(1)

ผมคิดว่าหนึ่งในห้วงเวลาที่ ‘ทรงพลัง’ ที่สุดตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ การลุกขึ้นกลางศาล ยืนถาม ‘ผู้พิพากษา’ ของ ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชีวารักษ์ ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ถึงเรื่องที่เขาไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีว่า ในเมื่อศาลเป็นที่ที่ใช้สำหรับการนำ ‘ความจริง’ มาพิสูจน์ แล้วเหตุใดจึงจองจำความจริงไว้ ไม่ให้ ‘ความจริง’ ได้ประกันตัวออกไปพิสูจน์ตนเอง

เป็นคำถามที่น่าคิดอย่างยิ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า คดีของเขาและของคนอื่นๆ คือการจำคุกระหว่างพิจารณาคดีภายหลังจากอัยการยื่นฟ้อง ซึ่งโดยหลักการ พวกเขาควรจะได้รับการประกันตัวให้ออกมาสู้คดี และศาลควรต้องยึดหลัก ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์’ อย่างเคร่งครัด

โดยปกติ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีเหตุผลเพียง 5 ข้อเท่านั้นที่จะไม่ให้ประกันตัวคือ อาจหลบหนี อาจยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อาจไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และอาจเป็นอุปสรรค ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน

สำหรับแกนนำราษฎรทุกคน ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลว่า ‘จะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้อง หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก’

แน่นอน นี่ไม่ตรงกับ 5 ข้อในหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นเหตุผลใหม่ ซึ่งศาลก็ไม่สามารถตอบได้ว่า สิ่งที่ทำลงไปเดิม คือการ ‘ปราศรัย’ ในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 นั้นเป็นอย่างไร และมีแนวโน้มจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอย่างไร ในขณะที่คดีเดิมยังไม่มีการพิจารณาคดี และยังไม่มีการตัดสินคดี

เท่ากับว่า เหตุผลดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย และถูกคิดขึ้นมาใหม่เพื่ออธิบายการไม่ให้ประกันตัว ไม่ว่าจะมีคำสั่งมาจากไหน หรือจากใครก็ตาม ให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

มีการยื่นขอประกันตัวอีกเรื่อยๆ ทั้งจากครอบครัว จากนักวิชาการ จากอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัย แต่คำที่ตอบที่ได้รับก็คือ ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง’

(2)

ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ศาลรัฐธรรมนูญออก ‘คำวินิจฉัยกลาง’ เรื่องอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา​หลังจากทิ้งให้คลุมเครือข้ามสัปดาห์ ศาลรัฐธรรมนูญระบุให้ชัดเจนขึ้นว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาทำอยู่ขณะนี้ ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ หากไม่ได้รับฉันทามติจากประชาชน ‘ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ’ 

ฟังดูเหมือนดี แต่เอาเข้าจริงแล้ว ในประเทศนี้มีประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเพียงแค่ฉบับเดียวเท่านั้น คือรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งกระบวนการเริ่มต้นจากรัฐสภา และเริ่มจากความ ‘เบื่อหน่าย’ การเมืองที่เปราะบาง ต่อรองผลประโยชน์ นำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อรัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนเห็นชอบ ก็มีผลบังคับใช้ 

ส่วนรัฐธรรมนูญอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ล้วนมีบ่อเกิดจากการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับหลังก็มาจากการรัฐประหารเช่นกัน แต่มีวงเล็บห้อยท้ายไว้ด้วยว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ได้เป็นรัฐบาลอีก

หลังรัฐประหาร 2557 ไม่นาน มีความพยายามยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบอำนาจ มาตรา 44 (ลืมมาตรานี้กันหรือยังครับ) ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช. ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยวินิจฉัยเลยว่ามาตรานี้ขัดรัฐธรรมนูญ แม้จะมีบทบัญญัติให้ประชาชนพลเรือนขึ้นศาลทหาร หรือมีคำสั่งจำกัดไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าประชาชนเป็น ‘ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ’ ในความเห็นผม นี่เป็นเรื่องที่สุดยอดจะ ‘ไร้สาระ’

แต่ประเทศนี้ เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็น ‘สิ่งสูงสุด’ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันครอบคลุมทุกองค์กรทางการเมือง เราก็จำเป็นต้องเชื่อ และต้อง ‘น้อมรับ’

ไม่ว่าเหตุผลนั้น จะฟังดู ‘ไม่มีแก่นสาร’ เพียงใดก็ตาม

(3)

ต้องไม่ลืมว่า 1 ปีก่อนหน้านี้ ผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ยิงตัวตายด้วยเหตุผลว่า ‘ศาล’ ไม่มีความเป็นอิสระ และคำพิพากษาของผู้พิพากษานั้นถูกแทรกแซงได้

ผู้พิพากษาคณากรให้ยกฟ้องชาวมุสลิม 5 คน ในข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร จากเหตุฆาตกรรม 5 ศพ ที่บันนังสตา จังหวัดยะลา เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้แก้ไขคำพิพากษาในรูปแบบ ‘บันทึกลับ’ เพื่อให้เปลี่ยนแปลงคำตัดสิน

วิธีการอธิบายของประธานศาลฎีกาท่านก่อนหน้านี้ คือ เรื่องของคณากรเกิดจากความเข้าใจผิด และการให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 เป็นคนพิจารณาซ้ำไม่ใช่การแทรกแซง แต่เป็นการ ‘ตรวจสอบ ถ่วงดุล’ 

หลังจากผู้พิพากษาคณากรเสียชีวิต ชาวมุสลิม 5 คน ถูกตัดสินให้พิพากษาจำคุก 35 ปี และจำคุกตลอดชีวิตอีกครั้ง ส่วนการสอบสวนเรื่องการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีและความผิดทางวินัยของคณากรก็ถูกยุติลง เนื่องจากไม่พบว่ามีหลักฐานใดบ่งชี้ไปแนวทางนั้น

ราวกับว่ากระบวนการยุติธรรมดำเนินการทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผลและถูกต้องแล้ว ส่วนการเสียชีวิตของผู้พิพากษา เป็นเรื่อง ‘น่าเสียดาย’ ที่เกิดจากความเข้าใจผิด

หากเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่า กระบวนการยุติธรรมไทย ระบบศาลไทย เที่ยงตรงที่สุดในโลก ไม่มีใครแทรกแซงได้ และยึดหลักการอย่างเคร่งครัด

(4)

อันที่จริง สิ่งที่ระบบศาลของประเทศนี้พยายามยึดถือคือ ‘ความเป็นอิสระ’ อิสระของศาลหมายความว่าอิสระจากนักการเมือง อิสระจากอิทธิพลอื่นๆ ระบบศาล จึงเกิดขึ้นภายใต้การ ‘ควบคุมกันเอง’ อย่างเคร่งครัด ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้

ศาลยุติธรรมมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ยี่ต๊อก’ ศาล คือถ้าก่อนหน้านี้มาตรฐานมีมาอย่างไรก็ต้องตัดสินตามนั้น ไม่สามารถตัดสินเป็นอย่างอื่นได้ เช่นเดียวกับระบบอาวุโสที่ครอบผู้พิพากษาเด็กๆ ไว้ให้ยำเกรง

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเรียกว่าเป็น ‘องค์กรอิสระ’ ตามรัฐธรรมนูญนั้นอาจแตกต่างออกไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้รับการ ‘ต่ออายุ’ โดย คสช. และบางคนได้รับการ ‘เห็นชอบ’ จากสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. เช่นกัน ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ จึงเป็น ‘การเมือง’ เพียวๆ

ที่น่าสนใจก็คือในระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่อำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน ทั้งศาลยุติธรรม ทั้งองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญนั้นกลับไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งที่ทุกอย่าง ทุกคำตัดสินล้วน ‘มีผล’ กับชีวิตประชาชนทั้งสิ้น

ในหลายประเทศ ประธานศาลสูง ได้รับการแต่งตั้งจากประมุขของรัฐ จากรัฐบาล ซึ่งเป็น ‘ผู้แทน’ ตามกฎหมาย โดยเลือกจากประชาชน คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ก็มีสัดส่วนของภาคประชาชน ขณะเดียวกัน ระบบรัฐสภาซึ่งประชาชนเลือกเข้ามา ก็สามารถตรวจสอบ ‘คำพิพากษา’ ได้

และในประเทศต้นทาง ประเทศที่เราลอกระบบ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ มาอย่างเยอรมันก็ไม่ได้มีอำนาจ ‘ล้นฟ้า’ ขณะนี้ และแน่นอน ไม่มีประเทศไหนที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับการต่ออายุจากคณะรัฐประหาร

คำถามสำคัญจริงๆ ก็คือ เมื่อระบบเป็นแบบนี้ ประชาชนมีอำนาจสูงสุดจริง แล้วทำไม ‘ประชาชน’ ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจึงไม่อาจใช้อำนาจอธิปไตยที่มีผ่านฝ่ายนิติบัญญัติล้ำเข้าไปตรวจสอบศาล แล้วทำไมประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ​จึงไม่อาจตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจชี้ถูกชี้ผิดเรื่องต่างๆ ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามเกี่ยวกับอำนาจที่อยู่นอกเหนือการตรวจสอบ ก็จะมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อไม่มีใครตรวจสอบได้ ‘ความยุติธรรม’ นั้นมีอยู่จริงหรือไม่

และหากยังยึดหลักเดิม ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนคำสั่ง’ และวินิจฉัยอะไรที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลต่อไป ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ความเชื่อมั่นของสาธารณชนจะลดลงตามลำดับ

ในที่สุด เมื่อถึงเวลาหนึ่ง อาจไม่เหลือใครที่เชื่อถือ ‘ความสถิตยุติธรรม’ ที่ศาลพยายามสร้างมา และบอกว่าเป็นหลักให้ปฏิบัติและยึดถืออย่างเคร่งครัดอีกแล้วก็เป็นได้…

 

 

Fact Box

  • เสียงประกาศกลางศาลอาญาของ 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี และเหตุผลที่ศาลปฏิเสธการให้ประกันตัวทุกครั้ง ด้วยเหตุผลว่า 'ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม' ทำให้คนตั้งคำถามกับความยุติธรรม และความเป็นอิสระของศาลมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ในเวลาเดียวกัน องค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญอย่าง 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ก็เกิดเรื่องแปลกๆ ขึ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมี 'คำวินิจฉัยกลาง' ในนาทีสุดท้าย ยับยั้งไม่ให้รัฐสภาโหวตผ่านวาระ 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้เหตุผล 'ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' เพื่อให้ประชาชนลงประชามติก่อนแก้ ก็ทำให้ประชาชนตั้งคำถามเช่นกันว่า ศาลมีหน้าที่ในการรักษารัฐธรรมนูญ รักษาประชาธิปไตยจริงหรือ?
Tags: , , ,