(1)

อันที่จริง หากย้อนกลับไปมองปรัชญา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ นั้น เกิดขึ้นโดยมีบริบท ที่มาที่ไป

คำว่า เศรษฐกิจพอเพียงอันมาจากพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2541 ในช่วงเวลาหลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นเวลาไม่นาน

วิกฤตต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อฟากธุรกิจการเงิน ธนาคาร บริษัทไฟแนนซ์ลงทุนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไว้มาก เมื่อมีการลอยตัวค่าเงินบาทก็ส่งวิกฤตตามมา หากมองไปถึงตัวคน จากเดิมหลายคนที่เคยฟุ้งเฟ้อมากๆ ออกรถสปอร์ต ซื้อบ้านตากอากาศ ซื้อเรือยอท์ช ลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆ ในช่วงเวลาเศรษฐกิจเฟื่องฟูทศวรรษ 2530 กลับมาเจอปัญหาใหญ่ ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร

นั่นจึงเป็นที่มาของ 2 เรื่องใหญ่ คือ ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ และ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง-ชนชั้นกลางบน พยายามหา Wisdom บางอย่าง และพระราชดำรัสเรื่อง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ก็ตอบโจทย์เรื่องนี้พอดิบพอดี

“เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนามาช้านานแล้ว มาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ดีมาก แล้วก็เข้าใจว่าปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงและทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่า เศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ”

‘พอเพียง’ จึงมีความหมายอย่างมากในห้วงเวลาหนึ่ง ถ้าใช้คำของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ก็ต้องบอกว่าในห้วงเวลา แห่ง ‘ฉันทมติภูมิพล’ (Bhumibol Consensus) ก้าวขึ้นจุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 2540-2549

และหลังจากนั้น คำธรรมดาอย่าง ‘พอเพียง’ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เป็นวาระแห่งชาติ ถูกจับโยงในทุกเรื่อง โดยที่ไม่รู้ว่าความหมายจริงๆ คืออะไร กลายเป็น Buzzword แห่งยุคสมัย เป็นคำแห่งความซาบซึ้งที่พูดขึ้นมาหลายคนก็น้ำตาไหล ไม่มีใครรู้ว่าในทางปฏิบัติ จริงๆ แล้ว ‘พอเพียง’ มีผลลัพธ์อย่างไรบ้าง

ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า ‘พอเพียง’ ก็ถูกจับโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่เป็นคำความหมายธรรมดา ไม่ได้เป็นคำราชาศัพท์ ไม่ได้เป็นคำสูงส่ง

และเอาเข้าจริง คำว่า ‘พอเพียง’ เป็นเพียงคำสั้นๆ คำหนึ่ง ที่อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นมีความหมายถึงพระมหากษัตริย์เท่านั้น

(2)

ในห้วงเวลาที่ความจงรักภักดี และฉันทมติภูมิพลขึ้นสูงสุด เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นปรัชญาระดับสากล ถูกเรียกว่าเป็น Sufficiency Economy กลายเป็นหลักคิดอันถูกที่ ถูกเวลา และนำไปสู่การขยายผลให้ใหญ่โต ประกอบกับสังคมไทยล้วนกำลังโหยหาหลักปฏิบัติในการเอาตัวรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจ ในเวลาต่อมา Sufficiency Economy ได้กลายเป็นสิ่งที่สหประชาชาติเอาไปยกย่องในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงคิดค้นปรัชญานี้

ผลที่ตามมาก็คือ ทุกรัฐบาลที่ตามมาจากนั้น ก็ล้วนบรรจุคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2552 รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2554 ขณะที่ รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่รัฐบาลรัฐประหารในปี 2557 จนกระทั่งรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ จากการเลือกตั้งในปี 2562 นั้น เศรษฐกิจพอเพียงแทบจะเป็นจุดศูนย์กลางของโลก 

ผมยังจำได้ว่าตอนที่ไป World Expo 2015 ที่มิลาน ประเทศอิตาลีนั้น รัฐบาลไทยถึงกับหอบเอาพระบรมฉายาลักษณ์เข้าไปพรีเซนต์ใน Thai Pavilion พร้อมกับเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่หลังจากนั้นนโยบายรัฐอย่าง Bicircular – Green – Economy (BCG) แทบจะมีจุดประสงค์เพื่อรองรับเรื่อง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ในการส่งออกไปยังระดับสหประชาชาติ คำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ และพลพรรคอย่าง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเวลานั้น แทบทุกครั้งก็ยังหยิบยกเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปทุกครั้งเมื่อต้องกล่าวปาฐกถานำที่สหประชาชาติ

แต่แม้เศรษฐกิจพอเพียงจะถูกพูดถึงในระดับอำนาจนำ อำนาจรัฐ มากเพียงใด กับประชาชนทั่วไปยิ่งห่างไกลมากเข้าไปทุกที เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2549-2567 ไม่เคยสัมผัสกับช่วงเวลาที่รุ่งเรือง ไม่เคยแม้แต่จะลืมตาอ้าปากได้ จีดีพีโตอยู่ในระดับต่ำ 2-3% ก่อนจะตายสนิทในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เวลาเดียวกันนั้น ที่เศรษฐี-เจ้าสัวทั้งหลายต่างก็ร่ำรวยมากขึ้น บรรดาทุนผูกขาดสะสมทรัพย์สินได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน-หุ้น ล้วนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

และแม้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะสิ้นสุดลงไป รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็ยัง ‘ตะโกน’ คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงตามเดิม ในการประชุม SDG Summit ที่นิวยอร์กปีที่แล้ว เศรษฐาก็ยังไปประกาศคำเดิมว่าประเทศไทยพร้อมนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

คำถามก็คือในเวลาที่วิกฤตส่งผลกระทบกับคนระดับล่าง ในช่วงเวลาที่ประเทศมีความเหลื่อมล้ำสุดขีดสุดขั้ว คำว่าพอเพียงนั้นอยู่ตรงไหน หรือแท้จริงแล้วคำนี้สามารถพูดได้กับคนที่อยู่บนพีรามิดด้านบนสุดเท่านั้น

ในเวลาเดียวกัน คนที่อยู่บนพีรามิดสูงสุด ซึ่งสะสมทรัพย์ได้มากๆ นั้น ก็ไม่ได้มีใครสนใจที่จะ มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน อย่างที่หลายๆ คนตั้งข้อสังเกต 

ถึงที่สุดจึงไม่มีใครรู้ว่าเส้นแบ่งที่แท้จริงของคำว่า ‘พอเพียง’ นั้นคืออะไร คำว่า ‘พอเพียง’ จึงเป็นเรื่องที่ ‘ชนชั้นนำ’ บอกว่าจะทำ หรือบอกให้คนอื่นทำ ทั้งที่ไม่มีใครรู้ว่าความหมายจริงๆ ว่าคืออะไร

แล้วก็เป็นอย่างที่ ‘อุดม’ ว่าไว้ คือมีแต่คนที่นั่งรถตู้ พอกครีมกันแดดเต็มตัวลงไปเกี่ยวข้าว เพื่อบอกว่า ‘พอเพียง’ แล้ว

(3) 

เรื่องพวกนี้ยิ่งห่างไกลสำหรับ ‘คนรุ่นใหม่’ ในวัย 25-30 ปี พวกเขาเติบโตมาไม่ทันฉันทมติภูมิพล ไม่เข้าใจบริบทตั้งต้นของคำว่าพอเพียง รู้เป็นเพียงคำโตๆ กลายเป็นคำ Buzzword แห่งยุคสมัยที่สืบทอดกันมา ต้องสอดแทรกในทุกอย่าง เหมือนกับคำว่า ‘Soft Power’ ที่อยู่กับรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เหมือนกับคำว่า ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ที่อยู่กับพลเอกประยุทธ์ แต่สูงส่งกว่ามาก

แต่สถานะพิเศษคือเมื่อพอเพียง สามารถผูกเข้าได้กับความจงรักภักดี และความจงรักภักดีในในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ย่อมหมายถึงการปกป้องคำสั้นๆ ง่ายๆ คำนี้ให้คงสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ และใครก็แล้วแต่ที่จงรักภักดี จำต้องมีหน้าที่ปกป้องความพอเพียง ไม่ให้ใครเอาไปพูดอะไรต่อ หรือนำไปตีความใดๆ ที่อาจเป็นภาพลบกับคำนี้

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้บรรดานายตำรวจใหญ่ ศิลปินแห่งชาติ บรรดานักการเมือง อดีตนักการเมือง หัวหมู่ทะลวงฟันของฝ่ายอนุรักษนิยม ต่างก็ดาหน้าออกมาปกป้องคำสั้นๆ คำนี้ เพราะสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ยังต้องดำรงอยู่ต่อไป และพวกเขาล้วนมีสถานะเหมือนผู้ภักดีที่จะทำหน้าที่ปกป้องจอกศักดิ์สิทธิ์ภายใต้คำว่าพอเพียงนี้ ให้คงอยู่ต่อไป ให้อยู่ภายใต้สถานะอันล่วงละเมิดมิได้ 

เรื่องตลกก็คือ แม้แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งว่าด้วยการหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก็ยังมีหน้าที่สำคัญเพื่อปกป้องคำว่า ‘พอเพียง’

และหากกระบวนการยุติธรรมยังเดินไปแบบนี้ ตำรวจ-อัยการ เห็นควรสั่งฟ้อง เดินเรื่อง ‘พอเพียง’ ด้วยมาตรา 112 ก็จะแปลว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้ทำให้คำว่าพอเพียงกลายเป็น ‘เจ้า’ มากกว่า ‘เจ้า’เสียอีก

(4)

คำถามก็คือแล้วคำว่า ‘พอเพียง’ จริงๆ ควรมีความหมายแบบไหน? ควรต้องมีความหมายอันสูงส่ง มีสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ หรือต้องการหาคำตอบจริงๆ ว่าปรัชญาอันเกิดจากพระราชดำรัส พอเพียง มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน นั้น แท้จริงควรต้องมีความหมายว่าอะไร

เพราะหากเราเรียกเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะ ‘ปรัชญา’ ก็หมายความว่าสิ่งนี้ ต้องถูกตีความได้ วิเคราะห์-วิพากษ์ได้ และสามารถเปลี่ยนไปตามกาลเวลาได้ เมื่อมีข้อมูลใหม่ หรือมีข้อถกเถียงมาหักล้าง

แต่หากประเทศนี้ต้องการให้คำว่า ‘พอเพียง’ วางอยู่บนหิ้ง สิ่งที่ดำรงต่อไปคือการต้องฟาดฟันกันทุกครั้ง หวั่นไหวทุกคราว เมื่อคำว่า ‘พอเพียง’ ถูกเอ่ยขึ้นในแง่ลบ ไม่ใช่เพียงแค่คำว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ด้วยซ้ำ แต่คือคำว่า ‘พอเพียง’ เฉยๆ

การออกมาฟาดฟันอุดมจึงกลายเป็นเรื่องตลก เป็นวัฒนธรรมอันขัดแย้งอย่างยิ่งกับ ‘เด็กรุ่นใหม่’ ที่ต้องตั้งคำถามกับทุกเรื่อง มากกว่าจะ ‘พยักหน้า’ เพียงอย่างเดียว

ฉะนั้น ใครก็แล้วแต่ที่ปกป้องคำนี้ ทำตัวเป็นสถานะ ก็จะยิ่งคงสถานะเป็น ‘ตัวตลก’ ต่อไป ไม่ว่าเครดิตของพวกเขาในอดีตจะเคยสูงส่งเพียงใดก็ตาม

Tags: , , , ,