เราทำดีด้วยเหตุผลอะไร?
ทำแค่เพราะอยากทำ ทำเพราะพึงพอใจ ทำเพราะหวังบางอย่าง?
บางคนทำดีหวังได้บุญ บางคนหวังผลรางวัล หลายคนทำเพื่อหวังการยอมรับในสังคม
มีไม่น้อยที่กระทำบางอย่างที่เหมาว่าเป็น ‘การทำดี’ เพราะหวังลดหย่อนภาษี ทำแล้วได้อำนาจ ได้เงิน ได้ผลประโยชน์ กระทั่งได้ตำแหน่งทางการเมือง
แล้วนอกจากทำความดี คุณเคยสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมไหม?
เคยรู้สึกอิ่มเอม มีความสุขจนเหมือนกับถึงจุดสุดยอดเพราะทำบางสิ่งที่คิดว่าดีไหม?
แต่หลังจากมวลความสุขจากการสำเร็จความใคร่นั้นจางไป เคยย้อนกลับมาดูหรือไม่ว่าสิ่งที่เราคิดว่าดี มันดีแล้วจริงหรือ?
คอลัมน์ From The Desk สัปดาห์นี้ อยากเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมทำความรู้จักกับพฤติกรรม ‘การสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม’ หยิบยกเพื่อถกเถียงถึงอาการที่ว่านั้นว่าเป็นอย่างไร เกิดขึ้นจากอะไร และเหตุการณ์แบบไหนที่อาจถือวิสาสะนำมาเป็นตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพถึงการกระทำเปี่ยมสุข อุดมการณ์ยิ่งใหญ่ที่เข้าข่ายสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมกันบ้าง
‘การสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม’ ที่บางครั้งก็อาจมีเรื่องแอบแฝง
เคยมีนิยามเกี่ยวกับการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม เอาไว้แบบกว้างๆ ว่าเป็นพฤติกรรมของคนหรือกลุ่มคนที่กระทำบางอย่างด้วยความคิดความเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคม และปฏิบัติตัวตามแนวทางอันดีตามที่ตัวเองเข้าใจ โดยไม่ได้มองย้อนกลับไปว่าพฤติกรรมนั้นละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิผู้อื่น ไม่สนความถูกต้อง (เพราะเชื่อมั่นว่าแล้วว่าสิ่งที่ตัวเองคิดและกระทำนั้นดีที่สุด) ไม่ตระหนักว่าสิ่งที่ทำก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชนจริง แต่เมื่อกระทำไปแล้วจะรู้สึกยินดี เปี่ยมด้วยความสุข เพราะคิดว่าตัวเองทำตามเจตนาอันดี จึงทำให้พฤติกรรมดังกล่าวถูกนำไปเทียบกับอาการถึงจุดสุดยอดเวลามีเซ็กซ์ แล้วกลายเป็นคำว่าสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม
ซึ่งตัวอย่างพฤติกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นอาการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม สามารถพบเห็นได้ในสังคมทั่วไปทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ย้อนกลับไปยังสมัยยุคกลางของทวีปยุโรป ผู้คนในสมัยนั้นมีความเชื่อส่วนใหญ่ร่วมกันคือศรัทธาในศาสนาหนึ่ง ปักใจเชื่อว่าสตรีที่ทำตัวผิดแปลกจากสังคม สตรีที่มีบุคลิกลักษณะนิสัยบางอย่างจะต้องเป็นพวกนอกรีต เป็นแม่มด และสิ่งที่จะทำให้สังคมสงบสุข นำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย คือการตามล่าหญิงนอกรีตมาเผาทั้งเป็น ตามล่าเพื่อคร่าชีวิตคนอื่นโดยไม่รู้สึกผิด เพราะเข้าใจไปว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกต้อง มิหนำซ้ำการกระทำนี้ก็ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อสังคมส่วนใหญ่ด้วย
การที่ตาลีบันบุกขึ้นรถเมล์เพื่อยิงศีรษะ มาลาลา ยูซัฟไฟ (Malala Yousafzai) เด็กสาวอายุ 15 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการกระทำจากความเชื่อสุดโต่ง สาเหตุที่ทำให้ชายฉกรรจ์อาวุธครบมือถึงขั้นต้องรวมกลุ่มกันดักรอรถเมล์ที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งโดยสารเป็นประจำ เป็นเพราะมามาลาเขียนบล็อกบอกเล่าชีวิตประจำวันของผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในอัฟกานิสถานแก่สำนักข่าว BBC สตรีทั้งประเทศถูกสั่งห้ามไปโรงเรียน ห้ามไปตลาด ห้ามอ่านเขียน ห้ามแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส ฯลฯ ก่อนจะทิ้งคำถามง่ายๆ ไว้ในบล็อกว่าทำไมสิทธิสตรีของชาวอัฟกานิสถานถึงไม่ทัดเทียมกับเพศชาย
การตั้งคำถามของมาลาลาคือเรื่องปกติในหลายประเทศ แต่สำหรับอัฟกานิสถานในยุคตาลีบันเรืองอำนาจถือเป็นสิ่งเลวร้าย เด็กหญิงกลายเป็นศัตรูของตาลีบันจนสุดท้ายเธอถูกบุกยิงบนรถเมล์ ทว่าโฆษกตาลีบันออกแถลงถึงเหตุการณ์ลอบสังหารที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะเด็กผู้หญิงคนนี้จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน รับค่านิยมตะวันตกมากเกินไป
มีหลายครั้งที่สมาชิกบางรายของตาลีบันออกมาพูดเองว่าไม่ได้รู้สึกผิดกับการก่อเหตุรุนแรง เนื่องจากเชื่อว่าตัวเองปฏิบัติตามกฎหมายชารีอะห์อย่างเคร่งครัด เป็นผู้ปกป้องศีลธรรมอันดีของสังคม จนถูกเรียกว่าเป็น ‘นักรบ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อพวกเขาเอามากๆ
หากการล่าแม่มดในยุคกลางจะถูกค้านว่าคนสมัยนั้นยังไม่มีความคิดที่เหมือนกับคนยุคปัจจุบัน หรือเหตุการณ์ดักยิงเด็กนักเรียนในอัฟกานิสถานดูเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป ขยับเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นกับสิ่งที่เกิดในประเทศไทยกับเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 มีนักศึกษาจำนวนมากถูกสังหาร ถูกซ้อมทรมาน พบร่างนักศึกษาหญิงถูกข่มขืน อีกจำนวนมากถูกทุบตีและถูกยิงจนตาย เมื่อตายแล้วบางร่างยังถูกลากมากองรวมกัน แล้วเอาลิ่มตอกกลางอกเข้ากับสนามหญ้าคล้ายกับเป็นการเสียบประจาน
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการกล่อมตัวเองของกลุ่มคนที่คิดเหมือนกัน คิดว่าการจัดการกับนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประเด็นการเมือง ถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อปกป้องบ้านเมือง เพราะสังคมกำลังมีภัยร้ายที่มองไม่เห็นคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ แล้วคอยล่อหลอกนักศึกษาที่ยังรู้น้อย มีประสบการณ์ชีวิตน้อยมาเป็นผู้ร่วมขบวนการ ควบคู่กับวาทกรรมปลอบใจตัวเองว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” จึงเกิดการตามล่าฆ่านักศึกษาโดยไม่รู้สึกผิด มิหนำซ้ำผู้ก่อเหตุบางรายยังรู้สึกภาคภูมิใจกับเหตุการณ์เลวร้ายที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมสร้างขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่าตัวเองกำลังทำเพื่อประเทศชาติ
อีกหนึ่งการกระทำที่คนไทยเห็นจนชินตา แล้วมักถูกนำมาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมคือ ‘การทำรัฐประหาร’ หลายต่อหลายครั้งมักอ้างถึง “หน้าที่ที่ต้องทำ” กับ “ความจำเป็นที่ต้องทำ เพื่อให้สังคมกลับมาสงบเรียบร้อย” อาจสมาทานได้ว่านายทหารที่รวมกลุ่มกันก่อรัฐประหาร เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด และทำเพราะความจำเป็น บ้างก็มองว่าถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ ถ้าเราไม่ทำบ้านเมืองคงจะต้องเละเทะยุ่งเหยิงไปมากกว่านี้เป็นแน่
วันที่ 16 กันยายน 2500 ถือเป็นหนึ่งในการทำรัฐประหารที่ถูกพูดถึงมากที่สุดครั้งหนึ่งของไทย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นหนึ่งในผู้ออกคำสั่งยึดอำนาจจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ในช่วงแรกเขาจะยังไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ทันที แต่ตอนหลังจอมพลสฤษดิ์ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ และมักกล่าวคำปราศรัยที่สะท้อนถึงความคิดของตัวเอง ที่เมื่อคนรุ่นหลังย้อนกลับมามองก็อดตั้งคำถามไม่ได้
จอมพลสฤษดิ์ เคยกล่าวคำปราศรัยในวันชาติ 24 มิถุนายน 2502 ว่า
“การปฏิวัติมีความหมายลึกซึ้งกว้างขวางกว่าที่สามัญชนจะเข้าใจอย่างผิวเผิน แผนการปฏิวัติไม่ใช่แผนการช่วงชิงอำนาจ ยึดอำนาจ ถืออำนาจไว้ในมือใคร หรือในมือของบุคคลพวกหนึ่งพวกใด ตรงกันข้าม แผนการอันแรกของงานปฏิวัติครั้งนี้คือเสริมสร้างความสามัคคีกลมเกลียวกันในชาติ
“แผนการปฏิวัติในขั้นต่อไป คือกวาดล้างสิ่งซึ่งเป็นภัยของชาติ เสมือนทำการปัดกวาดชำระล้างสิ่งโสโครกโรคร้ายในบ้านของเรา ท่านได้ทราบความในประกาศคณะปฏิวัติฉบับแรกๆ แล้ว ว่าภัยอันใหญ่หลวงของชาติคือคอมมิวนิสต์ จำต้องขจัดภัยอันนี้ให้จงได้ และถ้ามิได้อาศัยอำนาจปฏิวัติ ก็ยากที่จะทำสำเร็จได้ด้วยวิธีอื่น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจปฏิวัติ สั่งจับคอมมิวนิสต์ ซึ่งตรวจมีร่องรอยรู้เห็นอยู่แล้ว ว่าผู้ใดเป็นตัวแทนดำเนินการเพื่อลัทธิอันเป็นภัยแก่ชาติ”
นายกรัฐมนตรีรายนี้ยังมักกล่าวปราศรัยหลายครั้งว่าสิ่งที่เขาทำคือความจำเป็น เป็นภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงที่ชาวบ้านทั่วไปคนไม่สามารถเข้าถึงความหมายได้ทั้งหมด ในแง่คำครหาว่าทำรัฐประหาร (ที่เขาเรียกว่าปฏิวัติ) เพื่อทุจริตคอร์รัปชัน จอมพลสฤษดิ์ยืนยันหนักแน่นว่าตนจะไม่มีวันยอมให้เกิดการคอร์รัปชัน จะไม่ยอมให้ใครก็ตามเข้ามาสร้างความมั่นคงจากการกอบโกยเงินหลวง
หลังอยู่ในอำนาจนานหลายปี จอมพลผู้นี้ได้ทิ้งมรดก เงินสด ที่ดิน และทรัพย์สมบัติมากมายไว้ให้ครอบครัว แต่ด้วยความที่สมาชิกในครอบครัวแตกแขนงไปหลายสาย ทำให้เกิดปัญการฟ้องร้องมรดกใหญ่โตจนชาวบ้านเริ่มสับสนว่าทำไมถึงแก่งแย่งกันขนาดนี้ นายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับมีทรัพย์สินมากขนาดไหนกันแน่ และสุดท้ายข้อมูลที่ได้จากคณะกรรมการสอบสวนขอบข่ายการฉ้อราษฎร์บังหลวงของจอมพลสฤษดิ์ เผยว่า
‘ขณะที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังมีชีวิตอยู่ ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางราชการโดยมิชอบกระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์ของรัฐไปหลายครั้งมีจำนวนมากถึง 604,551,276.62 บาท การกระทำดังกล่าวนี้มีผลเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร’
หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่านแล้วว่าจะตีความอย่างไรต่อไป
นอกเหนือจากพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาเป็นภาพใหญ่ หากจะยกตัวอย่างในระดับที่เล็กลงมาอีกสักนิด อาจหมายถึงสิ่งที่เราพบเห็นทั่วไปในโซเชียลมีเดีย เช่น รายงานข่าวความลำบากของชนกลุ่มน้อยที่ใช้ชีวิตอยู่บนดอย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน แล้วข่าวก็เล่าต่อว่ามีคนประสงค์บริจาคเงินเป็นจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยที่ว่า
ขณะเดียวกัน ผู้บริจาคเหล่านั้นก็ได้คอมเมนต์ใต้ข่าวดังกล่าวว่ารู้สึกดีที่ได้บริจาค แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลหรือใครก็ตามเข้าไปเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนบนดอย ไม่อยากให้ชนกลุ่มน้อยได้มีไฟฟ้าใช้จริงๆ เพราะต้องการอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางที่ทำให้ตัวเองได้ทำบุญต่อไป
ไม่เพียงเท่านี้ ความคิดเห็นที่มักพบเจอบ่อยๆ จากข่าวการทุบตี ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน ก็จะมีผู้คงความรู้และความมั่นใจจำนวนหนึ่งคอมเมนต์เชิงสอนสั่งเหยื่อในข่าวว่า “น่าเห็นใจ แต่คราวหน้าเวลาไปไหนมาไหนก็ควรแต่งตัวให้มิดชิดกว่านี้” บ้างก็ตักเตือนว่าอย่าไว้ใจคนแปลกหน้า ให้ระมัดระวังตัวเอง อย่าพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง แทนที่จะประณามผู้ก่อเหตุที่ไม่หักห้ามใจตัวเองได้แล้วทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น จากนั้นก็กระโจนไปยังประเด็นข่าวอื่นที่น่าสนใจกว่า โดยไม่ได้หันกลับมารับรู้เลยว่าคำแนะนำสอนสั่งต่างๆ ที่ตัวเองคิดว่าดี อาจส่งผลกระทบต่อเหยื่อไม่ต่างกับการข่มขืนซ้ำ และยังสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับสังคมอีกด้วย
การถกเถียงเรื่อง ‘กฎหมายทำแท้ง’ นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนไม่แพ้กัน หลายความคิดเห็นจะบอกว่าการทำแท้งเป็นบาป คนที่ทำแท้งนั้นจิตใจต่ำทราม โหดร้าย ฆ่าสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะลืมตาดูโลก ก่อนเสนอแนวทางอื่นๆ ที่จะให้ผู้ที่คิดทำแท้งเลิกทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ เหมือนกับว่ากำลังหยิบยื่นความช่วยเหลือให้อย่างเต็มที่
เมื่อคอมเมนต์แนะนำอย่างโอบอ้อมอารี ประณามสาปส่งเสร็จแล้วก็รู้สึกดีกับตัวเอง คิดว่าการให้คำแนะนำนั้นถูกต้องและจะต้องสร้างประโยชน์แก่สังคมไม่มากก็น้อย ทว่าผลกระทบหลังจากนั้นที่หญิงตั้งครรภ์ต้องเจอ การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาโดยไม่พร้อมทั้งเงิน สภาพแวดล้อม แม้กระทั่งความรักที่แม่มีให้กับลูก ก็ชวนให้กลับมาคิดว่า การห้ามปราบแบบผิวเผินโดยไม่ได้มองบริบทของผู้หญิงที่คิดทำแท้ง เอาแต่ชี้หน้าตีตราว่าเป็นหญิงชั่วใจโหด ถือเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ
การทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์หลายครั้งก็ก้ำกึ่งระหว่างได้บุญกับได้บาป เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม มีหลายครั้งที่ชาวพุทธทำบุญที่วัดเสร็จแล้วเห็นปลา เต่า สัตว์อื่นๆ วางขายอยู่ เห็นแล้วเกิดความรู้สึกสงสารจึงซื้อสัตว์ชนิดละ 10 ตัว แล้วปล่อยลงน้ำ จากนั้นกลับบ้านด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ
ในประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่ได้หยามเหยียดว่าเป็นการกระทำที่ผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคนที่อยากทำบุญทุกคนก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องระบบนิเวศ มีความรู้ลึกเกี่ยวกับสัตว์ที่ตัวเองซื้อมาปล่อยว่าสัตว์เหล่านั้นปกติแล้วอยู่ในแม่น้ำ อยู่ในคลอง หนองบึง หรืออยู่ในพื้นที่แบบไหน แต่ด้วยความสงสารเลยซื้อสัตว์ทุกชนิดแล้วเทลงแม่น้ำตามวลี “ทำบุญปล่อยสัตว์” ที่จะกลายเรื่องเศร้าเมื่อย้อนกลับมาคิดว่าการกระทำที่หวังสร้างบุญ อาจสร้างสร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศในละแวกนั้น ฆ่าชีวิตสัตว์ที่ซื้อมาอย่างทารุณ แทนที่จะได้บุญกลับได้บาปกลับบ้านแทนหรือไม่
สุดท้ายในกรณียกตัวอย่าง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอ่ยถึง ‘การระดมทุนรับบริจาค’ ซึ่งพบเห็นได้ทั่วโลก แต่จะพบได้บ่อยหน่อยในประเทศที่ยังไม่พัฒนา เนื่องจากแต่ละปีมีเหตุการณ์น่าสลดเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งเหตุจากภัยธรรมชาติ โศกนาฏกรรมจากคดีอาชญากรรม และปัญหาเรื่องความยากจนกับความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ที่ยังคงเป็นประเด็นหลักทำให้หลายคนต้องควักเงินบริจาค เพื่อหวังว่าเงินที่ให้ไปนั้นจะทำให้ชีวิตของคนที่ลำบากดีขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย
การบริจาคในนามบุคคลถือเป็นเรื่องส่วนตัว ใครใคร่ทำทำ ใครไม่ใคร่บริจาคก็ไม่ต้องจ่าย แต่พอเป็นเรื่องการระดมทุนที่จะต้องมีคนกลางออกมาทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อเรี่ยไรเงิน ก็ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย เช่น หากผู้ระดมทุนต้องการช่วยเหลือคนด้วยการบริจาค ทำไมถึงไม่บริจาคไปเลยให้จบ แต่ต้องออกมาทำกิจกรรมนั่นนี่เพื่อขอเงินจากคนอื่น และถ้าหากคนอื่นๆ ต้องการบริจาคเหมือนกัน ทุกคนก็สามารถให้ในนามตัวเองได้เลย แล้วกิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้นทำเพื่ออะไรกันแน่
กิจกรรมที่ว่านั้นมีทั้งการร้องเพลง เล่นดนตรี ประมูลสินค้า วาดรูป เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ เล่นกีฬา ฯลฯ และมีหลายครั้งที่สังคมเริ่มถกเถียงกันว่าการระดมทุนในบางครั้งเกิดขึ้นเพราะต้องการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมไหม เพราะเมื่อมองกันจริงๆ แล้ว การบริจาคก็ยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาคาราคาซังในสังคม
เป็นเรื่องจริงที่คนทั่วไปแม้กระทั่งคนมีชื่อเสียง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือบริหารประเทศได้เท่ารัฐบาล สิ่งที่พอจะทำได้มีเพียงแค่การจัดกิจกรรมบางอย่างเพื่อเรี่ยไรเงิน แล้วนำเงินนั้นไปช่วยคนที่ลำบากต่อไป ความคิดนี้ดูจะพอเข้าท่า ทว่าเมื่อพูดด้วยน้ำเสียงเชิงลบอย่าง “ดาราอุตส่าห์ใช้ชื่อเสียงเพื่อขอรับบริจาค พวกที่ด่าไม่เคยจะช่วย” การโต้เถียงจึงยืดยาวและแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายมากขึ้นไปอีก
ความคิดเห็นหนึ่งที่มองว่าต่อให้วิ่งข้ามทวีป ว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรเป็นร้อยรอบ ก็คงช่วยอะไรไม่ได้จริง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบไม่ได้มองไปยังโครงสร้าง ซ้ำยังไม่ยั่งยืน แต่ผู้จัดกิจกรรมจะได้สนองความใคร่ทางศีลธรรมให้กับตัวเอง รู้สึกเปี่ยมด้วยความหวังที่จะช่วยสังคม และมองว่าการกระทำของตัวเองนั้นไม่ต่างอะไรกับซูเปอร์ฮีโร่ ที่ต้องทำบางอย่างเพื่อแลกกับเงินบริจาค ที่นับเป็นหนึ่งในพฤติกรรมสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมได้ไหม
การระดมทุนหลายครั้งจะไม่ถูกวิจารณ์เลยหากกิจกรรมที่ทำนั้นไม่สร้างความเดือดร้อนหรือส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น กิจกรรมที่ท้าทายขีดจำกัดต่อร่างกาย เสี่ยงอันตราย ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน จึงทำให้ในการระดมทุนครั้งนั้นต้องสำรองทีมแพทย์ หน่วยปฐมพยาบาล กู้ภัยหลายสิบหลายร้อยชีวิต เพื่อดูแลผู้ทำกิจกรรมในครั้งนั้น เลยเกิดเสียงสะท้อนจากสังคมว่า แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้ทำงานที่ควรจะทำจริงๆ อย่างการรอช่วยเหลือคน กลับกลายเป็นเวลาต้องแบ่งกำลังคนจำนวนมากมาคอยดูงานระดมทุน เสียทั้งเวลา เสียทรัพยากรที่มีค่าโดยเปล่าประโยชน์หรือเปล่า
จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม จึงไม่แปลกใจที่จะมีเสียงทัดทานว่าฝืนทำกิจกรรมบางอย่างเพื่ออะไร ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วทำรัฐประหารเพื่ออะไร ฆ่าคนเพื่ออะไร ทั้งหมดนี้มีผลประโยชน์แอบแฝง หว่านเมล็ดหวังผลภายหลัง คาดหวัง ‘รางวัล’ บางอย่างที่คิดว่าตนจะได้หลังจากทำสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็นการทำดีเพื่อผู้อื่น แล้วสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมจนหนำใจหรือไม่
Tags: ทำบุญ, ปฏิวัติ, รัฐประหาร, โรคหลงตัวเอง, การระดมทุน, การข่มขืนซ้ำ, การบริจาค, สังคมไทย, From The Desk, Thought, คนดี, Morally Masturbation