“เครื่องมือที่ใช้การได้ที่สุดสำหรับฉันในตอนนี้คือการอดอาหาร เมื่อการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนไม่ได้ผลเสมอไป… ในบางครั้งการอดอาหารช่วยสื่อสารสิ่งที่ไม่อาจเอื้อนเอ่ยในกรงขังได้”1
คานธีกล่าวในการประท้วงอดอาหารครั้งที่นับไม่ถ้วนของเขา การอดอาหารที่เปรียบดั่ง ‘อาวุธสุดท้าย’ ของฝ่ายอหิงสาผู้ปวารณาตนในหนทางไร้ความรุนแรง แม้ในวันที่ถูกพรากจากเสรีภาพอย่างไร้ความชอบธรรม ก็ยังเลือกนำร่างกาย สิ่งสุดท้ายติดตัวที่มีมาใช้ในการขัดขืน ต่อสู้กับการถูกกดขี่
การกระทำที่ตามมาด้วยความเห็นหลายฝ่าย บ้างว่าช่างวิปลาสสิ้นดี กับการที่ผู้ถูกกระทำแล้วต้องทรมานตนซ้ำขึ้นไปอีกในกรรมที่ไม่ได้ก่อ ในความผิดที่ไม่มีอยู่จริง บ้างว่าในสังคมที่เพิกเฉย การกระทำเช่นนี้ไม่น่าจะส่งผลอะไรได้เลย และบ้างก็ว่าไม่ว่าจะอย่างไร ขอให้เป็นไปตามใจปรารถนาของผู้ประท้วง ขอให้มีสิ่งที่เขารู้สึกควบคุมได้บ้าง ให้เขาได้มีหนทางแสดงออกทางความคิด ยืนยันว่าความคิดของมนุษย์ไม่ใช่ส่ิงผิด
“การอดอาหารช่วยสื่อสารสิ่งที่ไม่อาจเอื้อนเอ่ยในกรงขังได้…”
ใช่ การอดอาหารเป็นการสื่อสาร สื่อสารถึงความวิปลาสประหลาดแท้ของสังคมนี้ ที่เอ่ยปากปาวถึงความใจบุญสุนทาน ความสงบสุข อุดมสมบูรณ์ ในน้ำก็มีปลา ในนาก็ยังมีข้าว หากเขลาในการมองเห็นค่าของคนว่าเท่ากัน เงียบงันในความอยุติธรรมซ้ำซาก ปล่อยให้วัฒนธรรมเพิกเฉยไม่แยแส พรากความเป็นคนในใจเขาและเราเอง
แต่หากแม้นยังต้องอยู่ในสังคมเช่นนั้น เสรีชนที่เชื่อมั่นในคุณค่าสากลว่าคนเท่ากัน ก็ยังยืนยันที่จะใช้หนทางไม่ข้องเกี่ยวกับความรุนแรงใดๆ หากแม้นหมดสิ้นซึ่งเครื่องมือก่อการใดได้ ผู้ประท้วงก็จะเลือกใช้กายเป็นเครื่องหมายบอกว่าไม่จำยอม และหากแม้นกายจะพ่ายผอมซูบไป เจตนาในใจนั้นกลับขยายกระจ่างชัดปรากฏผ่านการกระทำว่าความคิดปิดกั้นไม่ได้ และเสรีภาพทางความคิดไม่ใช่เรื่องผิด
“การอดอาหารช่วยสื่อสารสิ่งที่ไม่อาจเอื้อนเอ่ยในกรงขังได้…”
จริงอย่างที่ใครหลายคนว่าไว้ การอดอาหารคือการสื่อสาร สื่อสารทั้งต่อสาธารณชน ต่อผู้มีอำนาจ และต่อเจตจำนงของบุคคลนั้นเอง
ยากจะปฏิเสธได้ว่า คานธีกลายเป็นสัญลักษณ์อารยะขัดขืนด้วยแนวทางสันติวิธี ที่หนึ่งในนั้นคือการประท้วงอดอาหาร (Hunger Strike) คานธีไม่ได้อดอาหารเพียงครั้ง หากใช้วิธีการนี้มากถึง 18 ครั้ง ตั้งแต่ปี 1913 จนกระทั่งปี 1948 ด้วยระยะเวลาและวาระต่างกันไป แต่การเลือกใช้เครื่องมือนี้บ่อยครั้งก็ทำให้การอดอาหารถูกจดจำในฐานะ ‘อาวุธสุดท้าย’ ในการใช้ร่างกายขัดขืน ยืนยันจุดยืนข้อเรียกร้องไม่ว่าจะอย่างไร
ผู้เขียนเลือกใช้คำว่า Hunger Strike ในที่นี้ แม้จะมีคำอื่นที่ความหมายใกล้เคียงกันถูกใช้สลับกันบ่อยครั้ง แต่ก็มีนัยต่างกัน เช่นคำว่า ‘Voluntary total fast’ ที่ใช้ในทางการแพทย์มากกว่า หรือ ‘Political self sacrifice’ ที่ให้ความหมายค่อนไปทางศาสนา หรือแม้แต่คำว่า ‘Fasting protest’ ที่ใกล้เคียง แต่ก็ไม่สามารถให้พลังได้เท่ากับคำว่า ‘Hunger strike’ ที่แสดงให้เห็นถึงทั้งความหิวโหย และความมุ่งหมายที่จะต่อสู้ ไม่อยู่เฉย แม้จะในหนทางไร้ความรุนแรง ซึ่งสามารถสร้างความรู้สึกและความมีส่วนร่วมได้มากกว่า ดังเช่นที่เควิน แกรนต์ (Kevin Grant) นักสังคมวิทยาได้เขียนไว้ในงานวิจัยของเขาว่า “ความหิวโหยนั้นเป็นประสบการณ์สากลของผู้คนไม่ว่าจะอยู่แห่งหนไหน ส่วนการปะทะ (strike) นั้นบอกถึงความไม่จำยอม พร้อมต่อสู้”2
จริงอยู่ที่คานธีแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘Hunger strike’ ในศตวรรษที่ 20 หากการประท้วงอดอาหารนั้นมีประวัติยาวนานกว่านั้น เช่น จารีตปฏิบัติของชาวไอริชที่เจ้าหนี้มักอดอาหารหน้าบ้านลูกหนี้เพื่อเรียกร้องเงินที่พึงได้คืน, นักโทษไอริช (อีกเช่นกัน) นับสิบรายที่อดอาหารร่วมเดือนเพื่อประท้วงการจับกุมโดยรัฐที่เรียกพวกเขาว่า ‘เจ้าตัวปัญหา’ (The Troubles), นักโทษคิวบาและตุรกี คุกกวนตานาโม หรือแม้แต่นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่เราคุ้นเคยอย่างโจชัว หว่อง หรือ ‘ไผ่’ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่เคยอดอาหารประท้วงการจับกุมตัวเขาในปี 2559 แม้จะต่างวาระต่างเทศะกันไป แต่ผู้ประท้วงและนักโทษทางการเมืองหลายรายก็ล้วนเลือกใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือในการส่งข้อความเดียวกันว่า การเห็นต่างนั้นไม่ใช่แค่ไม่ผิด แต่การคิดได้ รู้สึกได้ เป็นคือการยืนยันความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด
ในบทความ ‘Efficacy of Hunger Strikes: How Culture Determines Efficacy of Hunger Strikes’3 ผู้เขียนได้กล่าวถึงบทบาทของ ‘วัฒนธรรม’ ที่กำหนดส่งผลต่อ ‘แรงกระเพื่อม’ ของการประท้วงนั้นในระดับที่ต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น การที่เจ้าหนี้ชาวไอริชไปอดอาหารประท้วงหน้าบ้านลูกหนี้แล้วได้ผล นั่นก็เป็นเพราะว่าในวัฒนธรรมของไอริชนั้นนับว่าเป็นความน่าอับอายขายหน้าอย่างยิ่งยวด หากมีใครอดอยาก หิวโหย ล้มลงหน้าบ้านของเขา ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ความอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ (The Great Irish Famine) ก็เป็นได้ จนทำให้การประท้วงอดอาหารของชาวไอริชมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับแรงสนับสนุน ได้รับความเห็นอกเห็นใจ และการมีส่วนร่วมของผู้คนมากเป็นพิเศษ
ซึ่งหมายความว่า การประท้วงอดอาหาร แม้จะมีรูปแบบคล้ายกัน แต่ก็ส่งผลต่างกันไปตามบริบทและวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ทั้งนี้ ในความต่างก็มีปัจจัยบางอย่างคล้ายกันอยู่ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดได้ว่า การอดอาหารครั้งนั้นจะสร้างแรงกระเพื่อมได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นความสนใจของสื่อมวลชน การเคารพในการตัดสินใจของผู้ประท้วง และความแยแส ใส่ใจ ของคนในสังคมนั้น ต่อความเป็นไปของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
“การประท้วงอดอาหารอาศัยความสนใจของสาธารณชนเป็นลมหายใจ แต่ความสนใจนั้นจะลดน้อยถอยไป หากประเด็นนั้นไม่ได้อยู่ในการพินิจพิจารณาของผู้คน”4
ในสถานการณ์ทั่วไปที่การประท้วงมักเป็นการรวมตัวกันของผู้คนกลุ่มใหญ่ที่ออกมาส่งเสียง เรียกร้องร่วมกัน การอดอาหารนั้นเป็นท่าทีประท้วงที่ตรงกันข้าม เป็นการกระทำที่เงียบงัน เป็นการกระทำของปัจเจก และแน่นอนว่าในการที่การกระทำเงียบเชียบเช่นนั้นจะพอส่งเสียงออกมาได้ ล้วนต้องอาศัยสื่อมวลชนในการเป็นลำโพงขยาย กระจายเรื่องราวและจิตใจที่มุ่งมั่นของผู้ประท้วงให้ส่งเสียงดังไปทั่วได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ครั้นสื่อจะโหมประโคมข่าวเพียงใด หากสังคมไม่ได้ให้คุณค่าต่อการยืนหยัด ขัดขืน ต่อต้านอำนาจบาตรสูงที่ขูดรีด เพิกเฉยต่อความทุกข์ของมนุษย์ร่วมกันก็ยากยิ่งยวดที่ความมุ่งมั่นของผู้ประท้วงจะกลายเป็นที่รับรู้ อย่าว่าแต่ได้รับการเห็นอกเห็นใจได้
ดังเช่นที่คานธีกล่าวไว้ถึง 7 เงื่อนไขพื้นฐานสำคัญที่ผู้ประท้วงอดอาหารพึงต้องระลึกถึงอยู่เสมอ5 ข้อแรกนั้นระบุไว้ชัดว่า การอดอาหารนั้น ‘พึงใช้กับคนที่รักคุณเท่านั้น’ เพราะหากผู้ที่ถูกต่อต้านนั้นเพิกเฉย ไม่แยแสหรือยินดียินร้ายใดเลย ก็ยากที่เขาจะรับรู้ถึงความทุกข์ที่ผู้ประท้วงเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะทุกข์จากการถูกพรากเสรีภาพ หรือทุกข์จากความหิวโหยก็ตาม
ในขณะเดียวกัน ผู้ทุกข์ร้อนไปกับความหิวโหย เป็นห่วงในชีวิต นอกจากจะร่วมสื่อสารเจตนารมย์ของผู้ประท้วงให้รับรู้โดยทั่วกันแล้ว ก็จำเป็นต้องเคารพในการตัดสินใจของผู้ประท้วงด้วยเช่นกัน เคารพ ยอมรับ และสนับสนุนในการที่ผู้ประท้วงเลือกให้เจตจำนงเสรีได้มีที่ทาง ให้ผู้ประท้วงได้ทำในสิ่งที่จิตคิดอยากทำ พร้อมย้ำเตือนอยู่เสมอว่า หากอยากหยุดเมื่อใด ผู้ประท้วงย่อมหยุดได้ พักได้ ปรับวิธีการได้ ไม่มีสิ่งใดไม่สมบูรณ์ในความคิดที่เกิดขึ้นและปรากฏออกมาเป็นการกระทำแล้ว
“การบอกว่าคุณต้องกินนะ เป็นความปรารถนาดีด้วยความห่วงใยจริงแท้แน่นอน แต่ยิ่งบังคับพวกเขามากเท่าไร ยิ่งสร้างแรงกดดันต่อพวกเขามากเท่านั้น ทางที่ดีกว่าคือการบอกเพียงว่า พวกเขาเลือกทำสิ่งที่อยากทำได้ … และขอให้แน่ใจได้ว่าหากอยากกลับมากินเมื่อไร พวกเขาย่อมทำได้ทุกเมื่อ”6
‘ทางเลือก’ หนทางสำคัญในวันที่เราต่างไร้ทางเลือก ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการดำรงตนอยู่ใน ‘หนทาง’ อารยะขัดขืนนั้นเอง ดังเช่นที่บทความ ‘ว่าด้วยการอดอาหารประท้วงของไผ่ ดาวดิน: ข้อสังเกตจากนักเรียนสันติวิธี’7 ได้แนะทางเลือกของการประท้วงอดอาหารไว้ว่า ไม่จำเป็นต้องอดอาหารระยะยาวเสมอไป ผู้ประท้วงหรือผู้ร่วมประท้วงสามารถอดอาหารเป็นครั้งๆ สลับระยะเวลากันไปได้ เพราะอย่างที่เราต่างรู้กันว่าการต่อสู้เพื่อความไม่เป็นธรรมในสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ต้อง ‘สู้ยาว’ สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าความมุ่งมั่นก้คือการรักษากำลังกายใจ ให้แข็งแรงในการยืนหยัดขจัดความไม่เป็นธรรมต่อไป
และหาก ‘การประท้วงอดอาหารเป็นการสื่อสาร’ อย่างที่ Hunger Strike ในประวัติศาสตร์ได้ว่าไว้ การประท้วงอดอาหารของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, อรวรรณ ภู่พงษ์, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และผองเพื่อนผู้ร่วมอดอาหารไปร่วมกัน ก็สมบูรณ์ที่สุดแล้วในการซื่อสัตย์ต่อความคิดตนเอง ซื่อสัตย์มากพอจนความคิดปรากฏออกมาเป็นการกระทำ ความมุ่งมั่นที่ส่งผลต่อผู้รับสารอย่างเราทุกคน ผู้รอคอยพวกเขากลับคืนสู่เสรีภาพอย่างแข็งแรงทั้งกายและใจ เพื่อจะได้เดินทางไปต่อในการ ‘สู้ยาว’ นี้ด้วยกัน
อ้างอิง
1 Bala, Struti. The dramaturgy of fasting in Gandhian nonviolent action. In M. Wagner & W.D. Ernst (Eds.), Performing the matrix: mediating cultural performances (pp. 289-306). München: ePODIUM. Retrieved from https://www.academia.edu/2973951/The_dramaturgy_of_fasting_in_Gandhian_nonviolent_action.
2 Grant, Kevin. 2011. “British Suffragettes and the Russian Method of Hunger Strike.” Comparative Studies in Society and History 53 (1): 113–43. doi:10.1017/S0010417510000642.
3 Thorns, Britney. (2018). Effifficacy of Hunger Strikes: How Culture Determines Effifficacy of Hunger Strikes. Retrieved from https://red.library.usd.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1030&context=honors-thesis
4 Prof Sharman Apt Russell, author of Hunger: An Unnatural History. Quoted from https://www.bbc.com/news/magazine-14540696
5 Gandhi, M.K. (1932). Ashram Observance in action. India: Navajivan Publishing House. Retrieved from https://www.gandhiashramsevagram.org/pdf-books/ashram-observances.pdf
6 Professor Louise Newman has been at the forefront of mental health support for hunger-striking asylum seekers. Quoted from https://www.abc.net.au/news/2019-02-09/hunger-strikes-what-happens-to-body-and-mind-when-you-dont-eat/10791584
7 ธรรมชาติ กรีอักษร. (2016). “ว่าด้วยการอดอาหารประท้วงของ ไผ่ ดาวดิน: ข้อสังเกตจากนักเรียนสันติวิธี” Prachatai. Retrieved from https://prachatai.com/journal/2016/08/67517
Tags: From The Desk, Hunger Strike