1
ย้อนกลับไปมองการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองหลักของรัฐบาลปัจจุบันไม่กี่ปีก่อน ก็จะพบว่า มีความพยายามไม่น้อยที่จะอ้างอิงการเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 และความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา
ไม่เพียงแต่คนที่อยู่เบื้องหลังการตั้งพรรคอย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะมีบทบาทสำคัญในการตั้งพรรคพลังประชารัฐและโมเดลสำคัญก็คือการรวบรวม ส.ส. ภูธร ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่หนาแน่นอยู่แล้ว ประเภทย้ายกี่พรรคก็ชนะเลือกตั้ง เพื่อดูดเข้ามาเป็นพวก นั่นจึงทำให้ 3 ส. หรือกลุ่ม ‘สามมิตร’ ซึ่งช่วงแรกได้แก่ สมคิด – สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในพรรคไทยรักไทย ยุคทักษิณ ชินวัตรด้วยกันทั้งสิ้น จับกันแน่นเหนียวในการ ‘ดูด’ จนเป็นที่มาของชื่อว่าพรรคพลังดูด เพื่อดึงเจ้าของพื้นที่เข้ามาให้มากที่สุด
โมเดลเดียวกับที่ทักษิณเคยยืมมือของ เสนาะ เทียนทอง ในการรวบรวมเสียง ส.ส. ภูธร เพื่อให้ได้ ส.ส. มากพอในการตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ตั้งแต่ปี 2544 โดยไม่ต้องเป็นรัฐบาลเบี้ยหัวแตก
ไม่เพียงเท่านั้น พลังประชารัฐยังมีโปรโมชันสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ‘กระสุน’ หรือเงินสนับสนุน ที่พรรคให้เป็นเงินเดือน เงินสำหรับพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่า ตลอด 5 ปีแรกของการรัฐประหารที่ไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส. ตกงานกันเป็นทิวแถวนั้น ทำให้พื้นที่ ‘อดอยากปากแห้ง’ มาก
มิหนำซ้ำ ‘โปรย้ายค่าย’ ที่สมาชิกพรรคสามารถ ‘เคลียร์คดี’ ที่หลงเหลืออยู่ให้หลุดพ้นไปทั้งหมด ทำให้พลังประชารัฐเหนือกว่าไทยรักไทย และมีอำนาจเกินกว่าเงินที่ทักษิณเคยจ่ายให้ ส.ส. เหล่านี้ และเคยกระจายลงพื้นที่สมัยไทยรักไทย
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา เราจะต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้” คือคำที่ ส. ที่สาม อย่างสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวไว้ในการพูดคุยกับสมาชิกพรรคไม่กี่เดือนก่อนจะถึงการเลือกตั้ง ยิ่งตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของพรรคเฉพาะกิจนี้ได้ดี หากไทยรักไทยออกแบบมาเพื่อให้ทักษิณเป็นนายกฯ ฉันใด พลังประชารัฐก็ออกแบบมาเพื่อให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ฉันนั้น
2
ต้องไม่ลืมว่าไทยรักไทยเกิดขึ้นจากอีกส่วนคือทีม Think Tank ที่แข็งแรง ซึ่งหลายคนยังคงเป็นหัวหอกอยู่ในกลุ่ม CARE ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่มาของนโยบาย ‘พลิกแผ่นดิน’ อย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค OTOP หรือพักหนี้เกษตรกร ซึ่งทำให้ชื่อของไทยรักไทยยังอยู่ยงคงกระพันมาถึงวันนี้
ถามว่าพลังประชารัฐเกิดขึ้นด้วย ‘นโยบาย’ หรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ใช่ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคนั้น มีภาพของ ‘นักวิชาการ’ เต็มรูปแบบ ไม่ต่างจาก สุวิทย์ เมษินทรีย์ กอบศักดิ์ ภูตระกูล และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และ ‘เงา’ ที่อยู่ข้างหลังอย่างสมคิด ซึ่งทำหน้าที่ในการออกแบบนโยบาย
แต่เราต่างก็รู้กันดีว่า สำหรับพลังประชารัฐนั้น นโยบายไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่ากับ ‘เสียง’ และสถานะของการเป็นพรรคทหาร เพื่ออุ้มพลเอกประยุทธ์และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อยู่ยาวอีกสมัย เพราะฉะนั้น แม้อุตตมจะขายเรื่องค่าแรง 400 บาท กอบศักดิ์จะขายเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC หรือสุวิทย์จะขายเรื่องอนาคตตามยุทธศาสตร์ชาติ ก็ไม่ได้มีใครซื้อพลังประชารัฐในฐานะพรรคที่มีจุดเด่นด้านนโยบาย ขายได้เฉพาะเรื่อง ส.ส. อย่างเดียว
ผลของการรวบรวม ส.ส. โดยอิทธิพลของ 3 ส. และอิทธิพลของหัวหน้าพรรคตัวจริงอย่างพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงเป็นประธานในการสรรหา 250 ส.ว. อยู่ด้วย เลยทำให้พลังประชารัฐได้ตัวจี๊ดจากทั่วประเทศไทยมารวมไว้ด้วยกันในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็น ปารีณา ไกรคุปต์ จากราชบุรี, วิรัช รัตนเศรษฐ จากนครราชสีมา, วราเทพ รัตนากร จากกำแพงเพชร, ตระกูลคุณปลื้มจากชลบุรี หรือตระกูลอัศวเหมจากสมุทรปราการ มารวมไว้ในที่เดียว
หากมองย้อนประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องไทยรักไทยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ก็เคยอยู่พรรคอื่นก่อนจะเข้าไทยรักไทย ซึ่งก็สะท้อนว่าการเมืองแบบไทยรักไทยที่ถูก Romanticized กันก่อนหน้านี้ว่าเป็นพรรคที่ทำเพื่ออุดมการณ์หรือมีหัวใจคือประชาชนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องจริง หากแต่รวมกันด้วยเรื่องอื่น..
และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้มีอิทธิพล เจ้าของพื้นที่พะเยา จะสนใจเข้าร่วมหัวจมท้ายกับพรรคนี้ด้วย
3
ถึงการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พลังประชารัฐอยู่ภายใต้ลูกผสมทางการเมืองจากหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสมคิด ซึ่งรับตำแหน่งบริหาร กลุ่มสามมิตร ซึ่งสนับสนุนเรื่องการ ‘ดูด’ และยังมีกลุ่ม กปปส. เดิม ซึ่งมี ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นหัวหอก เป็นแหล่งทุนสำคัญ และเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ของพรรค ร่วมด้วยกลุ่ม ส.ส. ข้างต้น และผู้มีอิทธิพลทั้งหลายอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน พลเอกประวิตรใหญ่ที่สุด และเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจตัวจริง แม้เจ้าตัวจะมีคำพูดติดปากว่า ‘ไม่รู้’ ก็ตาม
เพราะ 3 ป. ก็คือ 3 ประสาน พลเอกประยุทธ์รับหน้าในฐานะนายกรัฐมนตรี คุมฝ่ายบริหาร และรับบท Good Cop ในสายตาสาธารณชน พลเอกประวิตรรับบทบาทคุมพรรคการเมือง และ ‘ป.ป๊อก’ – พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รับบทคุมองคาพยพข้าราชการส่วนภูมิภาค ให้รับใช้รัฐบาลได้ดีที่สุด เพื่อให้ทั้งหมดนี้เดินทางไปสู่เป้าหมายของการสืบทอดอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้เพื่อพวกเขา
กระนั้นเอง หากผลงานของพลเอกประยุทธ์ทำได้ดี พลังประชารัฐก็คงได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ทุกฝ่ายในพรรคก็แฮปปี้กับการแบ่งสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ระบอบนี้คงอยู่ครบเทอมโดยไม่มีใครตะขิดตะขวงใจ แต่สิ่งที่เรารู้กันดีก็คือ พรรคนี้ได้เสียงไม่มากพอ แพ้พรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้ลง ส.ส. ครบทุกเขตด้วยซ้ำ ภาระจึงหนักขึ้น เพราะทุนที่ลงไว้ไม่ได้ตามเป้า ต้องปล่อยกระทรวงใหญ่อย่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปให้พรรคอื่น ตัวเองได้แค่กระทรวงพลังงาน กระทรวงศึกษาธิการ และตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยจำนวนมากเท่านั้น
นั่นจึงทำให้เกิดกรณีเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่ากันเอง เริ่มตั้งแต่การ ‘ก่อหวอด’ ยึดพรรคจากกลุ่ม ‘สมคิด’ เมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าสนธิรัตน์ มือขวาของสมคิด เลขาธิการพรรคในเวลานั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยู่ด้วย ไม่ได้ ‘จ่าย’ มากพอ สามมิตรจึงต้องยึดตำแหน่งคืน โดยให้ อนุชา นาคาศัย ส.ส. ชัยนาท คนใกล้ชิดกับ ส.สมศักดิ์ มาเป็นเลขาธิการพรรคแทน
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อขจัดคนของสมคิดก็ต้องขจัดไปเสียหมด ก็ไม่มีเวลาไหนเหมาะสมอีกแล้ว ที่จะให้พลเอกประวิตรขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน ในที่สุด จากที่หลบๆ ซ่อนๆ พลเอกประวิตรก็กลายเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริงเสียงจริง นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นมา เพื่อให้รู้ว่าอำนาจอยู่ที่ใคร ใครคุมเงินของพรรคนี้ และบรรดา ส.ส. เบี้ยหัวแตก ที่รวบรวมมาจากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศต้องฟังใคร
4
กระนั้นเอง พลังประชารัฐก็ประสบกับจุดหักเหสำคัญอีกครั้ง เพราะบรรดานายทุน-ก๊วนการเงินสำคัญของพรรคที่เคยมีอำนาจต่อรอง เป็น ‘มุ้ง’ หนึ่ง มีอันต้องออกจากเกมไปด้วยคำตัดสินของศาลชั้นต้นในคดีกบฏ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และทำให้พรรคต้องจัดทัพใหม่อีกครั้ง
จะด้วยเบื้องหลังใดก็แล้วแต่ เมื่อมุ้งต่อรองหายไปหนึ่งมุ้ง ย่อมทำให้ ‘หัวหน้าพรรค’ สามารถเกลี่ยตำแหน่งในมือได้อย่างสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และทำให้มีช่องว่างใหม่ ในการ ‘จัดแถว’ ผู้นำพรรคให้อยู่ในมือง่ายขึ้น
อย่างที่เรารู้กัน ผลการประชุมวันนี้ (18 มิถุนายน 2564) ก็สะท้อนว่าถึงเวลาเขี่ย ‘สามมิตร’ และอนุชาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค พร้อมกับลดบทบาทของสามมิตรอีกครั้ง และมอบหมายตำแหน่งใหม่ เลขาธิการพรรค ให้กับร้อยเอกธรรมนัส ซึ่งก็ไม่ได้มีเป้าหมายอื่น นอกจากเพื่อเตรียมพร้อมไว้สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ หากดูจังหวะทางการเมืองแบบนี้
ถามว่าตำแหน่งเลขาธิการพรรคมีความสำคัญอย่างไรในการเมืองแบบไทยๆ? เอาเข้าจริงนั้น ตำแหน่งเลขาธิการพรรคมีความสำคัญมากในการเมืองแบบไทยๆ แบบเดียวกับที่ เสนาะ เทียนทอง เคยทำหน้าที่เลขาธิการพรรคชาติไทย และเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ผลักดันให้ทั้ง บรรหาร ศิลปอาชา และพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายก
สำคัญแบบเดียวกับที่พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เคยดึง ‘งูเห่า’ จากพรรคประชากรไทย ให้ย้ายข้างมาตั้งรัฐบาลกับพรรค เพื่อดัน ชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ สมัยที่สอง และสำคัญแบบเดียวกับที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์อีกเช่นกัน เคยดึง เนวิน ชิดชอบ ให้ย้ายกลุ่มเพื่อนเนวิน 30 กว่าคน ออกจากอ้อมอกทักษิณ ให้มาดัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกฯ
ด้วยเหตุนี้ เลขาธิการพรรคจึงต้องมีบารมีทั้งในที่ลับและในที่แจ้งมากพอ และเมื่อดูจากบัญชีทรัพย์สิน 859 ล้านบาท และผลงานการรวบรวมเสียง ‘พรรคเล็ก’ ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่มาของวลี ‘แจกกล้วย’ เมื่อปี 2562 ก็สะท้อนชัดว่าร้อยเอกธรรมนัสมีความสามารถในด้านนี้
5
เพราะฉะนั้น แม้จะพัวพันกับเรื่อง ‘แป้ง’ หรือมีภาพพจน์ที่ไม่ค่อยดีนักในฐานะผู้มีอิทธิพล แต่ด้วยบารมีและด้วยกระเป๋าเงินที่ก้าวมาข้างต้นนั้น ไม่มีใครที่จะเหมาะสมเท่ากับผู้กองธรรมนัส ในการเตรียมความพร้อมเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง เพื่อแก้ Pain Point ครั้งก่อนหน้า อย่างการไม่มีเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนต้องยืมมือพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลกลายเป็นผู้คว้ากระทรวงใหญ่ไปครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อีกแล้ว
ขณะเดียวกัน พลังประชารัฐก็เชื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มสูบจากนโยบายแจกเงินอย่างคนละครึ่ง, พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน หรือการจัดสรร ‘งบกลาง’ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการเบิกจ่ายโดยตรง มากกว่าจะให้ขึ้นอยู่กับอำนาจของกระทรวงต่างๆ มากผิดปกติ อาจทำให้พลังประชารัฐได้เสียงแบบ ‘แลนด์สไลด์’ เหนือกว่าพรรคเพื่อไทย หรือเหนือกว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้ สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ ก็คือความสามารถของร้อยเอกธรรมนัสจะสามารถ ‘ดูด’ ฝ่ายตรงข้ามทั้งจากเพื่อไทยและจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ให้เข้าหาพลังประชารัฐได้อีกหรือไม่ เพราะเสียงในพื้นที่ เริ่มพบว่ามี ‘โปรพลังดูด’ รอบ 2 ตามมาอีกรอบแล้ว..
พลังประชารัฐ พรรคที่รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบไว้ให้ จึงเป็นภาพจำลองของการเมืองยุคปี 2530 ยุคเฟื่องฟูของการซื้อเสียง ยุคที่ผู้มีอิทธิพลได้เป็นรัฐบาล และยุคแห่งการต่อรองผลประโยชน์เพื่อแย่งชิงเก้าอี้ภายในคณะรัฐมนตรีได้ดี
หากทั้งหมดเป็นไปตามแผน พลเอกประยุทธ์ก็จะนั่งเก้าอี้นายกฯ ไปอีก 4 ปี ภายหลังการเลือกตั้ง โดยมีพลเอกประวิตรเป็นผู้รักษาเก้าอี้ให้มั่นคง
และถ้าแผนนี้ไม่ผิดพลาดอะไร พลเอกประยุทธ์ ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อ้างได้เต็มปากว่ามาด้วยการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตย รวมแล้วทั้งหมด 12 ปี ยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยฝีมือของพลเอกประวิตร ร้อยเอกธรรมนัส และพรรคพลังประชารัฐนั่นเอง
Tags: มันคือแป้ง, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พลังประชารัฐ, ธรรมนัส พรหมเผ่า