนไป ม็อบเสื้อแดงที่มีสโลแกนว่า ‘เลือดไพร่มันไร้ค่า’ กลายเป็นม็อบติดอาวุธอีกครั้ง ทั้งที่คืนวันที่ 10 เมษายน มีคนเสื้อแดง-ประชาชน เสียชีวิตกว่า 21 คน และแม้จะมีภาพของชายชุดดำปรากฏออกมาว่าโจมตีกองกำลังทหาร แต่ก็ไม่เคยมีการเอาผิดชายชุดดำได้แม้แต่คนเดียว

ถึงตรงนี้ เมื่อภาพลักษณ์คนเสื้อแดงต่อชนชั้นกลางเป็นพวกกองกำลังติดอาวุธแล้ว คนเสื้อแดงก็แปลกแยกออกจากพื้นที่ที่พวกเขาใช้ชุมนุมโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สี่แยกราชประสงค์ ศูนย์กลางธุรกิจ ใจกลางของเมืองหลวง ศูนย์รวมของแบรนด์สินค้าราคาแพงสะท้อนภาพตรงข้ามกับความเป็นชาวบ้าน-เกษตรกรอย่างชัดเจน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ ‘คุมไม่อยู่’ แกนนำบางส่วนบุกเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาฯ หรือเกิดภาพที่คนเสื้อแดงลากทหารลงมาจากรถจีเอ็มซี และภาพของเด็กที่กลายเป็น ‘แนวหน้าม็อบ’ ที่บ่อนไก่ ภาพเหล่านั้นจะถูกเสนอซ้ำอย่างสม่ำเสมอ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในเวลานั้นฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประกอบกับดนตรีบัลลาด เพื่อสะท้อนภาพของ ‘คนไทยไม่รักกัน’ เพื่อสร้างความ ‘เป็นอื่น’ ให้กับคนกลุ่มนี้ จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ได้กลายเป็นใบเสร็จหนึ่งที่ทำให้การล้อมปราบคนเสื้อแดงยิ่งมีความชอบธรรม 

ทีนี้ก็เหลือแต่จะเลือกใช้ช่วงเวลาใดในการจัดการ

3

อีกเรื่องที่น่าสนใจ 16 เมษายน 2553 ไม่กี่วันหลังการสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ในเวลานั้น ได้ใช้ ‘ผังล้มเจ้า’ เพื่อเล่าความเชื่อมโยงของกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่แวดล้อมเสื้อแดงว่ามีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการตอบโต้ทันควัน ส่งผลให้การใช้กำลังในวันที่ 10 เมษายน มีความสมเหตุสมผลมากขึ้น

บุคคลในผังล้มเจ้ามีตั้งแต่ ‘บิ๊กเนม’ ของพรรคเพื่อไทย, นปช., แดงใต้ดิน, นักวิชาการอย่าง สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ทักษิณ ชินวัตร หรือคนที่โนเนมในเวลานั้นอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อสร้างเครือข่ายให้เห็นใหญ่โตว่า การชุมนุมใจกลางเมืองหลวงมีเป้าหมายสำคัญคือการทำลายสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจสูงสุดของชนชั้นกลาง นั่นคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ในห้วงเวลาที่แข็งแรงที่สุด

ปัญหาก็คือ ถ้าฟังการชุมนุมของคนเสื้อแดงทุกวัน แทบไม่มีครั้งไหนที่พูดถึงการจับอาวุธเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เคยทำเมื่อหลายสิบปีก่อน ปัญหาก็คือ ในเวลาต่อมาที่เรื่องของผังล้มเจ้าถูกพิสูจน์ในชั้นศาล พันเอกสรรเสริญ เจ้าของผัง ยอมรับเองว่า ร่างขึ้นมาเพื่อตอบโต้กับการให้ร้ายท่านผู้หญิง จรุงจิตต์ ทีขะระ บนเวทีเสื้อแดง และเป็นหนึ่งในปฏิบัติการไอโอ

แต่ผลก็คือ การให้ข่าวซ้ำๆ เรื่องนี้ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อ และคนที่เชื่อก็มีบทบาทในการกล่อมเกลาสังคมอย่างสูง หนึ่งในนั้นคือบรรดาดารา-นักแสดงทั้งหลาย ที่ลุกขึ้นปรบมืออย่างยาวนานให้กับคำพูดของ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ในงานนาฏราช ซึ่งจัดในช่วงเวลาเดียวกับการ ‘กระชับวงล้อม’ และใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม วันที่ 16 พฤษภาคม 2553 

“ถ้ามีใครสักคนโกรธใครมาก็ไม่รู้ ไม่ได้ดั่งใจเรื่องอะไรมาก็ไม่รู้ แล้วก็พาลมาลงที่พ่อ เกลียดพ่อ ด่าพ่อ คิดจะไล่พ่อออกจากบ้าน ผมจะเดินไปบอกกับคนๆ นั้นว่า ถ้าเกลียดพ่อ ไม่รักพ่อแล้ว จงออกไปจากที่นี่ซะ เพราะที่นี่คือบ้านของพ่อ เพราะที่นี่คือแผ่นดินของพ่อ ผมรักในหลวงครับ และเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในที่นี้ รักในหลวงเช่นเดียวกัน พวกเราสีเดียวกันครับ ศีรษะนี้มอบให้พระเจ้าแผ่นดิน”

คลิปจากเวทีนาฏราชกลายเป็นกระแสปากต่อปาก ทั้งในเว็บไซต์อย่างพันทิป ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กในเวลานั้น ในห้วงเวลาเดียวกับที่บนถนนจริง เสธ.แดงเพิ่งถูกสไนเปอร์ยิงหัว ไม่ถึง 2 วัน ประชาชนถูกยิงด้วยกระสุนจริงที่ซอยรางน้ำ ที่บ่อนไก่ เสียชีวิตวันละนับสิบคน

ผลลัพธ์ของการสร้างกระบวนการกล่อมเกลาว่าพวกเสื้อแดงเป็นหนึ่งในผังล้มเจ้า และเป็นกองกำลังติดอาวุธ ยิ่งทำให้ทหารมีความชอบธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะทำอะไรหลังจากนั้น ไม่ว่าจะใช้กระสุนจริงไปกี่นัด และไม่ว่าจะมีคนตายไปกี่คน บรรดา ‘ชนชั้นกลาง’ ที่เสียงดังที่สุด ก็ยินยอมพร้อมใจด้วย 

4

หลังสลายการชุมนุมไม่กี่วัน มีการจัดงาน Big Cleaning Day ที่บริเวณสวนลุมพินี ยาวเรื่อยไปจนถึงสี่แยกราชประสงค์ แน่นอนว่า โต้โผใหญ่คือรัฐบาล สื่อของรัฐทั้งหมด นายทุน ภาคธุรกิจ ต่างก็เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมาพร้อมคำขวัญสวยๆ ว่า Together, We Can ดารา นักแสดง นักร้องจำนวนมาก จับมือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคเดียวกับรัฐบาล ช่วยกันกวาดถนน ล้างถนน ที่เพิ่งมีผู้เสียชีวิตไปหลายสิบคนไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ภาคเอกชนร่วมใจกับแจกน้ำแจกแฮมเบอร์เกอร์ให้กับทุกคนที่เข้าร่วม หลายคนใช้โอกาสนี้ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ให้เห็นภาพของความร่วมมือร่วมใจ หลังจากที่ไม่กี่วันก่อน เพิ่งจะโพสต์ด่าเสื้อแดงที่เผาห้างสรรพสินค้า และไล่คนพวกนั้นไปตาย

ค่ายเพลงร่วมใจกันทำมิวสิควิดีโอ เพลงประเภท เราเป็นคนไทย, ขอความสุขจงคืนกลับมา, หยุดทำร้ายประเทศไทย ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพื่อบ่งบอกว่าคนไทยนั้นรักกันขนาดไหน ต้องสร้างความสามัคคีมากแค่ไหน แน่นอน ภาพที่ถูกนำเสนอคือภาพของเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้า ภาพของควันทะมึนที่ปกคลุม กทม. ไม่มีกองกำลังทหารสลายการชุมนุม ไม่มีการเอ่ยถึงการตายของใครก็แล้วแต่ในเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันแม้แต่น้อย มีแต่แค่บอกว่า ‘เรารักกัน’ มากขนาดไหน และเป็นคนไทยต้องสามัคคีกันเท่านั้น

ที่ทางในประวัติศาสตร์ของคนเสื้อแดง ถูกวาดใหม่อีกครั้งด้วยการผนึกกำลังอย่างเหนียวแน่นของปฏิบัติการไอโอ และด้วยพลังของสื่อกระแสหลัก จนทำให้ความตายไม่มีเสียง ทุกข้อเรียกร้องปลิวไปกับสายลม พร้อมกับการบาดเจ็บ ล้มตาย และคำว่า ‘เผาบ้านเผาเมือง’ แม้ในอีกหลายปีต่อมา กระบวนการยุติธรรมจะไม่สามารถสืบสาวไปถึงผู้ชุมนุมได้แม้แต่คนเดียว ว่าเป็นผู้กระทำการเผาห้างสรรพสินค้า หรือมีผู้ชุมนุมคนใดยิงกันเองจนเสียชีวิต

คืนวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมเพิ่งฟังคลับเฮาส์ว่าด้วยเรื่องนี้ แล้วความทรงจำเก่าๆ ก็ผุดขึ้นมาในหัว คนรุ่นใหม่และคนรุ่นผมหลายคนย้อนกลับไป ‘ขอโทษ’ คนเสื้อแดง ที่เคยมองพวกเขาผิดไป และคนเสื้อแดงหลายคนต่างก็ออกมาบอกเล่า ‘ความเป็นอื่น’ ที่ตัวเองถูกมองในแง่ลบ ณ วันนั้น

จริงอยู่ การชุมนุมของคนเสื้อแดงมีหลายเรื่องที่ควรถูกตั้งคำถาม มีหลายเรื่องที่เป็นข้อผิดพลาด แต่หากย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ 11 ปีที่ผ่านมา ก็จะพบความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงกว่า ที่บรรดาสื่อ ต่างก็พากันวิ่งไล่งับโฆษณาชวนเชื่อ และปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่รัฐป้อนให้ จนทำให้คนเสื้อแดงกลายเป็น ‘ควายแดง’ เป็น ‘แดงล้มเจ้า’ และกลายเป็นใบอนุญาตให้ฆ่าโดยที่ไม่จำเป็นต้องหาเหตุผล

บทเรียนสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ สื่อ ณ ปี 2553 แม้จะไม่ได้ใช้บทบาทชี้นำ ยั่วยุให้ฆ่า เหมือนกับสมัย 6 ตุลาคม 2519 แต่กลับมีบทบาทสำคัญในการออกใบอนุญาตให้ฆ่า และกล่อมเกลาสังคม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่า

คำถามก็คือ ณ ปี 2564 ยังมีสื่อประเภทนี้อยู่หรือไม่ ยังมีสื่อประเภทใดหรือไม่ ที่พร้อมจะใช้โอกาสนี้ วาดภาพของฝ่ายตรงข้ามให้ ‘น่ากลัว’ เกินกว่าที่จะเป็น เพื่อออกใบอนุญาตให้รัฐลงมือทำกับฝ่ายตรงข้ามแบบใดก็ได้ ใช้อำนาจร้ายแรงเพียงใดก็ได้ เพียงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการโฆษณาชวนเชื่อ แลกรับกับผลประโยชน์บางอย่างภายหลัง ‘ชัยชนะ’

ผมเชื่อว่ามี และอาจจะมีจำนวนมากกว่าวันนั้นด้วยซ้ำ ส่วนคนไทยจะยังเลือกเชื่อ ‘ไอโอ’ พวกนี้หรือไม่ และกระบวนการกล่อมเกลาจนทำให้สังคมเชื่อจะซ้ำรอยเดิมอีกไหม

เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์…

Tags: , , ,