1
ก่อนอื่น ผมต้องแสดงความยินดีกับคุณอิ๊งค์ ในฐานะที่เราเคยสนทนากันยาวๆ และคุณอิ๊งค์กับทีมงานก็ใจดีกับ The Momentum เสมอมา ท่านผู้อ่านคงไม่รู้ว่า เมื่อหลายปีก่อน คุณอิ๊งค์เลือกแสดงวิสัยทัศน์ เปิดตัวกับ The Momentum เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในวันที่คุณอิ๊งค์เลือกเส้นทางอย่างแน่วแน่ว่าจะเดินบนถนนสายการเมือง
คนรู้จักหลายคนมักจะถามผมว่า คุณอิ๊งค์ตัวจริงเป็นอย่างไร เท่าที่รู้จักกันผมเห็นว่า คุณอิ๊งค์เองเป็นคนน่ารักคนหนึ่ง ไม่ได้ถือตัว แล้วก็ยังตั้งใจทำงาน เป็นคนหัวไว เรียนรู้อะไรได้เร็วพอประมาณ และทีมงานที่อยู่รอบตัวคุณอิ๊งค์ก็มีไม่น้อยที่เป็น ‘มืออาชีพ’ ของพรรคเพื่อไทย ที่ผมคิดว่าไว้ใจได้
หากเป็นสถานการณ์การเมืองปกติ ผมคงจะยินดีกับการขึ้นสู่ตำแหน่งของคุณอิ๊งค์มาก แต่การเข้าสู่ตำแหน่งในแบบที่นายกฯ คนก่อนหน้าอย่าง คุณเศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง และในแบบที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งยุบพรรคก้าวไกล เพราะสาเหตุคือ ‘ล้มล้างการปกครอง’ ก็ต้องบอกว่า ผมเป็นห่วงคุณอิ๊งค์ไม่น้อย
ผมกับคุณอิ๊งค์อายุไล่เลี่ยกัน ต่างกันไม่เกิน 5 ปี ฉะนั้น เราเติบโตมาในสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในแบบใกล้เคียงกัน
คุณอิ๊งค์น่าจะเห็นตรงกับผมว่า พวกเราอยู่ในสภาพการเมืองที่สิ้นหวังสุดขีดแล้ว ในรอบ 20 ปีนี้ คุณอิ๊งค์กับผมเจอกับการรัฐประหารมา 2 รอบ เจอการยุบพรรคมาก็หลายรอบ ขณะเดียวกัน ระบบการเมืองที่พยายามกำจัดคุณพ่อคุณอิ๊งค์ ก็ไม่ได้สร้างมรรคผลอะไรให้กับประเทศนี้มากไปกว่าการทำให้เศรษฐกิจดิ่งลง พยายามหยุดเวลาไว้อย่างยาวนาน
แล้วถึงที่สุดก็หยุดไม่ได้ ต้องชวนให้คุณพ่อของคุณอิ๊งค์กลับมา และในที่สุด เราก็ได้เห็น แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในระบอบการเมืองที่ประหลาดที่สุดในรอบ 20 ปี
และแม้เราจะมีคนหน้าใหม่อย่างคุณอิ๊งค์เข้ามา แต่ถ้ามองไปข้างหลังคุณอิ๊งค์ สิ่งสำคัญก็คือเรายังอยู่กับตัวละครเดิมๆ ความขัดแย้งเดิมๆ ไม่ว่าจะจากขุนศึก ศักดินา และนักการเมือง ที่พวกเราล้วนไม่ได้มีส่วนร่วม แต่ต้องทนอยู่กับความขัดแย้ง กับผลประโยชน์และวังวนของคนเหล่านี้ต่อไป
2
สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างหนักใจแทนคุณอิ๊งค์ก็คือ ไม่ว่า ‘ข้อตกลง’ ที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลพรรคเพื่อไทยรอบนี้คืออะไร แต่กระบวนการ Deep State หรือ ‘รัฐพันลึก’ ยังคงทำงานต่อไป ยังคงมีคนกดปุ่มสั่งให้คุณอิ๊งค์ต้องทำตาม เป็นกระบวนการยุติธรรมแบบขู่กรรโชก ทั้งตลอดทางยังมี ‘นักร้อง’ มีคนคอยหาช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อลดทอนเสียง ลดทอนอำนาจของประชาชน
ขณะเดียวกัน ความเชื่อเดิมที่ติดยังระบอบเก่าคือ เขาจะไม่มีทางยอมปล่อยให้ตระกูลชินวัตร ‘กินรวบ’ ทุกอย่าง โดยที่เขาไม่มีส่วนแบ่ง
เชื่อเถิดว่าอีกไม่กี่วันต่อจากนี้ จะมีคนไปยื่นร้องเรียนคุณอิ๊งค์ แบบที่คุณเศรษฐาโดน ไม่ว่าตัวละครจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่สิ่งแรกที่เราได้เห็นหลังจากเปลี่ยนคุณเศรษฐามาเป็นคุณอิ๊งค์ คือเกมการต่อรองการเข้าร่วมรัฐบาล เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยก็คือคุณอิ๊งค์เองเป็นคนหน้าใหม่ อายุยังน้อย ไม่มีเหตุอะไรที่เขาจะเกรงใจ
ด้วยเหตุนี้ การที่ตั้งคำถามว่า คุณอิ๊งค์จะโดนแบบเดียวกับคุณทักษิณ คุณสมัคร คุณสมชาย คุณยิ่งลักษณ์ กระทั่งคุณเศรษฐาหรือไม่ จึงไม่ใช่การตั้งคำถามในเชิงลบ หากแต่เป็นการตั้งคำถามด้วยความเป็นห่วงใย
ไม่ได้ห่วงใยคุณอิ๊งค์เท่านั้น แต่ห่วงใยประเทศ หากเรายังอยู่ในวังวนความขัดแย้งนี้ไม่รู้จบ
3
อย่างไรก็ตาม ใครจะว่าคุณอิ๊งค์อย่างไร แต่ผมเชื่อว่า ระบบการเมืองแบบนี้ก็มีข้อดีของมันอยู่บ้าง ไม่กี่วันก่อนที่คุณอิ๊งค์จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ผมมีโอกาสได้เจอ คุณเท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน คุณเท้งอายุอ่อนเดือนกว่าคุณอิ๊งค์นิดหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน
นั่นแปลว่ามีแต่คน ‘รุ่นเรา’ ที่เป็นทั้งผู้นำฝ่ายรัฐบาล ทั้งผู้นำฝ่ายค้าน การที่เรามีทั้ง 2 ฝ่ายอายุเท่านี้ ทำให้ภาพการเมืองบ้านเรานั้น ‘เด็ก’ ลงทันตา
ในข้อเสียมีข้อดี คนอายุรุ่นราวคราวนี้ที่เคยมองว่า การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว การเมืองเป็นเรื่องของคนแก่ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ จะมีโอกาสเข้าสู่การเมืองมากขึ้น มีโอกาสผลักดันวาระของคนเจนนี้มากขึ้น มากกว่าจะมีแต่เรื่องเดิมๆ นโยบายแบบเดิมๆ ทำงานการเมืองแบบเก่าๆ เพียงอย่างเดียว แต่ดันให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนมากขึ้น
ฉะนั้น สาเหตุสำคัญคือต้อง ‘รักษา’ ทั้ง 2 คนนี้ให้อยู่ได้นานที่สุด นานพอที่จะดันคนเก่าๆ ให้กลายไปอยู่หลังฉาก และให้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนการเมืองได้
4
แต่ถึงอย่างไร การจะไปถึงตรงนั้น โจทย์ของคุณอิ๊งค์จะไม่ใช่เรื่องการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น หรือทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมาได้รับความนิยมเพียงอย่างเดียว หากแต่สิ่งที่ต้องตระหนักไม่น้อยคือต้อง ‘เปลี่ยน’ ระบบการเมือง ไม่ใช่เรื่องของทหาร ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นนำ ไม่ใช่เรื่องของนายทุน และไม่ใช่เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นเรื่องของประชาชน
ใช่ ผมเห็นตรงกันกับคุณทักษิณว่า การเมืองไทยจะเปลี่ยนได้คือต้องสร้าง ‘โอกาส’ ให้คนทุกชนชั้นมีโอกาสเสมอหน้ากัน เหมือนกับที่คุณทักษิณเคยเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน แต่บอกตรงๆ ว่า ผมไม่แน่ใจว่าคุณอิ๊งค์และคุณทักษิณจะทำได้หรือไม่ภายใต้ระบบและโครงสร้างการเมืองที่เละเทะอย่างในขณะนี้
เราอยู่ในระบบรัฐราชการที่แข็งตัว อยู่ในระบบที่กลุ่มทุนมีอำนาจเหนือนโยบายรัฐ อยู่ในระบบการเมืองที่นักการเมืองทุกคนล้วนวิ่งเข้าหาศูนย์กลางอำนาจรัฐ แบ่งโควตารัฐมนตรี และอยากได้ตำแหน่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่คณะรัฐประหารเขียนค่ายกลขึ้นไว้ พยายามให้ ‘คนดี’ ที่เป็นฝ่ายตัวเองเท่านั้นที่เป็นผู้เล่นภายใต้ค่ายกลนี้
ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองเช่นนี้ ผมจึงเป็นห่วงคุณอิ๊งค์มากเป็นพิเศษ แต่เมื่อคุณอิ๊งค์ตัดสินใจเลือกแล้ว และก็มาด้วยกลไกประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ก็ต้องให้กำลังใจกัน
ผมเชื่อว่าลึกๆ คุณอิ๊งค์ก็คงคิดเหมือนกัน ภาระอันหนักอึ้งของนายกฯ ในปลายทาง ก็คือความพยายามเปลี่ยนประเทศให้เอื้อต่อคนรุ่นคุณอิ๊งค์ ต่อคนรุ่นลูกคุณอิ๊งค์ ให้ยังมีความหวังอยู่บ้าง ไม่ต้องย้ายประเทศ หรือไปเติบโตยังประเทศอื่นที่มีอนาคตกว่า เป็นประเทศที่ให้โอกาสกับทุกคนจริงๆ เหมือนคำกล่าวแรกๆ ที่คุณอิ๊งค์พูดหลังรับตำแหน่งนายกฯ
สิ่งสำคัญวันนี้นอกจากฝากการบ้านก็คือต้องให้กำลังใจ และส่งความหวังให้คุณอิ๊งค์สามารถฝ่าคลื่นลมมรสุม และทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ให้ได้เต็มที่มากที่สุด
Tags: รัฐบาล, รัฐธรรมนูญ 2560, From The Desk, แพทองธาร ชินวัตร, ปฏิรูปการเมือง