ก่อนจะชวนพวกคุณคิดตาม ไม่กี่วันนี้ผมนึกเรื่องนี้ขึ้นได้อยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ มีน้องฝึกงานที่กำลังจะจบบอกว่า กำลังจะฝึกงานจบแล้ว เธออายุเข้าใกล้ 20 ปี มีคำแนะนำอะไรไหมสำหรับคนรุ่นนี้
เธอเป็นน้องฝึกงานคอนเทนต์ของผมเอง เธอเรียนอยู่ปี 1 แล้วก็มีคำถามนี้ขึ้นมา ผมนิ่งชะงักไปสักพัก เพราะไม่รู้จะแนะนำอะไร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเรื่องนี้ ถ้าย้อนกลับไปตอน 20 ปี เมื่อนานมาแล้ว…
การจะแนะนำอะไรขึ้นมาได้ย่อมหมายความว่า ในช่วงวัยนั้นเราได้ตกผลึกอะไรบางอย่าง คิดอะไรบางอย่างออก และคิดว่าควรค่าพอกับการที่จะส่งผ่านไปยังคนรุ่นถัดไป
อืม… ยากจัง ขอทดไว้ก่อน
และอีกเรื่องคือปัญหาที่คนรุ่นผมกำลังประสบร่วมกันคือ ทำไมเราต้องแบกอะไรไว้เยอะขนาดนั้น ไม่ว่าการเป็น Gen Sandwich ในที่ทำงาน ที่ต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างคนรุ่น Gen X หรือเบบีบูมเมอร์ กับอีกส่วนคือเด็กรุ่นใหม่ ที่หลายคนบอกว่า เป็นพวก ‘โว้ก เจเนอเรชัน’ แม้ผมเองจะไม่เห็นด้วยกับคำนี้นักก็ตาม
ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็คาดหวังให้เราเป็นคนที่ต้องประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มมีครอบครัว ต้องเริ่มมีลูกหลาน ขณะที่พ่อแม่ก็อยู่ในวัยที่กำลังเริ่มเจ็บป่วย แต่ละคนก็มีโรคภัยไข้เจ็บที่ต่างกัน บางคนมีปัญหาทางการเงิน ทำให้เรื่องมันซับซ้อนเข้าไปอีก
คำถามสำคัญของคนวัยเดียวกันคือ จะจัดการเรื่องยุ่งเหยิงพวกนี้อย่างไร จะทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุข ท่ามกลางสมการที่มีตัวแปรเหล่านี้เต็มไปหมด
แน่นอน ผมไม่มีคำตอบตายตัว แต่ผมขอเริ่มค่อยๆ ตอบคำถามจากน้องฝึกงานคนนี้ก่อน
1
ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ชีวิตมหาวิทยาลัยจะเป็นตัววางกรอบคนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน แน่นอน เรามาจากโจทย์ มาจากเงื่อนไขที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือในช่วงมหาวิทยาลัย เราจะมีโอกาสได้คุยกับผู้คนหลากหลาย กรอบที่เคยอยู่ในวัยมัธยมจะหดหายไป เราจะมีความกล้า ถ้าใช้ศัพท์ที่เขาฮิตขณะนี้ก็ต้องบอกว่า มีความ ‘ทะเยอทะยาน’ ที่สูงกว่าคนวัยอื่น
ถ้ามีความรู้และมีแรงขับ พวกเขาจะสามารถขับเคลื่อนสังคมให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย คุณมีโอกาสอีกมากในการเรียนรู้ชีวิตจริง เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ และถ้าคุณเจอปัญหาอะไร แล้วคุณมีความรู้มากพอ เสียงของคุณจะดังมากๆ
ลองคิดดูว่า การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในปลายทศวรรษที่ 1960-ต้นทศวรรษที่ 1970 ทั่วโลก รวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็เริ่มจากรั้วมหาวิทยาลัย ในวันที่ไม่มีใครคิดว่า เผด็จการที่ครองเมืองยาวนานเป็น 10 ปีจะล้มได้ง่ายเพียงนี้ และแทบไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้มีอำนาจเลยด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกัน การเคลื่อนไหวของนักศึกษาช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ได้เห็นว่า พวกเขามีความคิด พวกเขามีความฝันอย่างไร และพวกเขามีความกล้ามากแค่ไหนในการเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น
แม้ว่าพวกเขายังทำไม่สำเร็จ แต่เวลาและอนาคตจะเป็นของพวกเขา นี่คือสิ่งที่ต้องตระหนัก และนั่นทำให้ผมเสียดายมากๆ เมื่อเห็นคนกลุ่มนี้คิดอยากจะ ‘ย้ายประเทศ’ เพราะรู้สึกว่า สู้ไม่ไหวแล้ว
ฉะนั้นคำแนะนำต่อคนวัย 20 ปี สำหรับผมน่าจะเป็นการศึกษาผู้คนให้มาก ใช้เวลา ‘ระหว่างทาง’ ให้คุ้มค่า และอย่าลืมใช้พลังของวัยนี้เพื่อเปลี่ยนอะไรบางอย่าง สร้างอะไรบางอย่าง เพราะในวัยนี้จะมีกล้าคิด การพูด กล้าเขียน มากที่สุดโดยที่ไม่ต้องหวาดระแวงอะไร สำคัญเพียงแต่คุณต้องมีความรู้มากพอ
ยังไม่ถึงวัยที่ต้องเจ็บปวดกับการเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องแบกอะไรไว้เต็มหลังไปหมด
สิ่งสำคัญนอกจากเรียนรู้เรื่องราวคือ การเรียนรู้ ‘คน’ อีกมากที่ต้องทำงาน ต้องรับมือด้วย ก็คือสิ่งที่ต้องระลึกถึงเสมอ… อย่าโตเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่เราไม่ชอบ
2
ทำไมเป็นผู้ใหญ่มันยากนัก
กลับมาที่วัยผม ผมคิดว่า ในโลกยุคนี้ที่เราบอกว่า เป็นโลกแห่ง Disruption นั้น เราถูกบังคับให้โตเกินกว่าที่เราตั้งใจอยากให้เป็น ในวัยทำงานราวสิบปีนั้น เราแทบไม่ได้ดื่มด่ำกับขั้นตอนระหว่างทาง โลกที่ผันผวนทำให้เราต้องใช้คำแห่งยุคสมัยอย่าง Upskill และ Reskill เสมอ คำ Buzzword อย่าง Agile และ Resilience ทำให้เราต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ เพราะโลกแห่งความเป็นจริงคาดหวังให้เราต้องทำได้ทุกอย่าง และต้องประสบความสำเร็จเท่านั้น
ทั้งที่รายได้–ค่าตอบแทนก็ไม่ได้มากตาม ซ้ำยังมีเวลาให้ผิดพลาดน้อยมาก ถ้าคุณพลาดเมื่อไร ก็แปลว่า คุณต้องออกนอกเกมนั้นทันที
เมื่อเป็นไปในแบบดังกล่าว เรายิ่งหลงลืมว่า ในวัย 20 ปี เราเคยคิดและฝันอะไรทิ้งไว้ ความฝันกลายเป็นของชิ้นหนึ่งที่ล้าสมัย ตกยุค เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงมันยากเกินกว่าที่จะทำได้ตามฝัน
แล้วอะไรเล่าที่หลงเหลือในวัยนี้ เราต้องประสบความสำเร็จขนาดไหน เราจะบาลานซ์ความรู้สึกอย่างไรในฐานะเจเนอเรชันแซนด์วิช เราจะดูแลพ่อแม่ ดูแลครอบครัวเราอย่างไร ดูแลความฝันของเราเองอย่างไร ในขณะที่เรากำลังวิ่งไล่ตามฝันในการทำงานและอยู่ในโลกแห่งความผันผวน ไม่มีสูตรสำเร็จเดิมๆ ในการเดินบนเส้นทางวิชาชีพอีกแล้ว
จนถึงตรงนี้มีหลายทฤษฎีว่าด้วยการเดินตามหาเป้าหมาย ทฤษฎีบางทฤษฎีบอกให้ใช้ Role เป็นตัวกำหนด บางทฤษฎีบอกว่า ให้ใช้ ‘เป้าหมาย’ เป็นตัวกำหนด รีบไปให้ถึงเป้าหมาย รวยสิบล้าน ร้อยล้าน ยิ่งเร็วยิ่งดี คุณจะได้เกษียณไวๆ มีครอบครัวที่อบอุ่น แล้วใช้ชีวิตแบบนั่งเทรดหุ้นไปวันต่อวัน
นั่นเป็นเป้าหมายที่ผมทำไม่ได้แน่นอน และถ้าคิดว่าทำได้ ก็คงไม่มานั่งเขียนบ่นอะไรยาวๆ แบบนี้
3
เอาล่ะ ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าหลักใหญ่คือ การจัดลำดับใจความสำคัญว่า เราต้องการอะไรในชีวิตบ้าง ถ้าใครถามผมว่า วันนี้ผมคิดอย่างไร ผมก็จะตอบแบบนี้ เป็นคำตอบที่มีจุดร่วมกับน้องฝึกงานวัย 20 ปีที่ถามด้วย
1. กำหนดว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร จัดลำดับความสำคัญให้ดี บางคนอาจให้งานเป็นหลัก บางคนอาจให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นหลัก บางคนอาจบาลานซ์ได้ระหว่างงาน ครอบครัว และเงิน (โคตรน่าอิจฉา)
แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จัดลำดับความสำคัญอย่างดี ลองนั่งทบทวนทุกวัน ทุกสัปดาห์ก็ได้ว่า ในแต่ละขั้นตอนของชีวิต เรามีอะไรที่ต้องใส่ใจอยู่บ้าง เชื่อผมเถอะว่า ถ้าเรามีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญหลายอย่าง แต่คุณให้ความสำคัญกับเรื่องบางเรื่องอย่างเดียว สักวันหนึ่งคุณมองย้อนกลับมา คุณจะไม่เห็นสิ่งนั้นอยู่อีกแล้ว
เศร้าใช่ไหมครับ? แต่โลกมันก็เป็นอย่างนี้
2. อย่าลืมมองข้างทาง ผมเห็นหลายคนที่รีบโต รีบเดิน รีบก้าว เร่งให้ไปถึงเป้าหมาย เพราะคิดว่า ยิ่งถึงเร็ว เราจะสำเร็จได้ง่าย เราจะสำเร็จได้มากกว่าคนอื่น แต่สุดท้ายสิ่งที่สวยงามกลับอยู่ข้างทาง อยู่ระหว่างไปถึงเป้าหมายนั้น
ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพที่ดี รอยยิ้มที่อยู่เกลื่อนกลาด ความสวยงามของโลก กระทั่ง ‘ปัญหา’ ที่หลายคนบอกว่า ทำให้เราเติบโต ล้วนอยู่ระหว่างทางนี้เสมอ
จริงอยู่ เป้าหมายคือสิ่งที่ต้องไปให้ถึง แต่ถ้าไม่มองข้างทางเลย จะเหลืออะไรสนุกๆ บ้างล่ะ…
3. อย่าเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ตัวเองไม่ชอบ ตอนเป็นเด็กเรามักเห็นคนที่เราไม่ชอบ ทำบางอย่างที่เราไม่ถูกใจเต็มไปหมด จริงอยู่ที่สิ่งละอันพันละน้อยพวกนี้กำลังบอกว่า เรามีความอดทนมากน้อยแค่ไหน เรามีมุมมองต่อเรื่องพวกนี้อย่างไร หลายสิ่งที่รับได้ก็รับ แต่สิ่งที่รับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความฉุนเฉียว การทำงานไม่เป็นระบบ ความเอาแต่ใจ เรื่อง ‘ลำดับชั้น’ และความเจ้ายศเจ้าอย่าง
สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ ในสังคมการทำงานแบบไทยๆ เรื่องเหล่านี้ฝังอยู่ในที่ทำงานโดยที่แก้ยาก และเมื่อรู้ตัวอีกที คุณอาจเป็นส่วนหนึ่งในลำดับชั้นเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว สิ่งสำคัญก็คือ ทำความเข้าใจตัวเองให้ได้มากที่สุด ตระหนักเรื่องเหล่านี้กับตัว และจดจำไว้เสมอว่า อะไรที่เคยไม่ชอบ อะไรที่เคยเกลียดหรือต่อต้าน เมื่อถึงเวลา… อย่าทำ
4. อย่าหยุดฝัน อย่าหยุดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้สังคมดีขึ้น ถ้าจะให้ผมแนะนำน้องที่อายุ 20 ปี สิ่งสำคัญคือ อย่าหยุด หรือหมดไฟในการ ‘เปลี่ยน’ อะไรบางอย่าง มีคำโบราณอยู่เรื่องหนึ่งคือถึงที่สุด คุณจะค้นพบว่า แม้คุณฝันจะเปลี่ยนโลกในวัยเด็ก แต่เมื่อถึงเวลาแก่ตัว คุณอาจค้นพบอีกทีว่าสุดท้าย คุณไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้เลย ทำได้แค่เก็บที่นอน
แต่โลกนี้หมุนได้ด้วยคนที่ไม่หยุดฝัน โลกนี้เจริญก้าวหน้าได้ด้วยคนที่อยากเปลี่ยนแปลง
เพราะฉะนั้นใช้ ‘ต้นทุน’ ที่มีให้คุ้ม แล้วออกไปสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยกัน
Tags: การเติบโต, การเป็นผู้ใหญ่, ชีวิต, From The Desk