เหลือเพียงหนึ่งสัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ อีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่แรงงานพลัดถิ่นราว 16 ล้านคนจะได้กลับสู่ภูมิลำเนา เพื่อหาครอบครัวและคนที่รักให้หายคิดถึง

ผมเชื่อว่า ปัจจัยอันดับแรกที่ทำให้คนเหล่านั้นเลือกลาจากภูมิลำเนาเข้ามายังเมืองหลวง ก็เพื่อขวนขวายหาเลี้ยง ‘ปากท้อง’ ในเมื่อสภาพแวดล้อมที่เกิดมาไม่เอื้ออำนวยให้เติบโตสักเท่าไรนัก และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแสนนาน ความเจริญของประเทศนี้ ก็ยังถูกพันธนาการไว้ตามความปรารถนาของเหล่าผู้มีอำนาจ

ถึงกระนั้น มากกว่าเรื่องของปากท้อง ยังมีอีกหนึ่งเหตุผลที่คนจำนวนดังกล่าวเลือกที่จะออกเดินทาง แม้ต้องห่างไกลจากบ้านและห่างไกลความคุ้นชิ้นเดิมๆ ซึ่งคำตอบของเหตุที่ว่านั่นก็เพื่อเติมเต็ม ‘ความทะเยอทะยาน’ ในใจตัวเอง

อย่างไรก็ดี เชื้อไฟความทะเยอทะยานในใจของแต่ละคนมีเวลาจุดติดไม่เท่ากัน บางคนรู้ตัวเร็ว บางคนรู้ตัวช้า บางคนกว่าจะรู้ก็บั้นปลายชีวิต ต่างกรรมต่างวาระกันไป เพียงแต่เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือ ‘ความกล้า’ ที่จะออกจากเซฟโซน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพจากสิ่งที่ผมคุ้นชิน คงเป็นบรรดานักฟุตบอลไทยชื่อดังไม่ว่าจะ ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีรศิลป์ แดงดา, ธีราทร บุญมาทัน, ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา หรือเอกนิษฐ์ ปัญญา ที่ทั้งเคยและกำลังออกไปผจญโชคค้าแข้งต่างแดน ในสถานที่ที่วัฒนธรรม ภาษา และผู้คนต่างไปสิ้นเชิง

ชื่อของนักฟุตบอลข้างต้น หากวัดจากฝีเท้า ผมเชื่อว่าพวกเขาสามารถค้าอาชีพอยู่ที่รับเงินเดือนมหาศาลสบายๆ ไหนจะโอกาสสร้างชื่อเสียงในฐานะซูเปอร์สตาร์ แต่เพราะเส้นทางข้างหน้าช่างหอมหวน ไม่ใช่แค่เรื่องเงินทว่ายังมีเรื่องของ ‘เกียรติยศ’ ที่ชีวิตนี้ขอลองสักตั้งคงไม่เสียหาย

เช่นเดียวกับกรณีของ หมอกุ๊กไก่-มัณฑนา ถวิลไพร อดีตแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและแพทย์เวชบำบัดวิกฤตจากขอนแก่น คนไทยรายที่ 5 ที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 8,848 เมตร เมื่อปี 2023 แน่นอนว่าความสำเร็จนั้นย่อมแลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่าย ทั้งลาออกจากงานที่รายได้มั่นคง มิหนำซ้ำยังต้องใช้เวลารักษาแผลหิมะกัดเท้านานหลายเดือน

หากเป็นเมื่อก่อน ผมอาจจะสงสัยความคิดของคนเหล่านี้ ว่าพวกเขาจะทะเยอะทะยานไปเพื่ออะไร ในเมื่อจุดที่ยืนอยู่ก็ดูดีมากพอแล้ว อย่างที่สังคมเรามักปลูกฝังค่านิยมกันมารุ่นต่อรุ่นว่า ‘ให้อยู่กับความเป็นจริง’ และ ‘อย่าฝันไกลเกินเอื้อม’

แต่ถึงจุดหนึ่ง เมื่อประสบการณ์และมุมมองความคิดตกผลึกมากพอ ความสงสัยดังกล่าวก็หมดสิ้นไป เพราะตลอดช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ผมเพิ่งเข้าใจและสัมผัสได้ว่า มนุษย์ไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่เฉยๆ แม้ที่ที่ยืนอยู่จะเป็นความสบายใจมากแค่ไหนก็ตาม

อาจจะเรียกว่าเป็นกิเลสก็ได้ เพราะมนุษย์ล้วนหาความสำเร็จหรือประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายในใจ บางคนมาก บางคนน้อย แต่ล้วนมีด้วยกันทั้งนั้น

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมเลือกเดินจาก The Momentum ที่ทำงานซึ่งผมนิยามว่า เป็น ‘บ้านหลังที่สอง’ แม้บ้านหลังนี้จะรายล้อมไปด้วยเพื่อนและพี่น้องร่วมงานที่ดี ทว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งจำต้องตัดสินใจว่า ถึงเวลาต้องออกแสวงหาความทะเยอทะยานที่ค้างคาในใจตัวเองแล้วหรือยัง?

ซึ่งคำตอบในใจแน่ชัดแล้วว่า… คงไม่มีเวลาไหนเหมาะสมไปกว่านี้อีก

และนั่นทำให้ผมย้อนถึงหัวข้อสนทนากับน้องฝึกงานหลายรายที่มักตั้งคำถามว่า พวกเขาควรทำอย่างไรหากเรียนจบ จะทำงานดีไหม จะพักก่อน หรือจะหาสักงานทำไปก่อน ซึ่งคำตอบที่ผมให้พวกเขาไปคือคำตอบเดียวกันหมด นั่นคือ ‘ตอบคำถามใจตัวเองให้ได้ก่อน’  หากไร้ภาระค่าใช้จ่ายและเหนื่อยจงพัก ถ้าเจองานที่ตัวเองรู้สึกว่าใช่จงอย่ารีรอ แต่ถ้ามีภาระอยู่เบื้องหลังให้ลองทำงานนั้นไปก่อน ไม่แน่ว่านั่นอาจจะเป็นงานที่ดี เพราะสุดท้ายแล้วเราล้วนมี ‘ช่วงเวลาที่ใช่’ เป็นของตัวเองทั้งนั้น

และเมื่อถึงเวลานั้น เราจะพร้อมออกเดินทาง โดยที่ไม่มีสิ่งใดตะขิดตะขวงใจให้กลัดกลุ้ม อาจจะเหงาบ้าง ลำบากบ้าง ไม่เป็นดังใจหวังบ้าง สุดท้ายนั่นก็เป็นเรื่องแสนธรรมดาที่เราต้องเผชิญมิใช่หรือ

ส่วนเป้าหมายจะเป็นเรื่องใด ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านย่อมมีคำตอบเป็นของตัวเอง จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้นอาจไม่สำคัญเท่าได้ลงมือทำ เพราะเพียงแค่เติบโตมาในประเทศที่ไม่เอื้อให้คนมีความฝันและความทะเยอทะยาน แต่สามารถใช้ชีวิตโดยไม่เสียเวลาอย่างเปล่าประโยชน์ แค่นี้ก็เก่งมากพอแล้ว

ดุจดังคำสอนที่พระธรรมโกศาจารย์หรือพุทธทาสภิกขุ ธรรมเทศนาไว้ว่า

 

“ชีวิตนี้… จัดให้เป็นบาปก็ได้ 

บุญก็ได้ ‘ว่าง’ ก็ได้

ท่านเคยจัดมันอย่างไร

และจัดต่อไปอย่างไร ตามใจท่าน”

 

สุดท้ายนี้ ขอให้โชคดีบนเส้นทางที่เลือกเดิน แล้วหวังว่าสักวันเราจะกลับมาพบกันอีกครั้ง  

Tags: , , ,